4 เรื่องที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่กับการวางแผนทางการเงิน

4 เรื่องที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่กับการวางแผนทางการเงิน

4 เรื่องที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่กับการวางแผนทางการเงิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า “วางแผนทางการเงิน” ก็มักจะรู้สึกขยาด ๆ เพราะคิดว่าเมื่อใดก็ตามที่เริ่มต้นวางแผนทางการเงิน ก็ย่อมหมายถึงว่าเราจะกินใช้เหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป แต่จะต้องรัดเข็มขัด ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินกันอย่างเดียว ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เลย การวางแผนทางการเงินนั้นหมายถึงการวางแผนเพื่อจัดสรรรายได้และรายจ่ายในปัจจุบันเพื่อเตรียมให้ชีวิตพร้อมและมั่นคงในวันนี้และต่อไปในอนาคต ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องประหยัดรัดเข็มขัด ห้ามกินห้ามใช้อย่างที่หลายคนเข้าใจ

เพราะความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้เองที่ทำให้หลายคนไม่เริ่มต้นวางแผนการเงินเสียที หรือบางคนก็ผัดวันประกันพรุ่งให้การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของพรุ่งนี้ที่จะมาถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มีความเข้าใจหลายอย่างเกี่ยวกับการวางแผนการเงินที่คลาดเคลื่อนไป ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและเสียโอกาสในการเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เราลองไปดูกันค่ะ ว่าสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่นั้นมีเรื่องอะไรบ้าง

 


1. จนจะแย่ไม่ต้องวางแผนการเงินหรอก หลายคนที่มีรายได้ไม่มาก หรือรายได้ก็แทบจะไม่พอค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว และเวลาใครถามก็ชอบบอกว่าตัวเองจนไม่เห็นจะต้องวางแผนการเงิน เพราะไม่มีเงินให้วางแผน นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะยิ่งรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายแบบนี้ เรายิ่งต้องรีบวางแผนการเงินโดยด่วน เพราะการวางแผนการเงินจะทำให้เรารู้ว่า สถานะการเงินของเรา (แบบละเอียด) นั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่รู้แค่ว่าเงินไม่พอใช้เท่านั้น แต่ยังรู้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเราใช้เรื่องอะไรไปบ้าง มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แล้วมีค่าใช้จ่ายอะไรที่เราสามารถตัดหรือลดลงได้บ้าง

รายได้ก็เช่นเดียวกัน หากดูค่าใช้จ่ายแบบละเอียดแล้วเห็นว่ามีแต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริง ๆ แต่รายได้น้อยเหลือเกิน แบบนี้ก็ควรต้องหาช่องทางในการเพิ่มรายได้ หาอาชีพเสริมทำในเวลาว่าง เพื่อให้รายได้พอและยังเหลือเก็บออมได้อีกด้วยนั่นเอง คนที่คิดว่าตัวเองจนแล้วยิ่งไม่วางแผนทางการเงินให้ดี โอกาสรวยก็จะยากค่ะ

2. รวยอยู่แล้วไม่เห็นต้องวางแผนการเงินเลย ตรงกันข้ามกับข้อ 1 คนมีฐานะดีหรือคนรวยบางคนคิดว่าเรามีเงินมากมายอยู่แล้ว ใช้ไปจนวันตายก็ไม่มีทางหมด ดังนั้นก็ไม่เห็นจะต้องวางแผนการเงินเลย ความเข้าใจแบบนี้ก็ถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน จริงอยู่ที่คนรวยและมีเงินไม่ต้องกังวลเรื่องของรายได้ว่าจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่เหมือนกับคนที่ไม่มี แต่การจะทำให้ทรัพย์สินหรือเงินทองที่มีอยู่สร้างผลตอบแทนที่งอกเงยขึ้นมาได้มากน้อยเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนทางการเงินให้ดีด้วย

ยังมีส่วนประกอบอื่นที่สำคัญในการวางแผนการเงินนอกจากการลงทุนอย่างเช่น เรื่องภาษี เรื่องการวางแผนมรดก เรื่องการทำประกันชีวิต ที่ก็ต้องเป็นคนรวยที่มีเงินมาก ๆ เท่านั้นที่ควรจะต้องกังวลเรื่องเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มี รายได้จะน้อยหรือมาก ก็ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่วางแผนทางการเงินได้

3. เพิ่งเริ่มทำงานยังไม่เห็นต้องรีบวางแผน เชื่อว่าหลายคนคิดแบบนี้ค่ะ จากที่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่มานานในช่วงที่เรียนอยู่ พอเรียนจบหาเงินได้เอง มีรายได้แล้ว ก็อิสระอยากใช้เงินน้ำพักน้ำแรงของเราให้เต็มที่ ส่วนเรื่องวางแผนการเงินไม่ต้องรีบก็ได้ ให้เป็นเรื่องของอนาคตไป วันนี้ขอใช้ชีวิตให้เต็มที่อย่างมีความสุขที่สุด หากใครคิดแบบนี้น่าจะต้องทำความเข้าใจใหม่ค่ะ เพราะการวางแผนการเงินไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราจะมีความสุขไม่ได้ เราจะใช้เงินไม่ได้ อยากกินอยากใช้อะไรก็ทำไม่ได้ ไม่จริงเลย

การวางแผนการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งเพิ่งเริ่มทำงานนี่แหล่ะ ยิ่งได้เปรียบ ลองไปถามคนที่มีอายุมาก ๆ ดู ทุกคนจะต้องแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเริ่มเก็บออมเงินให้เร็วกว่านี้ ไม่น่ารีบทำบัตรเครดิต ไม่น่ารีบออกรถเลย ถึงวันนี้จะได้ไม่ต้องกลุ้มใจกับเรื่องเกษียณที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเริ่มวางแผนการเงินด้วยการเก็บออมตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ ๆ ยังมีภาระไม่มาก ไม่มีครอบครัว ค่าใช้จ่ายน้อย ทำให้เก็บเงินได้มาก และเงินเก็บก็จะมีเวลาที่นานกว่าในการสร้างผลตอบแทนให้ในอนาคตค่ะ

4. เอาแผนการเงินของเพื่อนมาใช้ การวางแผนการเงินเป็นเรื่องส่วนบุคคลเนื่องจากรายละเอียดและเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนต้องดูแลพ่อแม่ บางคนมีครอบครัวมีลูก บางคนรายได้มาก บางคนรายได้น้อย บางคนอยู่กับพ่อแม่ บางคนต้องออกมาเช่าหอพักหรือคอนโดอยู่เอง สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ก็มากน้อยแตกต่างกันไปด้วย

ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าเราสามารถเอาแผนการเงินของเพื่อนมาเป็นแผนการเงินของเราได้เลยนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แนวคิดอาจยืมมาใช้ได้ แต่ต้องมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวเรา ขนาดแผนการเงินของคน ๆ หนึ่งยังต้องที่มีการวางแผนใหม่ ปรับเปลี่ยนใหม่กันอยู่เรื่อย ๆ เมื่อวัยหรือเงื่อนไขชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีความคิดหรือความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินอย่างที่ว่ามาข้างต้น ก็ขอให้เข้าใจใหม่ให้ถูกต้องว่ามันไม่ใช่แบบนั้น แล้วรีบตั้งต้นวางแผนการเงินกันตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook