หัวนมบอด ปัญหากวนใจคุณแม่หลังคลอด แก้ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก

หัวนมบอด ปัญหากวนใจคุณแม่หลังคลอด แก้ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก

หัวนมบอด ปัญหากวนใจคุณแม่หลังคลอด แก้ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาหัวนมบอดในผู้หญิงอาจเป็นเรื่องเล็ก สำหรับผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ในช่วงให้นมบุตร แต่ในกลุ่มของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องให้นมลูกด้วยตัวเอง ปัญหานี้ย่อมสร้างความกังวลใจให้ไม่น้อยทีเดียว ว่าแต่อยากรู้หรือไม่ว่าหัวนมบอดคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้เจ้าตัวน้อยสามารถดูดนมแม่ได้ตามปกติ หากพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย

หัวนมบอด คืออะไร
โดยปกติแล้ว หน้าอกของคนเราจะประกอบไปด้วยเต้านม ลานนม และหัวนม ซึ่งหากหัวนมมีลักษณะยุบหรือบุ๋มลงไป อาการเช่นนี้เราจะเรียกกันว่า “หัวนมบอด” นั่นเอง โดยลักษณะของหัวนมบอดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง แต่ส่วนมากมักพบตั้งแต่กำเนิด ซึ่งสาเหตุของการเกิดลักษณะหัวนมบอดคือ โครงสร้างฐานหัวนมที่น้อยเกินไป ท่อน้ำนมภายในสั้นกว่าปกติ รวมทั้งอาจเกิดจากพังผืดด้านในที่ยึดรั้ง ทำให้หัวนมหดกลับเข้าไปยังด้านใน


ลักษณะของหัวนมบอด

1.หัวนมบอดขั้นต้น คือ ลักษณะที่หัวนมยุบเข้าไปเพียงเล็กน้อย แต่ยังสามารถใช้มือดึงออกมาได้ หรือบางครั้งเมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้น เช่น การดูด อากาศหนาวเย็น เป็นต้น ก็จะทำให้หัวนมยื่นออกมาได้เอง ลักษณะหัวนมแบบนี้จะยังสามารถให้นมบุตรได้ ในส่วนของวิธีปรับแก้คือ จะต้องหมั่นดึงหัวนมออกมาบ่อยๆ

2.หัวนมบอดชั้นกลาง คือ ลักษณะที่หัวนมบุ๋มลงไป ดึงออกมาได้แต่ค่อนข้างลำบาก หรือสามารถโผล่ออกมาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ลักษณะหัวนมแบบนี้คุณแม่บางคนสามารถให้นมและเลี้ยงลูกได้ตามปกติ แต่ในคนที่มีปัญหาที่ท่อน้ำนมอาจจะต้องใช้อุปกรณ์แก้ไขหัวนมบอดเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง

3.หัวนมบอดขั้นรุนแรง คือ ลักษณะที่หัวนมยุบตัวลงไปอย่างถาวร ไม่สามารถดึงขึ้นมาได้ สาเหตุของอาการนี้คือ ท่อน้ำนมเกิดการรั้งตัวขดอยู่ด้านใน ทำให้คุณแม่ที่มีหัวนมบอดลักษณะนี้ จะไม่สามารถให้นมบุตรได้ แต่ยังสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัด

ปัญหาหัวนมบอดในคุณแม่
คุณแม่มือใหม่บางคนมีความกังวลและไม่มั่นใจว่าตนเองหัวนมบอดหรือไม่ วิธีการตรวจสอบง่ายๆ คือ ลองใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบหัวนมออกมา ถ้าหากหัวนมสามารถโผล่ขึ้นมาแสดงว่าหัวนมเป็นปกติ แต่หากไม่ยื่นออกมา จะเรียกว่าหัวนมแบน และถ้าหดกลับเข้าไปด้านใน ก็จะเรียกว่าหัวนมบอด

อย่างไรก็ตาม หัวนมบอดก็ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงแต่อย่างใด เรายังสามารถใช้อุปกรณ์และวิธีทางการแพทย์เข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขได้ ซึ่งคุณแม่จะยังสามารถเลี้ยงลูกได้ตามปกติ เพราะปัญหาของหัวนมทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดปกติภายนอก ไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณการของน้ำนมแต่อย่างใด


วิธีแก้ไขหัวนมบอด

1.วิธีจิ้ม กด แยก เริ่มจากใช้นิ้วชี้ทั้ง 2 ข้างแตะด้านข้างหัวนม จากนั้นกดนิ้วทั้ง 2 ลงไป แล้วดึงแยกหัวนมออกด้านข้าง แล้วปล่อยกลับไปที่เดิม ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง

2.วิธีบีบ ดึง ปล่อย ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบบริเวณหัวนมไว้ จากนั้นดึงหัวนมขึ้นมาเบาๆ ทำติดต่อกัน 2-3 ครั้ง

3.หมั่นดึงขณะอาบน้ำ วิธีการที่ 2 สามารถทำได้ขณะอาบน้ำ และหมั่นทำเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยลดการสร้างพังผืดที่ดึงรั้งหัวนมอยู่

4.บีบเต้านม เพื่อกระตุ้นการสร้างหัวนม วิธีนี้เริ่มแรกให้บีบเต้านมทั้ง 2 ข้างเข้าไปหากันตรงกลาง จากนั้นใช้นิ้วมือคีบหัวนมขึ้นมา ให้ทำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 20 ครั้ง จะช่วยทำให้หัวนมที่บอดโผล่ขึ้นมาได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ต้องใช้เวลานานพอสมควร

5.กระตุ้นหัวนม วิธีนี้จะใช้นิ้วมือทั้ง 2 นิ้วจับบริเวณหัวนมแล้วหมุนไปด้านซ้ายขวาเบา ติดต่อกันนาน 30 วินาที สำหรับคุณแม่ที่กำลังจะให้นมบุตร หลังจากทำวิธีนี้เสร็จ ให้น้ำผ้าเย็นมาวางไว้ที่เต้านมเพื่อกระตุ้นให้หัวนมโผล่ออกมา

6.ใช้ที่ปลั๊กนม การใช้ที่ปั๊มนมเป็นวิธีการที่ให้แรงดึงเข้าไปจากตรงกลางของหัวนม สามารถช่วยสลายพังผืดที่ดึงรั้งหัวนมได้

7.ใช้อุปกรณ์กดลานนม หรือก็คือ ปทุมแก้วซึ่งมีลักษณะเป็นพลาสติก 2 ชั้น เป็นวงกลมมีรูตรงกลาง อุปกรณ์นี้จะช่วยนวดผิวบริเวณเต้านมเพื่อเพิ่มความอ่อนนุ่มให้ลานนม ทำให้หัวนมโผล่ออกมาได้ง่ายขึ้น

ปัญหาหัวนมบอด ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายจึงอย่าได้กังวลใจไปและมั่นใจได้เลยว่าลูกน้อยของคุณจะได้รับน้ำนมของคุณในปริมาณที่เพียงพอ ถือแม้ว่าคุณแม่จะมีปัญหาหัวนมบอดก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook