สืบสานงานประเพณี ปอยเหลินสิบเอ็ด
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/tr/0/ud/185/926998/01.jpgสืบสานงานประเพณี ปอยเหลินสิบเอ็ด

    สืบสานงานประเพณี ปอยเหลินสิบเอ็ด

    2010-09-30T10:17:55+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอนขอเชิญร่วมสืบสานงานประเพณี "ปอยเหลินสิบเอ็ด" ออกพรรษาไทยใหญ่ ประจำปี 2553

    เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนต่างๆในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จัดงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด (ประเพณีออกพรรษาไทยใหญ่) ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 19 - 31 ตุลาคม 2553 ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โดยงานประเพณีดังกล่าวเป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนา ในปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง

    นายอนันต์ สีแดง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า "งานประเพณีปอยเหลิน สิบเอ็ด" เป็นกิจกรรมที่ ททท. คัดเลือกให้อยู่ในโครงการ "12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน มหัศจรรย์เมืองไทยต้องไปสัมผัส" จัดขึ้นในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนทุกๆ ปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ในปีนี้ ตรงกับ วันที่ 19 - 31 ตุลาคม 2553 โดยความเชื่อของชาวไทยใหญ่ก่อนถึงวันงานจะมีการจัดเตรียมสร้างปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่างๆ หน่อกล้วย อ้อยและโคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงาม เรียกว่า "จองพารา" เพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากนั้นก็จะยก "จองพารา" ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด

    โดยในช่วงเย็นวันที่ 21 ตุลาคม 2553 จะมีการแห่ขบวนจองพาราของแต่ละหมู่บ้านในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมขบวนฟ้อนรำตั้งแต่บริเวณสะพานหน้าโรงแรมรุคส์ฮอลิเดย์ถึงบริเวณถนนสิงหนาทบำรุง ในตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (23 ตุลาคม 2553) อันเป็นวันออกพรรษาตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนชาวไทยใหญ่ จะพร้อมใจกันตักบาตรเทโวโรหนะ บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู พระภิกษุ สามเณรและประชาชนนับร้อยนับพันจะเรียงรายสองข้างทางบันไดนาค เพื่อทำบุญตักบาตร เรื่อยลงมาจนถึงวัดม่วยต่อซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา

    ส่วนในตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียนและขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ก่อนย่ำรุ่งของวันแรม 1 ค่ำ จะมีพิธี "ซอมต่อ" คือการอุทิศเครื่องเซ่นแก่สิ่งที่ชาวไตถือว่ามีบุญคุณในการดำเนินชีวิต โดยนำกระทงอาหารเล็กๆ ที่จุดเทียนติดไว้ด้วยไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ แสงประทีปนับร้อยนับพันดวงตามวัด สถูปและบ้านเรือน ตลอดระยะเวลาของการจัดงานตั้งแต่แรม 1 ค่ำไปจนถึงแรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราวันละครั้ง และจุดเทียนหรือประทีป โคมไฟไว้ตลอดในช่วงเวลาตลอดเทศกาล จะมีการละเล่นเฉลิมฉลองหลายชนิด เช่น ฟ้อนโต ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ ฟ้อนก้าแลว(ฟ้อนดาบ) ฯลฯ

    ก่อนจะถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีพิธี "หลู่เตนเหง" คือ การถวายเทียนพันเล่ม โดยแห่ต้นเทียนไปถวายที่วัด และใน "วันก๋อยจ๊อด" คือวันแรม 8 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลออกพรรษา จะมีพิธี "ถวายไม้เกี๊ยะ" โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ(สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูง แล้วนำเข้าขบวนแห่ประกอบด้วย ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไต

    การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน ขอเชิญชวนท่านเดินทางเที่ยว งานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด ประจำปี 2553 (ออกพรรษาไทยใหญ่) ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โทร.0-5361-2016 สำนักงานเทศบาลตำบลแม่สะเรียง โทร 0-5368-1231 และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3 หรือค้นหาข้อมูลได้ที่ www.travelmaehongson.org

    กำหนดการจัดงานปอยเหลินสิบเอ็ด (ออกพรรษาไทยใหญ่) ประจำปี 2553

    วันที่ 19 ตุลาคม 2553

    - พิธีเปิดงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด บริเวณถนนพาณิชย์วัฒนา (ตลาดสดแม่ฮ่องสอน)- การประกวดรำไต, การประกวดมองกาก

    วันที่ 20 ตุลาคม 2553

    - การประกวดก้าแลว (การ่ายรำที่มีดาบเป็นอุปกรณ์ มีลีลาอ่อนช้อย นิ่มนวล) รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี / ประชาชนทั่วไป บริเวณถนนพาณิชย์วัฒนา (ตลาดสดแม่ฮ่องสอน)- การประกวดก้าลาย (การฟ้อนรำที่ประยุกต์มาจากลีลาการต่อสู้ด้วยมือเปล่า)

    วันที่ 21 ตุลาคม 2553

    - การแห่จองพารา / การประกวดจองพาราและขบวนแห่ฯ บริเวณสะพานหน้าโรงแรมรุคส์ฮอลิเดย์- การประกวดกลองมองเซิง (รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี / ประชาชนทั่วไป)- การประกวดกลองก้นยาว (รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี / ประชาชนทั่วไป)- การประกวดชุดไตชาย / หญิงวันที่

    23 ตุลาคม 2553

    - การตักบาตรเทโวโรหนะ บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู- การประกวดจองพาราประดับหน้าบ้าน

    วันที่ 31 ตุลาคม 2553

    (วันก๋อยจ๊อด) วันปิดเทศกาล

    - (เช้า) พิธีขอขมาพระสงฆ์ (วัดหัวเวียง)- (ค่ำ) การประกวดฟ้อนรูปสัตว์, การแห่ต้นเกี๊ยะ, การสาธิตอาหารและขนมไทยใหญ่ บริเวณสวนสาธารณะจองคำ