เตาะแตะจ้อได้ดี เพราะอะไรหว่า

เตาะแตะจ้อได้ดี เพราะอะไรหว่า

เตาะแตะจ้อได้ดี เพราะอะไรหว่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทักษะการพูด เป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่รอคอย เมื่อลูกครบขวบเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รู้กันว่าตอนนี้แหละเด็กน้อยจะเริ่มพูด พร้อมกับข้อสงสัยหลากหลายที่ตามมาทั้ง พูดช้า พูดเร็ว พูดมาก พูดน้อย พูดอะไรไม่รู้เรื่อง ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญก็บอกตรงกันว่าทักษะการพูดเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการได้ยินและเลียนแบบรูปปากและการออกเสียง รวมไปถึงการเชื่อมโยงคำที่ได้ยินกับสิ่งที่มองเห็นเพื่อจดจำคำศัพท์ และสิ่งสำคัญที่พ่อแม่เป็นผู้ตัวที่ดีอย่างมากในทักษะนี้คือ การกระตุ้นการพูด จากนั้นเพียงแต่รอให้ลูกพร้อม....



เรามีวิธีการกระตุ้นทักษะการพูด และพัฒนาการด้านภาษาสำหรับวัยเตาะแตะมาฝากกันค่ะ

1-2 ขวบ
ในช่วงนี้เด็กๆ จะมีคลังคำศัพท์อยู่ประมาณ 100-200 คำ สามารถพูดประโยคสั้นๆ ได้แต่อาจจะยังติดๆ ขัดๆ อยู่บ้าง วิธีกระตุ้นการพูดลูกวัยนี้แสนง่ายค่ะ ชวนพูดคุยถึงสิ่งของรอบๆ ตัวหรือสิ่งที่ลูกสนใจ หาเกมการ์ด (บัตรคำ) มาเล่นกับเขา ได้สะสมคำศัพท์เพิ่มเติม และถ้าคุณไม่ลืม เวลาคุยกับลูกหมั่นออกเสียงให้ชัดถ้อยชัดคำนิดหนึ่ง ช่วยเขาหน่อยค่ะ เขาจะจดจำคำศัพท์และแยกแยะความแตกต่างของเสียงที่ได้ยินง่ายขึ้นนั่นเอง

2-3 ขวบ
ตอนนี้เตาะแตะส่วนใหญ่เริ่มพูดคุยรู้เรื่องแล้ว มีความเข้าใจในภาษาและการเชื่อมโยงรูปประโยคที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่แน่นอนคือ เขาไม่ได้เข้าใจได้ทั้งหมดอย่างที่ผู้ใหญ่เราเข้าใจ บางคำ บางประโยคก็ยังเป็นการพูดตาม แต่ช่วงนี้ก็เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับเพิ่มเติมคำที่เกี่ยวกับมารยาทและการอยู่ร่วมกันในสังคมให้เขา เช่น การพูดทักทาย พูดมีหางเสียง พูดขอบคุณหรือขอโทษ คุณคงพอเดาต่อได้แล้วว่า จะพูดคำเหล่านี้ได้ดีก็เพียงแค่ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้คำเหล่านี้ ถูกต้องแล้วค่ะ เพียงแค่พูดให้เขาได้ยิน เตือนให้เขาพูด ยามที่คุณพาเขาออกไปนอกบ้าน เล่นกับเด็กคนอื่น ซื้อของ และสถานการณ์ต่างๆ อีกมากมาย

Mom best selected อยากให้ลูกพูดคล่องปร๋อ + พูดรู้เรื่อง...ลองทำแบบนี้สิ!

- ถามให้บ่อย คำถามที่ไม่ใช่เพียงประโยคสั้นๆ และถามอย่างต่อเนื่อง เช่น จะพาไปสนามเด็กเล่น มีคำถามได้หลากหลาย “ลูกอยากให้ใครพาไป จะเล่นกับใคร ชอบเล่นของเล่นชิ้นไหนมากที่สุด และชอบเพราะอะไรนะ” หรือก่อนเข้านอน ก็มีคำถามให้ตอบได้ เช่น “วันนี้ลูกได้ทำอะไรไปบ้าง วันนี้คุณอาโอ่งให้ของเล่นอะไรนะ”

- เติมคำในช่องว่าง คุณรู้หรือไม่ว่าสมองของเด็กนั้นมหัศจรรย์มาก ขนาดว่าเขายังอ่านหนังสือไม่ออก แต่นิทานที่คุณอ่านให้เขาฟังทุกคืน ทุกคำที่ได้ยินได้ถูกบันทึกไว้ในสมองน้อยๆ ของเขาแล้ว คืนนี้ลองหยิบนิทานเล่มโปรดของเขาขึ้นมาอ่านไปสักพักแล้วก็หยุด...เชื่อเถอะต้องมีเสียงเจื้อยแจ้วของเจ้าตัวน้อยอ่านบรรทัดต่อไปแน่ๆ

- เล่นเกมพ่อแม่จำไม จากที่เจ้าหนูคอยเป็นฝ่ายถาม นั่นอะไร นี่อะไร ตลอดเวลา วันนี้ลองสลับร่างกัน เป็นพ่อแม่
จำไมแทนบ้าง ชี้ไปที่สิ่งของรอบตัวแล้วถามลูกว่า “นั่นอะไร นี่อะไร” ได้คำตอบแล้ว คุณจะอธิบายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็ได้ เพิ่มความสนุกตื่นเต้นด้วยการจับเวลาหรือถามให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ

- ปู่ย่าตายายช่วยได้ ถ้าเด็กๆ ไม่ได้อยู่กับท่าน ช่วยต่อโทรศัพท์หาท่านแล้วให้เจ้าหนูพูดคุยด้วยโดยมีคุณเป็นพรายกระซิบ เช่น “ไหนลองเล่าให้คุณตาฟังหน่อยว่าเมื่อเย็นหนูกินข้าวกับอะไร อร่อยไหม หรือเมื่อเช้าหนูออกไปเล่นอะไรกับเพื่อน สนุกไหม” วิธีนี้ลูกจะได้ผลดีสองเด้ง คือช่วยเพิ่มทักษะการพูด และยังช่วยสร้างความคุ้นเคย กระชับความสัมพันธ์กับท่านอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook