′โรคประหลาด′ ร่างกายผลิต ′แอลกอฮอล์′ ได้เอง!

′โรคประหลาด′ ร่างกายผลิต ′แอลกอฮอล์′ ได้เอง!

′โรคประหลาด′ ร่างกายผลิต ′แอลกอฮอล์′ ได้เอง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการป่วยเป็นโรคประหลาด "ออโต-บริวเวอรี่ ซินโดรม" โดยที่ร่างกายสามารถผลิตแอลกอฮอล์ขึ้นเองในระบบย่อยอาหารดังกล่าวนี้ ได้รับการเปิดเผยจากนายโจเซฟ มารูแซค ทนายความชาวอเมริกันที่รับเป็นทนายจำเลยให้กับผู้ต้องหาคดีขับรถระหว่างมึนเมารายหนึ่ง ซึ่งนายมารูแซคขอปกปิดชื่อด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐนิวยอร์ก สหรัฐ จับกุมเมื่อต้นเดือนตุลาคมปี2014

ภาพ-Wikimedia Commons

มารูแซคเปิดเผยว่า ตามบันทึกของเจ้าหน้าที่ ขณะที่จับกุมและตั้งข้อหานั้น ผู้ต้องหาที่เป็นครูวัย 35 ปีรายนี้อยู่ในสภาพตาแดงก่ำ เสียงพูดจาอ้อแอ้ และไม่ผ่านการทดสอบพฤติกรรมเบื้องต้นหลายอย่าง ทำให้ต้องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด พบว่าผู้ต้องหารายนี้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าระดับที่กฎหมายอนุญาตให้ขับรถได้ถึง 4 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามจากเจ้าตัว ผู้ต้องหารายนี้ยืนกรานเด็ดเดี่ยวกับทนายมารูแซคว่าไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 6 ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมเกิน 3 แก้ว ซึ่งไม่น่าจะทำให้ในร่างกายของตนมีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่า 0.08 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ที่กฎหมายกำหนดให้แต่อย่างใด

เป็นเหตุให้มารูแซคตัดสินใจติดต่อขอความช่วยเหลือและความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากบาร์บาราคอร์เดลล์นักวิชาการจากแพโนลาคอลเลจรัฐเท็กซัสสหรัฐ เพราะทราบมาว่าคอร์เดลล์เคยตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับโรคประหลาดชนิดหนึ่งซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง
คอร์เดลล์แนะนำให้มารูแซคนำตัวลูกความของตนไปพบ นพ.อนุป แคโนเดีย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคประหลาดชนิดนี้ในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐ เพื่อให้วินิจฉัยทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ และพบว่าผู้ต้องหาป่วยเป็นโรคหายากที่เรียกว่า "ออโต-บริวเวอรี่ ซินโดรม" จริง

โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมียีสต์อยู่ในระบบลำไส้สูงมากเป็นพิเศษ ยีสต์พวกนี้เองที่ทำหน้าที่หมักอาหารซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตอยู่สูง แล้วเปลี่ยนให้เป็นแอลกอฮอล์ภายในร่างกายนั่นเอง
โรคนี้พบเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในทศวรรษ 1970 ตอนนั้นรู้จักกันในชื่อโรค "กัท เฟอร์เมนเทชั่น ซินโดรม"

นพ.อนุปให้แนวทางรักษาด้วยวิธีการจำกัดอาหาร ให้รับประทานเฉพาะอาหารที่มีแป้งน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหมักที่จะก่อให้เกิดแอลกอฮอล์ในลำไส้ขึ้นมาอีก ทำให้ผู้ต้องหารายนี้กลับมาขับรถได้อีกครั้ง

หลังจากได้รับทราบผลวินิจฉัย มารูแซคไม่เพียงนำเสนองานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันเกี่ยวกับโรคนี้ พร้อมกับว่าจ้างพยาบาล 2 คนกับผู้ช่วยแพทย์อีกคนให้ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของลูกความของตนตลอดระยะเวลา 1 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ต้องหารายนี้ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกำหนดให้ผู้ช่วยแพทย์ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จากตัวอย่างเลือดในทันทีด้วย ในที่สุดก็พบว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ต้องหารายนี้พุ่งขึ้นถึง 0.36 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ทั้งๆ ที่ไม่ได้ดื่มแม้แต่แก้วเดียว

หลังจากนำเสนอหลักฐานต่างๆ ต่อศาล ศาลเมืองฮัมบูร์กพิพากษายกฟ้องในข้อหาเมาแล้วขับ และปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นอิสระเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

โจนาธาน เทอร์เลย์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ระบุว่า คดีนี้ดูเผินๆ ตอนแรกเหมือนกับจะเป็นความพยายามเพื่อไม่ให้ถูกลงโทษฐานเมาแล้วขับ แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ที่สำคัญก็คือ ศาลพิจารณาแล้วว่าจำเลยไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคประหลาดนี้ จึงตัดสินให้พ้นผิด

แต่ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้วยังขับรถ ก็ถือว่ากระทำผิดฐานเมาแล้วขับอยู่ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook