เล่นแชร์ เปียแชร์ ลงทุนทางเลือก นอกตำราแต่มหานิยม

เล่นแชร์ เปียแชร์ ลงทุนทางเลือก นอกตำราแต่มหานิยม

เล่นแชร์ เปียแชร์ ลงทุนทางเลือก นอกตำราแต่มหานิยม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การลงทุนทางเลือกแบบที่สองคือ การเล่นแชร์ การเล่นแชร์นั้นไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด หากไม่ได้ทำอะไรเกินกว่าที่ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2543 ให้การคุ้มครองไว้ หลักการเล่นแชร์นั้นเริ่มต้นด้วยเจ้ามือ หรือเรียกว่า "เท้าแชร์"

มีความต้องการจะยืมเงินก้อนใหญ่ สมมติว่า 100,000 บาท ก็จะเรียกระดมทุนจากคนรู้จัก เช่น รวมกัน 10 คนตั้งเป็นวงแชร์ขึ้นมา โดยลงเงินเริ่มต้นคนละ 10,000 บาท หลังจากนั้นทุกๆ เดือน ลูกแชร์ที่เหลือจะผลัดกันประมูลเพื่อแย่งกันยืมเงินก้อนใหญ่บ้าง หรือเรียกว่า "เปียแชร์" นั่นเอง

โดยใครเสนอดอกเบี้ยให้สูงสุดก็จะชนะในเดือนนั้นไป เช่น ถ้าเดือนแรกมีลูกแชร์เปียมา 3 ราย ที่ 200, 250, 350 บาทตามลำดับ คนที่ประมูลเสนอผลตอบแทน 350 บาทก็จะได้เงินจากทุกคนๆ ละ 10,000 เท่ากับ 100,000 ไปในงวดนั้น

แต่มีข้อแม้ว่าในเดือนต่อๆ ไป แทนที่ลูกแชร์คนนั้นจะลงขันเดือนละ 10,000 บาทเท่ากับคนอื่นที่ยังไม่เคยเปียได้ ก็ต้องลงขันเดือนละ 10,350 บาททุกงวดจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา โดยจำนวนเงิน 350 บาทนี้ถือเป็นค่าตอบแทนหรือดอกเบี้ย

ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบสิบงวด ดังนั้น จะเห็นว่าในงวดถัดๆ ไป คนที่เปียแชร์ได้ก็จะยิ่งได้เงินสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากคนที่เปียไปแล้วในงวดก่อนๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่มให้ทุกเดือน เมื่อถึงงวดสุดท้าย คนสุดท้ายที่ยังไม่ได้เปียจะไม่มีคู่แข่งเลย คนคนนี้จะเปียไปที่ราคา "ศูนย์บาท" หรือเท่ากับว่าคนนี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้คนอื่นเลยและยังได้ผลตอบแทนจากคนอื่นๆ ไปมากที่สุดในวงอีกด้วยตลอดทางที่ผ่านมา

ในวงแชร์ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดอีกคนนอกเหนือจากคนที่เปียเป็นคนสุดท้ายคือเท้าแชร์นั่นเอง เพราะเท้าแชร์ได้เงินก้อนไปใช้เป็นคนแรกโดยที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเลย แต่ว่าเท้าแชร์จะต้องเป็นธุระในการตามเก็บเงินให้กับทุกคนทุกงวด

และถ้าหากมีลูกแชร์คนไหนหนีไป เท้าแชร์ก็ต้องรับผิดชอบจ่ายแทนให้อีกด้วย กล่าวได้ว่า เท้าแชร์ได้กู้เงินแบบไม่เสียดอกเบี้ยเพราะแลกกับต้นทุนค่าบริหารจัดการ และที่สำคัญกว่านั้นคือแลกกับการที่เท้าแชร์จะต้องเป็นผู้ค้ำประกัน

แบกรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ของลูกแชร์ทุกคนไว้เองทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนที่เป็นเท้าแชร์นั้นควรเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือสูง มิฉะนั้น หากเท้าแชร์หนีไปซะเอง ลูกแชร์ทุกคนก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลย

ส่วนคนที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนหนักที่สุดในวงแชร์คือคนแรกๆ ที่เปียไปถัดจากเท้าแชร์ เพราะโดยมากแล้ว ในงวดแรกๆ นั้นยังมีคนไม่ได้เปียเกือบทุกคนในวง คู่แข่งยังเยอะอยู่ ก็ต้องแย่งกันเปียด้วยผลตอบแทนจำนวนที่สูง นอกจากนี้ คนแรกๆ ที่คิดจะเปียให้ได้ก็มักเป็นคนที่ร้อนเงินนั่นเอง คนร้อนเงินมักยอมจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ ขอให้ได้เงินมาใช้ก็พอ

สรุปแล้ว การเล่นแชร์คือการกู้เงินระยะสั้นภายในหมู่คนรู้จักกัน เป็นเหมือนแหล่งเงินทุนของคนสมัยก่อนที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงสถาบันการเงินได้ยาก โดยคนแรกๆ ที่เปียไปนั้นถือเสมือนเป็นผู้กู้ ส่วนคนหลังๆ ก็เสมือนเป็นผู้ปล่อยกู้นั่นเอง

ผู้ปล่อยกู้คือคนที่ไม่ได้ร้อนเงินแต่ว่าอยากมาเล่นแชร์เพราะว่าหวังจะได้ผลตอบแทนจากการเล่นแชร์ซึ่งจะสูงกว่าการฝากแบงก์มาก (เนื่องจากความเสี่ยงสูงกว่าการฝากแบงก์) บางคนคิดว่าการที่คนสุดท้ายได้ผลตอบแทนมากที่เป็นเรื่องของ Time Value of Money กล่าวคือได้เงินช้ากว่าก็ต้องได้ดอกเบี้ยสูงกว่า นั่นอาจมีส่วนอยู่บ้างแต่ก็น้อยมาก เพราะแชร์วงหนึ่งใช้เวลาเล่นสั้นแค่สิบเดือนเท่านั้น ที่จริงแล้วผลตอบแทนที่สูงขึ้นส่วนใหญ่แล้วเกิดจาก Default Risk ที่สูงขึ้นมากกว่ามาก


แน่นอนครับ แม้คนที่เปียคนสุดท้ายจะได้ผลตอบแทนสูงสุด แต่เขาก็คือลูกแชร์คนที่ต้องแบกความเสี่ยงไว้สูงสุดด้วยเหมือนกัน เพราะเขาจะเป็นคนสุดท้ายที่จะได้เงินต้นทั้งหมดคืน ถ้าเกิดวงแชร์ล้มกลางทาง คนที่เปียไปก่อนแล้วจะเสียหายน้อยที่สุด ส่วนคนที่ยังไม่ได้เปียจะเสียหายมาก จึงเป็นไปตามกฎที่ว่า High Risk High Return นั่นเอง และอัตราดอกเบี้ยที่เปียมานั้นก็คือสิ่งที่สะท้อนความเสี่ยง (Risk Premium)

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว นายทุนทั้งหลายที่หวังจะได้ดอกเบี้ยเยอะๆ ด้วยการเล่นแชร์นั้น ถ้าหากผ่านไปถึงกลางทางแล้วเห็นท่าไม่ค่อยจะดีก็ควรจะรีบๆ เปียดีกว่า อย่าไปเสียดายว่าต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยสูงแค่ไหนก็ไม่คุ้มหรอก หากสุดท้ายแล้วไม่ได้เงินต้นคืน อันนี้ถือเป็นคติพจน์ของการปล่อยกู้ทุกคนด้วย

การเล่นแชร์บางวงนั้นก็เป็นแค่เพียงการเล่นกันเฉพาะในหมู่ญาติสนิท โดยมีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือให้มีเรื่องได้สังสรรค์กันในวงศ์ตระกูลเท่านั้น การเล่นแชร์แบบนี้จึงก็ไม่น่ากลัวเท่าไร การเล่นแชร์ยังมีประโยชน์สำหรับเครือญาติที่ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายด้วย

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจอาจต้องมีเงินก้อนใหญ่มาเพื่อตุนวัตถุดิบหรือสินค้าเป็นบางเดือน ("สต๊อกของ") เมื่อกำลังเข้าฤดูกาลซื้อขายหรือ high season การเล่นแชร์ก็เหมือนกับมีวงเงินสำรองเอาไว้ใช้สำหรับเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนนั่นเอง

แต่ถ้าหากเป็นการเล่นแชร์กับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นวงแชร์ที่ใหญ่มากๆ จนลูกแชร์แทบไม่รู้จักกันเลย แบบนี้ความเสี่ยงจะสูงมาก ถ้าหากคิดจะเล่นควรตรวจสอบเครดิตของเท้าแชร์ให้จงดี เพราะฉะนั้นการลงทุนผ่านแชร์เปรียบเสมือนการลงทุนผ่านการกู้ยืมโดยมีเท้าแชร์เป็นผู้รับประกันความเสี่ยง เป็นการลงทุนระยะสั้นที่ถือว่าผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์เท้าแชร์ตลอดเวลา

 

โดย : วิศวกร ปันยารชุน
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ เล่นแชร์ เปียแชร์ ลงทุนทางเลือก นอกตำราแต่มหานิยม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook