ความมหัศจรรย์ของ Electric Light Orchestra และมันสมองฝังเพชรของ Jeff Lynne โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ความมหัศจรรย์ของ Electric Light Orchestra และมันสมองฝังเพชรของ Jeff Lynne โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ความมหัศจรรย์ของ Electric Light Orchestra และมันสมองฝังเพชรของ Jeff Lynne โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับแต่เพลง "Mr. Blue Sky" ของ Electric Light Orchestra ถูกนำไปใช้ประกอบในอัลบัมซาวน์ดแทร็กร่วมกับเพลงยุค '70s อื่นๆของภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the Gaxaly เพลงนี้อยู่ใน Vol.2 ที่มีเพลงเด่นกว่า Vol.1 อยู่เล็กน้อย เพลงนี้ดั้งเดิมอยู่ในอัลบัม Out of the Blue ของ ELO ที่ออกในปี 1977 เป็นอัลบัมแผ่นเสียงคู่เพียงหนึ่งเดียวของวง และยอดขายดีที่สุดของวงอีกด้วย มีเพลงซิงเกิลดังหลายเพลง อาทิ "Sweet Talkin’ Woman", "Turn to Stone", "It’s Over", "Wide West Hero" และ "Mr. Blue Sky" (อันดับ 6 UK อันดับ 35 US)

gettyimages-2623378GettyImagesElectric Light Orchestra

ช่วงหลายเดือนมานี้ ได้ยินท่วงทำนองช่วงอินโทรเพลง "Mr. Blue Sky" จากโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์อย่างต่ำก็ 2 ราย แม้ไม่ได้เอามาแบบเป๊ะๆ แต่ก็ฟังออกว่ายืมมาใช้ หรือให้ดูดีหน่อยก็ “ได้แรงบันดาลใจ” กลับกลายเป็นว่าคนฟังเพลงเริ่มให้ความสำคัญและรู้สึกว่าเพลงเก่ายังมีค่าและคุณภาพอยู่ครับ หากจะมองข้ามคุณูปการของ Jeff Lynne (เจฟฟ์ ลินน์) ผู้แต่งเพลง ร้องนำ เล่นกีตาร์ โปรดิวเซอร์ และหัวหน้าวงของ ELO ไป ผลงาน 14 อัลบัม และรวมเพลงอีกหลายชุดขายได้ทั่วโลกนับหลายสิบล้านแผ่น อนาคตผมอาจต้องตำหนิตัวเองที่ไม่กล่าวถึงเขาในวันนี้ ซึ่งไม่แน่ว่าใน 100 ปีข้างหน้าจะหาคนที่มีความสามารถระดับนี้ได้อีกไหม

gettyimages-543141078GettyImagesJeff Lynne

จุดกำเนิดของ ELO เริ่มต้นจากวง The Move ที่ลินน์ร่วมกับ Roy Wood ตั้งวงร็อคชื่อ The Move ที่เบอร์มิงแฮม อังกฤษ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 (ราวปี 1965) แล้วหันไปตั้งวง Electric Light Orchestra ที่วูดกับลินน์วาดฝันว่าจะเป็นวงร็อคที่ไม่เหมือนใครกับเครื่องสายคลาสสิกที่นำมาใช้ แต่วูดก็ร่วมงานด้วยไม่นาน ถึงอัลบัมที่ 2 ก็ผละไปตั้งวงWizard ของตนเอง ดนตรีร็อคแอนด์โรลและร็อคแบบ The Beatles เมื่อถูกแต่งเติมด้วยเครื่องดนตรีสายคลาสสิกอย่างเชลโลและไวโอลิน ความแปลกใหม่จึงอุบัติขึ้น

ผมบอกไม่ได้ว่า ELO เป็นวงแรกหรือเปล่าที่นำเครื่องดนตรีเหล่านี้มาใช้กับเพลงของตนเอง แต่พวกเขาน่าจะเป็นวงแรกๆที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จระดับโลก แรกๆแนวทางดนตรีแบบนี้ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับมากนัก เพราะช่วงต้นถึงกลางยุค '70s นั้น ตลาดดนตรีโลกกำลังหลงใหลได้ปลื้มกับดนตรีไซคีเดลิกและโปรเกรสสีฟร็อค ซิงเกิล "10538 Overture" จากอัลบัมแรก Electric Light Orchestra (’72) ก็เริ่มมีผู้คนสนใจบ้าง พอถึงซิงเกิล "Roll Over Beethoven" (คัฟเวอร์เพลงของ Chuck Berry) จากอัลบัมที่ 2 ELO 2 (’73) ประสบความสำเร็จจากการนำเครื่องสายคลาสสิกมาเล่นกับเพลงร็อคแอนด์โรลมัน ๆ เป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการร็อค เป็นเพลงที่แตกต่างจากเพลงเดียวกันที่ศิลปินอื่นนำไปเล่นคัฟเวอร์ อัลบัมที่ 3 On the Third Day (’73) มีเพลง "Show Down" และ "Ma-Ma-Ma Belle" เป็นซิงเกิลฮิต เพลงแรกอยู่ในอัลบัมที่ออกในอเมริกา บ้านเราเริ่มรู้จักชื่อ ELO จากซิงเกิลนี้ อัลบัม Eldorado (’74) ซิงเกิล "Can’t Get It Out of My Head" อันดับ 9 US เป็นเพลงบัลลาดกึ่งโปรเกรสสีฟร็อคที่ทำให้ได้แฟนกลุ่มใหญ่เพิ่ม เช่นเดียวกับซิงเกิล "Evil Woman" อันดับ 10 US จากอัลบัม Face the Music (’75) ประสบความสำเร็จมากขึ้น

จนกระทั่งอัลบัม A New World Record (’76) ที่ผมถือเป็นงานแรกจาก 3 ผลงานแบบไตรภาคที่พวกเขาประสบความสำเร็จมากที่สุด เป็นยุคทองอย่างแท้จริง เพลง "Livin’ Thing", "Telephone Line", "Do Ya" เป็น 3 ซิงเกิล ดนตรีลงตัวในแนวทางของคลาสสิคัลร็อคที่อิงกับดนตรีร็อคแอนด์โรล ส่วน Out of the Blue (’77) เป็นอัลบัมสองแผ่นคู่ที่ขายดีระดับหลายล้านแผ่น และมีซิงเกิลฮิตอย่าง "Turn to Stone", "Mr. Blue Sky", "Sweet Talkin’ Woman", "It’s Over" เป็นงานมาสเตอร์ของลินน์เลยก็ว่าได้ ส่วนงานสุดท้ายของไตรภาคนี้คือ Discovery (’79) ที่มีซิงเกิลฮิตทั่วโลกอย่าง "Last Train to London" กับจังหวะดิสโกร็อค เป็นการเกาะกระแสดิสโกที่กำลังถล่มวงการเพลงโลกขณะนั้น อัลบัมซาวน์ดแทร็กเรื่อง Xanadu (’80) ที่ลินน์มีส่วนร่วม 5 เพลงก็เริ่มแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับแนวทางดนตรีของ ELO บ้างแล้ว

ย่างเข้ายุค '80s กระแสดนตรีโลกเปลี่ยนไป ELO เลิกใช้ทีมเครื่องสายคลาสสิก หันมาเล่น 4 คนแบบวงร็อคทั่วไป และอัลบัมต่อมาอย่าง Time (’81) Secret Messages (’83) ดนตรีกลับไปสู่รากเหง้าด้วยร็อคแอนด์โรลที่ลินน์โปรดปราน กระทั่งถึง Balance of Power (’86) ELO ก็ถึงกาลแตกแยก ลินน์หันไปเป็นศิลปินเดี่ยวออกอัลบัม Armchair Theatre (’90) พร้อมกับอาศัยช่วงนั้นไปร่วมงานกับเพื่อนร่วมวงการที่สนิทสนมกัน ทั้งโปรดิวซ์ให้กับหลาย ๆ คน อาทิ Tom Petty, George Harrison ซึ่งทั้งคู่ก็มาร่วมงานกับลินน์ในชื่อ Traveling Wilburys ร่วมกับ Roy Orbison และ Bob Dylan ทำดนตรีอเมริกันร็อคผสมผสานคันทรีและโฟล์ก

ปี 2001 ลินน์ช็อกวงการด้วยอัลบัมใหม่ของ ELO ชื่อ Zoom ซึ่งใช้เชลโลในหลายเพลง พร้อมออกทัวร์อีกครั้ง เครื่องสายคลาสสิกกลับมา เพราะต้องเล่นเพลงดังในอดีตหลายเพลง ขณะที่งานรวมเพลงบอกซ์เซ็ต 3 แผ่น ชื่อ Flashback ออกมาก่อนแล้วในปี2000 รวมเพลงเด่น ซิงเกิลฮิต และเพลงเวอร์ชันแปลกๆ น่าเก็บสะสมอย่างยิ่ง ลินน์เงียบหายไปพักใหญ่ แต่ก็ยังทำงานเพลงต่อไป กระทั่งออกอัลบัมเดี่ยวชุดที่ 2 Alone in the Universe (2015) ที่ยังประสบความสำเร็จเหมือนอดีต พร้อมตระเวนทัวร์อีกครั้ง จากนั้นปล่อยอัลบัมบันทึกการแสดงสดชื่อ Wembley or Bust (2017) ที่ทีมเครื่องสายคลาสสิกกลับมาอีกครั้ง แถมอลังการกว่าเดิม ทำให้ตารางทัวร์ของ ELO แน่นเอี้ยดมาจนทุกวันนี้ 

กาลเวลาไม่อาจทำให้เจฟฟ์ ลินน์อำลาวงการได้ง่ายๆ เพราะความสามารถอันเอกอุระดับสมองเพชรและความสำเร็จตลอดเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา และเขาคือผู้ที่ทำให้ดนตรีร็อคกับดนตรีคลาสสิกมารวมกันได้อย่างลงตัวและไพเราะน่าฟังยิ่ง เชื่อว่าเพลงของ ELO ยังคงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน และคงไม่มีวงดนตรีวงไหนกล้าเดินตามรอยพวกเขาอย่างแน่นอน เพราะดนตรีของพวกเขามีเอกลักษณ์ มาตรฐานสูง และยังเป็นอิทธิพลจากรุ่นสู่รุ่นอยู่ตลอดเวลา ฝีมือการเล่นดนตรี แต่งเพลง และโปรดิวซ์ของเขาเป็นที่ยอมรับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม้จะอายุ 72 ปีแล้ว ยังเล่นดนตรีต่อไป และยังเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงร่วมวงการอยู่

 

ทิ้งท้ายเล็กน้อยเกี่ยวกับจานบินบนปกอัลบัมของวงครับ จานบินปรากฏครั้งแรกบนปกอัลบัมที่ 2 แต่รูปทรงเป็นหลอดไฟ เหมือนยังคิดไม่ออก อะไรก็ยังไม่ลงตัว เช่นเดียวกับดนตรีของพวกเขา แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลโกวงและจานบินค่อยๆเด่นชัดและลงตัวมากขึ้นจนกระทั่งปกอัลบัม A New World Record ที่จานบินลักษณะเหมือนแผ่นที่ปรากฏอยู่ตามเครื่องเล่นแผ่นเสียงหยอดเหรียญที่เรียกว่า Jukebox แถมยังออกแบบละเอียด สีสันสวยงาม (ออกปีเดียวกับที่ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ฉาย) ถัดมา Out of the Blue จานบินแปรสภาพเป็นยานแม่ขนาดยักษ์ ซึ่งจานบินนี้ถูกสร้างเป็นโดมที่ลอยตัวขึ้นตอนพวกเขาขึ้นเวทีตอนเล่นไลฟ์โปรโมตอัลบัมนี้ด้วย มาถึง Discovery ภาพทหารเหมือนในภาพยนตร์อาหรับราตรีมองจานบินเรืองแสงที่ดูลึกลับ กลายเป็นจานบินบน 3 ปกที่ผมถือว่าเป็นงานไตรภาคที่พวกเขาสร้างสรรค์งานได้อย่างยอดเยี่ยมจนไม่อาจทำได้ดีเท่านั้นอีกแล้ว ส่วนบนปก Zoom จานบินดูแข็งแกร่งและทรงพลังสมกับการคัมแบ๊ก ล่าสุดจานบินบนปก Alone in the Universe ดูสุขุม แข็งแกร่งและน่าเกรงขาม เหมือนบอกเป็นนัยว่าเจฟฟ์ ลินน์ยังคงยอดเยี่ยมและพึ่งได้เหมือนเดิม 

 

My ELO Song Best 10

ที่เลือกมาเป็นความชอบส่วนตัวที่ไม่น่าจะต่างจากแฟนของ ELO ทั่วโลกครับ ที่สำคัญ เพลงช้าของเขาโดนใจทุกเพลงจริง ๆ ครับ

01 Mr. Blue Sky

เพลงสนุกที่ชวนขยับแข้งขา กับท่อนบรรเลงท้ายเพลงที่ชวนจินตนาการถึงท้องฟ้าหลังฝนกับหมู่เมฆสีส้มช่วงอาทิตย์อัสดง

02 Living Thing

ซิงเกิลแรกจาก A New World Record อัลบัมที่ก้าวสู่ความสำเร็จระดับโลกชุดแรก เพลงร็อคที่ไวโอลินได้โชว์ตลอดเพลง

03 Can’t Get It Out of My Head

เพลงช้ากับท่วงทำนองสวยงาม บรรเจิดด้วยเครื่องสายและคีย์บอร์ด เนื้อเพลงใช้ภาษางดงามยิ่ง อยู่ใน Eldorado

04 Telephone Line

เพลงช้าและเป็นซิงเกิลฮิตจากอัลบัม New World Record ซินธ์สร้างบรรยากาศเหมือนคุยโทรศัพท์ได้เหมือนจริงมาก

05 The Whale

เพลงบรรเลงจาก Out of the Blue ชวนจินตนาการเหมือนภาพวาฬกำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในท้องทะเลสีเขียวสะท้อนแสงแดดระยิบ

06 Midnight Blue

บัลลาดไพเราะจาก Discovery ที่เด่นพอ ๆ กับ "Need Her Love" ในอัลบัมเดียวกัน แต่เลือกเพลงนี้เพราะอารมณ์เหงา

07 Strange Magic

เพลงช้าจาก Face the Music ที่เครื่องดนตรีคลาสสิกมีบทบาทชัดเจนมากจนเป็นแนวหลักของวงในเวลาต่อมา

08 Last Train to London

น่าจะเป็นเพลงที่คนไทยชอบและคุ้นเคยที่สุด ฮิตทั่วโลก เพราะเล่นดิสโกตามกระแสนิยมโลก อยู่ใน Discovery

09 Standin’ in the Rain

เพลงบรรเลงเกี่ยวกับพายุฝนที่สื่อบรรยากาศได้สมชื่อเพลง ใช้อุปกรณ์ในห้องอัดมากมายช่วยสร้างเสียงพายุฝนและฟ้าร้อง

10 Sweet Talkin’ Woman

ซิงเกิลแรกจาก Out of the Blue (อันดับ 6 UK อันดับ 17 US) เพลงร็อคสนุกที่ไวโอลินเด่นเช่นเคย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook