หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนแรก)

หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนแรก)

หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนแรก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

๑ ...หมู่บ้านแห่งเสียงดนตรี

    หากมีการตั้งคำถาม ว่าเสียงดนตรีพื้นบ้านของภาคไหน (ของไทยเรานะครับไม่นับเร็กเก้ สกา) เร้าใจสนุกสนานมากที่สุด เชื่อว่าภาคอีสานน่าจะถูกโหวตให้ชนะมาแบบไร้คู่แข่ง ก็ได้ยินทีไรใจมันอยากเซิ้ง... เด้อครับพี่น้อง

    บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า เป็นชุมชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน พวกเราได้รับความกรุณาจาก อาจารย์เกษชัย มิ่งวงศ์ธรรม พาเที่ยวชมหมู่บ้าน  เริ่มจากวัดศรีโพธิ์ชัย ภายในวัดนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งโรงเรียนหมอแคน สอนดนตรีพื้นบ้านโดยครูในชุมชน ศูนย์หัตถกรรมผ้าไหม  ซึ่งชาวบ้านท่าเรือมีฝีมือในการทอผ้าอันมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จนได้รับรางวัลจากการส่งผ้าไหมเข้าประกวด ในระดับต่างๆ มากมาย ชื่อของผ้าไหมบ้านท่าเรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว

    เรื่องราวการทำเครื่องดนตรีของบ้านท่าเรือ เริ่มจากนายโลน แสนสุริยวงศ์ และเพื่อนอีก 2 คนคือ นายลอง และ นายไกร แมดมิ่งเหง้า ไปได้วิชาการทำปี่ ทำแคน รวมถึงเครื่องดนตรีอีสานอื่นๆ มาจาก นายเสน พี่ชายของนายโลน ที่บ้านยอดชาติ อ.นาแก จ.นครพนม แล้วนำมาประกอบเป็นอาชีพที่บ้านท่าเรือ จนเป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้าน จึงถ่ายทอดวิชาให้กับลูกหลานๆ ทำต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

    เมื่อออกจากวัดศรีโพธิ์ชัย เข้าซอกนั้นซอยนี้ จะเห็นชาวบ้านแทบทุกครัวเรือน ต่างขะมักเขม้นอยู่กับการทำเครื่องดนตรีทั้ง แคน โหวด พิณ โปงลาง กลองอีสาน ตามความถนัด บ้านทำแคน ทำโหวด ก็จะเห็นไม้ไผ่แคน ซึ่งจะใช้ไม้ซางพืชในตระกูลไผ่ วางพิงอยู่เต็มพื้นที่บ้าน ไม้ไผ่แคนเดิมมีมากในภาคอีสานแต่ปัจจุบันต้องซื้อมาจากประเทศลาว ทางบ้านท่าเรือได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชุมชน เพื่อปลูกไม้ไผ่แคนเชื่อว่าในอนาคตคงมีมากพอ ไม่ต้องซื้อจากที่อื่นเหมือนปัจจุบัน

    พวกเราไปแวะบ้านไหน เจ้าของบ้านมักถูกขอร้องให้วาดลวดลายสักเล็กน้อย แม้แต่คุณตาวัยชรา ยังโชว์ลีลาหมอแคนชั้นเทพให้พวกเราได้ฟัง ม่วนซื่นกันถ้วนหน้า สมกับคำขวัญประจำหมู่บ้านที่ว่า

    “ แคน พิณ โหวด หลากหลาย ผ้าไหมสวยงาม วัฒนธรรมล้ำค่า ภาษาเฉพาะ ไพเราะเสียงดนตรี ”

    บ้านท่าเรือได้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน 1 วัน ติดต่อได้ที่ ศูนย์การเรียนเรียนรู้ชุมชนบ้านท่าเรือ โทร. 08 3563 8009 , 08 0409 4201 และ www.otoptravel.com  หรือที่อาจารย์เกษชัย มิ่งวงศ์ธรรม 08 9618 6001


 

๒ ....ข้าวฮาง

     “ เชิญค่ะ พวกเรากำลังนึ่งข้าวอยู่พอดี ”

    พี่สุพรรณี ร่มเกษ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาบ่อ อ.วาริชภูมิ ออกมาทักทายพวกเรา พร้อมกับกลิ่นไอหอมๆ ของข้าวซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการนึ่งโชยแตะจมูก แรกได้ยินชื่อ “ข้าวฮาง” พวกเราต่างไม่รู้ว่าคือสิ่งใด หลายคนคิดไปว่า คงเป็นอาหารประเภทหนึ่ง หรืออาจเป็นของกินเล่นอย่างข้าวเกรียบว่าว ที่ชาวอีสานเรียกว่าข้าวโป่ง

    คำว่าฮาง คือชื่อของเตาฮาง ซึ่งเป็นเตาในสมัยใหม่ก่อน ที่ขุดเป็นหลุมลงไปในดิน โดยไม่ได้ก่อขึ้นเป็นเตา ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง กระบวนการทำข้าวที่เราทำอยู่นี้ จึงเรียกกันมาแต่โบราณว่าข้าวฮาง จริงๆ แล้วข้าวฮางก็คือข้าวสารที่ผ่านกระบวนการ แช่ นึ่ง ผึ่ง ก่อนนำมาสี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวผู้ไทกระป๋องแต่โบราณ ”

     ผู้ไทหรือภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่รองลงมาจากกลุ่มไทลาว มีการเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาอยู่ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มักเรียกชื่อกลุ่มตามรกรากเดิมเช่น ผู้ไทวัง คือผู้ไทที่อพยพมาจากเวงวัง มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอำเภอพรรณานิคม ผู้ไทกระป๋อง คือผู้ที่อพยพจากเมืองกะปอง มาอยู่แถบอำเภอวาริชภูมิ ฯลฯ

    เรื่องของข้าวฮาง มีตำนานเก่าแก่ของชาวผู้ไทเล่ากันว่า 200 ปีก่อน ท้าวผาอิน จะอพยพมาอยู่ที่บ้านนาบ่อ ขณะนั้นเหลือเวลาราวหนึ่งเดือนกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เกรงว่าลูกหลายคนจะไม่มีข้าวพอกิน จึงเกี่ยวข้าวที่ใกล้สุกมาหมัก แล้วกลายเป็นต้นตำรับของข้าวฮางนับแต่นั้น

    วิธีการทำข้าวฮาง จะนำข้าวเปลือกซึึ่่งได้จากข้าวหอมทองมะลิ 105 ที่เก็บเกี่ยวมาก่อนข้าวจะแก่จัด แต่ยังมีน้ำนมข้าวอยู่ นำมาล้างแล้วแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นนำไปนึ่งในหวดจนข้าวสุก ใช้เวลา 40-60 นาที โดยประมาณ

     เดี๋ยวนี้เราทำเป็นข้าวฮางงอก ส่วนเตาเราสร้างขึ้นมาให้นึ่งข้าวได้ครั้งละ 10 หวด โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง จะได้ความร้อนสม่ำเสมอข้าวสุกพร้อมกัน ไม่เหมือนใช้ฟืน ”  พี่สุพรรณี บอก

    นำข้าวเปลือกที่นึ่งสุกแล้วไปตากแดดประมาณ 3 วัน จนแห้งเหมือนข้าวเปลือกอีกครั้ง เช้าตากเย็นเก็บ เพื่อไม่ให้โดนน้ำค้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความชื้นเวลานำไปสีเม็ดจะแตก ข้าวที่่ผ่านกระบวนการนี้ เมื่อนำไปสี รำข้าวและเส้นใยอาหาร จะยังอยู่ในเม็ดข้าวอย่างสมบูรณ์ เมล็ดจะไม่แตกเมื่อผ่านการหุุง มีสีเหลืองทอง จนเรียกกันว่า “ข้าวทองคำ” ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียก “ข้าวหอมทอง” และทางกลุ่มได้จดสิทธิบัตรทางการค้ากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อ “ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี”

     ข้าวที่ผ่านกระบวนการทำเป็นข้าวฮาง จะคงคุณค่าของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ โดยเฉพาะสาร Gamma Amino Butyric Acid ที่เรียกย่อๆ ว่า GABA (กาบา) ซึงมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต ปริมาณคลอเรสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาทเช่น อัลไซเมอร์ ลมชัก นอนไม่หลับ มีเส้นใยอาหารสูงช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย ฯลฯ

     “ แล้วข้าวเหนียว เอามาทำเป็นข้าวฮางได้หรือเปล่า ” พวกเราตั้งคำถาม

     พี่สุพรรณีบอกว่าทำได้ แต่เวลานึ่งเมล็ดข้าวจะติดกัน มีความลำบากในขั้นตอนการตาก ที่ต้องใช้สองมือยีข้าวเปลือกที่ผ่านการนึ่งแล้วเพื่อไม่ให้ติดกัน นานๆ เข้า เปลือกข้าวจะสีจนมือถลอกถึงเลือดกันเลยทีเดียว จึงไม่นิยมนำข้าวเหนียวมาทำเป็นข้าวฮางในปริมาณมากๆ เพื่อนำไปจำหน่ายอย่างข้าวหอมทอง

    เดิมทีชาวผู้ไททำข้าวฮางกินกันภายในครัวเรือน หรือทำเป็นของฝากส่งไปให้ลูกหลานที่เรียนต่างเมือง ต่อมาเมื่อมีคนรู้จักและได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัด ให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

     “ เราทำเองส่งเอง ในกรุงเทพฯ ลูกค้าที่เราไปส่งมีประมาณ 300 ครัวเรือน ที่เค้าหุงกินเองในบ้าน ลูกค้าต่างประเทศเราก็มีเหมือนกัน ”

     ข้าวฮางบ้านนาบ่อยังส่งไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านเลมอนฟาร์มทุกสาขา ร้านสหกรณ์ของกรมสรรพากร เป็นต้น

     หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามกับคุณสุพรรณี ร่มเกษ ได้โดยตรงที่ โทร. 08 6015 1104 , 08 1772 5269


 

๓ ...ผ้าฝ้ายย้อมคราม

     ภาคอีสานเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มก็จะตั้งชุมชนอยู่กันในเฉพาะหมู่เหล่าของตน มักจะไม่อาศัยปะปนกัน แต่ที่บ้านถ้ำเต่า ต.สามัคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย ชาวไทญ้อและชาวไทลาว ได้อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านาน ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หาได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต แต่กลับยังผสมผสานกันไ้ด้อย่างลงตัว ผ้าฝ้ายย้อมคราม นับเป็นผลผลิตหนึ่งที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ทั้งสอง

     “ สมัยก่อน เราทอผ้าย้อมครามเพื่อนุ่งไปทำนา ชาวบ้านทำเองทุกอย่างตั้งแต่ปลูกฝ้าย ปลูกคราม ตีคราม ทอ ย้อม ” ผู้ใหญ่สมคิด พรมจักร  หญิงสาวร่างใหญ่อารมณ์ดี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่า ซึ่งเป็นทั้งผู้นำหมู่บ้านและผู้นำกลุ่มหัตถกรรมชุมชน ควบสองตำแหน่ง บอกพวกเราด้วยเสียงดังฟังกังวาน เจือสำเนียงอีสานอ่อนๆ แทรกอยู่ในภาษากลาง

     “ บางคำพูดไทยไม่ได้ ก็จะพูดไทยปนลาวเด้อค่ะ ” ผู้ใหญ่สมคิด เว้าซื่อๆ ระคนรอยยิ้ม

     ครามเป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่ว ต้นสูงประมาณ 1 เมตร มีทั้งครามบ้านและครามป่า มักเกิดในที่ชื้นสภาพดินร่วนปนทราย นิยมปลูกโดยการหว่านเมล็ดในช่วงเดือนเมษายน พอเข้าช่วงฤดูฝน 4-5 เดือน ต้นครามจะเจริญเติบโต การเก็บผลผลิต ชาวบ้านจะใช้วิธีสังเกตน้ำค้างที่เกาะใต้ใบคราม จะมีสีอมน้ำเงิน เมื่อเก็บไ้ด้แล้วก็จะนำใบและกิ่งไปหมักในโอ่ง ปล่อยให้ทำปฏิกิริยากับปูนขาวที่ได้จากหินปูนหรือการเผาเปลือกหอยทราย เมื่อได้ที่แล้วก็จะตีคราม แล้วกรองเอาครามเปียกเพื่อนำไปใช้

     ต้นครามภายในหมู่บ้านเป็นสิ่งได้มาจากบรรพบุรุษ ซึ่งนำติดตัวมาจากฝั่งลาว นำมาหว่านเพื่อย้อมผ้าฝ้ายที่ทอใช้กันเอง ใส่ไปทำนาทำไร่ ผู้ใหญ่บอกว่าผ้าครามในสมัยก่อนเป็นผ้าของคนจน

     “ เราไม่ถนัดเรื่องการค้า เพราะดั้งเดิมแต่ละบ้านก็ทอเพื่อใช้เอง ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้ พัฒนาลวดลายเพื่อจำหน่าย แล้วได้ไปออกงานของการท่องเที่ยวฯ ทำให้ผ้าฝ้ายย้อมครามของบ้านถ้ำเต่าเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

     ความพิเศษของผ้าครามคือ มีความนุ่มเนียน ระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วไม่ร้อน สีไม่ตก และจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของครามติดอยู่แม้จะนำไปซักแล้วก็ตาม นอกจากผ้าฝ้ายแล้ว ยังมีผ้าฝ้ายแกมไหม ที่นุ่มลื่นกว่าผ้าฝ้ายเพียงอย่างเดียว ผ้าย้อมครามของบ้านถ้ำเต่า จะไม่ทำสีเข้มทึบทั้งผืน แต่จะทำลายย้อมสีอ่อนๆ เพื่อสลับลงบนผืนผ้าด้วย

     “ ลูกค้าต่างประเทศจะชอบสีอ่อนๆ มากกว่าสีทึบทั้งผืน ” ผ้าฝ้ายย้อมครามบ้านถ้ำเต่า ส่งออกไปจำหน่ายยังหลายประเทศทั้ง อเมริกา, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ รวมถึงส่งครามในลักษณะครามเปียก ออกจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศ แม้กระทั่งชาวลาวในฝั่งจำปาสัก ซึ่งผลิตผ้าย้อมครามด้วยเช่นกัน ยังสั่งครามและฝ้ายจากบ้านถ้ำเต่า

     คนฝั่งลาวเค้าก็ทำฝ้ายย้อมครามเหมือนเรา เพราะเราเป็นญาติกันมีบรรพบุรุษเดียวกัน แต่เราไม่ถือว่าเป็นคู่แข่ง เพราะมีความแตกต่างเรื่องลายผ้า ซึ่งทางเรากับทางเค้าไม่เหมือนกัน ”

    เห็นผ้าย้อมครามมีชื่อเสียงไปทั่ว เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าไม่กลัวของทำเทียมเลียนแบบ แล้วแอบอ้างว่าเป็นของบ้านถ้ำเต่าหรืออย่างไร

     “ เราทำตำหนิพิเศษไว้ในลายผ้าทุกผืน รับรองไม่มีใครรู้ ”

    ผ้าฝ้ายย้อมคราม ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่สมคิด พรมจักร 164 หมู่ 1 ต.สามัึึคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โทร. 08 6241 2544

หลากอารมณ์ที่...สกลนคร-ตอนจบ

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

 ธนิสร หลักชัย


 

ขอขอบคุณ 
- งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  โทร.1672 เว็บไซต์:
www.tourismthailand.org
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม โทร.0 4251 3490-1


ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย


อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนแรก)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook