เมนูอาหารสำหรับลูกน้อย "โจ๊กมรกตไข่แดง" ทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มๆ

เมนูอาหารสำหรับลูกน้อย "โจ๊กมรกตไข่แดง" ทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มๆ

เมนูอาหารสำหรับลูกน้อย "โจ๊กมรกตไข่แดง" ทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณแม่มือใหม่คนไหนที่กำลังมองหา เมนูอาหารเพื่อลูกน้อยวัยหกเดือน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการหัดทานอาหาร และยังไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ดี คุณแม่ ปอม-รัตมา พงศ์พนรัตน์ พรชำนิ ขอแนะนำเมนู โจ๊กมรกตไข่แดง ที่แตกต่างจากโจ๊กแบบเดิมๆ ที่เรารู้จักกัน เพราะ เมนูนี้เต็มไปด้วยประโยชน์จากธาตุเหล็ก และสารอาหารต่างๆ ที่จะช่วยให้ลูกแข็งแรง และยังอร่อยด้วยฝีมือคุณแม่เองอีกด้วย แต่ก่อนที่เราจะพาไปดูวิธีทำอาหารนั้น มาดูประโยชน์ของธาตุเหล็กกับเด็กว่ามีความสำคัญอย่างไร เพราะอะไรลูกน้อยของเราต้องทาน ตามมาดูกันค่ะ

ธาตุเหล็กกับเด็กที่ไม่อยากอาหาร

เมื่อลูกน้อยของเราอายุครบหกเดือน สารอาหารที่ได้จากน้ำนมแม่เริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายลูกน้อยที่กำลังพัฒนาขึ้นตามวัย ธาตุเหล็ก เป็นอีกสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับเด็ก 6-12 เดือน ในการสร้างเจ้าฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากเด็กวัยนี้ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวน้องจะเพิ่มช้า เพราะน้องจะไม่ค่อยมีความอยากในการทานอาหาร ตัวจะเริ่มซีด อารมณ์หงุดหงิดง่ายอารมณ์หงุดหงิดง่าย[1]  แล้วยังส่งผลต่อการเรียนรู้ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย อ่านมาถึงตรงนี้คุณแม่หลายคนคงต้องกลับไปเช็กแล้วละค่ะว่าเวลาที่ลูกน้อยเราไม่ยอมทานอาหาร เจ้าหนูได้รับธาตุเหล็กพอหรือไม่

สำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย[2] ได้กำหนดการให้ธาตุเหล็กอยู่ที่วันละ 9.3 มิลลิกรัม ต่อวัน คงเป็นเพราะปริมาณที่มากอย่างนี้เองที่ป้าหมอถึงว่าการรับประทานอาหารอย่างเดียวอาจไม่พอ ถึงแม้จะให้น้องทานอาหารที่มีธาตุเหล็กทุกมื้อ ริมาจึงทานธาตุเหล็กเสริมควบคู่ไปด้วยตั้งแต่ริมาอายุ 6 เดือน  แหล่งอาหารธาตุเหล็กแบ่งออกเป็นสองประเภทคือที่มาจากสัตว์ (Heme Iron) เช่น สัตว์เนื้อแดง ไข่ ตับหมู และธาตุเหล็กที่มาจากไข่และผลิตภัณฑ์นม พืชผัก ผลไม้และถั่ว (Non Heme Iron) เช่น ผักโขม ปวยเล้ง ตำลึง ข้าวโอ๊ต ถั่วลูกไก่ ถั่วแดง เลนทิล บีทรูท ลูกเกด  พรูนเป็นต้น ดิฉันเริ่มให้ริมาทาน Non Heme Iron ไปก่อนสักเดือน ให้ปรับกระเพาะให้คุ้นเคยกับอาหารก่อน แล้วค่อยมาให้เนื้อสัตว์อย่างปลาในเดือนที่เจ็ด แต่ในหนังสือญี่ปุ่นหลายๆ เล่มก็จะให้เด็กทานปลาเนื้อขาว ปลาชิราสึ (ปลาเล็กปลาน้อย) กันเลยทีเดียวตั้งแต่ต้น อันนี้ก็แล้วแต่คุณแม่เลยค่ะ

ธาตุเหล็กต้องทานคู่กับวิตามินซี ถึงจะดูดซึมได้ดี

ธาตุเหล็กดูดซึมได้ดีในภาวะที่น้ำย่อยอาหารมีความเป็นกรดอยู่ จึงควรทานควบคู่กับวิตามินซี (Ascorbic Acid) เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมให้ดียิ่งขึ้น พอพูดถึงวิตามินซี แหล่งที่มาก็คงเป็นผลไม้ที่รสเปรี้ยวอย่างส้ม มะนาว เลมอน  มะเขือเทศ แต่สำหรับวัยที่เริ่มทานอาหารใหม่ๆ หกถึงแปดเดือน ดิฉันก็ยังไม่ให้ลูกทานของเปรี้ยวมากเกินไปในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้เสาะท้องและท้องเสียได้ ป้าหมอเคยบอกว่าถ้าท้องผูกถึงให้ทานน้ำส้มได้นิดหน่อย แต่ไม่ควรทานเป็นประจำเพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แถมยังไปแทนที่อาหารสำคัญอย่างอื่นที่ร่างกายเราต้องทานอีก ดิฉันจึงเลือกผักผลไม้ที่ไม่ออกรสเปรี้ยวโดดแทนค่ะ เช่น พริกหวานสีเหลือง สีแดง บร็อคโคลี่ คะน้า กีวี ฃ แอปเปิล  มะละกอ ส้มโอ ดอกกะหล่ำ ฝรั่ง เป็นต้น ดังนั้น เวลาจะบำรุงธาตุเหล็กให้หนูน้อย ก็อย่าลืมจับคู่กับวิตามินซีในมื้อเดียวกันด้วยนะคะ เพื่อให้ลูกน้อยเราได้รับประโยชน์สูงสุด มีข้อแม้นิดนึงค่ะ

เวลาทานธาตุเหล็ก ไม่ควรทานคู่กับแคลเซียมอย่างนมวัวในมื้อเดียวกันนะคะ เพราะแคลเซียมจะหยุดการดูดซึมของธาตุเหล็กค่ะ วันนี้ดิฉันลองเลือกแหล่งอาหารที่ริมารับประทานซึ่งเหมาะกับเด็กวัย 6-8 เดือน มาให้คุณแม่ลองจับคู่ไปปรุงดูนะคะ แนะนำพิมพ์ติดฝาประตูตู้เย็นเลยค่ะ จะได้เป็นประโยชน์ในการทำอาหารมื้อต่อๆ ไปของเจ้าหนูค่ะ

เมนูโจ๊กมรกตกับไข่แดง

เครื่องปรุง

ผักปวยเล้งนึ่ง                 2  ช้อนโต๊ะ
บร็อคโคลี่นึ่ง                  2  ช้อนโต๊ะ
ฟักทองนึ่ง                     2  ช้อนโต๊ะ
น้ำต้มสุก                       2 ช้อนโต๊ะ
ข้าวคั่วตุ๋นที่แช่แข็งไว้       2 ออนซ์
ไข่ต้มเอาแต่ไข่แดง         1 ใบ


วันนี้เป็นการจับคู่วิตามิซีกับธาตุเหล็กให้เป็นตัวอย่างค่ะ ธาตุเหล็กเราได้จากข้าวคั่วตุ๋น ผักโขม และไข่แดง ส่วนพี่บร็อคโคลี่จะเป็นวิตามินซีช่วยในการดูดซับเหล็ก ความจริงเครื่องปรุงที่ให้มีอยู่ก็พอแล้ว แต่ดิฉันเพิ่มฟักทองที่มีประโยชน์มากมายอย่างวิตามินเอแถมไปด้วย เพราะความหวานของฟักทองนอกจากจะทำให้โจ๊กของเรานัวขึ้น รสหวานยังเป็นรสชาติแรกของทารกที่พอได้รสคุ้นเคย ดิฉันว่าน่าจะช่วยให้น้องทานได้มากขึ้น แนะนำว่าใช้แอปเปิ้ลบดแทนฟักทองก็ได้ค่ะ

สูตรของดิฉันใช้ผักบดด้วยสัดส่วน 1:1 แล้วค่อยมาผสมกับข้าวคั่วตุ๋น เราจะนำผักทั้งหมดไปนึ่งก่อน เลือกวิธีนึ่งเพราะเป็นการปรุงที่ทำให้สารอาหารเสียไปน้อยที่สุด จากนั้นค่อยเอามาสับ ละลายน้ำแข็งข้าวคั่วตุ๋นแล้วตักใส่หม้อด้ามยาว ตามด้วยผักบดและน้ำต้มสุก ตั้งไฟอ่อนคนให้พอเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้เวลาแป๊บเดียว เพราะทุกอย่างสุกหมดแล้ว จากนั้นค่อยยกลงจากไฟ นำไปปั่นอีกเล็กน้อยเพื่อให้เนียน แต่บ้านไหนมีลูกโตด้วย จะแบ่งไว้ทานก่อนนำไปปั่นก็ไม่ว่ากัน ขูดไข่แดงครึ่งใบโรยหน้าเป็นอันเสร็จ

สูตรนี้จะได้โจ๊กทั้งหมด 6 ออนซ์ แบ่งใส่ช่องแข็งทานได้อีก 6 มื้อ อาหารส่วนใหญ่ที่ดิฉันทำ ผู้ใหญ่ก็ทานได้นะคะ อาจจะเพิ่มความกรูเม่โดยเปลี่ยนไข่แดงต้มเป็นไข่แดงดองเค็มขูด หรือจะยำผักกาดดองซอยเต๋าเบาๆ โรยหน้า ก็น่าจะถูกปากกันทั้งครอบครัวค่ะ ลองดูค่ะ

ขอให้สนุกกับการทำและการทานนะคะ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าค่ะ

ติดตามเมนูที่มีประโยชน์ไม่เหมือนใคร ได้ที่ @rimas_recipes

อ้างอิงและแนะนำหนังสืออ่านเข้าใจง่ายและมีประโยชน์มากค่ะ

Porto, Anthony F., and Dina  M. DiMaggio, The Pediatrician’s guide to Feeding Babies & Toddlers, Ten Speed Press, New York, 2016.

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2528681/ ,https://is.gd/LvXR3Y

>> เมนูอาหารลูกน้อย "ข้าวคั่วตุ๋น" เต็มไปด้วยประโยชน์ที่ลูกน้อยต้องการ

>> เมนูอาหารลูกน้อย ไม่ใช่เรื่องยาก! "รัตมา พงศ์พนรัตน์" แนะนำสูตรอาหารเด็กทำง่าย ได้ประโยชน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook