ข้างหลังภาพ Night Talk โดย เจี๊ยบ ประชากุล ศิลปินเอเชียคนแรกรางวัล BP Portrait Award

ข้างหลังภาพ Night Talk โดย เจี๊ยบ ประชากุล ศิลปินเอเชียคนแรกรางวัล BP Portrait Award

ข้างหลังภาพ Night Talk โดย เจี๊ยบ ประชากุล ศิลปินเอเชียคนแรกรางวัล BP Portrait Award
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่ออายุ 26 ปี มีเงินเก็บในบัญชี 200,000 บาท เจี๊ยบ ประชากุล ตัดสินใจลาออกจากงานฝ่ายคัดเลือกนักแสดงในเมืองไทย ไปตามหาฝันคืออยากเป็นศิลปินวาดภาพ โดยปักหมุดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มจากทำงานพาร์ตไทม์ในร้านกาแฟ 3 วัน สลับกับการฝึกเขียนภาพ 4 วันภาพวาดช่วงแรกของเธอขายได้ในราคาเท่าค่าแรงงานเสิร์ฟกาแฟรายวัน จนถึงวันนี้กับวัยต้น 40 ปี เจี๊ยบคือศิลปินชาวไทยและชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัล BP Portrait Award 2020 จาก National Portrait Gallery ของอังกฤษ กับงานศิลปะพอร์เทรตที่สะท้อนตัวตนทั้งคนวาดและต้นแบบ 

Sarakadee Lite ชวนไปคุยกับ เจี๊ยบ ประชากุล ถึงเส้นทางการสร้างตัวเองเป็นศิลปินวาดภาพ จากบัณฑิตสาขาวิชาภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่พนักงาน บริษัท บิ๊กบลู โปรดักชั่น จำกัด และย้ายไปเป็นคนเสิร์ฟกาแฟ คนวาดรูปขายในบาร์ และกลับมาเป็นศิลปินที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่ของอังกฤษ


ขอคำจำกัดความสั้นๆ ว่า เจี๊ยบ เป็นใคร

เจี๊ยบชื่อ กุลธิดา ประชากุล มาจาก นครพนม ภาคอีสาน และย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ มาลอนดอน และก็เบอร์ลิน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ลียง (ฝรั่งเศส) เป็นศิลปิน เป็นนักวาดภาพ เน้นแนวพอร์เทรต 


รางวัล BP Portrait Award 2020 ที่เพิ่งได้รับจากNational Portrait Gallery คืออะไร สำคัญมากไหมในวงการศิลปะ

เป็นรางวัลที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับงานศิลปะภาพพอร์เทรต รางวัลนี้กรรมการจะใช้มุมมองของการตัดสินโดยดูที่ Aesthetic คือสุนทรีย์ของศิลปะโดยรวม รางวัลนี้ก็เลยมีความสำคัญมากสำหรับวงการศิลปะทั่วไป รวมถึงสายที่ไม่ใช่พอร์เทรต เขาก็จะมาดูผลงานเหล่านี้ว่างานเสนออะไร ศิลปินอยากจะพูดอะไร


ทำไมถึงส่งผลงานชื่อ Night Talk เข้าประกวด

ตอนแรกที่ส่งเข้าไปคิดแค่ว่าอยากจะไปแสดงภาพที่ National Portrait Gallery ขอแค่เข้ารอบ 48 คนสุดท้าย เราจะได้จัดกรุ๊ปโชว์แล้ว ร่วมแสดงภาพกับศิลปินอื่น ๆ เพราะมันเป็นเวทีที่ดีที่เราจะได้เจอเพื่อนศิลปิน เจอคนที่ชอบชมศิลปะแบบเดียวกัน หรืออาจจะมีคนมาติดตามผลงานเรา เรื่องชนะรางวัลคิดว่ายากมาก ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเราเพิ่งจะเริ่มสมัคร (ส่งรูปเข้าประกวดเป็นครั้งแรก) แต่ว่างานชิ้นนี้ ตอนที่ทำไม่ได้ทำเพื่อส่งประกวดนะ ตอนนั้นทำเพื่อตัวเอง วาดเพื่อเข้าใจตัวเอง และงานชิ้นนี้เป็นงานที่สื่อสารได้ตรงจุดทางผู้จัดรางวัลเขามองหามากที่สุด ก็เลยส่งไปประกวดดูค่ะ 

ภาพ Night Talk ของเจี๊ยบ ประชากุล ที่ได้รางวัลชนะเลิศ BP Awards 2020 จาก National Portrait Gallery อังกฤษ

เบื้องหลังภาพ Night Talk

มันเป็นฉากในชีวิต เวลาที่เจี๊ยบไปเจอเพื่อน ๆ ที่เบอร์ลิน เราอยากจะจดจำมัน แคปเจอร์มันไว้ ตอนที่วาดรูปนี้ ชีวิตของเจี๊ยบเจอความลำบากหลายอย่าง เพราะต้องเดินทางไป-มาระหว่างลียงกับเบอร์ลิน ใช้สองภาษา วัฒนธรรมสองแบบ มันมีความสับสนมาก เวลามองเพื่อนสองคนนี้เจี๊ยบจึงเข้าใจว่า นี่ล่ะคือตัวตนของเจี๊ยบ

คนในรูปที่วาดเป็นเพื่อนที่เจี๊ยบรู้สึกว่ามันสื่อตัวตนของเจี๊ยบได้ชัดเจนมากทั้งในการแต่งตัวของเขา สีหน้าหรือว่าการใช้ชีวิตของเขาเป็นเพื่อนที่มีรสนิยมและความคิดร่วมกันกับเราหลายอย่าง เรียกว่าสื่อสารตัวตนผ่านทางเพื่อน และเป็นรูปที่วาดเพื่อสื่อสารความหมายของคำว่าเพื่อน คนที่สนับสนุนเราในเวลาที่เรารู้สึกดีหรือรู้สึกแย่เพื่อนทั้งสองคนนี้ แล้วก็อีกหลาย ๆ คนที่อยู่เบอร์ลิน (ที่ไม่ได้อยู่ในภาพวาด)เขาช่วยประคองเราไว้ ด้วยความเข้าใจและความอ่อนโยนจากที่ที่ไกลกัน เขาส่งแมสเซจส่งอีเมลแค่เป็นข้อความหรือว่าจดหมายเจี๊ยบก็รู้สึกว่าเขาแสดงความอ่อนโยนให้เราได้ ไม่ต้องบ่อยก็ได้ นั่นแหละเป็นความรู้สึกที่ดี

ภาพพอร์เทรตในความหมายของ เจี๊ยบ ประชากุล คืออะไร

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าภาพพอร์เทรตต้องเป็นภาพเหมือนเท่านั้น มันจะทำให้งานมันหยุด เพราะคนคิดแค่ว่าต้องวาดให้สวย ต้องวาดแค่ให้หน้าเหมือนมันก็เลยตันแต่งานศิลปะมันต้องเดินไป ในยุคปัจจุบันคนมองหางานที่สื่อความรู้สึก งานโมเดิร์นอาร์ตหรือเอกซ์เพรสชันนิสม์ หรือว่าคอนเซปชวลอาร์ตมันก็เลยโดนใจคนยุคนี้เพราะว่าเขาพูดถึงความรู้สึกและประสบการณ์ในชีวิตเพราะฉะนั้นพอร์เทรตสำหรับเจี๊ยบคือไม่ใช่แค่ภาพที่ต้องวาดคนให้สวย ไม่ใช่ภาพที่ต้องสื่อว่าวาดได้เหมือนจริงแต่ว่าภาพมันต้องบอกตัวตน ไม่ใช่แค่หน้า แว่น เสื้อ ดอกไม้ ต้นไม้ หรือว่าเก้าอี้ในบ้าน องค์ประกอบทุกอย่างที่มันก่อตัวตนของคนคนนั้นนั่นคือพอร์เทรตในความหมายของเจี๊ยบ


หลายครั้งมากที่เจี๊ยบวาดรูปพอร์เทรตที่เป็นโชว์เสื้อผ้า โชว์บ้าน โชว์อะไรหลาย ๆ อย่าง เพราะเจี๊ยบรู้สึกว่าองค์ประกอบพวกนี้มันช่วยให้คนดูเข้าใจหรือพูดถึงคนคนนั้นได้ แล้วก็เข้าใจฉาก เข้าใจฉากที่คนคนนั้นอยู่ได้ เหมือนมีข้อมูลที่จะช่วยให้เขาเข้าใจได้ถ้าเรามองรูปพอร์เทรตแล้วเราเห็นตัวตนคนคนนั้น มันทำให้เราช่วยคิดว่าตัวตนของเราคือใคร


ทำไมถึงเลือกทำศิลปะแนวพอร์เทรต

โดยส่วนตัวงานศิลปะที่เจี๊ยบชอบจะต้องมีพอร์เทรตอยู่ในตัวด้วย งานที่โดนใจเราที่สุด พูดกับเรามากที่สุดคือรูปพอร์เทรตหรือว่ารูปคน ก็ความรู้สึกเดียวกันกับที่เจี๊ยบอธิบายไป ตอนที่เจี๊ยบยังเป็นคนดูศิลปะ เจี๊ยบรู้สึกว่า ดูแล้วเจี๊ยบรู้สึกสัมผัสเข้าไปได้ รู้สึกว่าเราอยากเป็นอย่างคนคนนั้น อย่างตอนได้ดูงาน ชื่อ Mr. and Mrs. Clark and Percy ของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ครั้งแรกเจี๊ยบรู้สึกว่า นี่คือภาพของชีวิตของคนที่เจี๊ยบอยากจะเป็นในอนาคต ความรู้สึกนั้นที่เจี๊ยบอยากจะสื่อกลับไปเวลาที่เจี๊ยบมาเป็นศิลปินแล้ว

งานคัดเลือกนักแสดงที่ทำมาก่อนหน้านี้มีผลต่อมุมมองพอร์เทรตของเจี๊ยบด้วยไหม

อาจจะเป็นเพราะอย่างนั้นด้วย เจี๊ยบชอบมองคนว่า ทำไมคนนี้ถึงทำสายตาแบบนี้ ทำไมมองอย่างนี้ ทำไมมีท่าทางอย่างนี้ แล้วก็พอเรายิ่งรู้ลึก เราก็เข้าใจว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงขยับตัวแบบนี้ ทำปากแบบนี้ ยิ้มแบบนี้มองแบบนี้ เดินแบบนี้ เลือกเสื้อผ้าแบบนี้ ทุกอย่างมันประกอบเข้าไปหมด และเจี๊ยบว่ามันน่าสนใจ เจี๊ยบรู้สึกว่าถ้าคนเลือกที่จะแต่งตัวสื่อสารสำหรับคนคนนั้นว่าทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้ หรือทำไมเขาถึงเลือกของชิ้นนี้ และทำไมไม่เลือกเลย สิ่งที่เขาไม่เลือกเลยมันก็มีเหตุผลเหมือนกัน อีกอย่างเจี๊ยบเป็นคนชอบดูหนังมากจะพูดถึงคน ชีวิตคน ครอบครัว ถึงคาแรกเตอร์ในหนังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก เจี๊ยบเรียนภาพยนตร์มาด้วย ส่วนนั้นเลยมีผลกับงานของเจี๊ยบด้วยว่า คาแรกเตอร์ของคนมันคือสิ่งที่เจี๊ยบอยากฟัง อยากเห็น แล้วก็อยากเล่า


ทำไมถึงไม่เลือกทำหนัง ทั้ง ๆ ที่เรียนจบสาขาภาพยนตร์ 

ไม่เลือกทำหนังเพราะตอนเรียนจบแล้วไปทำงานในกองถ่าย ทำงานกับโปรดักชั่นเฮาส์ที่กรุงเทพฯ (บิ๊กบลูคอมพานี) เจี๊ยบก็เข้าใจว่าตัวเองชอบดูหนังมากกว่าทำหนัง เพราะว่าเจี๊ยบเป็นคนสันโดษนิด ๆ ชอบอยู่เงียบ ๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนแข็งแรงมาก มีลิมิตในการใช้พลังงาน เจี๊ยบรู้สึกเหนื่อยถ้าต้องเจอคนมาก เจอจุดนี้เลยรู้ว่าเราไม่ใช่คนทำหนัง เพราะคนทำหนังเขาต้องมีจุดที่เขาสามารถคงพลังของเขาไว้เพื่อที่จะใช้ทุก ๆ วัน ทำงานตีสี่ถึงหกโมงเย็น มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เจี๊ยบรู้ตัวตั้งแต่ตอนเรียนและตอนทำงานในกองถ่ายว่าไม่อยากคิดมาก ไม่อยากรู้สึกมากว่าเขาทำหนังกันยังไง เทคนิคอะไร เขียนบทยังไง อยากจะปล่อยตัวเองไปเพื่อที่จะรู้สึกซาบซึ้ง แล้วก็สนุกไปกับหนังที่ชอบเท่านั้นเอง



ทำไมถึงเปลี่ยนชีวิตเก็บกระเป๋าบินไปตั้งหลักเป็นศิลปินที่ลอนดอน

ตอนที่ทำงานคาสติ้งกับบิ๊กบลู โปรดักชั่น มีรุ่นพี่ที่ทำงานได้ 2-3 ปี แล้วเขาได้ไปใช้ชีวิตที่ลอนดอน เราก็ฟังเรื่องเล่าจากเขา ตอนนั้นยังเด็ก ฟัง ๆ แล้วก็ อุ๊ย เราอยากทำบ้าง และพอคิดจะไปจริงก็เริ่มดูเงินในบัญชี และตั้งใจว่าถ้าเก็บเงินได้ จะไปหาทางค้นหาชีวิตที่ลอนดอนทีนี้พอยอดเงินในบัญชีมันได้ตามที่เราตั้งไว้ก็ไปบอกเจ้านายว่า “เจี๊ยบจะไปลอนดอนค่ะพี่”เจ้านายก็บอกว่า “พี่ก็รออยู่ว่าเมื่อไรเจี๊ยบจะบอกพี่เพราะทุกคนก็ต้องมีเวย์ที่จะไปหาตัวเอง ตอนนี้ถึงเวลาของเจี๊ยบแล้ว พี่ก็อวยพรให้เจี๊ยบได้เจอตัวเอง” ตอนนั้นลาออกจากงานแล้วเราก็เก็บกระเป๋าก็ไปเลย ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าอยากไปเจอตัวเอง อยากไปค้นเจอโลก อยากไปมองมุมมองใหม่ที่เราไม่มีที่เมืองไทย 


ใช้เวลาเก็บเงินตามฝันอยู่กี่ปี 

ตอนนั้นอายุ 26 ทำงานที่บิ๊กบลูโปรดักชั่นได้ 3 ปี และมียอดเงินครบสองแสนบาทปุ๊บก็ไปเลย เรารู้สึกว่าสองแสนมันเริ่มต้นได้ พอจ่ายค่าเช่าบ้านที่ลอนดอนได้ประมาณ 3 เดือน แล้วหลังจากนั้นเราก็ใช้เวลาหางาน แล้วค่อยคิดว่าเราจะทำอะไรต่อ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้คิดยาวเป็น 1-2 ปี คิดแค่ว่าขอให้เริ่มให้ได้ก่อน แล้วเราค่อยมองต่อไป


พอไปถึงลอนดอน ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม

เจี๊ยบเคยไปลอนดอนแล้วครั้งหนึ่งตอนที่บริษัทบิ๊กบลูฯ เขาพาพนักงานเที่ยวต่างประเทศ เจี๊ยบรู้สึกว่าลอนดอนใช่มาก มันรู้สึกตื่นเต้นไปหมด งานศิลปะที่นั่นเป็นอีกสังคมหนึ่งที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอ เลยตื่นเต้นมาก พอตอนที่ย้ายไปอยู่จริง ความรู้สึกแรกจำได้เลยว่า ตอนเก็บของเข้าห้องพักเสร็จ แล้วนั่งรถไฟใต้ดินไปสถานที่เดิมที่เคยไป แต่ความรู้สึกไม่ใช่แบบเดิมแล้ว มันกลับรู้สึกเหงามาก มันไม่ใช่ความรู้สึกที่เราอยากได้ตอนที่เรามาครั้งแรก เราต้องหาความรู้สึกใหม่ 

พอออกจากจุดนั้นไปเจี๊ยบก็พยายามมองหาชีวิตที่เจี๊ยบอยากจะทำในลอนดอน ตอนแรกก็เริ่มทำงานในร้านอาหารชื่อร้านเรือนไทยแต่พอผ่านไปหนึ่งปี ก็รู้สึกว่าการเสิร์ฟอาหารมันไม่ใช่ชีวิตที่เราอยากจะทำมันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก แต่สำหรับระยะยาวไม่ใช่สิ่งที่เจี๊ยบมองหาก็เลยไปสมัครงานร้านกาแฟที่แถวอีสต์ลอนดอน ซึ่งมีคนแนวศิลปินอยู่เยอะ เจี๊ยบก็พาตัวเองย้ายไปอยู่ตรงนั้น ตอนนั้นร้านกาแฟยังไม่ค่อยเยอะ แต่ร้านนี้ดูเท่สุดและเขารับเราทำงาน เราก็ได้เจอเพื่อนแบบแนวเดียวกัน แม้จะเป็นคนละเชื้อชาติกัน แต่เรารู้สึกได้แลกเปลี่ยน ได้เจอสังคม เจอกลุ่มครอบครัวที่เป็นคนแบบเดียวกัน เรารู้สึกว่ามันใช่ละ และช่วงนั้นเองก็ได้ชมนิทรรศการของศิลปินอังกฤษ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ก็ได้เข้าใจตัวเอง เจอตัวเองว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำ


เริ่มฝึกฝนด้านศิลปะอย่างไร

ฝึกวาดเองจากหนังสือแคตตาล็อก​งานศิลปะของศิลปินที่เราชื่นชม และก็ฝึกวาดอะนาโตมีจากหนังสือศิลปะอิตาลีชื่อ 

StrutturaUomo: Manuale di AnatomiaArtistica​ จริง ๆ เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นสิ่งที่เราจะจริงจังได้ จนกระทั่งได้มาค้นหาตัวเองที่ลอนดอน เจี๊ยบใช้เวลา 1 ปีหลังจากที่คิดว่าจะเป็นศิลปิน ยืนยันในความคิดที่ว่าศิลปินคืออาชีพที่จริงจังได้ตอนนั้นทำงานที่ร้านกาแฟ 3วัน ให้ได้เงินพอจ่ายค่าเช่าบ้านพอ แล้วอีก 4 วันก็วาดรูปอย่างเดียว

ที่ผ่านมาเจี๊ยบก็มีงานภาพวาดออกมา 2 ชุดชุดหนึ่งจัดแสดงที่บาร์ย่านอีสต์ลอนดอน ขายได้เกือบหมด และอีกชุดหนึ่งกลับมาจัดที่กรุงเทพฯ (พ.ศ.2551) ก็ขายไปได้เกือบหมดเหมือนกัน ตอนนั้นรู้สึกว่ามันลงตัวเร็วมากแต่ที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินเต็มตัวได้จริง ๆ ก็คือเมื่อปี2562 ที่ผ่านมาคือไม่ทำงานอื่นเสริมรายได้ก่อนนั้นต้องทำงานไซด์โปรเจกต์ ทำแบรนด์ไปด้วย แต่จากปีที่แล้วตัดสินใจว่าต่อไปนี้งานหลักคือวาดรูป ถึงจะมีรายได้หรือไม่มีรายได้ ถึงจะอด ๆ อยาก ๆ หน่อยก็ต้องเลือกแล้ว

ตอนที่เจี๊ยบเริ่มต้นวาดรูปแรก ๆ เวลาเจี๊ยบขายรูป เจี๊ยบคิดราคาที่คนซื้อรูปจะต้องจ่าย เท่ากับค่าเวลาที่ใช้ทำรูป นั่นก็คือเท่ากับราคาที่เราไปชงกาแฟแค่นั้นพอใจแล้ว คือเจี๊ยบไม่อยากไปชงกาแฟเพื่อดำรงชีวิต เพื่อซัพพอร์ตชีวิตตัวเอง แต่ตอนนั้นเจี๊ยบยังไม่เป็นใครเลย เป็นแค่ศิลปินเพิ่งเริ่มต้น แต่ว่าจุดนั้นแหละที่ทำให้เราเดินต่อไป ยิ่งเราทำงาน งานที่เราทำถึงขายได้น้อยแต่มันเป็นงานของเราทุก ๆ งานที่เจี๊ยบทำมันต้องกลายเป็นผลดีสำหรับเจี๊ยบเอง มันไม่ใช่ตัวเงิน สำหรับจุดหนึ่งในชีวิตของศิลปิน อาจจะต้องคิดถึงแต่งาน ไม่ต้องคิดแต่เงิน


แปลว่าปีที่ผ่านมาเจี๊ยบทำงานในฐานะศิลปินมาตลอด

ถ้าเจี๊ยบไม่เลือกก็ต้องจับปลาสองมือไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่ามันไม่ไปไหน ตอนนั้นอายุเข้า 40 แล้ว ถามตัวเองว่าตัวเราอยากทำอะไร อะไรสำคัญ เราก็คิดไปถึงเรื่องที่สอนในพุทธศาสนา พูดถึงคนตกปลาอยู่ แล้วมีคนมาเห็นเขา แล้วบอกเขาว่าตกปลาเก่งมากเลย น่าจะทำฟาร์มปลาเลยจะได้มีเงินเยอะ ๆ ขยายกิจการเลย คนที่ตกปลาก็เลยหันไปถามว่า แล้วทำไมฉันต้องทำสิ่งเหล่านั้นด้วย ในเมื่อสิ่งที่ฉันอยากทำในชีวิตคือแค่ตกปลาเท่านั้นเอง ทำไมต้องทำให้มันยุ่งยาก เพื่อที่จะทำสิ่งที่อยากทำนั่นคือมุมมองที่เจี๊ยบอยากพาตัวเองไปสุดท้ายสิ่งที่เจี๊ยบอยากทำก็คือนั่งวาดรูปเท่านั้นเอง งานหลาย ๆ อย่างที่พาเงิน พาความสำเร็จมาให้บางครั้งมันก็รั้งเราไว้จากสิ่งที่เราอยากทำ เช่นตอนที่เจี๊ยบทำแบรนด์ก็ต้องทำเต็มตัว เวลาวาดรูปจึงน้อยมาก พอมีเวลาวาดรูปก็เหนื่อย เจี๊ยบเลยเข้าใจว่าความมั่งมีของเจี๊ยบคือเวลา แล้วก็สุขภาพที่ดี เจี๊ยบก็เลยแค่ให้เวลาสำหรับวาดรูปตัวเองเต็มที่ แล้วก็ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ เพื่อที่จะให้ร่างกายและจิตใจตัวเองพร้อมที่จะทำงานเท่านั้นเองที่สำคัญสำหรับชีวิตตอนนี้

บาลานซ์การเลี้ยงชีพในฐานะที่เป็นศิลปินเต็มตัว

เอาง่าย ๆ ก็คือ เราต้องทำงานให้ได้ทุนพอที่จะทำงานศิลปะต่อได้บางครั้งความคิดของคนเรามันเล่นกลกับตัวเองอย่างเจี๊ยบคิดว่าจะทำแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อให้ได้เงินใช้สัก 500 ยูโร สำหรับค่ากินค่าอยู่ แต่พอเราไปทำจริง ๆ เกิดแบรนด์สินค้าอันนี้ไปได้ดี คนซื้อเยอะ คนสั่งเยอะ เราเห็นเงินตรงหน้าเข้ามาในบัญชี เราบอกเฮ้ยต้องจับไว้ก่อนว่ะ แต่นานเท่าไรที่เราต้องจับไว้ก่อน อาจจะเป็น 3 ปี 4 ปี 5 ปี 10 ปีผ่านไป แล้วสิ่งที่เราจับคือเงิน แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะทำ เพราะฉะนั้นถามเจี๊ยบว่าเท่าไรถึงพอ บอกได้เลยว่าแค่พอดีพอใช้อย่าไปคิดว่าอันนี้ต้องรวย ต้องซื้อบ้าน ต้องมีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ ต้องมีแบรนด์เนมใส่ อย่าไปคิดตรงนั้น คิดว่าเอาแค่พอดีให้ตัวเองได้ทำสิ่งที่อยากทำ


มุมมองการทำงานศิลปะในต่างประเทศเป็นอย่างไร

สนุกและยากด้วยค่ะรู้สึกว่าที่เมืองนอกสนุก เพราะในยุโรปคนส่วนมากมีพื้นฐานวัฒนธรรมความรู้เกี่ยวกับศิลปะมาอยู่แล้ว ต่างจากบ้านเราที่ยังทำให้รู้สึกว่าศิลปินคือคนบ้า ๆ บอ ๆ แต่ที่นี่ เราทำงานได้ตั้งแต่ตอนที่เรายังไม่ดังหรือไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็เห็นว่างานเราดีแล้วเขาเชิดชูเรามากเหมือนเป็นคนสำคัญ ที่ยุโรปไม่ได้ตัดสินศิลปินจากความดังหรือความสำเร็จ แต่จากความชอบของเขาเพียงเพราะงานศิลปะพูดกับคนคนนั้น


แวดวงศิลปะที่กรุงเทพฯกับยุโรปที่เจี๊ยบเคยสัมผัสต่างกันอย่างไร

กรุงเทพฯ ตอนที่เจี๊ยบอยู่ เจี๊ยบยังไม่ได้เข้าซีนศิลปะ ก็เลยไม่รู้เยอะ แต่ถ้าให้มองจากตอนนี้ รู้สึกว่ากรุงเทพฯ เริ่มไดนามิกมาก เพราะว่าทุก ๆ คน รู้สึกหิว รู้สึกอยากรู้ อยากเห็นงานศิลปะ โลกเราเริ่มเปิดออกไปแล้ว คนมีความพร้อมที่จะซื้องานดูงาน มีศิลปินใหม่ ๆ ที่พยายามสร้างความเป็นไทย สร้างมุมมองของศิลปะไทยขึ้นมา แต่คนดูก็อยากดูอีก ขออีก เพิ่มอีก เพราะว่าในประวัติของบ้านเรามันไม่ได้มีศิลปะที่สนองความต้องการของคนในหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ประเภทเหมือนในยุโรป

ยกตัวอย่างที่ลอนดอนคือ ศิลปะมันอยู่ในวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งปกติ เด็กอนุบาลไปเรียนวาดรูปจากแกลเลอรีทุก ๆ บ้านมีรูปวาด ทุก ๆ บ้านเปิดทีวีเจอคนพูดเรื่องศิลปะ วงการศิลปะในลอนดอนหวือหวามาก ศิลปินถ้าถึงระดับอยู่ในลอนดอนได้ ก็คือประสบความสำเร็จมากมั่นคงมาก เพราะที่นี่ศิลปินเยอะ คนมีกำลังซื้อเยอะ ทุกอย่างรันพร้อมกันไปหมดที่ลอนดอนจะมีความคลาสสิกผสมกับคอนเทมโพรารี เขาชอบผลงานแบบพอร์เทรต คนอังกฤษเหมือนโตมากับความรู้สึกว่า พอถึงจุดหนึ่งต้องจ้างคนวาดภาพเหมือนตัวเองเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะจ้างคนมาถ่ายรูปมาวาดรูปครอบครัว

ส่วนเบอร์ลินที่เคยไปอยู่ก็ต่างไป ที่เบอร์ลินเป็นศิลปะแนวใหม่ เป็นแนวที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคม ทุกอย่างเปิดกว้างมาก มีไดนามิก ส่วนหนึ่งอาจเพราะเบอร์ลินมีไนท์ไลฟ์ มีคลับบิ้ง เมืองมีความดิบ เจี๊ยบพูดได้ว่าถ้าอยากเห็นมุมมองของคอนเซปชวลอาร์ต หรืออินสตอลเลชันอาร์ตที่เป็นยุคนี้จริง ๆ ต้องไปที่เบอร์ลิน และที่ลียง ฝรั่งเศสแวดวงศิลปะไม่ได้กว้างขวางมาก ส่วนมากจะเป็นพวกวาดเพื่อตัวเอง วาดสิ่งที่ศิลปินอยากวาดแล้วก็ใช้ชีวิตสบาย ๆ


BP Portrait Award เปลี่ยนชีวิต เจี๊ยบ ประชากุล อย่างไร

สำหรับเจี๊ยบ รางวัลนี้เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต สร้างความมั่นใจว่าใช่ละ งานเรามันใช่ มันถูกต้อง ใช้ได้ ส่วนความสำเร็จในฐานะศิลปินก็คือเปิดโลกกว้าง เปิดมุมมอง ตื่นเต้นภูมิใจ รู้สึกเหมือนเป็นจุดที่เราคอนเน็กต์กับคนดูงานเราได้ BP Portrait Award เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติมาก ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะชนะด้วยซ้ำ เพราะว่าไม่เคยมีคนเอเชียได้ด้วย เขาเลือกโดยไม่ได้ดูจากประวัติคนจริง ๆ เขาเลือกจากรูปอย่างเดียว ไม่ใช่ตัวศิลปิน รู้สึกโชคดีมาก ๆ จากที่เราต้องไปเอางานไปเสนอโน่นนี่เอง กลับมาเป็นทุกคนมุ่งมาหาเรา อยากที่จะได้งานเรา


Fact File 

- รางวัล BP Portrait Award เป็นรางวัลที่มอบแด่ศิลปินภาพพอร์เทรต จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย National Portrait Gallery (NPG) กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ
- National Portrait Gallery หอศิลป์ในกรุงลอนดอนก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1856 เริ่มแรกเป็นหอศิลป์แสดงผลงานภาพวาดบุคคลบันทึกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันเป็นหอศิลป์ที่ส่งเสริมงานศิลปะภาพเหมือนภาพบุคคลในสื่อทุกรูปแบบ
- ชมนิทรรศการออนไลน์ได้ทาง www.npg.org.uk
- ติดตามผลงานศิลปะของเจี๊ยบ ประชากุล ได้ทาง https://jiabprachakul.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook