บทวิเคราะห์ : วิทยุชุมชน...จุดเริ่มต้นการทำงานเพื่อสังคม
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060

    บทวิเคราะห์ : วิทยุชุมชน...จุดเริ่มต้นการทำงานเพื่อสังคม

    2009-06-22T18:25:05+07:00
    แชร์เรื่องนี้
    วิทยุชุมชน เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งคลื่นสัญญาณแรงเกินกว่าระยะของชุมชน ทำให้เกิดการรบกวนต่อคลื่นวิทยุหลัก รวมถึงการขาดการควบคุมดูแลด้านการโฆษณา หรือเนื้อหาที่ออกอากาศในลักษณะล่อแหลมหมิ่นเหม่ เหล่านี้เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ภายใต้การดำเนินการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน รูปแบบการจัดทำวิทยุชุมชนดังกล่าวที่ยังคงมีความคลุมเครือ และเกิดคำถามว่า จะมีการจัดสรรคลื่นอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด รวมถึงที่สำคัญการดูแลตรวจสอบวิทยุชุมชนที่กระจายออกไปทั่วประเทศเหล่านี้จะจัดทำอย่างไร... สำนักข่าวแห่งชาติ จึงได้ติดตามงานเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบการกิจการวิทยุชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และชี้แจงขั้นตอนการเตรียมการเพื่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุชุมชน ณ ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคาร 9 ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ได้จัดประชุมชี้แจงร่างประกาศดังกล่าว โดยจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอเป็นผู้ทดลองออกอากาศ งานดังกล่าวมีผู้ประกอบการวิทยุชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนกว่า 1,200 ราย ที่เดินทางไปยื่นความจำนงเพื่อขึ้นทะเบียนขออนุญาตออกอากาศวิทยุชุมชน หลังจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อให้วิทยุชุมชนกว่า 5,000 สถานีทั่วประเทศ มีกฎระเบียบรองรับ เพื่อแก้ไขปัญหาคลื่นแทรกรบกวนวิทยุอื่น และป้องกันการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรม กระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากแต่ในการขึ้นทะเบียนขออนุญาตออกอากาศวิทยุชุมดังกล่าว ก็ยังเกิดข้อกังวลจากผู้ประกอบการถึงหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตประกอบกิจการวิทยุชั่วคราวในเรื่องการห้ามไม่ให้มีการโฆษณา ที่ตามหลักการผู้ขออนุญาตจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ จึงมีการเกรงว่าอาจจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการประกอบกิจการต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้น สำนักข่าวแห่งชาติ จึงได้รวบรวมหลักเกณฑ์การจัดทำวิทยุชุมชนโดยสรุป ดังนี้ หลักเกณฑ์การจัดทำวิทยุชุมชน การประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน และสนับสนุนการปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (มาตรา 47) รวมถึงเป็นการส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารของประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงและประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะของภาคประชาชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ผู้ขอรับจะต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ให้บริการ โดยต้องไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือเป็น กลุ่มคน ในท้องถิ่นที่ไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ตามลักษณะที่คณะกรรมการประกาศกำหนด นอกจากนี้ "รูปแบบรายการ ที่กำหนดไว้ในผังรายการ ต้องเป็นรายการข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหรือท้องถิ่นในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เช่น รายการข่าวสาร รายการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รายการส่งเสริมการศึกษา จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม การให้ความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยผู้รับใบอนุญาต ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรายการ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือลามกอนาจาร รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ที่สำคัญและเป็นประเด็นถกเถียงในเรื่องการจัดทำวิทยุชุมชนนี้คือ ผู้รับใบอนุญาตต้องไม่หารายได้จากการโฆษณา (ตามมาตรา 21) ที่หมายถึง การดำเนินการโดยวิธีใดๆ ซึ่งมีเจตนาให้ผู้ฟังเกิดความต้องการบริโภคสินค้าหรือบริการนั้นๆ หากแต่ผู้รับใบอนุญาต สามารถมีรายได้หรือการสนับสนุนด้วยวิธีการที่ไม่ใช่การโฆษณา เช่น สนับสนุนการประกอบกิจการจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ เป็นต้น แต่จะต้องไม่ใช่การกระทำที่มีลักษณะครอบงำการประกอบกิจการ ทั้งนี้ ร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดทำวิทยุชุมชน เพื่อทดลองออกอากาศชั่วคราวและได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการไปแล้วบางส่วนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ร่างประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในต้นเดือนกรกฏาคมนี้ และเมื่อประกาศแล้วจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนมาลงทะเบียนภายใน 30 วันนับจากประกาศ หากไม่มาลงทะเบียนจะเป็นวิทยุชุมชนที่ไม่มีกฎหมายรับรอง ส่วนผู้ที่มาลงทะเบียนไว้แล้วจะได้รับสิทธิ์เป็นผู้ทดลองออกอากาศ 300 วัน ตามที่ร่างหลักเกณฑ์ระบุไว้ เพื่อให้คณะทำงานพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นวิทยุชุมชนหรือไม่ หากเข้าข่ายผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตชั่วคราวซึ่งมีอายุ 1 ปี โดยเสียค่าธรรมเนียม 500 บาท/ปี ทั้งหมดนี้เป็นร่างหลักเกณฑ์ที่ผู้ประสงค์จะจัดทำวิทยุชุมชนต้องมีการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากแต่ภายหลังการขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการในการเข้าควบคุมดูแลวิทยุชุมชนเหล่านี้อย่างไร ติดตามได้ในตอนต่อไป