"ตะกรุด" เครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับความเชื่อของคนไทย

"ตะกรุด" เครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับความเชื่อของคนไทย

"ตะกรุด" เครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับความเชื่อของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยความเชื่อและความศรัทธา ตะกรุด จึงเป็นเครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับคติความเชื่อในสังคมไทยมาช้านาน เพื่อความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ดีในทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ป้องกันภยันตราย ภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งด้านเมตตามหานิยม ค้าขาย โชคลาภ กลับดวง พลิกชะตา เลื่อนยศ ร้ายกลายเป็นดี ฯลฯ ตะกรุดได้ถูกสร้างโดยอ้างถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ 

โดย ตะกรุด นั้นทำมาจากวัสดุต่าง ๆ ตามตำราของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน แต่ที่พบโดยทั่วไปจะเป็นการนำโลหะแผ่นบาง ๆ อาจจะเป็น ทองคำ เงิน นาก ตะกั่ว หรือโลหะผสมอื่น ๆ มาลงอักขระเลขยันต์ด้วยเหล็กจารแสดงความหมายที่แตกต่างกันออกไป แล้วม้วนให้เป็นท่อกลมโดยมีช่องว่างตรงแกนกลางสำหรับร้อยเชือกติดตัว อาจนำมาหลอมรวมกันแล้วทำเป็นตะกรุดหล่อโบราณ ทำจากรางน้ำฝน ทำจากกาน้ำ ทำจากใบลาน ตัดเป็นแผ่นก่อนแช่น้ำแล้วนำมาม้วนเป็นท่อกลม ทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังเสือ หนังหน้าผากเสือ หนังงู หนังเสือดาว หนังลูกวัวอ่อนตายในท้องแม่ หรือจากกระดูกสัตว์ ตะกรุดกระดูกช้าง ตะกรุดจากเขาวัวเผือก

หรือจากไม้มงคลต่าง ๆ เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งมีทั้งไผ่ตันและไผ่รวก ไม้คูน ไม้ขนุน ตะกรุดส่วนใหญ่ที่เป็นโลหะ จะมีความเชื่อที่แตกแขนงออกไปอีก เช่น ถ้าเป็นตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางด้านเมตตา มักจะทำโดยใช้แผ่นทองหรือแผ่นเงิน ตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางคงกระพัน จะใช้แผ่นทองแดง ตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางด้านแคล้วคลาด มักจะใช้แผ่นตะกั่ว เป็นต้น

รูปแบบของตะกรุดก็มีพัฒนาการเรื่อยมาจากดอกใหญ่หนาสำหรับการออกศึกสงคราม ก็ค่อย ๆ ลดขนาดลง บางทีก็จัดทำเป็นดอกเล็ก ๆ ในลักษณะเครื่องรางติดตัวหรือสามารถตอกฝังเข้าไปในร่างกายได้ ปัจจุบันก็มีรูปแบบใหม่ขึ้นมาโดยทำมาจากปลอกลูกปืน อาศัยนัยว่า แม่ไม่ฆ่าลูก แล้วอาจจะถักด้วยเชือก ด้ายมงคล พอกด้วยผงยาจินดามณี แล้วนำไปจุ่มหรือชุบรักปิดทองตามตำรา

ตะกรุดใช้บูชาอยู่ 3 แบบ คือ ใช้คล้องคอ ใช้คาดเอว และปัจจุบันนิยมนำมา ใช้คล้องแขน โดยดอกตะกรุดจะขนานกันไปในแนวนอน ตะกรุดหากเป็นดอกเดียว เรียกว่า ตะกรุดโทน หากเป็นสองดอกจะเป็น ตะกรุดแฝด หรือเป็นโลหะสามชนิดเรียกว่า ตะกรุดสามกษัตริย์ หาก 16 ดอกเรียกว่า ตะกรุดโสฬส ดังจะเห็นได้จากพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก คล้องไว้ด้วยตะกรุดดอกใหญ่ เรียงเป็นแนวยาวพาดพระอังสะ ในลักษณะการเฉียงลงถึงบั้นพระองค์ มีสายตะกรุด 16 ดอก คล้องเป็นแนวยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งพระองค์ท่านสะพาย 2 เส้น

และในยุคปัจจุบัน ตะกรุดสายแฟชั่น กลับมานิยมกันอย่างแพร่หลายอีกครั้งในหมู่คนดังและเหล่าวัยรุ่น อาทิ เหล่าตะกรุดหลากสี , ตะกรุดมหาเสน่ห์ , ตะกรุดปลดหนี้ , ตะกรุดมหามนต์จนไม่เป็น , ตะกรุดแฝดพญาเทครัว ครูบาชัย , ตะกรุดมงคลจักรวาล หลวงปู่บุญยัง , ตะกรุดร้อยชู้ , ตะกรุดนะเศรษฐีเหนือดวง ฯลฯ เพราะเป็นเครื่องรางที่ผสมผสานกับความเป็นเครื่องประดับได้ด้วย จึงทำให้ไม่ดูเชยล้าสมัย สามารถนำมามิกซ์แอนด์แมทช์ในการแต่งกายได้ด้วย อีกทั้งยังเสริมดวงในด้านต่าง ๆ ตามพุทธคุณ การบูชานั้นก็ไม่ได้ยุ่งยาก ไม่ได้มีอันตรายใด ๆ แต่ผู้บูชาก็ควรทำตัวให้เหมาะสมไม่ด่าครูอาจารย์ พ่อ แม่ ไม่ท้าทายลองของต่าง ๆ จะเป็นการดีต่อตัวผู้บูชา ซึ่งในเรื่องนี้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล

 

คาถาบูชาตะกรุดมหาเสน่ห์ 

(ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า)

นะเมตตา โมกรุณา พุทปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู สารพัดศัตรูวินาศสันติ
อิติปิโส สำเร็จสมปรารถนาด้วย นะโมพุทธายะ ฯลฯ 

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม >>>

"เอม ตามใจตุ๊ด" สายมูขั้นสุดพกของขลังและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพิ่มดวงปัง

"เบิ้ล ปทุมราช" เผยเหตุการณ์เหลือเชื่อ "ของขลัง" ช่วยชีวิต!

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "ตะกรุด" เครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับความเชื่อของคนไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook