รักของม่ายเรือพ่วง

รักของม่ายเรือพ่วง

รักของม่ายเรือพ่วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ขาดความมั่นใจ แม้หน้าที่การงานจะมั่นคง บุคลิกมาดมั่น แต่ถ้าเรื่องความรักแม่ม่ายอาจจะยังหวาดๆอยู่ว่าจะล้มไม่เป็นท่าอีกหรือไม่ ถ้ารักแม่ม่าย ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะเริ่มชีวิตครอบครัวใหม่อีกครั้งโดยไม่หวนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา บางท่านอดอ่อนไหวกับการเป็นม่ายของตนเองไม่ได้ ไม่เชื่อว่าใครจะมาจริงจังกับผู้หญิงที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว แต่ในความจริง ความรัก เป็นเรื่องปัจจุบันมากกว่าเรื่องอดีต ถ้ารักกัน จะเป็นม่ายหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่าสามารถอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจและมีความสุข คนเป็นแม่ม่ายอาจพิจารณาคนที่เข้ามาชีวิตค่อนข้างมาก เพราะมีประสบการณ์ในชีวิตคู่ รู้จุดอ่อนจุดแข็ง แต่อย่างไรก็ตามไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัวกับชีวิตแต่งงานแต่ละครั้ง ถ้าคิดว่าคุณสมบัติโดยรวมของคนปัจจุบันดีพร้อมระดับหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับคนที่ผ่านมา เรื่องของลูก แม่ม่ายหลายคนไม่แต่งงานใหม่ ด้วยเหตุผลเรื่องลูก ไม่อยากให้ลูกต้องปรับตัวกับคนใหม่ กลัวลูกจะมีปมด้อย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตายตัว การมีโอกาสได้เริ่มชีวิตคู่ที่ดีอีกครั้งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องคำนึงประเด็นเรื่องลูกและการเตรียมความพร้อมทั้งตัวแม่เอง ตัวลูก และฝ่ายที่จะเข้ามาเป็นคู่ชีวิตใหม่ เตรียมพร้อมแม่ ต้องยอมรับว่าลูกจะผ่านการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แม่ต้องพร้อมจะทำความเข้าใจ ให้คำอธิบาย ถ้าลูกยังเล็กมากลูกอาจรับรู้เพียงการเปลี่ยนแปลงที่มีคนเข้ามาใกล้ชิดเขาเพิ่มอีกคน แต่ในลูกที่โตแล้วมักอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะเข้าใจคำว่าแต่งงานใหม่ เข้าใจเรื่องพ่อแม่ลูก ปฎิกริยาของลูกมีหลายแบบ อาจเริ่มด้วยท่าทีไม่วางใจ ปฏิเสธ หรือเฉยๆไม่สนใจ แม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นการทำความรู้จักระหว่างสองฝ่าย หากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อให้ลูกได้ทำความคุ้นเคยกับคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวจากน้อยไปหามาก ลูกจะได้ค่อยๆ ปรับตัว จุดสำคัญคือต้องไม่ทำให้การแต่งงานใหม่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและกิจวัตรประจำวันของลูกน้อยมาก นอกจากมีคนเพิ่มขึ้นมา ลูกจะสามารถปรับตัวได้เร็ว เตรียมพร้อมพ่อใหม่ หากรักแม่ม่ายเรือพ่วงต้องรักลูกด้วย ถ้าทำใจยอมรับไม่ได้ จะเอาแต่แม่ไม่เอาลูก ก็อย่าแต่งงานกันดีกว่า การทำความรู้จักเข้าไปใกล้ชิดกับเด็กๆ ควรค่อยเป็นค่อยไป และไม่คาดหวัง ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการแสดงตัวเป็นพ่อ เด็กๆอยากทำความรู้จักคนที่จะเข้ามาในชีวิตของแม่ก่อน ถ้าความสัมพันธ์เดินหน้าไปจนเขารู้สึกถึงบทบาทความเป็นพ่อ เด็กจะยอมรับในบทบาทนั้นเอง แม้เขาจะไม่เคยเรียกว่าพ่อก็ตาม ระยะแรกจึงเป็นเวลาทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และค่อยๆช่วยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลลูก พ่อใหม่สามารถทำหน้าที่พูดคุย แนะนำ รวมทั้งอบรมสั่งสอนได้ แต่ต้องหลังจากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้เด็กคุ้นเคยและเข้าหาได้อย่างสนิทใจก่อน เมื่อต้องทำหน้าที่สั่งสอน เด็กจะยอมรับและยินยอมให้ทำบทบาทใหม่ในฐานะพ่อ ถ้ามองในแง่ดี รักม่ายเรือพ่วงก็เป็นสีสันที่ครบเครื่อง เพราะแต่งงานครั้งเดียวแถมลูกมาด้วยเลย ขอเพียงทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นกับปัจจุบันของกันและกันอย่างเข้าใจ ชีวิตใหม่ที่มีความสุขก็ไม่ใช่เรื่องยาก ติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่คอลัมน์ WE Live นิตยสาร WE ฉบับเดือนมิถุนายน 50

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ รักของม่ายเรือพ่วง

รักของม่ายเรือพ่วง
รักของม่ายเรือพ่วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook