ทะเลบับ
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060

    ทะเลบับ

    2003-03-25T00:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้
    อุทยานแห่งชาติทะเลบัน  ตั้งชื่อตามบึงน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของป่าในบริเวณนี้ คำว่า ทะเลบัน นี้น่าที่จะเพี้ยนมาจาก ภาษามลายูว่า เลอ โอ๊ด กะ บัน มีความหมายว่าแผ่นดินยุบ;บริเวณที่เป็นทะเลบันนี้เล่ากันว่า เมื่อหลายร้อยอายุคนมาแล้ว เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์มาก ต่อมาแผ่นดินบริเวณนี้ค่อยๆยุบลง เกิดเป็นแอ่งลึกมีน้ำขังกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่นักธรณีวิทยาได้สันนิษฐานว่า พื้นที่ข้างล่างอาจเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ เพราะบริเวณนี้ขนาบด้วยเทือกเขาทั้ง 2 ด้าน คือเทือกเขาจีนและเทือกเขามดแดงเมื่อโพรงถ้ำเกิดการ พังลง พื้นที่บริเวณนี้ก็ยุบตัวลงไปด้วย

    ทะเลบันได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2523 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 122,500 ไร่ หรือ 196 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอควนโดน และอำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีแนวเขตทางด้านทิศใต้จดรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย และทางด้านทิศเหนือจดเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วย เขาวังช้าง เขาหินร้อง เขาฟ้าริน เขาวังพะเนียด เขาจีน เขามดแดง เขาหาบเคย เขากวงใหญ่ เขาวังหมัน เขากวงเล็ก เขาวังหมู เขาพัง เขาวังกลวง เขากายัง เขากล่ำ เขาปูยู และเขาคันวังกูนอง มียอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ในเทือกเขาจีน สูงประมาณ 756 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสภาพทางธรณีโดยทั่วไป ของเทือกเขาเหล่านี้ พบว่าทางด้านอำเภอเมือง ทางด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติมีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนซึ่งจะมีการกัดเซาะตาม ธรรมชาติเกิดเป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำโตนดิน ถ้ำผาเดี่ยว และถ้ำลอดปูยู เป็นต้น สำหรับทางด้านอำเภอควนโดน ทางด้าน ตะวันออกของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเป็นหินแกรนิต นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติทะเลบันยังได้รวมพื้นที่เกาะ 1 เกาะ อยู่ติดแนวเขตประเทศ คือ เกาะปรัสมานา

    พืชพรรณและสัตว์ป่า สภาพสังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน สามารถจำแนกออกได้เป็น ป่าดงดิบ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ มีพันธุ์ไม้หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีเรือนยอดของไม้หลายระดับชั้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียว กระบาก พยอม เหรียง มะหาดรุม ขนุนปาน ทุ้งฟ้า มะม่วงป่า สักน้ำ เลือดควาย พญาไม้ แจง หลาวชะโอน นากบุตร และก่อชนิดต่างๆ ฯลฯ ไม้พื้นล่างได้แก่ หวาย เถาวัลย์ ว่าน เฟิน และบอน เป็นต้น

    ป่าเบญจพรรณ อยู่บริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติแถบทุ่งหญ้าวังประ เป็นป่าไม้ผลัดใบ โดยทั่วไปป่าชนิดนี้ทางภาคใต้ พบน้อยมาก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กระโดน กล้วยงิ้ว ตะแบก เปล้า ปอฝ้าย ส้าน ปออีเก้ง แคทราย และโมกมัน ฯลฯ ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่ไร่ ไผ่หลอด และหญ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น

    ป่าชายเลน เป็นป่าที่ขึ้นตามชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้บริเวณคลองท่าจีน คลองปูยู คลองกายัง และคลองกำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โกงกาง แสม โปรงขาว ตาตุ่มทะเล ตีนเป็ดทะเล ถั่วขาว ถั่วดำ และเถาถอบแถบ

    สัตว์ป่าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน พบรวมทั้งสิ้น 406 ชนิด แยกเป็น (1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 64 ชนิด เป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ และเลียงผา นอกจากนี้ยังมี เก้ง กระจงควาย กระจงเล็ก หมูป่า เสือโคร่ง แมวดาว หมีขอ อีเห็นเครือ ชะมดเช็ด นากเล็กเล็บสั้น หมีคน ลิงกัง ลิงเสน ค่างแว่นถิ่นใต้ ค่างหงอก ชะนีมือขาว หมีคน เม่นใหญ่ อ้นกลางและลิงลม เป็นต้น

    (2) นก จำนวน 282 ชนิด เช่น นกยางกรอกพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ไก่ป่า นกกวัก นกเขาเปล้า นกหกเล็กปากแดง นกบั้งรอกเล็กท้องแดง นกฮูก นกตบยุงยักษ์ นกขุนแผนอกสีส้ม นกกระเต็นใหญ่ นกจาบคาหัวสีส้ม นกกะรางหัวขวาน นกเงือก (มีถึง 8 ชนิด ใน 12 ของประเทศไทย) นกโพระดกเคราเหลือง นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกพญาปากกว้างสีดำ นกแต้วแล้ว นกแอ่นท้องขาว นกแอ่นฟ้าตะโพกสีเทา นกนางแอ่นบ้าน นกเด้าลมหลังเทา นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล นกเขียวก้านตองเล็ก นกปรอดคอลาย นกแซงแซวหางปลา นกขมิ้นหัวดำเล็ก นกเขียวคราม อีกา นกติ๊ดสุลต่าน นกจาบดินหัวดำ นกกระจ้อยป่าโกงกาง นกกระจิบ นกกางเขนบ้าน นกจับแมลงตะโพกเหลือง นกอีแพรดคอขาว นกแซงแซวสวรรค์ นกขุนทอง นกกินปลีแก้มสีทับทิม นกสีชมพูสวน นกแว่นตาขาวสีเหลืองปักษ์ใต้ นกกระจอกบ้าน และนกกระติ๊ดตะโพกขาว ฯลฯ

    (3) สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 40 ชนิด เช่น เต่าจักร เต่าหกดำ ตะพาบน้ำ ตุ๊กแกป่าใต้ กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า เห่าช้าง จิ้งเหลนลาย งูเหลือม งูจงอาง งูสิงธรรมดา งูปล้องฉนวนบ้าน งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง เป็นต้น

    (3) สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 40 ชนิด เช่น เต่าจักร เต่าหกดำ ตะพาบน้ำ ตุ๊กแกป่าใต้ กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า เห่าช้าง จิ้งเหลนลาย งูเหลือม งูจงอาง งูสิงธรรมดา งูปล้องฉนวนบ้าน งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง เป็นต้น

    (4) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 20 ชนิด เช่น อึ่งกรายหัวแหลม จงโคร่ง เขียดว๊าก กบทูด ปาดบ้าน และอึ่งแม่หนาว ฯลฯ

    ชนพื้นเมือง อุทยานแห่งชาติทะเลบันมี ซาไกหรือเงาะป่า เจ้าของสมญา ราชันย์แห่งพงไพรเผ่าพันธุ์มนุษย์ซึ่งสัมผัสและรู้จักผืนป่า ชำนาญในการ ดำรงชีวิตในป่าและรู้จักใช้ประโยชน์จากพืชในลักษณะของยารักษาโรคและอาหาร การดำรงชีพจะอาศัยผลไม้พืชผักที่มีอยู่ในป่าเป็นอาหาร ไม่รู้จักการเพาะปลูกนิยมการล่าสัตว์โดยการใช้ไม้ซาง หรือบอเลาคู่กับลูกดอกอาบยางน่องหรือบิลา ชอบอาศัยอยู่ในป่าลึก มีอุปนิสัยชอบเร่ร่อน และรักสงบ ทำที่พักจากใบไม้ในป่าที่พักเรียกว่า ทับ เมื่อใบไม้ที่มาทำทที่พักเหี่ยวแห้งก็จะย้ายหาแหล่งที่อยู่ใหม่ต่อไป ปัจจุบันมีซาไก อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอยู่เพียงกลุ่มเดียว มีสมาชิกจำนวน 9 คน ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตของซาไกได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากการ ได้สัมผัสกับสังคมของคนเมืองมากขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากการดำรงชีวิตในป่าเริ่มแร้นแค้น ฝืดเคือง เพราะป่าถูกบุกรุกทำลาย แต่อย่างไรก็ตาม ซาไกก็ยังเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าสุดท้ายที่มีอยู่ในป่าทะเลบัน

    แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ บึงทะเลบัน เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่กลางหุบเขาขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงมีต้นบากงขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นที่อยู่ของกบว๊าก (เขียดว๊าก)

    น้ำตกยาโรย ต้นน้ำเกิดจากป่าหัวกะหมิง เทือกเขาจีน มีน้ำตก 9 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการฯ 6 กิโลเมตร แยกเข้าไปอีก 700 เมตร น้ำตกโตนปลิว ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาจีน เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติมีน้ำไหลตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการฯ ไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร แยกเข้าไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถ้ำโตนดิน อยู่ห่างจากที่ทำการฯ 2 กิโลเมตร ถ้ำลึกประมาณ 700 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อย ลำธารไหลผ่านมีปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ และยังมีเครื่องมือขุดแร่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลือให้เห็นอยู่ ทุ่งหญ้าวังประ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ระหว่างภูเขาทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ มีสัตว์ป่าอยู่หลายชนิด เช่น เม่น กระจง ไก่ป่า อยู่ห่างจากที่ทำการฯ ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าถนนลูกรังไปอีก ประมาณ 10 กิโลเมตร ถ้ำลอดปูยู เป็นถ้ำลอดคล้ายถ้ำลอดของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณเขากายัง ภายในถ้ำมี หินงอกหินย้อย สองฝั่งลำคลองเป็นป่าโกงกาง การเดินทางไปถ้ำลอดปูยู ต้องลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสตูลประมาณ 9 กิโลเมตร

    นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติทะเลบันยังมี น้ำตกห้วยจิ้งหรีด ถ้ำผาเดี่ยว ถ้ำค้างคาว ถ้ำคนธรรพ์ และเกาะปรัสมานา

    ข้อมูลทั่วไป การเดินทางเข้าสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน สามารถเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์จากตัวเมือง จังหวัดสตูล ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406 ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4184 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเส้นทางสายนี้เชื่อมต่อกับทางหลวงของประเทศมาเลเซียที่ด่านวังประจัน

    ในการประกอบกิจกรรมนันทนาการในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า การเล่นน้ำ การเล่นกีฬา ดูนก การปิกนิก การพักแรมค้างคืน การก่อกองไฟ ให้กระทำได้เฉพาะในเขตหรือบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรกระทำหรือส่งเสียงอื้อฉาว รบกวนคนหรือสัตว์ ไม่เดินออกนอกเส้นทางถาวร และปฏิบัติตนตามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับผู้ที่ไปกางเต็นท์พักแรม จะต้องเตรียมเครื่องนอนและอุปกรณ์ในการพักแรมไปเอง และต้องเก็บและทำความสะอาดที่พักให้เรียบร้อยเมื่อเลิกใช้แล้ว การก่อไฟจะต้องไม่เก็บหรือตัดกิ่งไม้ยืนต้นมาใช้ และจะต้องระมัดระวังมิให้ไฟลุกลามไปยังที่อื่น ต้องดับไฟให้สนิททุกครั้งที่เลิกใช้ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล 96160 โทร. (074) 797073 หรือที่ งานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 5612918-21

    ข้อมูลจาก http://www.forest.go.th กรมอุทยานแห่งชาติ (กรมป่าไม้เดิม)