ขี่คลื่นลูกล่าสุดไปกับ ดนตรี ศิลปะ และปาร์ตี้ | Sanook Music

ขี่คลื่นลูกล่าสุดไปกับ ดนตรี ศิลปะ และปาร์ตี้

ขี่คลื่นลูกล่าสุดไปกับ ดนตรี ศิลปะ และปาร์ตี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ วัฒนธรรมใหม่ๆ ศิลปะใหม่ๆ และแฟชั่นใหม่ๆ กำลังผลิบานขึ้น แต่ไม่ใช่ในพิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลป์ หากเป็นในไนท์คลับ ที่อาจจะทำให้บางคนนึกไปถึงแหล่งอบายมุขมากกว่าจะเป็นที่ฟูมฟักของศิลปะแฟชั่นและวัฒนธรรม

ลองนึกภาพไนต์คลับที่เต็มไปด้วยผู้คน แฟชั่นดีไซเนอร์, ศิลปิน ฯลฯ ที่จอภาพบนผนังฉายภาพ วิชวลกราฟิก ซึ่งอาจจะเป็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่อย่าง วิทย์ พิมกาญจนพงศ์ และมีดีเจเปิดเพลงที่แตกต่างจากดนตรีกระแสหลัก ผสมผสานทั้งเสียงเครื่องดนตรีจริงๆ กับเสียงสังเคราะห์แบบล่าสุด

นี่เป็นกระแสของ นิว เรฟ (New Rave) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กระแสของงานปาร์ตี้ เต้นรำ พร้อมกับเสพงานด้านแสงสีและภาพกราฟิก ซึ่งที่จริงนั้นลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ยุค 80s ก่อนจะจางๆ ไป แล้วกลับมาอีกครั้งพร้อมมีคำว่า นิว นำหน้า

พอล แฮมเชียร์ หรือ ดีเจ.บี มือกีตาร์และผู้ก่อตั้งวง ฟูตอง ที่คลุกคลีอยู่กับ นิว เรฟ บอกว่าที่จริงนิวเรฟนั้นบ่มเพาะตัวมา 5-6 ปีแล้ว

"เหมือนฟูตองน่ะ เราเปิดตัวด้วยการเป็นวงอิเล็กทรอนิกส์แคลช แต่พอคนเริ่มตามทันเราก็ไม่ได้เล่นแนวนั้นแล้ว เราตั้งใจจะหาอะไรใหม่ๆ มากกว่า มันหมายถึงการนำทุกคน"

"ธรรมชาติของมันคือการรับสิ่งใหม่เข้ามา เพราะจะมีคนบางกลุ่ม แบบผมหรือคนที่จัดปาร์ตี้อย่าง Dude Sweet ที่พยายามหาสิ่งใหม่ที่สุด ศิลปะใหม่ที่สุด เพลงใหม่ที่สุด แฟชั่นใหม่ที่สุด มาแสดงในคลับ"

ถ้าถามว่า มีคนมากแค่ไหนที่ตามติดนิวเรฟในบ้านเรา บีบอกว่าถึงตอนนี้อาจยังมีไม่มากมายนัก หากก็ถือว่ามากขึ้นกว่าก่อนๆ เยอะ ที่ไม่มากมาย นั้น เขาให้เหตุผลว่า อาจจะด้วยธรรมชาติของการเคลื่อนที่เร็ว เปลี่ยนแปลงสูง บางคนที่ตามไม่ทันก็ตกกระแสไป บางคนก็เหนื่อยกับการไล่ตาม

ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของงานปาร์ตี้แบบนี้คือคนทำหน้าที่เปิดเพลง ที่ ดีเจ. อุ้ม-พรรษวุฒิ เมทะนี บอกว่าตอนนี้เริ่มมีดีเจไทยไปดังในเมืองนอกแล้ว อย่าง ดีเจ. นคาเดีย ซึ่งมีโชว์ถึงปีละ 200 โชว์ในทั่วโลก โดย ดีเจ.บี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในสมัยก่อนดีเจ.ตามปาร์ตี้แบบนี้อาจจะได้เงินจากการเปิดเพลงสูงถึงครั้งละ 70,000 บาทในต่างประเทศ ถ้าเป็นเมืองไทยตัวเลขดังกล่าวอาจจะลดลงนิดหน่อย หากเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะทุกอย่างถูกลง ทุกสิ่งกลายเป็นดิจิตอล และเพลงก็สามารถสั่งได้ทางอินเตอร์เน็ต

ดีเจ.อุ้มก็ว่าสมัยที่เขาเริ่มเปิดเพลงเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว งานดีเจ.เป็นเรื่องยาก เพราะยังต้องอาศัยเครื่องมืออย่างเทิร์นเทเบิ้ล การต่อเพลงแต่ละเพลงที่จังหวะไม่ตรงกันก็เป็นเรื่องของฝีมือที่ต้องหัดกับเครื่องมือให้คล่อง แต่ตอนนี้การเป็นดีเจ.ง่ายขึ้นเพราะมีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมา และทำงานแบบสั่งได้จากคอมพิวเตอร์โดยแทบไม่ต้องใช้หูฟังในการมิกซ์เพลงเลย

"เดี๋ยวนี้มีคนมาเปิดเยอะขึ้นก็เป็นเรื่องดีนะ แต่ไม่รู้ว่าเขาชอบดนตรีจริงหรืออยากเท่ แต่อยากจะบอกว่า การมีหน้าตาหล่อไม่ได้ช่วยอะไรบนบูทดีเจ.เลย ถ้าเปิดเพลงไม่ดีคนก็เดินหนี คือถ้าเป็นนักร้องหน้าตาดี เขายังพอมีข้ออ้างโน่นนี่ได้บ้าง แต่ดีเจ.เป็นเรื่องของเครื่องมือ ถ้าพลาดเปิดไม่สนุกนี่ไม่มีข้ออ้างอะไรเลย"

สำหรับคนจะเข้ามาในสายนี้ ดีเจ.บี จึงว่า อันดับแรกคือต้องเป็นคนที่รักในเสียงเพลงเสียก่อน

"2 ปีแรกควรหมดไปกับการเปิดหูฟังอย่างเดียว ไม่ควรไปหัดอะไรวุ่นวาย เพราะสิ่งที่สำคัญคือเพลงที่เปิดและสิ่งที่อยู่ในหัว ไม่ใช่ทักษะของมือ ตอนผมเปิดเพลงทีแรก ผมยังโฆษณาตัวเองว่าเพลงใหม่ๆ และทุกอย่าง ยกเว้นว่าผมมิกซ์ไม่เป็น" เขาเล่าพลางหัวเราะ

เขายังว่า ใครที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสกับกระแสนี้ ก็ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าไปหารายละเอียดและติดต่อกับผู้คนเข้าไว้

ส่วน ดีเจ.อุ้ม ก็ว่า ถ้าใครจะมางานปาร์ตี้เพื่อชื่นชมบรรยากาศ ดนตรี และศิลปะใหม่ๆ ขอแนะให้อย่าดื่มเหล้ามากนัก เพราะนอกจากจะเสียสุขภาพแล้วก็อาจจะเสียโอกาสที่จะมาฟังดนตรีดีๆ แล้วอย่าไปคิดว่ายาเสพติดจะช่วยให้ฟังเพลงสนุกขึ้น เพราะอันที่จริงมีแต่จะทำให้เมาเท่านั้น

"เท่านี้ก็พร้อมสำหรับการผจญภัยใหม่ๆ แล้ว"

สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook