เปิด 60 หุ้นเสี่ยง ราคาแพงเว่อร์ ดัชนีไทยแซงหน้าต่างชาติ

เปิด 60 หุ้นเสี่ยง ราคาแพงเว่อร์ ดัชนีไทยแซงหน้าต่างชาติ

เปิด 60 หุ้นเสี่ยง ราคาแพงเว่อร์ ดัชนีไทยแซงหน้าต่างชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิด 60 หุ้นเสี่ยงแพงเกินพื้นฐาน ปี"57 มอง 3 ปัจจัยกดดันตลาด ด้านโบรกเกอร์ชี้ดัชนีหุ้นไทยวิ่งแรงแซง ตปท. แต่เดินหน้าเชียร์ไม่เลิก ลั่นยังมีเงินต่างชาติไหลเข้าช้อนหุ้นใหญ่รายตัว หวังดันดัชนีไตรมาส 4 แตะ 1,700 จุด ฟากบริษัทเครดิตเรตติ้ง "เอสแอนด์พี" ชู 20 บจ.ผลประกอบการเด่น


นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส (ASP) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมากกว่า 22% หลังจากลงไปต่ำสุดที่ระดับ 1,224.62 จุด เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 57 ซึ่งถือว่าตลาดหุ้นสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วและกลับมาใกล้เคียงกับกลุ่ม TIP (ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) และอินเดีย ซึ่งมีดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 22%, 21%, 23.4% และ 20.3% ตามลำดับ

สำหรับกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าตลาดหุ้น ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล ปรับขึ้นกว่า 58.6% ตามมาด้วยกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โรงแรม ธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น 48.5%, 38.4%, 37.6%, 34.6% และ 32.9% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยยังศึกษาหุ้นรายตัวจาก 170 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) พบว่า บริษัทที่มีราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน (26 ก.ย. 57) เพิ่มขึ้นเกินมูลค่าที่เหมาะสม(Fair Value) หรือเกินปัจจัยพื้นฐานของปี 2557 ประมาณ 60 บริษัท โดยหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าเหมาะสมมากที่สุด (ดูตาราง)นำโดย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA), บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL), บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.ทีพีไอโพลีน(TPIPL), บมจ.วนชัย กรุ๊ป (VNG), บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) เป็นต้น

3 ปัจจัยเส่ยงกดดัชนีปรับฐาน

นายประกิตให้มุมมองอีกว่า ในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า ดัชนีหุ้นไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับฐานระยะสั้น จากปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก พื้นฐานตลาดหุ้นไทยมีระดับอัตราราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ในปี 2557 ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยค่า Expected P/E (คาดการณ์ราคาหุ้นต่อกำไร) ของตลาดหุ้นไทยจะลดลงเหลือ 14.3 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 16.2 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่มีคาดการณ์ราคาหุ้นต่อกำไรปีนี้อยู่ในระดับเดียวกันที่ 16.8 เท่า ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 14.3 เท่า และ 15.3 เท่าตามลำดับ สะท้อนว่าราคาหุ้นไทยไม่ได้แพงกว่าเพื่อนบ้าน

แต่เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะเติบโตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน โดยปีนี้คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 1.5% และเพิ่มเป็น 3.5% ในปีหน้า

ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีจีดีพี 5.4% และ 5.2% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าเติบโตเป็น 5.8% และ 5% ตามลำดับ สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงจะถูกเทขายทำกำไรค่อนข้างสูง

ประการต่อมา คือ แรงกดดันจากกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในกลางปีหน้า เช่นเดียวกับอังกฤษที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วนประเทศฝั่งเอเชียบางแห่ง อาทิ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ขณะที่ประเทศไทยคาดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกลางปี 2558 ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่า อัตราดอกเบี้ยกับตลาดหุ้นจะมีความสัมพันธ์ในทางตรงข้าม

ประการสุดท้าย คือ แรงเทขายสุทธิจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมียอดขายสุทธิมากกว่าซื้อ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ลงทุนในหุ้นเต็มที่แล้ว และกองทุนหุ้นถือเงินสดสุทธิเฉลี่ย 3.5% ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิสะสมกว่า 31,376 ล้านบาท โดยทยอยซื้อมาตั้งแต่ดัชนีอยู่ที่ 1,315 จุด ดังนั้นปัจจุบันจึงมีกำไรมากกว่า 10-20% และเสี่ยงที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะทยอยขายหุ้นทำกำไรในบ้างช่วง

ฟันด์โฟลว์ตัวเร่งดัชนีพุ่งต่อ

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสระบุว่า หากต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ ก็อาจจะทำให้การกำหนดดัชนีเป้าหมายตลาดเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากกว่าปัจจุบัน และคาดว่าดัชนีจะปรับฐานลงมาทดสอบที่ระดับดัชนีราว 1,521จุด ก่อนสิ้นปีนี้ แต่หากมองไปถึงสิ้นปี 2558 คาดว่าดัชนีเป้าหมายจะขยับขึ้นไปถึง 1,657-1,713 จุด

จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนให้ปรับพอร์ตใหม่ โดยสลับ "ขายหุ้น" ที่ขึ้นแรง และเลือก "ซื้อหุ้น" พื้นฐานที่ราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม หรือขึ้นช้ากว่าตลาด (Laggards) โดยให้ถือเงินสดส่วนใหญ่ 70% และอีก 30% ถือหุ้นไทย หรือเข้าหลบภัยในหุ้นพื้นฐานที่ปลอดภัย โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มหุ้น Laggards ที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) และแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น (Upside) สูง ได้แก่ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC), บมจ.อาร์เอส (RS), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC)

อีกกลุ่มคือ หุ้น Laggards ที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลและการปรับตัวเพิ่มขึ้น (Upside) สูง แต่มี P/E ต่ำ ได้แก่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL), บมจ.เอสทีพีแอนด์ ไอ (STPI), บมจ.ศรีราชาคอนสตรัคชั่น (SRICHA), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) และธนาคารทหารไทย (TMB) เป็นต้น

จ่อออกเกณฑ์สกัดหุ้นร้อน

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ หรือ สมาคมโบรกฯเปิดเผยว่า สมาคมเตรียมออกหลักเกณฑ์หุ้นที่มีแรงเก็งกำไรสูงจนค่า P/E สูงมาก โดยมีแนวคิดไม่ให้หุ้นเก็งกำไรสูงมาเป็นหลักประกันในบัญชีซื้อขายหุ้น แล้วกำหนดให้เพิ่มหลักประกันเมื่อต้องการซื้อขายหุ้นกลุ่มเก็งกำไรแทน ซึ่งจะมีการหารืออีกครั้งในการประชุมสมาชิกประจำเดือน รวมทั้งมีการย้ำกับบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) มากขึ้นสำหรับหุ้นร้อนดังกล่าว

ขณะที่ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีมาตรการต่าง ๆ เพียงพอและใช้ได้ผลในการดูแลหุ้นที่ราคาเคลื่อนไหวผิดปกติแล้ว จึงยังไม่มีมาตรการใหม่ ๆ ขณะที่ ตลท.ก็มีความเข้มงวดมากขึ้น และติดตามความเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

มองข้ามชอตดันดัชนีแซงหน้า

นายกรภัทร วรเชษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสินเปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แซงหน้าตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP อีกทั้งยังปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้วอย่างตลาดญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นเพียง 11.8%, จีน 11.4%, S&P 500 ของสหรัฐ 7%, ฝรั่งเศส 1.9% และเยอรมนี -0.8% เป็นต้น

"ปัจจุบันนักลงทุนมองข้ามชอตไปถึงทิศทางปี 2558 มากขึ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2558 ที่อยู่ระดับ 115 บาทต่อหุ้น ก็จะส่งผลให้ระดับ P/E ตลาดลดลงเหลือระดับ 13.7 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ 16 เท่า ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ สามารถเลือกลงทุนได้ โดยเน้นในกลุ่มท่องเที่ยว, รับเหมาก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์" นายกรภัทรกล่าว

นายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.เออีซี กล่าวว่า ทิศทางภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/2557 คาดว่าจะเห็นดัชนีปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,700 จุด และมีโอกาสจะขยับขึ้นไปมากถึง 1,760 จุดได้ เนื่องจากพบสัญญาณแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เตรียมตัวไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเข้ามาลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) เพิ่มมากขึ้น เพราะราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวยังต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และ P/E ของกลุ่มยังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ กลุ่มพลังงาน, ปิโตรเคมี, ยานยนต์ และกลุ่มแบงก์ ซึ่งยังมี P/E อยู่ระดับไม่ถึง 12 เท่า

S&P ช้ 20 บจ.ไทยติดดาว

นายเซเวียร์ จีน ผู้อำนวยฝ่ายจัดอันดับเครดิตบริษัทเอกชน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า จากการวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในประเทศไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลประกอบการมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยทางการเมืองเป็นตัวกดดัน แต่หลายบริษัทก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

"ประเด็นการเมืองของประเทศไทยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากนัก เพราะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจในภาพรวมก็ยังคงดำเนินต่อไปได้"

จากการสำรวจ "ASEAN Top Companies Series" โดยเน้นในส่วนของประเทศไทย พบว่ามี 20 บริษัทที่น่าสนใจ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) บมจ.บ้านปู(BANPU) บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPALL) บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) บมจ.อินทัชโฮลดิ้งส์ (INTUCH) บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.การบินไทย (THAI) บมจไทยออยล์ (TOP) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev)


 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook