ก้าวไปในบุญเสริมมงคลไหว้พระ ๙ วัด

ก้าวไปในบุญเสริมมงคลไหว้พระ ๙ วัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก้าวไปในบุญเสริมมงคลไหว้พระ ๙ วัด ข้อมูลจาก  อมรรัตน์ เทพกำปนาท  กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม 

ปัจจุบันการไปไหว้พระขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน ๙ วัดที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพมหานครกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากความเชื่อที่ว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น และมีสิริมงคลตามชื่อของสถานที่แล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมกำลังใจที่ดีด้วย อย่างไรก็ตาม การที่คนเราจะประสบความสำเร็จ พบความก้าวหน้าในชีวิตได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราคาดหวังหรือปรารถนาด้วย ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอแนวทางปฏิบัติ ก้าวไปในบุญเสริมกุศลที่ท่านทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามคติความเชื่อของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แต่ละแห่ง ดังนี้

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร  เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ผู้ไปไหว้มีคติความเชื่อว่าเดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรี ซึ่งหลักธรรมที่จะทำให้ปลอดภัยทั้งการเดินทางและการดำรงชีวิตได้ คือ การไม่ประมาท มีสติ คือ ให้รู้ตัวอยู่เสมอ เช่น ขณะที่ดื่มของมึนเมา ง่วงนอน หรือพูดโทรศัพท์มือถือก็ไม่ควรขับรถ เป็นต้น ส่วนการสร้างไมตรีให้เกิดขึ้น สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การให้ทาน ให้อภัย ให้สิ่งของ ให้ความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย และผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้" วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร  รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อให้เกียรติแก่ทหารมอญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งมีชัยชนะต่อข้าศึกถึง ๓ ครั้ง ผู้ที่ไปวัดนี้ เพราะเชื่อในคติที่ว่า มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง ซึ่งธรรมที่จะช่วยให้คนชนะอุปสรรคได้ทุกอย่างคือ ความเพียรพยายาม และความอดทน ที่จะทำให้เรามีความมุ่งมั่น เจอปัญหาก็ไม่ย่อท้อ หรือยอมแพ้ แต่จะต่อสู้ แก้ไข อดทนต่อความยากลำบากจนประสบความสำเร็จในที่สุด พระพุทธองค์กล่าวว่า คนจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร  หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดที่มีเจดีย์ถึง ๙๙ องค์ ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย มีคติตามความเชื่อว่า ร่มเย็นเป็นสุข คนจะอยู่เย็นเป็นสุขได้ ต้องเป็นคนมีศีลมีธรรม อย่างน้อยที่สุดก็ควรมี เบญจศีล หรือ ศีลห้า กำกับการดำเนินชีวิต เพราะจะทำให้เราไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นทั้งกาย วาจา และใจ อันจะมีผลให้เราไม่มีศัตรูที่จะมาทำร้ายหรือทำให้เราเดือดร้อนภายหลังพระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ว่า ธรรม ย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  หรือวัดพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มีคติสำหรับผู้มาไหว้ว่าแก้วแหวน เงินทอง ไหลมา เทมา อันหมายถึงให้มีความร่ำรวยนั่นเอง ซึ่งผู้ที่จะมีเงินทองได้จะต้องเป็นผู้รู้จักหาเงิน และใช้เงินเป็น เป็นคนทำมาหากินในทางที่ชอบหรือสัมมาอาชีวะที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนในอนาคต และต้องเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียร ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริงในวิชาชีพ อีกทั้งต้องรู้จักเก็บรักษาทรัพย์ที่ได้มาด้วย พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ทรัพย์สินย่อมพอกพูนขึ้นได้ เหมือนดังก่อจอมปลวก วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี)ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณและวิทยาคุณที่โด่งดังมาก มีคติในการไหว้พระที่นี่ว่า มีคนนิยมชมชื่น ซึ่งบุคคลที่จะทำให้ผู้อื่นนิยมชมชื่นได้ ควรจะมีหลักที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ได้ คือ  ทาน ได้แก่ ก้อด้วยปัจจัยสี่  ปิยวาจา คือการพูดจาดี สุภาพ ไพเราะน่าฟังต่อกัน  อัตถจริยา คือ ทำประโยชน์แก่เขา บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น  สมานัตตตา คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เช่นนี้ไปที่ใดย่อมทำให้คนรักใคร่ และประทับใจอยู่เสมอ ดังที่พระพุทธองค์กล่าวว่า กลิ่นของคนดีย่อมหอมทวนลมไปได้ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร  เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘และมีพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธานที่พระวิหาร มีคติว่า ไหว้พระวัดสุทัศน์ฯ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป การที่คนเราจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลได้ จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์มาก เรียนรู้มาก และรู้จักนำมาใช้ ซึ่งเราสามารถนำหลักในการศึกษาเล่าเรียนมาใช้ได้นั่นคือ สุ จิ ปุ ลิ หรือ หัวใจนักปราชญ์ อันมาจาก สุต คือ ฟังมาก ในที่นี้เรารวมถึงการอ่านด้วย จิตนะ คือ การคิด รู้จักคิดใคร่ครวญหาเหตุผลในเรื่องต่างๆ ปุจฉา การถามไถ่ให้เข้าใจให้ถ่องแท้ และ ลิขิต คือสามารถเขียน สื่อสารสิ่งที่เราศึกษาหรือเรียนรู้ออกมาได้ หัวใจนักปราชญ์นี้จะทำให้เราเป็นผู้ที่ไม่ล้าหลัง เพราะคนที่ฟังมาก อ่านมาก ย่อมจะได้เปรียบผู้อื่น ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ยิ่งศึกษาหาความรู้มากเท่ใด ก็ย่อมจะเป็นพื้นฐานแห่งความฉลาดรอบรู้มากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นเสน่ห์แก่ตัวเราเองในการพูดคุยกับผู้อื่นอีกด้วย ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่ใฝ่ในการศึกษา ย่อมจะเป็นผู้เลิศ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  หรือ วัดแจ้ง เป็นวัดที่มีพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูง ๓๓ วาเศษ มีคติว่า ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน กล่าวกันว่าบุคคลที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าหรือชีวิตที่รุ่งโรจน์ ควรจะต้องเลือกอยู่ในถิ่นที่เหมาะและสิ่งแวดล้อมที่อำนวยต่อการพัฒนาชีวิต ต้องรู้จักคบหาคนดี ผู้ทรงคุณและผู้ที่เกื้อกูลแก่การแสวงหาธรรมและความรู้ ข้อสำคัญคือ ต้องตั้งตนมั่นในธรรมและการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีเป้าหมายที่ดีในชีวิต และควรเสริมด้วยหลัก อิทธิบาท ๔ นั่นคือ  มีฉันทะ ความพอใจและรักงานที่ทำ  วิริยะ ความเพียรที่จะทำงานให้สำเร็จเสร็จสิ้น  จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในงานที่ต้องทำ และ วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ เพื่อพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่ทำ เหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตยิ่งขึ้น ดังพระพุทธองค์ว่าถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือทำสิ่งนั้นทีเดียว ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร  รัชกาลที่ ๑ ได้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕ มีคติแก่ผู้มาไหว้ว่า ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนา บารมี ซึ่งนอกจากจะไหว้ศาลแล้ว เรายังสามารถสร้าง บุญกิริยาวัตถุ อันประกอบด้วย  ทานมัย คือ ทำบุญด้วยทรัพย์สิ่งของ  สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดีต่างๆ  ภาวนามัย คือ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกจิตให้เจริญด้วยสมาธิและปัญญา  นอกจากนี้ การประพฤติตนอ่อนน้อม การช่วยบำเพ็ญประโยชน์ การให้ผู้อื่นร่วมกระทำดี การยินดีในความดีของผู้อื่น การฟังธรรม หรือให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถือเป็นการทำบุญเช่นเดียวกัน ดังที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่าไม่พึงดูหมิ่นว่าบุญเล็กน้อยจะไม่มีผล ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ซึ่งเป็นเคารพนับถือของชาวจีนและไทยเป็นอย่างมาก มีคติความเชื่อว่า เสริมอำนาจบารมี คนที่จะมีวาสนาบารมีส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้นำ หรือแม้มิใช่ แต่อยากจะให้ตนมีอำนาจบารมี ก็ควรจะปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม อันเป็นคุณธรรมของผู้ปกครองหรือผู้บริหาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้อื่นเกิดความเคารพนับถือ และนำมาซึ่งการเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ 

ทาน-การให้ปัน  ศีล-รักษาความสุจริต  ปริจาคคะ-ความเสียสละ  อาวะ-ความซื่อตรง  มัททวะ-ความไม่เย่อหยิ่ง  ตปะ-การมิให้กิเลสมาครอบงำ  อักโกธะ- ความมีเหตุผลไม่เกรี้ยวกราด  อวิหิงสา-ความไม่หลงระเริงในอำนาจ  ขันติ-ความอดทน และ อวิโรธนะ-การประพฤติมิให้ผิดจากธรรม ถือประโยชน์สุขของส่วนรวม  นอกจากนี้ ยังต้องมีพรหมวิหาร ๔ คือ  มีเมตตา ความปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข  กรุณา ความสงสารอยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์  มุทิตา ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข และ อุเบกขา คือ มีใจเป็นกลาง เมื่อเห็นคนอื่นได้รับผลดีหรือชั่วตามเหตุที่เขาประกอบ ซึ่งหลักการทั้งสองอย่างนี้ แม้จะปฏิบัติได้เพียงบางส่วนก็ช่วยให้เกิดความนิยมนับถือได้แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลเป็นผู้นำไม่ได้

เราจะเห็นได้ว่าหลักปฏิบัติเหล่านี้ มิใช่เรื่องที่ยากหรือเหลือบ่ากว่าแรง แต่หากสามารถปฏิบัติไปพร้อมกับการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้จะช่วยหนุนนำให้ความปรารถนาของเราสัมฤทธิ์ผลเร็วยิ่งขึ้น  อมรรัตน์ เทพกำปนาท  กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook