เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์

เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์

เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู เด็กกับการเล่นเป็นสิ่งที่ควบคู่กันตั้งแต่ในสมัยอดีต จนมาถึงปัจจุบัน การเล่นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเด็ก จำเป็นสำหรับการพัฒนาตลอดจนก่อให้เกิดการเรียนรู้ การฝึกทักษะ และเป็นบทเรียนที่สำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดความอยากรู้ การฝึกฝนตนเอง เพื่อที่จะได้พัฒนาไปถึงทักษะที่ซับซ้อนได้ โภชนาการที่ดีจำเป็นสำหรับพัฒนาการทางด้านร่างกายฉันใด การเล่นที่สร้างสรรค์จำเป็นสำหรับพัฒนาการทางจิตใจและสติปัญญาฉันนั้น ดังนั้นการเล่นที่เหมาะกับช่วงวัยหรือพัฒนาการของเด็กย่อมจะส่งเสริมให้เกิดขบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง และของเล่นที่เป็นสื่อกลางในการเล่นจะเกิดประโยชน์สูงสุด หากเราใช้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามของเล่นที่วิเศษที่สุดสำหรับเด็กคือพ่อแม่ ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วมกับเด็กในการเล่นนนอกจากจะเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาคุณภาพของครอบครัวที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งด้วย การเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก แรกเกิด – 3 เดือน การเล่นของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือ การเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง5 ได้แก่ การมองเห็น , การได้ยิน , การสัมผัส , การดมกลิ่น , การรับรส เด็กเริ่มมองเห็นแล้วในระยะ 8-12 นิ้ว เด็กวัยนี้จะชอบสีสันที่สดใส ชอบมองการเคลื่อนไหว การได้ยิน เด็กเริ่มได้ยินเสียงตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และจะมีการเปลี่ยนแปลงที่แสดงให้เห็นในด้านการเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียง เช่น การหันหาเสียง การขยับมือขยับเท้า การสัมผัส เด็กวัยนี้สามารถที่จะแยกความรู้สึกสัมผัสที่แตกต่างและสามารถที่จะ รับรู้กลิ่น ของคนเลี้ยงไปพร้อมกันด้วย ซึ่งมีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เด็กจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อได้กลิ่นของคนเลี้ยงกับคนแปลกหน้า ดังนั้นพ่อแม่และคนเลี้ยงจึงเป็นของเล่นที่ดีที่สุด เด็กจะชอบมองหน้าคน พ่อแม่ควรจะอุ้มพูดคุยขณะกำลังเปลี่ยนผ้าอ้อม ร่วมกับการมองหน้าสบตา ร้องเพลงกล่อมเด็กด้วยน้ำเสียงที่สูงๆต่ำๆ โทนเสียงที่นุ่มนวล เด็กจะเพลิดเพลิน ประกอบการเล่นแบบไทยๆ เช่น การเล่นปูไต่ จะเป็นการกระตุ้นสัมผัสทางผิวหนัง การแขวนของเล่นชนิดแขวนให้เด็กดู เช่น แขวนปลาตะเพียน , โมบาย ซึ่งขบวนการเล่นดังกล่าวจะเสริมสร้างความรักความผูกพันธ์ ตลอดจนช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้นในบางครั้งเด็กวัยนี้อาจชอบมองกระจกดูหน้าตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไปบางคนจะยิ้ม บางคนจะเป่าปากเพื่อที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น

พัฒนาการเด็ก, เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์, เล่นของเล่น

4 – 6 เดือน เด็กวัยนี้จะเริ่มมีการเล่นอย่างมีจุดหมายและซับซ้อนมากขึ้น เด็กเริ่มมีความสังเกตมากขึ้น สนใจในการเคลื่อนไหวของแขนและขาของตน ดังนั้นการร้องเพลงที่มีการเคลื่อนไหว เช่น เพลงโยกเยกเอย จะเหมาะกับเด็กในช่วงวัยนี้ เด็กจะเริ่มคว้าของใกล้ตัว และชอบที่จะสัมผัสพื้นผิวที่แตกต่าง มีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งรอบตัวมากขึ้น กรุ๊งกริ๊งที่สั่นแล้วเกิดเสียงเด็กวัยนี้จะชอบเป็นพิเศษ ดังนั้นตุ๊กตานุ่มๆที่ทำด้วยพื้นผ้าที่แตกต่างกันไป แขวนหรือวางของเล่นไว้ในระยะที่เด็กพอเอื้อมถึง แกว่งของและล่อให้เด็กเอื้อมมือไปคว้าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ถ้าพ่อแม่สามารถที่จะเล่นร่วมไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น การอาบน้ำ การใส่ผ้าอ้อม จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากนั้นเด็กวัยนี้จะเริ่มเลียนแบบเสียงพูดคุย พ่อแม่ควรพูดกับเด็กพยายามทำเสียงบางคำซ้ำๆ เพื่อให้เด็กตอบกลับมา เช่น จ๋า จ๊ะ เสียงพูดควรเป็นเสียงที่เด็กจะเลียนแบบได้ง่าย แม้ว่าคำนั้นจะไม่มีความหมายก็ตาม 6 – 9 เดือน เด็กวัยนี้เริ่มที่จะเคลื่อนไหวได้เอง เรียนรู้การใช้เหตุและผลง่ายๆ เริ่มเข้าใจ object permanence เริ่มมีทักษะภาษาที่ดีขึ้น ดังนั้นกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือ การเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นตบแปะ การร้องเพลงที่มีการตอบสนองพร้อมการทำท่าทางประกอบ เช่น เพลงนิ้วโป้งอยู่ไหน นอกจากนั้นเพลงที่แสดงให้เห็นเหตุและผล เช่น จับปูดำ เพลงที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น แมงมุมขยุ้มหลังคา การเล่นกลิ้งลูกบอลจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อและปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้อื่นด้วย ต่อมาเมื่อเด็กเก่งขึ้นจะเริ่มใช้มือ,นิ้ว ในการสำรวจสิ่งของ และเพิ่มทักษะในการใช้ตากับมือให้ทำงานประสานกันในช่วงต่อไป 9 – 12 เดือน เด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารบทสนทนาง่ายๆสั้นๆได้ ถึงแม้เขาจะยังมีหรือไม่มีคำพูดบ้าง แต่เขาเริ่มที่จะเข้าใจภาษาท่าทางของพ่อแม่มาก่อน จนบางครั้งผู้ใหญ่ถึงกับแปลกใจ เราควรหัดให้เด็กฝึกชี้รูปภาพจากหนังสือ โดยจับมือเด็กชี้ที่รูปภาพที่เราพูดชื่อและให้เด็กพูดตาม ดังนั้นหนังสือภาพจึงเป็นของเล่นที่เหมาะสมและเด็กเองก็จะมีความรู้สึกสนุกกับการเล่นแบบนี้เช่นกัน การร้องเพลงที่มีภาษาคล้องจอง ภาษาซ้ำๆ กาเอ๋ยกา ท่องบทกลอนกล่อมเด็กจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจภาษา และเป็นการฝึกให้เด็กคุ้นเคยกับฐานเสียงต่างๆ การเล่นตุ๊กตาหุ่น โดยสมมุติให้ตุ๊กตาพูดคุยกับเด็กและให้เด็กตอบโต้ตุ๊กตา จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้อย่างดี เด็กวัยนี้จะเริ่มเกาะยืน การให้ของเล่นลากจูงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆได้อย่างสมดุล

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์

เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์
เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook