เผยตัวตน ‘MR.Praew’

เผยตัวตน ‘MR.Praew’

เผยตัวตน ‘MR.Praew’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอบตื่นเต้นเหมือนกันนะคะ R.J กำลังจะได้สัมภาษณ์นักสัมภาษณ์มือทองของนิตยสารแนวหน้าของประเทศไทยที่ใช้ชื่อว่า MR.Praew กับคอลัมน์ที่เจาะลึก กับประเด็นคำถามที่เจาะลึก ตรง ไม่มีอ้อมค้อม เขาคนนี้สัมภาษณ์มาแล้วทั่วฟ้าเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นดารา นักแสดง นักธุรกิจ และอีกมากหมายหลากหลายอาชีพ และชื่อเต็มๆของเขาคนนี้ก็คือ ปารัณ เจียมจิตต์ตรง บรรณาธิการบทสัมภาษณ์นิตยสารแพรวนั่นเองค่ะ เรามาล้วงลึกถึงความเป็น MR.Praew ของเขาไปพร้อมๆกันเลยดีกว่าค่ะ

ก่อนจะมาเป็น MR.Praew
เราชอบคุยกับคน เราว่าการคุยกับคนก็เหมือนสิ่งที่เราชอบตอนเด็กๆ คือการอ่านหนังสืออ่ะ เพียงแต่ว่าการคุยกับคนเหมือนเราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเรียนรู้เขา แล้วส่วนใหญ่ที่เราจะไปคุยก็จะเป็นเรื่องที่เราต้องเปิดกะโหลกด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านดีด้านร้าย เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราได้อ่านหนังสือ หรือทุกครั้งที่เราได้คุยกับคน มันจะได้ปลายทางที่เป็นคำตอบใหม่ๆ ได้ความคิดใหม่ๆ แล้วก็แถมยังได้เอาก้อนความคิดนั้นที่เราชอบที่เราเชื่อหรือเป็นเรื่องราวชีวิตเขาที่เราชอบมาเล่าสู่กันฟัง อันนี้ล่ะใช่ละ การทำงานที่ A Day(เคยทำงานที่ A Dayมาก่อน) ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ ก็เลยมาสมัครกองบก.ก็คือมาสมัครงาน หว่านทุกที่ๆอยากทำ แพรวเป็นที่แรกที่เรียก ก็โชคดีเพราะว่าก็เป็นหนังสื่อหัวใหญ่เลย

เผยตัวตน ‘MR.Praew’

ทำไมถึงเป็น MR.Praew
คอลัมน์นี้มันเกิดขึ้นมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีการเปลี่ยนที่เรียกว่า Big Change คือเราอยากจะเปลี่ยนทั้งหมดเลยในรูปแบบของคอนเทนต์ รูปแบบของอาร์ตเวิร์ค รูปแบบของคอนเซ็ปต์ คือเราอยากจะเปลี่ยนแพรวให้ทันสมัยขึ้น ปกติทุกทีเรามีการปรับอยู่แล้วนะ แต่ปีนั้นเราอยากทำให้มันยิ่งใหญ่ ให้มันทันสมัยขึ้น น่าสนใจขึ้น กองบก.แต่ละคนได้รับโจทย์ให้ไปคิดคอลัมน์ใหม่ๆ เราเติบโตมาทางสัมภาษณ์ฮะ รู้สึกว่าถ้าต้องคิดคอลัมน์ใหม่ก็น่าจะให้เกี่ยวพันกับการสัมภาษณ์ ทีนี้สัมภาษณ์ยังไงให้มันใหม่ล่ะ ก็เลยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างตัวละครขึ้นมาตัวละครหนึ่ง เป็นตัวละครสมมุติที่เขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา เขามีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์ คือเปลี่ยนนี่มันจะเปลี่ยนในเรื่องของรูปภาพด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมีตัวละครหนึ่งเข้าไปสนุกกับแขกรับเชิญสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวละครตัวนี้ก็ต้องอิงตามแขกด้วย แขกเป็นนักมวยเขาก็ต้องเป็นนักมวย แขกเป็นพิธีกร เขาก็ต้องอิงคาแรคเตอร์พิธีกร คือให้ภาพมันสนุก สนุกทั้งการคุย สนุกทั้งการมอง คือตอนคิดมันสนุกตอนคิดหรอก ไม่รู้ว่าทำจะเป็นยังไง ทีนี้ผู้ใหญ่ในห้องก็คิดว่า มันควรจะมีคำว่าแพรวไหม ทุกคนก็ต้องคิดว่าแพรวเป็นผู้หญิงไง แต่คราวนี้มาเป็นผู้ชาย เหมือนเราคิดอะไรขึ้นมามันแบบใช่เลยอ่ะ งั้นมาเป็น MR.PRAEW ไหมล่ะ เพราะจริงๆแพรวเป็นผู้หญิงแต่คนนี้เป็นผู้ชายนะ แล้วผู้ชายก็จะมาคุยล่ะ

คอนเซ็ปต์ของ MR.Praew
คอนเซ็ปต์ของ MR.Praew คือ พูดตรงถามตรง แต่ไม่ใช่หยาบคาย เราจะมาถามกันเรื่องตรงๆ ที่คนอยากรู้ คอลัมน์ MR.Praew จะแตกต่างจากคอลัมน์อื่นในแพรวเพราะว่า เราจะเน้นแขกที่อยู่ในกระแสขณะนั้น ขณะนั้นสังคมกำลังเกิดวาทกรรมอะไร กำลังเกิดเหตุการณ์อะไร MR.Praew จะเข้าไปหาแล้วเล่าเรื่องราวให้ผู้อ่านได้รู้ เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่องที่แขกไม่อยากเล่าหลายๆเรื่องเลยแหละ แต่เราต้องคุยกับแขกก่อนว่าถ้ามาคอลัมน์นี้เราถามนะ

เผยตัวตน ‘MR.Praew’

วิธีล้วงคำตอบ
การตกลงกับแขกก่อนก็เป็นข้อดี ว่าเราถามตรงๆ เราชอบเน้นความสนุกก่อน คือทำให้แขกทุกคนเชื่อใจว่าเราไม่ได้มาทำร้ายเขาหรอก เพียงแต่ว่าเราอยากชวนเขาพูดความจริง

แขกที่คิดว่าท้าทาย และยากที่สุด
จริงๆมีหลายคนนะ เช่น คุณธัญเรศ ไม่ได้ยากที่การพูดคุยหรอก แต่ยากที่ประเด็น ช่วงแรกที่เขามีข่าวเรื่องสามี เราบอกเขาว่าเราจะไปคุยเรื่องนี้แบบหมดเปลือก มันยากตั้งแต่ที่เราจะถามยังไงกับเขาแล้วล่ะ

มีไหมที่สัมภาษณ์แล้วไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
มีครับ เป็นเรื่องธรรมดามากเลย เราก็คงต้องตบกะโหลกตัวเองว่าบทสัมภาษณ์นั้นก็อาจจะไม่ใช่บทสัมภาษณ์ที่ดีที่สุด ที่เราอยากได้ สุดท้ายแล้วหน้างานเราต้องทำให้ดีที่สุดก่อน คือเราจะไม่ยอมกลับออกมาถ้าได้คะแนนแค่ 6 คือถ้าได้คะแนนแค่ 6 มาส่งให้พี่บ.ก.อ่านต้องเหลือ 4 แน่ เราจะไม่ทำงานแบบใจดีกับตัวเอง เช่น พอแล้วล่ะมั๊ง พี่ในแพรวจะสอนเราเสมออย่าใจดีกับตัวเอง เพราะถ้าเราใจดีกับตัวเองคนอ่านจะอ่านอะไร อยากอ่านสิ่งที่มันดีใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันต้องดีตั้งแต่เริ่มคุยแล้ว มันไม่ใช่ดีเฉพาะตอนเริ่มเขียนนะ สมัยนี้คนอาจจะเขียนงานง่าย เดี๋ยวก็ไปก็อปปี้ที่เคยสัมภาษณ์ในอินเทอร์เน็ตมาผสม แต่เราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะถ้าสมมุติว่าคนที่เคยอ่านในอินเทอร์เน็ตแล้วล่ะ แล้วเขาจะมาอ่านงานของเราทำไม เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้มันดีกว่า ทำให้มันลึกกว่า MR.Praew มีหน้าที่ทำให้มันลึกกว่า ถามให้รู้กว่า

เผยตัวตน ‘MR.Praew’

นิยามคอลัมน์ MR.Praew
คอลัมน์นี้เราว่ามันเหมือนสนามเด็กเล่นด้วยซ้ำ หนึ่งคือแขกมันเปลี่ยนตลอด ทุกคนมาสนุกกับ MR.Praew ตลอด คอลัมน์ต้องขอบคุณแขกมากๆเลย หลายครั้งเป็นดาราสมมุติเป็นพี่บัวขาว เป็นผู้ใหญ่อย่างพี่วิทวัฒน์ สุนทรวิเนตร เป็นพระก็มี เป็นนักการเมืองอย่างคุณชูวิทย์ก็มี เป็นกุ๊บกิ๊บที่ยอมพูดเรื่องเลิกมาริโอ้ใหม่ๆ เราสัมภาษณ์หลายคน หลายๆคนยอมมาถ่ายรูปกับเรา ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นคนหนังสือหนึ่งคน แต่ทุกคนยอมมาเล่นตามคอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้ เราจะไม่กล้าส่งงานบ.ก.ถ้าแม้แต่ตัวเราเองยังอ่านไม่สนุก คือทั้งหมดของ MR.Praew มันตรงและสนุก

เสน่ห์ของงานนิตยสาร
เราว่าแมกกาซีนสำหรับแพรวเปรียบได้กับพ็อกเก็ตบุ๊คเลยแหละ อย่างธรรมชาติของหนังสือพิมพ์ก็คือ ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่นิตยสารต้องการความละเอียดกว่านั้นในการถ่ายรูป รูปนิตยสารมีความตั้งใจ มีการวางคอนเซ็ปต์ไว้ค่อนข้างเนี้ยบ รวมถึงงานเขียนด้วย อย่างเราทำสัมภาษณ์ใหญ่ 10 หน้า มันเล่าแค่นั้นไม่ได้หรอกว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มันต้องมีการร้อยเรียงของเรื่อง เช่น เราสัมภาษณ์เขามาสิบตอน เราอาจจะไม่เล่า หนึ่งถึงสิบก็ได้ เราอาจจะเอาเนื้อหามาสลับเพื่อความสนุก เพื่อให้คนอ่านไม่เบื่อ แต่ไม่ได้โกหกเนื้อเรื่องนะ เสน่ห์ของนิตยสารคือความละเอียด ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานแข่งกับเวลามาก อย่างแพรว 15 วัน แต่ละคนก็ไม่ได้รับผิดชอบคอลัมน์เดียว สุดท้ายพอเห็นมันสมบูรณ์ก็หายเหนื่อย

เผยตัวตน ‘MR.Praew’

แนะนำให้กับคนที่ยังไม่รู้ตัวว่าชอบอะไร
ทุกวันนี้โลกเรามันมีอะไรให้เลือกเยอะ เราว่าคุณต้องลองอะไรสักอย่างก่อน อย่างบางคนบอกว่าจบมาไม่ตรงสายแต่อยากเป็นนักเขียนต้องทำยังไง เราก็แนะนำให้ลองไปฝึกงานก่อน แต่น้องบอกว่าเสียเวลา กลับไปทำวิศวะดีกว่า ก็เลยสงสัยว่าตกลงน้องชอบอะไรกันแนะ คือเราว่ามันต้องแลกนะ เด็กสมัยนี้ต้องการอะไรเร็วๆ อย่างเราได้ทำงานเขียนเพราะเรามีการฝึกงานมาก่อน คุณต้องยอมเสียเวลาสัก 3 หรือ 4 เดือน เพื่อเรียนรู้ว่าคุณชอบมันจริงหรือเปล่า ถ้าคุณชอบมันจริงคุณก็มีก้าวบันไดแรกแล้ว ทำให้เดินต่อไปได้ ถ้าไม่ใช่คุณก็แค่ลองหาสิ่งที่คุณชอบใหม่

วิธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง
ท่านว.วชิระเมธีเคยบอกไว้ว่า ก่อนนอนทุกคืนคนมักจะเอาความทุกข์เข้าไปนอนด้วย จริงๆแล้วคุณเคยขอบคุณตัวเองไหม คิดในมุมกลับกันว่าวันนี้คุณทำอะไรที่มันสำเร็จบ้าง คุณทำงานทันเวลา คุณได้คุยเรื่องให้เพื่อนหัวเราะได้หลายเรื่อง คุณกินข้าวพร้อมพ่อแม่ ลองดูซิวันนั้นคุณทำสิ่งดีๆอะไรบ้าง แล้วค่อยมาคิดว่าค่าเฉลี่ยในชีวิตคุณมันเป็นทุกข์หรือเป็นบวกมากกว่ากัน ถ้าเป็นบวกมันก็ดีไม่ใช่หรือ เรื่องงานก็เหมือนกัน สุดท้ายแล้วเราก็มาช่างน้ำหนักดูว่าสุดท้ายแล้วเรายังอยากทำงานนี้อยู่หรือเปล่า คำตอบทุกครั้งตั้งแต่เริ่มเขียนงานคือใช่นะ ยังเป็นงานที่เราอยากทำที่สุด ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะ ทุกครั้งที่เราอ่านหนังสือเราจะคิดว่าเราเขียนหนังสือดีขึ้น

ได้คุยกับคนทำหนังสือ แถมยังเป็นนักสัมภาษณ์มือทองที่ได้พบเจอผู้คนหลากหลายอาชีพ R.J เชื่อว่าชิคสเตอร์จะต้องได้ข้อคิดดีๆกันไปเพียบเลย...จริงไหมคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook