เสี่ยงแค่ไหนกับชีวิตบน "ถนน-ทางเท้า" เมืองไทย

เสี่ยงแค่ไหนกับชีวิตบน "ถนน-ทางเท้า" เมืองไทย

เสี่ยงแค่ไหนกับชีวิตบน "ถนน-ทางเท้า" เมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ในช่วงเทศกาลสำคัญ เรามักจะเห็นข่าวสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่เป็นประจำ แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกเหนือจากช่วงเทศกาลแล้ว สถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนในบ้านเรา ถือว่าสูงเป็นลำดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว

     ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization ) เมื่อช่วงต้นปี 2019 ระบุว่าไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จำนวน 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน Tonkit360 รวบรวมสาเหตุที่เป็นความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตบนท้องถนนมาฝากกัน เพื่อหวังว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงบ้าง ไม่มากก็น้อย

"ทางเท้า" กลายเป็นที่ของร้านค้า

     การจัดการบนทางเท้า (Footpath)ในกรุงเทพมหานคร ถือเป็นสิ่งที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะมันเชื่อมโยงกันกับบุคคลหลายอาชีพ ทั้งร้านค้า เจ้าหน้าที่เทศกิจ ผู้บริโภค และผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ เรามักจะเห็นร้านอาหารตั้งโต๊ะให้ลูกค้านั่ง ล้ำออกมาบนทางเท้าอยู่ทั่วทุกจุดของกทม.

     หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องไม่สำคัญ และมองข้ามความปลอดภัย แต่อย่าลืมว่านั่นคือการเสี่ยงชีวิตกับอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา ฉะนั้นเวลาในการจอดซื้อของ หรือนั่งรับประทานอาหารบนทางเท้าริมถนนเพียงเวลาไม่กี่นาที ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ความมักง่ายของผู้ใช้รถยนต์

     อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของอุบัติเหตุ มาจากความไม่รับผิดชอบและจิตสำนึกของผู้ใช้รถเอง เราคงจะเคยเห็นคลิปรถยนต์กลับรถในที่ห้ามกลับ รถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร บางคันเปลี่ยนเลนกะทันหัน ขณะที่บางคันตัดจากเลนซ้ายสุดไปขวาสุดเพื่อขึ้นทางด่วนให้ทัน ทั้งๆที่ยังมีจุดขึ้นทางด่วนด้านหน้าถัดไปอีกไม่กี่กิโลเมตร

     นอกจากนี้ความพร้อมของตัวผู้ขับขี่เองก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่เมาไม่ขับ แต่รวมถึงง่วงไม่ขับด้วย ทั้งหมดคือความรับผิดชอบของผู้ขับขี่ที่ต้องคำนึงถึงชีวิตของตัวเอง ผู้โดยสาร และรถคันอื่นๆ รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตตามปกติบนท้องถนน

ทำความเร็วเกินกฎหมายกำหนด

     ทุกวันนี้รถยนต์ทุกรุ่นมีสมรรถนะทำความเร็วได้ในระดับ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่กฎหมายไทย ระบุชัดเจนว่า ในเขตเมือง รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ห้ามวิ่งเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนทางหลวงชนบท หรือทางหลวงระหว่างจังหวัดไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่บนทางพิเศษที่ต้องเสียค่าผ่านทาง ห้ามเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

     แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว น้อยคนที่จะควบคุมความเร็วของตัวเองให้อยู่ในกำหนดได้ โดยเฉพาะเมื่อถนนโล่ง อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือผู้ขับขี่ไม่ควรละเลยจากสัญญาณจราจรต่างๆ โดยเฉพาะจุดกลับรถ ทางแยก รวมไปถึงจุดตัดของเส้นทาง เราควรชะลอความเร็วทุกครั้งเมื่อผ่านจุดดังกล่าว แม้ว่าถนนจะโล่งแค่ไหนก็ตาม

มอเตอร์ไซค์ย้อนศร-ไม่สวมหมวกกันน็อค

     อีกหนึ่งความไม่รับผิดชอบของผู้ขับขี่โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ คือการลักไก่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ รวมถึงการขี่ย้อนศร บางคันขี่ขึ้นทางเท้าจนเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการไม่สวมหมวกกันน็อคซึ่งเป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยชิ้นที่สำคัญที่สุด หรือบางรายแม้จะสวมหมวกแต่ก็ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้

     นอกจากนี้ในปัจจุบัน ค่ายรถและร้านค้าที่ขายจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ พากันแข่งขันกันในเรื่องโปรโมชั่น ทุกวันนี้สามารถออกรถเบ็ดเสร็จแบบที่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ออกรถก่อนแล้วค่อยผ่อนทีหลัง เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็นำรถของมาขี่ได้แล้ว ซึ่งนั่นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงบนท้องถนนเช่นเดียวกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook