ทางออกเกษตรกรไทย เอาตัวรอดในกระแส AEC

ทางออกเกษตรกรไทย เอาตัวรอดในกระแส AEC

ทางออกเกษตรกรไทย เอาตัวรอดในกระแส AEC
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผักปลอดสารพิษเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งของเกษตรกรที่ต้องการอยู่รอดบนวิถีรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม

ผักปลอดสารพิษเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งของเกษตรกรที่ต้องการอยู่รอดบนวิถีรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม จากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2552)

พบว่าในภาพรวม ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าระหว่าง 113,006 ถึง 187,171 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยางพารา, น้ำตาล, ข้าว, ซอส, เครื่องปรุงและเครื่องดื่ม

ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด 4 อันดับแรก คือ ปลาและสัตว์น้ำ, นม, ซอสและเครื่องปรุง, ไขมัน และน้ำมันจากพืช/สัตว์

โดยมีอัตราการนำเข้าซึ่งมีมูลค่าระหว่าง 33,564 ถึง 44,766 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

จึงถือว่า ประเทศไทยยังได้เปรียบดุลการค้ากลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารกับกลุ่มประเทศอาเซียนค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มที่ดี

สินค้าที่จะ "ได้ประโยชน์" สูงสุด คือ อาหารปรุงแต่ง, ข้าวโพด, ผลไม้, แป้งมัน, และน้ำตาลทราย ส่วนสินค้าที่จะ "ได้รับผลกระทบ" ได้แก่ กาแฟ, น้ำมันปาล์ม, ข้าว และมะพร้าว

ดร.ภารดี ประเสริฐลาภ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการที่ศึกษาด้านเกษตรกรรมไทยมายาวนาน กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมมีการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553

ส่วนการเข้าสู่เออีซี AEC (อ่านต่อ : AEC คืออะไร) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ได้กำหนดระยะเวลาการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศสมาชิกไว้ 2 กลุ่ม

คือ กลุ่มแรกมี 6 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, บรูไน และไทย ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553

ส่วนอีก 4 คือ "ซีแอลเอ็มวี" กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม จะลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา

หากเกษตรกรยังคงพึ่งพาสารเคมี มีแนวโน้มว่าจะไม่มีตลาดรองรับสินค้าปนเปื้อนเหล่านี้ และไม่อาจแข่งขันกับสินค้าปลอดสารพิษได้



หากเกษตรกรยังคงพึ่งพาสารเคมี มีแนวโน้มว่าจะไม่มีตลาดรองรับสินค้าปนเปื้อนเหล่านี้ และไม่อาจแข่งขันกับสินค้าปลอดสารพิษได้

ดังนั้น ปี พ.ศ.2558 กำแพงภาษีของสินค้าเกษตรของกลุ่มประเทศอาเซียนจะลดลงเป็นศูนย์ ทว่าการยกเลิกกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าหลังรวมกลุ่มเออีซี นำมาซึ่ง "โอกาสและภัยคุกคาม"

ดร.ภารดีบอกว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเกิดจากการใช้มาตรฐานเดียวกันของภูมิภาคคือ สามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศทีมีต้นทุนต่ำ หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีทรัพยากรพร้อมกว่า

เพื่อผลิตและส่งออกไปยังอาเซียนและประเทศที่สาม ในส่วนของโอกาสทางการค้าจะเกิดจากการขยายการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนที่มีประชากรรวมกันถึง 580 ล้านคน

แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ สินค้าเกษตรกรรมไทยจะมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานฝีมืออย่างเสรีจากการยกเลิกภาษีนำเข้าเป็น 0 เปอร์เซ็นต์

อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ (Skilled labor) ไปยังประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าในกลุ่ม 7 อาชีพเสรี คือ วิศวกร, พยาบาล, สถาปนิก, การสำรวจ, นักบัญชี, ทันตแพทย์ และแพทย์

ส่วนผลกระทบต่อสินค้าเกษตรกรรมอย่าง "ข้าว" ที่ไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ทว่าเวียดนามสามารถผลิตในปริมาณที่เท่ากันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากผลผลิตต่อไร่สูง

ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพปลูกได้หลายครั้งใน 1 ปี ต่างกับไทยที่ปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง, ส่วน "ข้าวโพดและถั่วเหลือง" ตอนนี้ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ

จึงมีการนำเข้า หากต้องนำเข้าข้าวโพดระยะยาว เกษตรกรอาจต้องเปลี่ยนพืชที่ปลูกหรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย




"ปาล์มน้ำมัน" มาเลเซียผลิตได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่สินค้าจากไทยยังขายได้เพราะได้มาตรฐานคือ ไร้ไข น้ำมันใส ทว่าต้นทุนสูง และสายพันธุ์ที่ปลูกในประเทศมาเลเซียดีกว่า

"กาแฟ" ยังต้องมีการนำเข้า เนื่องจากปลูกได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ต้องแข่งขันกับเวียดนาม บราซิล และอินโดนีเซีย, "มันสำปะหลัง"

มีข้อได้เปรียบอยู่ที่ประเทศไทยปลูกได้ดี ปลูกได้จำนวนมาก กระทั่งสามารถส่งออกได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก, "มะพร้าว" แข่งขันกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และ "ชา" ที่แข่งกับอินเดียและอินโดนีเซีย

ระบบชลประทานที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นปัญหากับเกษตรกรรายย่อยอย่างมากจึงต้องมีการเตรียมพร้อม ใช้มาตรการทั้งเชิงรับและเชิงรุก

ดร.ภารดีเสนอมาตรการเชิงรับและเชิงรุกเพื่อเตรียมพร้อมสู่เออีซี (AEC คืออะไร) มาตรการเชิงรับ คือ "การป้องกัน" บริหารจัดการระบบนำเข้าที่ดี เพราะไม่อาจนำเข้าสินค้าทุกอย่างได้

ต้องมีการขออนุญาตและจดทะเบียน มีการรับรองพืชปลอดสารพิษตกค้าง ปลอดจีเอ็มโอ มีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ และ "การปราบปราม" ผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่นกรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนมาตรการเชิงรับ มี 3 ประการ คือ "การปรับโครงสร้างการผลิต" สินค้าไทยอาจไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ต้องมีการปรับไปสู่การผลิตใหม่ โดยรัฐต้องช่วยผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง

แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร พร้อมทั้งตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยให้เปลี่ยนสู่วิถีการผลิตใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

สองคือ"การปรับตัวของสินค้าเกษตร" ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยเพิ่มประสิทธิภาพของการปรับปรุงพันธุ์พืช พัฒนาระบบชลประทาน รวมถึงการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้น

เพื่อสร้างมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าให้ต้องตาผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสาม "การลงทุนต่างประเทศ" นักธุรกิจไทยอาจลงทุนในชาติอาเซียน

ที่มีค่าแรงถูกกว่าหรือทรัพยากรพร้อมกว่า เช่น ลงทุนปลูกถั่วเหลืองที่ประเทศ สปป.ลาวตอนบน หรือเวียดนามซึ่งสภาพอากาศเหมาะสมกว่า

"ศักยภาพของไทย คือ มีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปริมาณ, ต้นทุนแรงงานถูกกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย และการส่งออกอาหารของไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งกรมพัฒนาสินค้าเกษตร ต้องให้การสนับสนุนเต็มที่"

"เช่น พัฒนาพันธุ์พืชให้ก้าวหน้า ยกตัวอย่าง ′ยางพารา′ ซึ่งมาเลเซียพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถกรีดยางตอนรุ่งสางได้ ชาวสวนยางจะได้ไม่ต้องตื่นมากรีดตอนเช้ามืด รวมทั้งการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย" ดร.ภารดีกล่าว

และทิ้งท้ายว่า "หากทรัพยากรมนุษย์ของเราด้อยคุณภาพ ก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้"

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook