10 สัญญาณบ่งชี้ว่าคุณอาจ "ฆ่าตัวตาย"

10 สัญญาณบ่งชี้ว่าคุณอาจ "ฆ่าตัวตาย"

10 สัญญาณบ่งชี้ว่าคุณอาจ "ฆ่าตัวตาย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมสุขภาพจิต เผยการฆ่าตัวตายป้องกันได้ ย้ำคนที่พยายามฆ่าตัวตาย คือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง มีปีละประมาณ 53,000 คน ทำสำเร็จประมาณ 4,000 คน อีกกว่า 40,000 คนที่ทำแล้วไม่สำเร็จจะมีโอกาสกระทำซ้ำใหม่สูงกว่าคนทั่วไป เป็นกลุ่มที่ต้องจับตาและช่วยเหลือ แนะสังเกต 10 สัญญาณเตือน อาทิ ประสบปัญหาชีวิตทั้งเศรษฐกิจหรือสูญเสียคนรัก หน้าตาเศร้าหมอง เก็บตัว บ่นท้อแท้ชีวิตในโซเซียลมีเดีย หากพบต้องรีบช่วยกันดูแล พูดคุยช่วยเหลือโดยเร็ว อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว หรือให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ประมาณการว่าในปีหนึ่งๆ ในประเทศไทยจะมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย (Attempt suicide) ประมาณร้อยละ 0.1 ของผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือปีละประมาณ 53,000 คน ในจำนวนนี้กระทำการสำเร็จประมาณ 4,000 คน อีกกว่า 40,000 คนที่พยายามทำร้ายตนเองแล้วไม่สำเร็จและมีโอกาสกลับไปทำร้ายตัวเองซ้ำใหม่สูงกว่าคนทั่วไป คนที่พยายามฆ่าตัวตายจัดเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงประเภทหนึ่ง ยังไม่ใช่เป็นคนป่วย ต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไขที่ต้นเหตุ

อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พบว่า ผู้ที่ทำร้ายตัวเองซ้ำมีโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้ที่ทำร้ายตัวเองครั้งแรก โดยหากประเทศไทยสามารถป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำได้อย่างครอบคลุม จะสามารถลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จได้มากถึงปีละ 350-400 คน หรือคิดเป็น 0.5 ต่อแสนประชากร กรมสุขภาพจิตจึงเน้นการป้องกันและเฝ้าระวังการทำร้ายตัวเองซ้ำ ในคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นมาตรการและตัวชี้วัดที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าภายในพ.ศ. 2564 จะลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จให้เหลือต่ำกว่า 6 ต่อประชากร 100,000 คน จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากร 100,000 คน

ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ในทางวิชาการถือว่า ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการที่บุคคลใดบุคลหนึ่งจะทำร้ายตนเองคือผู้ที่มีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครอบครัว ญาติ รวมทั้งเพื่อนสนิทใกล้ชิดของผู้ที่มีประวัติดังกล่าว จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด ช่วยประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรับการรักษากับแพทย์ เช่นในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า หากรักษาที่ต้นเหตุได้ ซึ่งมีทั้งการใช้ยารักษาและกระบวนการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองเกี่ยวกับคุณค่าตัวเองใหม่ ก็จะช่วยได้

ประการสำคัญคือการสังเกตสัญญาณเตือนหรือสัญญาณผู้ที่มีความเสี่ยง ที่บ่งชี้ว่าอาจฆ่าตัวตาย ซึ่งมี 10 สัญญาณดังนี้

  1. ประสบปัญหาชีวิต เช่นล้มละลาย เป็นหนี้ สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ

  2. มีพฤติกรรมเปลี่ยนหันมาใช้เหล้าหรือสารเสพติดผิดปกติ

  3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย

  4. แยกตัว เก็บตัว พูดจาน้อยลง

  5. บ่นนอนไม่หลับเป็นเวลานาน

  6. พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง

  7. พูดหรือบ่นว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัจจุบันมักจะระบายอารมณ์นี้ในโซเซียลมีเดียบ่อยๆ เช่นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของตัวเอง

  8. มีอารมณ์แปรปรวนผิดหูผิดตา เช่นจากเดิมเคยเศร้าเป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ

  9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

  10. มีการวางแผนเตรียมฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่นจัดการทรัพย์สิน พูดฝากฝังคนข้างหลัง เป็นต้น

 

หากพบผู้ที่มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่กล่าวมา ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย ช่วยเหลือ สอบถามโดยเร็ว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนผู้ที่มีปัญหา อย่าอาย สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

กรณีสื่อมวลชนและคนทั่วไป หากมีคลิปหรือภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ไม่ควรแชร์หรือเผยแพร่อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของบุคล และป้องกันการเลียนแบบการฆ่าตัวตายซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook