แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงยืนยันงบจัดซื้อวัคซีนเอชพีวี “คุ้มค่า-คุ้มราคา” ลดอัตราหญิงไทยเป็นมะเร็ง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงยืนยันงบจัดซื้อวัคซีนเอชพีวี “คุ้มค่า-คุ้มราคา” ลดอัตราหญิงไทยเป็นมะเร็ง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงยืนยันงบจัดซื้อวัคซีนเอชพีวี “คุ้มค่า-คุ้มราคา” ลดอัตราหญิงไทยเป็นมะเร็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 หมวดงบกลาง จำนวน 58.99 ล้านบาท ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการจัดหาวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้แก่เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศจำนวน 4 แสนคน เป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ทั้งนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรงบประมาณอีกจำนวน 85 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนเอชพีวีสมทบโครงการนี้ด้วย

     ด้าน รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และเลขาธิการสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม และมีสถิติเสียชีวิตเฉลี่ยถึงวันละ 12 คน แม้ว่าที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรอง แต่ร้อยละ 60 ของหญิงไทยไม่เคยเข้ารับการตรวจ เนื่องจากอายหรือกลัวเจ็บ ดังนั้นการที่รัฐบาลสนับสนุนวัคซีนเอชพีวีให้กับเด็กหญิงอายุ 11-12 ปี นับเป็นการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ รวมทั้งประเทศตะวันตกและประเทศอาเซียนหลายชาติได้กำหนดให้วัคซีนเอชพีวีอยู่ในแผนงานวัคซีนของชาติ

 

     “ปัจจุบันราคาวัคซีนเอชพีวีมีราคาถูกลงมาก หลายปีก่อนมาเลเซียประมูลซื้อราคาเข็มละ 800 บาท กรุงเทพมหานครเคยประมูลได้ในราคา 400 กว่าบาท เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้ราคาต่ำกว่านี้อีก และจากการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าการฉีดวัคซีนเอชพีวี โดยภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวีในเด็กหญิงอายุ 11-12 ปี ถือว่ามีความคุ้มค่าอย่างมากเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรายละหลายแสนบาท ไม่นับรวมการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ เนื่องจากหญิงที่เป็นโรคนี้มักอยู่ในวัยทำงาน กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนฯ สปสช. ราชวิทยาลัย และองค์กรการแพทย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้ผลักดันให้วัคซีนเอชพีวีให้เป็นโครงการสนับสนุนโดยรัฐ” เลขาธิการสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ระบุ

     ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า อดีตเราใช้วิธีป้องกัน มะเร็งปากมดลูดด้วยการตรวจแบบแปบสเมียร์ หากตรวจพบความผิดปกติของเซลล์จากแปปสเมียร์ จะให้การรักษาแต่เริ่มแรก แต่ในทางปฏิบัติหญิงไทยที่เข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้มีอัตราครอบคลุมต่ำ และคนที่เคยตรวจก็จะตรวจซ้ำ แต่รายไหนไม่ตรวจก็จะไม่ตรวจเลย จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ พบว่าหญิงไทยร้อยละ 7 ติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก จึงส่งผลให้โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ

 

     ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าวว่า อยากให้ย้อนดูประสบการณ์การป้องกันโรคตับอักเสบบี ในอดีตพบบ่อยมากในประเทศไทย เมื่อมีองค์ความรู้ว่าไวรัสบีเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ จึงได้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี แก่เด็กแรกเกิดทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบบีลดลงอย่างมาก เมื่อทั่วโลกยอมรับว่ามะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนเอชพีวี การที่รัฐบาลจะสนับสนุนวัคซีนให้กับเด็กหญิงในช่วงก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด เพราะเมื่อไปมีเพศสัมพันธ์จะได้ไม่ติดเชื้อทำให้ลดโอกาสการเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตลงไปด้วย



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook