วิทยาศาสตร์กับความรัก

วิทยาศาสตร์กับความรัก

วิทยาศาสตร์กับความรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชายและหญิงไม่ได้ต่างกันแค่ความสูง หรือจำนวนของกล้ามเนื้อ แต่ในสมองยังมีอีกหลายส่วนที่ต่างกัน เป็นตัวสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ความคิด และนิสัยที่แตกต่างกัน เมื่อวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิวัฒนาการของมนุษย์เพศหญิง และเพศชาย เราลองมาจินตนาการร่วมกันว่าหากเราเป็นมนุษย์ดาวอังคาร เราจะมองพฤติกรรมความรักของชายและหญิงบนโลกอย่างไร

 


เริ่มต้นท้องแม่

เป็นที่รู้กันดีว่าเพศชายมีโครโมโซม xy และหญิงมีโครโมโซม xx แต่เพศก็ยังไม่ใช่การบอกพฤติกรรมที่ดีที่สุด แต่สมองจะมีบางภาวะที่ทำให้เราเกิดเป็นร่างกาย ตอนเริ่มต้นในครรภ์ อวัยวะทุกส่วนจะเป็นกลาง ลักษณะก้อนๆ กลมๆ เพราะยังไม่สามารถระบุเพศได้ แต่ตัวโครโมโซมที่ต้องการให้เป็นเพศชายจะเป็นตัวบอกให้อัณฑะโตแล้วรังไข่สลายไป หากเป็นเพศหญิงรังไข่จะโตและปล่อยให้อัณฑะสลายไป

ซึ่งการสร้างอัณฑะและรังไข่จะเป็นตัวสร้างฮอร์โมนให้กับกระดูก กล้ามเนื้อ ผิวพรรณ เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าตกลงเราจะเป็นเพศชายหรือหญิงกันแน่ มนุษย์จะถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนและสมอง ว่าเราควรจะเป็นชายหรือหญิง แต่พฤติกรรมว่าจะชอบหญิงหรือชายจะเกิดขึ้นหลังคลอดประมาณ 2-3 วัน

 

 

เราควรคู่กับใครดี

มนุษย์จะไม่เลือกผสมพันธุ์จากพันธุกรรมที่ใกล้เคียง เพราะมนุษย์รวมถึงสัตว์ต่างๆ จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันเชื้อโรค (ระบบพันธุกรรมเหล่านี้จะได้มาจากพ่อส่วนหนึ่งและแม่ส่วนหนึ่ง) ดังนั้นถ้ามีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน หรือเป็นพี่น้องมาแต่งงานกัน ภูมิคุ้มกันที่ได้มาก็จะไม่มีกลยุทธ์การต่อสู้กับเชื้อโรคที่หลากหลายได้ 200 กว่าปีก่อน เชื่อว่ามนุษย์มักใช้เหตุและผล และมนุษย์ที่เริ่มต้นเกิดมาบนโลกล้วนเป็นผ้าขาว สามารถขีดเขียนแต่งแต้มเติมสีได้ ถ้าเป็นผู้ชายจับมาเลี้ยงแบบผู้หญิงก็จะเติบโตเป็นผู้หญิง ตรงกันข้ามถ้าเป็นผู้หญิงแล้วเลี้ยงแบบเด็กผู้ชายก็จะเป็นชาย หรือหากคุณต้องการเลือกคู่ คุณต้องเขียนตารางแล้วดูคุณสมบัติว่าต่างฝ่ายจะเข้ากันได้หรือไม่ (แต่ก่อนเชื่อเช่นนั้น)

พอก้าวข้ามมาอีกยุคหนึ่ง ความคิดข้างต้นถูกเปลี่ยนไป เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการที่เราจะรักใครสักคน มันพอจะมีอะไรที่เป็นสัญญาณเตือนได้หรือไม่ ดังนั้นหากเราสังเกตพฤติกรรมการเลือก มนุษย์เราจะคัดเลือกคู่ของตัวเองจากความสวยความหล่อ หรือเรียกได้อีกอย่างว่าหน้าสมมาตร (หน้าทั้งสองฝั่งซ้ายขวาจะเท่ากัน) ร่างกายพยายามสร้างความสมมาตรมาตั้งแต่ในท้องแม่ สมมาตรนี้จะเกิดต่อเมื่อ มีอาหารสมบูรณ์ มีโภชนาการดี เมื่อสมมาตรดี พันธุกรรมก็ดี ดังนั้นเราจะบอกตัวเองได้ว่า หากเราหาคู่ที่มีสมมาตรดี ก็จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดี และมีพันธุกรรมสืบทอดที่ดีต่อไปด้วย

 

 

รักไม่ต้องใช้เหตุผล

ปัจจุบันมีคนกล่าวว่า หากเวลารักกัน เรามักไม่ใช้เหตุผล เวลาเกิดความรักคนส่วนใหญ่จึงมักใช้คำว่า ‘ตกหลุมรัก' หรือความรักจะทำให้เราตาบอด ดังนั้นภาวะทางความรักของมนุษย์จึงแบ่งได้เป็น 3 ช่วง

ช่วงแรก เป็นการรักอย่างหัวปักหัวปำ นอนไม่หลับ ใจเต้นแรง มือไม้สั่น ตื่นเช้ามามีแรงที่จะทำอะไรมากมาย จะเป็นช่วงที่มีพลังพิเศษสูงมาก
ช่วงสอง ช่วงโรแมนติก คิดถึงฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา และหยุดคิดไม่ได้ อาการคล้ายกับคนย้ำคิดย้ำทำ โทรหาแล้วโทรหาอีก เพราะทำไปแล้วมีความสุข ไม่อยากหยุดทำ
ช่วงสาม ช่วงคลั่งไคล้ทางกามารมณ์ ความรู้สึกทางเซ็กส์จึงเกิดขึ้น

 

 

แจกกลิ่นแทนเบอร์

คนเรามีกลิ่นที่สามารถดึงดูดฝ่ายตรงข้ามได้ เคยมีกรณีศึกษาหนึ่ง ให้ผู้ชายใส่เสื้อยืดในช่วงทดลอง ใช้สบู่และยาสระผมที่ไม่มีกลิ่น ใส่เสื้อตัวเดิมทำกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะนอนหรือตอนออกกำลังกาย (ทดลองกับผู้ชาย 10 คน และหญิง 10 คน) เอาเสื้อใส่ขวดโหลแล้วเขียนเบอร์ไว้ พอถึงเวลาก็ให้แต่ละฝ่ายมาดมว่ากลิ่นไหนที่ตัวเองชอบ และไม่ชอบ รวมถึงการเจาะเลือดดูพันธุกรรมของแต่ละคน เพื่อวัดค่าความห่างของพันธุกรรมของแต่ละฝ่าย

หลังจากการทดลองผ่านไป บางคนดมแล้วรู้สึกดี แต่บางคนดมเสื้อตัวเดียวกันกลับรู้สึกเหม็น แม้กลิ่นที่ติดเสื้อจะไม่ใช่ของเหม็นแต่มันคือกลิ่นที่ดึงดูด ภรรยาบางคนนอนอยู่บนเตียงเดียวกันกับสามี แต่ทันใดที่สามีลุกไปอาบน้ำ ภรรยาจะก้มไปดมหมอนของสามีมากกว่าที่อยากจะเข้าไปหอมแก้มสามี เพราะกลิ่นที่อยู่ติดหมอน ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น รีแล็กซ์ และมีความสุขกว่า 7,000 ล้านคนทั่วโลก แต่ละคนจะมีกลิ่นที่แตกต่าง แล้วกลิ่นของคุณไปโดนใจใครบ้างหรือยัง

 

 

เกิดอารมณ์

เคยสังเกตไหมว่า เวลาที่ใครป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง หรืออะไรที่ไปกระทบกระเทือบกับสมองส่วนหน้า เช่นการผ่าตัด ซึ่งสมองส่วนนี้สามารถทำให้คนชั่วกลายเป็นคนดีเพียงช่วงข้ามคืน หรือมีนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิมหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเป็นเช่นนั้นการทดลองพฤติกรรมความรักกับสมองจึงเกิดขึ้น มีคนทำการศึกษาทดลองเรื่องความรักกับสมองของมนุษย์ ด้วยเครื่องสแกนสมอง ในลักษณะแบบ real-time เพื่อต้องการทราบว่ามีสมองส่วนไหนทำงานบ้าง ในช่วงที่มนุษย์คิดแต่เรื่องความรัก


นักวิจัยจึงนำกลุ่มคนทดลองเข้าไปในเครื่องสแกน (ใช้นักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังมีความรัก ในระยะเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน) ให้กลุ่มทดลอง ดูรูปธรรมชาติ สลับกับดูรูปคนรัก นึกถึงเหตุการณ์ความรัก คิดเรื่องเพศ บางเคสก็ให้แฟนเข้าไปกระตุ้นทางเพศ เพื่อต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมอง

ย้อนกลับมาที่การทดลอง เมื่อสแกนสมองกลุ่มทดลองความรัก เราพบว่าเวลาคนเรามีความรัก ช่วงแรกเหมือนคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ สมองทำงานเหมือนคนกำลังเสพโคเคน มีอาการเคลิ้ม เพ้อฝัน คล้ายลักษณะสมองของคนติดยาเสพติด เป็นลักษณะเดียวกันกับสมองของคนที่เพิ่งเกิดความรัก อย่างเช่นตอนอะดรีนาลีนหลั่งเวลาเราเล่นเครื่องเล่นที่มันตื่นเต้น ดังนั้นเมื่อสมองมีการตอบสนองกับความรัก จึงทำให้เราติดกับดัก เวลาที่เราอกหักหรือเลิกกัน จึงส่งผลกับอาการทางกายค่อนข้างรุนแรง

 

 

โปรโมชั่นหมด

ระยะความตื่นเต้นแต่ละคนจะไม่เท่ากัน อย่างที่เขาเคยบอกกันว่า 4 ปีอาถรรพณ์ เลข 7 อาถรรพณ์ แต่สรุปแล้วคนส่วนใหญ่ทุกเชื้อชาติทุกวัฒนธรรมพอได้ระยะ 4 ปี ทุกอย่างจะจางลง อาจไม่ได้แปลว่าต้องเลิกกัน แต่พอ 4 ปีจะเป็นจุดหนึ่งที่ฮอร์โมนเริ่มเจือจาง เมื่อความรักเกิดขึ้นจากสมอง จึงเป็นเรื่องของการหลั่งสารเคมี ดังนั้นวิธีทำให้การผลิตสารเคมีอย่างเช่นความรักในช่วงแรกยังคงอยู่ อาจจะต้องมีการชวนกันไปฮันนีมูนกันรอบสอง ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์ที่ดีเหล่านี้ยังอยู่ ต้องลงทุนเติมเต็มสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต

 

 

SEX บอกสัมพันธ์

ชายและหญิง สามารถหลั่งฮอร์โมนแห่งความผูกพันที่เรียกว่า อ๊อกซิโตซิน (oxytocin) หลังจากที่ทั้งคู่ทำการบ้านจนเสร็จภารกิจ ผู้หญิงมักอยากให้ผู้ชายกอด เพราะช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ต้องการความอบอุ่นเป็นพิเศษ ฮอร์โมนอ๊อกซิโตซินจะหลั่งออกมาเยอะ เวลาที่กอด ลูบ จุมพิต สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความผูกพัน หากเราสร้างฮอร์โมนอ๊อกซิโตซินบ่อยๆความผูกพันก็สามารถเกิดได้ในระยะยาว ฉะนั้น Sex จึงเป็นเรื่องการสร้างสัมพันธ์ในระยะยาว และสำคัญกับชีวิตคู่มาก หากคุณขาดอ๊อกซิโตซิน ความผูกพันก็จะไม่เกิด

หลายคนที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศเสื่อม คุณจึงพึงระวัง เพราะนี่เป็นสัญญาณเริ่มต้นแรกของปัญหาที่เกี่ยวกับระบบของเส้นประสาท ดังนั้นต้องหาวิธีแก้ปัญหา และจงมองเรื่องนี้ให้เป็นปัญหา เพราะความสัมพันธ์ทางเพศเป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตคู่อยู่ได้นาน หากเราปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญ อาจส่งผลต่อชีวิตคู่ในระยะยาวได้

หมายเหตุ : เนื่องจากโลกของเรามีความหลากหลายทางชีวภาพ ในบางหลักการหญิงชายอาจมีความต่าง แต่เนื้อหาข้างต้นอ้างอิงโดยใช้บรรทัดฐานจากผู้ชายส่วนใหญ่ และผู้หญิงส่วนใหญ่เท่านั้น


เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพประกอบ : Noyna
ขอบคุณข้อมูล  : นายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียนหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากร่างกาย' และ ‘เหตุผลของธรรมชาติ'

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook