3 สิ่งที่คนใช้รถไฟฟ้า (EV) ต้องจ่ายแพงกว่ารถน้ำมัน

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้นชื่อในเรื่องของความประหยัด เพราะไม่ต้องเติมน้ำมันเหมือนกับรถสันดาป อาศัยเพียงแค่การชาร์จไฟที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันอย่างเห็นได้ชัด ต่อให้ชาร์จ DC เป็นประจำก็ยังถูกกว่าการเติมน้ำมันอยู่ดี
แต่คนใช้รถ EV ก็ยังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ต้องแลกมากับความประหยัด บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปรู้จัก 3 สิ่งที่คนใช้รถไฟฟ้าต้องจ่ายแพงกว่ารถน้ำมัน มีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. ประกันภัย - หากเทียบที่ทุนประกันเท่ากัน ค่าเบี้ยประกันชั้น 1 ของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงสูงกว่ารถน้ำมัน 40-50% เลยทีเดียว อีกทั้งปัจจุบันบริษัทที่รับประกันรถยนต์ไฟฟ้ามีตัวเลือกน้อยมาก ทำให้ทางเลือกเป็นไปอย่างจำกัด เจ้าของรถ EV จำเป็นต้องแบกรับค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทางเลือกหนึ่งคือการเปลี่ยนไปทำประกันภัยชั้นอื่นนอกเหนือจากประกันชั้น 1 (ซึ่งก็มีตัวเลือกน้อยอยู่ดี) แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่มากกว่า เพราะความคุ้มครองที่ต่ำกว่าประกันชั้น 1 หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาแล้วล่ะก็ เจ้าของรถอาจต้องนั่งกุมขมับเพราะรู้ซึ้งกับคำพังเพยที่ว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" นั่นเอง
2. แบตเตอรี่ - จริงอยู่ที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (หมายถึงแบตเตอรี่ขับเคลื่อน ไม่ใช่แบตเตอรี่ 12 โวลต์) มีราคาสูงจนเรียกได้ว่ามีมูลค่าเป็นครึ่งหนึ่งของราคารถ แต่แบตเตอรี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเสื่อมกันได้ง่ายๆ แถมผู้ผลิตก็มีการรับประกันแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างครอบคลุมอายุการใช้งานของคนส่วนมาก ตั้งแต่ 8 - 10 ปี บางรายให้การรับประกันตลอดอายุการใช้งาน แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขของการรับประกันด้วย
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของราคาแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสูง (อยู่ที่ประมาณ 400,000 - 600,000 บาทหรือมากกว่านั้น) ไม่ใช่การใช้งานตามปกติ หากแต่เป็นกรณีประสบอุบัติเหตุจนทำให้ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ต่างหากล่ะ เนื่องจาก คปภ. มีการกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา (>>สรุปเกณฑ์ใหม่ประกันรถ EV เกิน 5 ปี คุ้มครองแบตฯ 50% เริ่ม 1 ม.ค. 67)
โดยค่าสินไหมทดแทนกรณีต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ยกลูก จะลดลงตามอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกเดิม ซึ่งกรณีร้ายแรงที่สุดคือแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป จะชดใช้เพียง 50% ของราคาแบตเตอรี่ โดยกรณีดังกล่าวหากเจ้าของรถประสงค์ที่จะใช้คันเดิมต่อ ก็จะต้องจ่ายส่วนต่างคิดเป็นครึ่งหนึ่งของราคาแบต ซึ่งถ้าอ้างอิงตามราคาแบตเตอรี่ ณ ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเงินหลายแสนบาททีเดียว
3. เวลา - เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรายมีเครื่องชาร์จ EV ติดตั้งที่บ้านอยู่แล้ว การใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไปจึงสามารถเสียบชาร์จข้ามคืนที่บ้านได้ทันที เรียกว่าการใช้งาน 90% ไม่มีปัญหาแน่ๆ แต่ปัญหาของ EV ยังคงเป็นเรื่องระยะเวลาการชาร์จนอกบ้านต่างหาก โดยเฉพาะการขับรถท่องเที่ยวต่างจังหวัด ที่ต้องเจียดเวลาเที่ยวอันแสนสนุกมาชาร์จไฟ EV อย่างต่ำๆ ก็ 30 นาทีเป็นอย่างน้อยในแต่ละวัน (หากที่พักจุดหมายมีที่ชาร์จไฟก็สบายหน่อย แต่หากไม่มีก็คงต้องอาศัยตู้ชาร์จ DC ในทุกวันที่เดินทาง)
นี่ยังไม่รวมความกังวลในการหาสถานีชาร์จตามเส้นทาง หากเดินทางไปถึงแล้วจะต้องรอคิวหรือไม่ กำลังไฟจะจ่ายเต็มหรือเปล่า หากที่ชาร์จเสียจะทำอย่างไร และอื่นๆ อีกมากมาย
คำว่า "เวลา" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเวลารอชาร์จไฟเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าแบรนด์รถ EV ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งมาเปิดตลาด การเตรียมอะไหล่ก็อาจไม่พร้อมเหมือนกับแบรนด์ที่ทำตลาดมายาวนาน หากรถเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วน อาจจะต้องรอกันหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็มีให้เห็นไม่น้อย เสียโอกาสใช้รถเดินทางทำมาหากินไปอย่างน่าเสียดาย
แม้ว่าข้อนี้จะไม่ได้แสดงออกในรูปของเงินอย่างชัดเจนเหมือน 2 ข้อที่ผ่านมา แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า" และ "มนุษย์ทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน" (ว่าไปนั่น...)
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีเจตนาจะมาโจมตีรถยนต์ไฟฟ้าหรอกนะครับ เพียงแต่อยากให้เอาลักษณะการใช้งานจริงมาเป็นที่ตั้ง เพราะแม้ว่ารถไฟฟ้าจะมีราคาเข้าถึงง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะ (คำว่าสมัยก่อนหมายถึงสมัยที่ Nissan Leaf เข้ามาทำตลาดแรกๆ ด้วยราคาเกือบ 2 ล้านบาทช่วงปี 2561 แค่นั่นเองแหละ) แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะกับทุกคนเสมอไป