ก.อุตฯเร่งหาเหมืองใช้ประโยชน์ช่วยภัยแล้ง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/mn/0/ud/69/349797/672129-01.jpgก.อุตฯเร่งหาเหมืองใช้ประโยชน์ช่วยภัยแล้ง

    ก.อุตฯเร่งหาเหมืองใช้ประโยชน์ช่วยภัยแล้ง

    2016-01-16T16:44:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    รัฐมนตรีฯ อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.สระบุรี เร่งหาเหมือง 36 แห่งทั่วประเทศ ใช้ประโยชน์ช่วยภัยแล้ง ตั้งเป้าผลักดันพื้นที่เหมืองแร่ 36 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งน้ำช่วยภัยแล้ง

    นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการประกอบการเหมืองหินปูนของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด และ บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ว่า กระทรวงได้ขอความร่วมมือให้กับผู้ประกอบกิจการเหมืองปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ใช้พื้นที่ขุมเหมืองเก่าช่วยกักเก็บน้ำเพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 โดยเบื้องต้นพบว่ามีเหมืองหินทั่วประเทศที่มีศักยภาพรองรับน้ำเพื่อใช้หน้าแล้ง 36 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นกว่า 166 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกระทรวงฯ พยายามสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการฟื้นฟูเหมืองแร่ก่อนที่สิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้เหมืองแร่ไม่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม พร้อมให้แนวทางการฟื้นฟูศึกษาต้นไม้ พืชพันธุ์ไม้ ที่สามารถปลูกในเหมือง การเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้เหมืองแร่มีสภาพที่ดี

    นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งตรวจสอบพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาพื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศเพื่อการใช้ประโยชน์ โดย กพร. จะสำรวจเก็บรวบรวมรายละเอียดพื้นที่ขุมเหมืองที่คาดว่ามีศักยภาพทั้งในด้านคุณภาพน้ำและปริมาณ ความเหมาะสม เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 

    ทางด้าน นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับการจัดหาพื้นที่เหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำทั่วประเทศจำนวน 36 แห่ง ล่าสุด มีขุมเหมืองที่บรรจุน้ำเพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งแล้ว 9 เหมือง จำนวน 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของน้ำในการทำเกษตรกรรม การอุปโภค การประมง ขณะที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการสำรวจพบว่า มีพื้นที่เหมืองหินประมาณ 12 แห่ง กระจายอยู่ใน จ.สุรินทร์ อุบลราชธานี เลย และหนองบัวลำภู มีปริมาณน้ำประมาณ 500,000 - 1 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำกักเก็บในขุมเหมืองและพร้อมใช้งาน แต่ทั้งนี้จะต้องดูความพร้อมเรื่องของงบประมาณการลงทุนสำหรับการปรับปรุงหรือไม่ ซึ่ง กพร. ตั้งเป้าหมายผลักดันพื้นที่เหมืองแร่ทั้ง 36 แห่งทั่วประเทศ ให้สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้สำรองป้องกันปัญหาภัยแล้งให้ได้ภายในปีนี้  

    นอกจากนี้ นายชาติ กล่าวถึง ความคืบหน้าการร้องเรียนของประชาชนถึงผลกระทบของเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีสอร์สเซส จำกัด จ.พิจิตร ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น มั่นใจว่าคุณภาพอากาศไม่ประสบปัญหามลพิษแต่อย่างใด ส่วนน้ำบาดาลและบนพื้นผิวเบื้องต้นยังไม่พบสารโลหะหนักที่เป็นพิษ แต่ยังต้องรอข้อสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบอย่างชัดเจนอีกครั้ง