ยกระดับชีวิตให้มีคุณภาพด้วย 5 มิติการดูแลตัวเองทั้งกายใจให้มั่นคง
สุขภาพกายและสุขภาพใจ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและแยกจากกันไม่ได้ การเกิดปัญหาสุขภาพที่ปรากฎทางกายเป็นอาการปวด เจ็บ ทุกข์ทรมาน จึงอาจเกิดจากต้นเหตุแห่งความเครียดในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า จิตใจที่แข็งแรงย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแกร่ง ด้วยแนวคิดนี้จึงได้กลายมาเป็นการแพทย์แบบไลฟ์สไตล์ ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใน 5 มิติสำคัญ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างครอบคลุม โดยมุ่งเน้นที่การปลูกฝังเรื่องสุขภาพกายและจิตใจ ให้มีความแข็งแรงร่วมกันผ่านการดูแลแบบองค์รวม ดังนี้
1.นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
มีงานวิจัยสนับสนุนแนวคิดเรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนัก เพิ่มความอยากอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ การนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน จึงมีความสำคัญมากและสาววัยทำงานก็ควรใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีกด้วย
2.ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะช่วยให้หัวใจและปอดแข็งแรง นอกจากนี้ การเพิ่มการฝึกความแข็งแรงแบบเวทเทรนนิ่ง เข้าไปในกิจวัตรการออกกำลังกาย จะช่วยสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จึงรักษาระดับฮอร์โมนและเพิ่มการเผาผลาญไขมันอย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำให้จัดตารางการออกกำลังกาย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยให้เน้นที่กลุ่มกล้ามเนื้อหลัก
3.อาหารที่ดีย่อมสร้างประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องเน้นที่อาหารสดจากพืชและหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป การบริโภคพืชตระกูลถั่วคุณภาพดี ผลไม้ และผักหลากสีที่มีไฟเบอร์สูง รวมถึงอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัญหาสุขภาพของผู้หญิงอย่างโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ช็อกโกแลต หรือเนื้องอกในมดลูก อาจเกิดจากอาหารบางประเภท แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เช่น น้ำมะพร้าว และควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงต่อโรคอ้วนที่ทำลายสุขภาพกายและใจอย่างน่ากลัว
4.เลี่ยงพฤติกรรมสร้างผลเสีย
การสูบบุหรี่ การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ล้วนมีผลกระทบต่อร่างกายในระดับโมเลกุลเลยค่ะ ส่งผลให้สารอนุมูลอิสระไม่สมดุล การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ตับทำงานหนัก ในขณะที่สารพิษจากควันบุหรี่หรือยาเสพติด อาจทำให้เกิดการอักเสบภายใน ทำลายปอดและอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะการส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท ทำให้สุขภาพจิตเสียหายไปด้วย เหมือนเป็นการซ้ำให้บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ จึงควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงสร้างผลเสียเหล่านี้ หรือเลิกไปได้จะดีที่สุด
5.เข้าสังคมและสร้างความสัมพันธ์
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนในสังคม ถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม องค์การอนามัยโลกได้นิยามสุขภาพลักษณะนี้ว่าภาวะที่สมบูรณ์แบบทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ไม่ใช่เพียงการไม่มีโรคหรือความเจ็บป่วยเท่านั้น ความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางสังคม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์
ยกระดับไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพของคุณผู้หญิงใน 5 มิติ ด้วยการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม บำรุงฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ช่วงวัย 25 ปีขึ้นไป กระตุ้นให้ฮอร์โมนการเจริญเติบโตมีความสมดุล ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยจัดการอนุมูลอิสระในขณะที่สาว ๆ นอนหลับ นอกจากนี้ ยังช่วยปรับให้สารต้านอนุมูลอิสระหรือวิตามินที่ทานเข้าไป เหมาะสมต่อการใช้งานของร่างกายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด