ประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา

ประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา

ประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื่องในวันวันวิสาขบูชา เรามาดูกันนะคะว่าวันดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไรในพุทธศาสนา วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นวันที่เหตุการณ์สำคัญในวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 3 เหตุการณ์ เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการที่ว่าได้แก่

1.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ
เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"

2.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ
หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา โดยสิ่งที่ทรงตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

3.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน
เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน

ดังนั้นเราในฐานะพุทธศาสนิกชนทีดี เมื่อถึงวันวิสาขบูชาจึงควรเข้าวัดทำบุญ ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ที่ทรงเผยแผ่พระธรรมให้เราได้ใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และพ้นทุกข์

Cr:dhammajak.net

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook