ไหว้พระ 9 วัด เสริมอำนาจบารมี ที่อำนาจเจริญ
"จังหวัดอำนาจเจริญ"...เป็นจังหวัดที่มีทุนทางวัฒนธรรมมากมายหลากหลาย ทั้งที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองงิ้ว แหล่งโบราณคดีตำบลเปือย แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง แหล่งโบราณคดีบ้านดงเฒ่าเก่า มรดกทางศิลปะที่สำคัญ เช่น พระเหลาเทพนิมิต พระเจ้าใหญ่ลือชัย พระเจ้าใหญ่ศรีเจริญ พระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย โบราณสถาน เช่น สิมเก่าหรือโบสถ์เก่าวัดราสิยาราม วัดศรีโพธิ์ชัย วัดพันธุเวสน์ ศาลาไม้วัดโพธาราม รวมไปถึงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าตามวัดต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สมควรได้รับการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดและเผยแพร่ เช่น ศิลปะการแสดงหมอลำ ซึ่งมีทั้งประเภทลำกลอน ลำเรื่องต่อกลอน ลำผู้ไท ลำยาว การแสดงกลองยาว การแสดงรำเซิ้งต่างๆ แบบแผนการดำเนินชีวิตความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ภาษาถิ่น พิธีกรรม ประเพณีฮีตสิบสอง งานช่างฝีมือสาขาต่างๆ รวมถึงเรื่องเล่าความเป็นมาของชุมชน ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตและได้มีการสืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
จากความสำคัญดังกล่าว จังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้ดำเนินโครงการ ไหว้พระ ๙ วัด เสริมอำนาจบารมี ที่อำนาจเจริญ ขึ้น และถือโอกาสอันสำคัญนี้ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ทั้งในจังหวัดอำนาจเจริญ และต่างจังหวัด ได้มากราบไหว้ขอพร พุทธสถานและพระพุทธรูปที่สำคัญ ๙ วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล และเสริมอำนาจบารมีแก่ตนและบุคคลในครอบครัว อีกทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ และเสริมสร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่ประชาชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญ กระตุ้นให้เกิดการสร้างอาชีพเสริมรายได้แก่ประชาชนต่อไป
๑. พระมงคลมิ่งเมือง
ประดิษฐานอยู่ในบริเวณพุทธอุทยาน ถนนชยางกูร ตำบลบุ่ง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ มีพุทธลักษณะตามอิทธิพลของศิลปะอินเดียเหนือ แคว้นปาละ หน้าตัก กว้าง ๑๑ เมตร ส่วนสูงวัดจากพื้นดินถึงยอดเปลว ๒o เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวนอกฉาบปูนบุด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง ก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕o๖ แล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕o๘ จัดทำพิธีพุทธาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕o๘
ความเชื่อและศรัทธา
พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุ ที่ได้รับมาจากประเทศอินเดียไว้ที่องค์พระ และล่ำลือกันว่าใครที่ได้มากราบไหว้ขอพรพระมิ่งมงคลเมือง ซึ่งถือเสมือนการได้ไปกราบไหว้พระสารีริกธาตุที่ประเทศอินเดีย เป็นการเสริมมงคลแก่ชีวิต มีความเจริญก้าวหน้า มีอำนาจวาสนา และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นหลักชัยในบ้านเมือง
๒. พระสังกัจจายน์
พระสังกัจจายน์ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร วัดสำราญนิเวศ อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ หน้าตักกว้าง ๖ เมตร สูง ๑o เมตร โครงสร้างคอนกรีต เสริมเหล็ก ผิวนอกฉาบปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระสังกัจจายน์เป็นปางพระโพธิสัตว์ของ พระศรีอริยเมตตรัย ลงมาจุติ ประกาศพระสัจจะธรรมในพระพุทธศาสนาต่อจากพระศากยมุนี หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งมีศรีสุข ความอุดมสมบูรณ์
ความเชื่อและศรัทธา
เชื่อกันว่าผู้ที่ได้มากราบไหว้บูชาพระสังกัจจายน์ เป็นการสั่งสมปัญญาบารมี มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและพบพระพุทธศาสนาในยุคพระศรีอริยเมตตรัย
๓. พระเจ้าใหญ่พระศรีเจริญ
ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถพระศรีเจริญ ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีพุทธลักษณะแบบศิลปะล้านช้าง ปางมารวิชัย หล่อด้วยปูน ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๓o เมตร ส่วนสูงจากพระชงฆ์ ถึงยอดพระเกศ ๒ เมตร สร้างมาประมาณ ๗๕o ปี เคยปรากฏอภินิหารเกิดขึ้นให้เห็นหลายครั้ง คือ มีประกายรัศมีออกจากองค์พระเป็นแสงสุกใสล่องลอยไปที่โคนต้นโพธิ์ด้านหน้าอุโบสถ
ความเชื่อและความศรัทธา
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าใหญ่ศรีเจริญเป็นที่เลื่องลือถึงความแคล้วคลาดใครที่ได้มากราบไหว้ขอพรหรือมีพระเครื่องพระเจ้าใหญ่ศรีเจริญ จะเดินทางไปมาค้าขายแคล้วคลาดปลอดภัย ในอดีตมีทหารที่เดินทางไปสู้รบในสงครามนำพระเครื่องพระเจ้าใหญ่ศรีเจริญติดตัวไปด้วย และรอดชีวิตกลับมาทุกคน จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานมาจนปัจจุบัน
๔. วิหารหลวงปู่ขาว อนาลโย
วิหารหลวงปู่ขาว อนาลโย ตั้งอยู่ที่วัดบ่อชะเนง อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ศึกษาอบรมปฏิบัติธรรมกับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตลอดชีวิตในเพศบรรพชิต ท่านได้อุทิศชีวิตไปในการศึกษาและปฏิบัตธรรมอย่างมุ่งมั่น เดินธุดงค์จำพรรษาตามป่าเขา เผชิญกับอุปสรรคมากมายอย่างไม่สะทกสะท้าน จนภูมิธรรมเต็มจิตใจหมดความสงสัยในธรรมอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านในเขตอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ร่วมกันก่อสร้างวิหารและรูปเหมือนของหลวงปู่ เพื่อเป็นอุเทสิกเจดีย์ แห่งความดีงามให้ชนรุ่นหลังได้กราบไหว้และศึกษาถึงวัตรปฏิบัติที่งดงาม
ความเชื่อและความศรัทธา
เชื่อกันว่าใครที่ได้มากราบไหว้รูปเหมือนหลวงปู่ขาว อนาลโย จะทำให้สิ้นทุกข์ สิ้นภัย จิตใจผ่องใส สติปัญญาเฉียบแหลม
๕. พระเจ้าใหญ่ลือชัย
พระเจ้าใหญ่ลือชัย หรือ พระฤทธิ์ลือชัย ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ วัดอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ก่อด้วยอิฐ ถือปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะแบบศิลปะล้านช้าง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔o๔ ด้วยบริเวณวัดอำนาจ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าใหญ่ลือชัยนั้น มีลักษณะเป็นชุมชนเก่าแก่ และเป็นที่ตั้งเมืองอำนาจเจริญมาก่อน จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ ของพระเจ้าใหญ่ลือชัยมากมาย จากผู้คนที่มากราบไหว้บูชาแล้วประสบความเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงเลื่องลือ
ความเชื่อและศรัทธา
คนโบราณเล่าลือกันว่าใครที่ได้มากราบไหว้ขอพรจะได้รับความสำเร็จ ได้รับชัยชนะจากศัตรูหมู่มารมีอำนาจบารมีเป็นที่ยำเกรง ชีวิตผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคนานาประการได้อย่างน่าอัศจรรย์
๖. พระเหลาเทพนิมิต
พระเหลาเทพนิมิต ประดิษฐานในอุโบสถวัดพระเหลาเทพนิมิต ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยในสกุลศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทน์ หล่อปูนลงรักปิดทอง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๖ กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งในภาคอีสาน ช่างที่สร้างเศียรพระคือ ซาพรหม ซึ่งเชื่อกันว่ามีเทวดาลงมาช่วยในการก่อสร้าง ทำให้องค์พระมีความงดงาม กลมกลึงประดุจการหล่อเหลาด้วยมือของเทวดา
ความเชื่อและศรัทธา
มีคำเล่าลือกันว่าทุกคืนวันพระ จะปรากฏลำแสงลอยออกจากอุโบสถในเวลาเงียบสงัด และเชื่อกันว่าใครที่ได้มากราบไหว้พระเหลาเทพนิมิตจะพบแต่ความสุขสบาย เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้บังคับบัญชา มีวาสนาสูงส่ง เป็นที่รักและเคารพนับถือแก่คนทั่วไป
๗. พระศรีโพธิ์ชัย
พระศรีโพธิ์ชัย ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย บ้านปลาค้าว อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ มีพุทธลักษณะแบบลาวล้านช้าง ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทอง สูง ๑.๒o เมตร หน้าตักกว้าง ๑.๕o เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านในเขตตำบลปลาค้าว และประชาชนในจังหวัดอำนาจเจริญเคารพเลื่อมใสมากที่สุดองค์หนึ่ง ในจำนวนพระพุทธรูปเก่าแก่ของจังหวัดอำนาจเจริญ
ความเชื่อและศรัทธา
ชาวอำนาจเจริญเชื่อกันว่าผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนและการงานอาชีพ จะมากราบไหว้ขอพรบอกกล่าวต่อพระศรีโพธิ์ชัย และสมความมุ่งหวังทุกราย
เดิมวัดศรีโพธิ์ชัย จะมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อวัด แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว อุโบสถหรือวิหารที่ประดิษฐานพระศรีโพธิ์ชัย ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ลักษณะของวิหารมีระเบียงรอบและเสาค้ำเป็นซุ้มโค้งล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านข้างอุโบสถ หลังคาเป็นเครื่องไม้เดิม สันนิษฐานว่ามุงด้วยกระเบื้องดินเผา แต่ปัจจุบัน มีสภาพชำรุดและเปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสีแทน ปั้นลมและเชิงชายเป็นไม้แกะสลักและลายฉลุ เหนือประตูทางเข้ามีจารึกเป็นตัวเลขไทย และตัวเลขญวนบอก พ.ศ. ๒๓๗๘ ชาวบ้านทั่วไปเรียก วิหารญวน ภายในวิหารมีโบราณวัตถุล้ำค่า เช่น พระพุทธรูปไม้ ตู้พระไตรปิฎกโฮงฮดไม้แบบโบราณ เป็นต้น
๘. พระธาตุนาป่าแซง
พระธาตุใหญ่นาป่าแซง ตั้งอยู่ที่วัดสุทธิกาวาส ตำบลนาป่าแซง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒o โดยพระครูสุทธิพัฒนาภรณ์ ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้รับพระบรมสารีริกธาตุ ๑๑๓ องค์ ได้บรรจุไว้ ๒ แห่ง คือ ที่ยอดพระธาตุแห่งหนึ่ง และกลางพระธาตุแห่งหนึ่งองค์พระธาตุนาป่าแซง มีความสูงเท่ากับพระธาตุพนมองค์เดิมทุกประการ
ความเชื่อและศรัทธา
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุใหญ่นาป่าแซง มีความเชื่อกันว่าใครที่ได้มากราบไหว้พระธาตุนาป่าแซง เท่ากับการได้กราบไหว้บูชาพระธาตุพนม ซึ่งจะประสบความสำเร็จตามที่ขอ อำนาจบารมีสูงส่ง ผู้คนนับหน้าถือตา เป็นผู้นำแก่บุคคลทั่วไป
๙. พระนอนวัดถ้ำแสงเพชร
ประดิษฐานอยู่ที่วัดถ้ำแสงเพชร ตำบลหนองมะแซว อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นวัดสาขาที่ ๕ ของวัดหนองป่าพงหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินธุดงค์มายังบริเวณถ้ำแสงเพชร และใช้ถ้ำเป็นที่พำนักวิปัสสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ มีความเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
ความเชื่อและศรัทธา
เชื่อกันว่าการได้มากราบไหว้บูชาพระนอนวัดถ้ำแสงเพชร ถือเสมือนเป็นการได้เข้าเฝ้ารับฟังปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพาน ผู้ที่ได้มากราบไหว้บูชาจะอุดมด้วยสติปัญญา มีแต่ความสว่างไสว มีความปลอดภัย ประสบชัยชนะจากหมู่มาร ชีวิตมีแต่ความสงบสุขอย่างแท้จริง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ 045-523085