เช็กความพร้อมฟรีทีวี อุ่นเครื่อง "ทีวีดิจิทัล"

เช็กความพร้อมฟรีทีวี อุ่นเครื่อง "ทีวีดิจิทัล"

เช็กความพร้อมฟรีทีวี อุ่นเครื่อง "ทีวีดิจิทัล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เช็กความพร้อมฟรีทีวี อุ่นเครื่อง "ทีวีดิจิทัล"

โหมโรงมาระยะหนึ่งแล้วสำหรับภารกิจ "Go to Digital" ของ "กสทช." ฝั่งบรอดแคสต์ที่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ซึ่ง "กสทช." ได้เซ็นเอ็มโอยูทดลองออกอากาศ "ทีวีดิจิทัล" กับช่อง 5, ช่อง 9, ช่อง 11 และไทยพีบีเอสไปแล้ว

และเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้ใช้โอกาสครบรอบ 55 ปี วันสถาปนา ทำพิธีเปิดการทดลองออกอากาศระบบดิจิทัลอย่างเป็นทางการ โดยร่วมมือกับไทยพีบีเอส

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) กล่าวว่า ได้เริ่มโครงการทดลองออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพื่อทดสอบอุปกรณ์ ขอบเขตการให้บริการ และหาข้อมูลค่าความเข้มของสัญญาณ ที่เหมาะสมกับระบบโครงข่าย ใช้งบฯลงทุน 60 ล้านบาท รัศมีออกอากาศ 100 กิโลเมตร จากตึกใบหยกทาวเวอร์ ครอบคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑล

การทดลองตามโครงการนี้มีการออกอากาศฟรีทีวี 6 ช่อง ในแบบความคมชัดปกติ (Standard Definition : SD) และอีก 2 ช่องรายการแบบความคมชัดสูง (High Definition : HD) ซึ่งช่อง 5 และไทยพีบีเอสเป็นผู้นำรายการ HD มาออกอากาศใน 2 ช่องดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้วางแผนแจกจ่ายกล่องรับสัญญาณ (set top box) สำหรับการรับชมทีวีดิจิทัลให้แก่บ้านเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ทดลองออกอากาศ หากมี set top box ระบบ DVB-T2 ก็รับชมได้ทั้ง 8 ช่อง

สำหรับการลงทุนโครงข่ายดิจิทัลทีวีทั้งหมด ททบ.5 ได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 3,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี มีเป้าหมายเป็นผู้นำโครงข่ายดิจิทัลของประเทศ

โดย "พ.อ.นที ศุกลรัตน์" กสทช. เปิดเผยว่า ช่อง 5 ได้ขออนุญาตนำเข้า set-top-box ประมาณ 1 พันกล่อง เพื่อใช้ในการทดลอง ขณะที่การอนุญาตให้นำเข้ากล่องรับสัญญาณระบบดิจิทัลเป็นการทั่วไปคงเริ่มได้ เม.ย.นี้ หลังวางระบบตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกกล่องที่ผ่านเกณฑ์จะมีสติ๊กเกอร์รับรองจาก กสทช. เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพได้

"ไม่อยากให้ประชาชนตั้งความหวังว่าต้องได้รับแจกกล่อง เพราะช่วงทดลอง ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 11 รวมถึง กสทช. จะแจกกล่องบางส่วนเพื่อนำข้อมูลมาวิจัย เพราะวัตถุประสงค์หลักของการทดสอบคือเก็บตัวชี้วัด และทำให้คนเห็นภาพของทีวีดิจิทัล ประชาชนที่อยากรับชมไม่ต้องเปลี่ยนทีวี แต่ต้องเสียบ set-top-box ที่รองรับ DVB-T2 หรือถ้ายังไม่อยากดูทีวีดิจิทัลก็ยังดูทีวีเครื่องเดิม ดูทีวีปกติระบบแอนะล็อกที่ยังออกอากาศคู่ขนานกันไปอย่างน้อย 3-5 ปีก็ได้"

"มงคล ลีลาธรรม" รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า หลังเริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัล คงเริ่มเห็นการนำเข้าเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีเสารับสัญญาณ DVB-T2 เข้ามา ทำให้ดูทีวีดิจิทัลสะดวกขึ้น แต่การซื้อ set-top-box มาต่อกับเครื่องเดิมก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพและฟังก์ชั่นการใช้งานของกล่อง อยู่ที่ประมาณ 900 บาท แต่ปัจจุบันมีเสาอากาศขนาดเล็กเท่าแอร์การ์ดที่ใช้กับโน้ตบุ๊กใช้เสียบกับทีวีที่มีช่อง USB หรือเสียบโน้ตบุ๊กเพื่อให้ดูทีวีดิจิทัลได้เช่นกัน ราคาไม่กี่ร้อยบาท

"ทีวีเครื่องเก่าที่ไม่ได้รองรับการแพร่ภาพความละเอียดสูง หรือ HD อาจไม่ได้อรรถรสในการชมทีวีดิจิทัลแบบ HD เนื่องจากความคมชัดจะเหลือแค่ 1 ใน 3"

ขณะที่ "สุระ เกนทะนะศิล" รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท กล่าวว่า ได้เริ่มทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลตั้งแต่ 3 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา เป็นช่องความละเอียดปกติ 12 ช่อง และ HD 2 ช่อง แต่จำกัดพื้นที่ เช่น ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงาน กสทช. และอาคารของ อสมท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสั่งซื้อเครื่องส่งขนาดใหญ่ เพื่อให้พื้นที่ออกอากาศครอบคลุมมากขึ้น

"กล่อง DVB-T2 เริ่มเข้ามาในตลาดแล้ว คนที่มีเครื่องรับตามมาตรฐานนี้จะชมการทดลองออกอากาศได้โดยเฉพาะทีวีที่ติดมากับรถยนต์ยุโรปหรู ๆ ส่วนใหญ่เป็น DVB-T2 ส่วนการแจกกล่องในเบื้องต้นจะอยู่ในกลุ่มวิศวกรของบริษัท เมื่อเครื่องส่งสัญญาณขนาดใหญ่ติดตั้งเสร็จจะขยายให้มากขึ้น แต่ยังอยู่ในวงจำกัด เราเห็นด้วยกับนโยบายแจกคูปองส่วนลด เพราะทุกคนจะได้เท่าเทียมกัน และมีโอกาสเลือกกล่องได้ตามความต้องการของตนเอง"

และเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะทำได้เร็ว เพราะคนรุ่นใหม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ได้ง่าย ดูจากความนิยมของสมาร์ทโฟนที่โตก้าวกระโดด รวมถึงพฤติกรรมการเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่ ที่มีการวิจัยพบว่านิยมเปลี่ยนทุก 7 ปี ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในราคาถูกลง การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลคงเหมือนปี 2526 จากทีวีขาวดำมาเป็นทีวีสีที่คาดว่าจะใช้เวลา 7 ปี แต่แค่ 3 ปีทุกบ้านเปลี่ยนมาใช้ทีวีสีกันหมด

สำหรับกรอบเวลาก่อนที่คนไทยจะได้ดูดิจิทัลทีวีแบบเต็มตา "กสทช." ตีกรอบไว้ว่า จะออกใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายในปลายไตรมาสแรก และต้นไตรมาส 2 เป็นใบอนุญาตช่องรายการแบบสาธารณะ 12 ช่อง ส่วนช่องธุรกิจ 24 ช่องจะออกหลักเกณฑ์การประมูล เม.ย.- พ.ค.นี้ และเปิดประมูล ก.ค.

ดังนั้นทีวีดิจิทัลครึ่งปีแรกจึงยังเป็นการทดลองออกอากาศ และรายการประเภทสาธารณะประโยชน์ ของจริงต้องรอปลายปี ถ้าไม่มีเหตุให้เลื่อนประมูลช่องธุรกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook