งานวิจัย ม.ฮาร์เวิร์ด เผยการสูบบุหรี่อาจทำลายดีเอ็นเอได้อย่างถาวร !!
รายงานวิจัยชิ้นใหม่ของ Hebrew SeniorLife Institute for Aging Research ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของ Harvard Medical School ระบุว่าการสูบบุหรี่อาจทำลาย DNA ของคนเราได้อย่างถาวร
รายงานการวิจัยชิ้นนี้ค้นพบหลักฐานว่า การสูบบุหรี่มีผลกระทบในระยะยาวต่อ DNA ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจยาวนานกว่า 30 ปี โดยผลเสียจากการที่ DNA ถูกทำลายไปนั้นมีหลายอย่าง รวมถึงโอกาสเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม คุณ Roby Joehanes หนึ่งในคณะนักวิจัยชุดนี้ กล่าวว่ายังมีข่าวดีอยู่บ้าง คือเมื่อหยุดสูงบุหรี่แล้ว DNA ส่วนใหญ่ของที่ถูกทำลายไปนั้น อาจเริ่มฟื้นฟูจนกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ได้หลังจาก 5 ปีผ่านไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร่างกายของคนเราพยายามเยียวยาตัวเองจากผลร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ในการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยใช้วิธีตรวจสอบเลือดของกลุ่มตัวอย่าง 16,000 คน และพบว่าส่วนใหญ่แล้ว DNA ที่ถูกทำลายไปจากการสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี จะเริ่มลดลงในกลุ่มที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้วราว 5 ปี ถึงกระนั้น นักวิจัยระบุว่ามี DNA บางส่วนที่ถูกทำลายอย่างถาวร ฟื้นกลับมาไม่ได้
รายงานฉบับนี้เรียกกระบวนการที่ DNA ถูกทำลายไปนี้ว่า “เมธิลเลชั่น” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ DNA ทำให้เกิดโอกาสป่วยเป็นมะเร็งหรือโรคอื่นๆ
โดยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ มีการเปลี่ยนแปลงในยีนมากกว่า 7,000 ชนิด หรือราว 1 ใน 3 ของหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์เท่าที่แพทย์รู้จัก
ดร. Stephanie London หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรายงานและรองหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ของ National Institutes of Health กล่าวว่าผลการวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกระบวนการเมธิลเลชั่นซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยควบคุมการทำหน้าที่ของยีน ได้ส่งผลกระทบต่อยีนนั้นในรูปแบบที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่
และที่สำคัญคือ แม้เลิกสูบบุหรี่ไปนานแล้ว ก็ยังอาจสามารถเห็นผลกระทบที่ว่านั้นอยู่
รายงานการวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ Circulation: Cardiovascular Genetics ของ American Heart Association ฉบับเดือนตุลาคม
ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า การสูบบุหรี่คือสาเหตุที่ทำให้ในแต่ละปีมีคนอเมริกันราว 480,000 คน เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกกว่า 6 ล้านคนต่อปี โดนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคทางปอด ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่
ปัจจุบัน อัตราการสูบบุหรี่ในสหรัฐฯ ลดลงมาก โดยคาดว่าเหลือคนอเมริกันที่สูบบุหรี่เป็นประจำเพียง 15% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากห้องข่าววีโอเอ)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.voathai.com/