ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี เสียชีวิตด้วยวัย 99 ปี

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี เสียชีวิตด้วยวัย 99 ปี

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี เสียชีวิตด้วยวัย 99 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีรายงานว่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เสียชีวิตลงในวัย 99 ปี เมื่อเย็นวานนี้ (3 พ.ค.) โดยมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม ณ ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการท่องเที่ยวไทย

ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ถือว่าเป็นหญิงเหล็กแห่งวงการการโรงแรมและท่องเที่ยวในบ้านเรา เป็นผู้บุกเบิก "โรงแรมดุสิตธานี" เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโรงแรมที่ทันสมัยระดับ 5 ดาว และสูงที่สุดในประเทศ เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทยในขณะนั้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่อยู่ในจุดเริ่มต้นการรับรู้ของต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาโรงแรมดุสิตธานีได้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งที่อยู่คู่กับถนนสีลมใจกลางกรุงเทพมหานคร

ล่าสุดก่อนวาระสุดท้าย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ในวัย 97 ปี ยังได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็นบุคคลเกียรติยศผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและโรงแรมโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมาเป็นโรงแรมดุสิตธานีซึ่งอยู่ระหว่างรีโนเวตครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่ความยิ่งใหญ่และทันสมัยมากขึ้นตามกระแสของธุรกิจในปัจจุบันนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ มีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว และมั่นใจว่า วิธีการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเวทีโลกคือการสร้างโรงแรมที่มีความโดดเด่น และดีที่สุด ตามมาตรฐานสากลที่กลมกลืนไปกับรายละเอียดของการตกแต่งและการให้บริการที่ยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นหลัก

จากความเชื่อส่วนตัวดังกล่าว ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นความเชื่อของชาวดุสิต 4 ประการ ได้แก่ มีความกล้าที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ การสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน การทำให้ดีที่สุด และการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ความฝันอันยิ่งใหญ่ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ เป็นความจริงขึ้นมาในปี 2513 เมื่อเปิดตัวโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในปีนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานการโรงแรมของไทย ไม่ว่าจะในด้านของการเป็นโรงแรมไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศ (ในเวลานั้น) และเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรามีระดับ สำหรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ กลายเป็นต้นแบบของโรงแรมหรูระดับห้าดาวในกรุงเทพฯ ให้กับโรงแรมอื่นๆ และยังเป็นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทในการขยายกิจการไปทั่วประเทศไทย และขยายออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งต่อมายังเป็นโรงแรมต้นแบบที่เปิดโอกาสให้ท่านผู้หญิงได้บรรลุความฝันในการสร้างโรงเรียนการโรงแรม เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนให้กับอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

โดยสาเหตุที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์เลือกชื่อ “ดุสิตธานี” มาเป็นชื่อของโรงแรม และชื่อของบริษัท เนื่องจากเป็นคำไทยที่ออกเสียงง่าย มีความหมายที่เป็นมงคล คือ แดนสวรรค์ชั้นดุสิต (หรือสวรรค์ชั้น 4) และยังเป็นนามมงคลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานเรียกเมืองจำลองต้นแบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2461 ดังนั้นชื่อ ดุสิตธานี จึงบ่งบอกถึงการผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับมาตรฐานของตะวันตกได้อย่างกลมกลืน ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับความปรารถนาของท่านผู้หญิงที่จะสร้างโรงแรมที่มีระดับมาตรฐานสากล ที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมไทยอันอ่อนน้อม และงดงาม และโดดเด่นมีเอกลักษณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook