เรียนรู้วิถีธรรมชาติจากหมู่บ้านมรดกโลก “ชิราคาวา-โก”

เรียนรู้วิถีธรรมชาติจากหมู่บ้านมรดกโลก “ชิราคาวา-โก”

เรียนรู้วิถีธรรมชาติจากหมู่บ้านมรดกโลก “ชิราคาวา-โก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     “ชิราคาวา-โก” หรือหมู่บ้านชิราคาวา ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดย UNESCO และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของญี่ปุ่น ที่ชาวต่างชาตินิยมมาเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งทั้งหมู่บ้านจะถูกปกคลุมด้วยหิมะสีขาวโพลน จนเมื่อมองจากจุดชมวิวจะรู้สึกว่าเหมือนหมู่บ้านในเทพนิยายเลยทีเดียว แต่นอกจากความสวยงามในฤดูหนาวแล้ว ชิราคาวา-โกยังมีเสน่ห์อย่างอื่นที่ซ่อนอยู่ และคุณสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ ไม่ว่าฤดูใดก็ตาม เสน่ห์ที่ว่านั้นก็คือบ้านเรือนแบบโบราณที่เรียกว่า “กัสโช-ซุคุริ” ซึ่งหมายถึงบ้านที่มีหลังคาทรงพนมมือนั่นเอง

     หมู่บ้านมรดกโลกแห่งนี้ ตั้งอยู่กลางหุบเขาบนที่ราบสูงฮิดะ ซึ่งต้องผจญกับสภาพอากาศอันเลวร้ายในฤดูหนาว เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างบ้านเรือนที่ทนทานและสามารถรับมือกับหิมะปริมาณมากได้ นอกจากนี้ ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร พ่อค้า และช่างฝีมือหลายแขนง เช่น ช่างแกะสลักไม้ ช่างทอผ้าไหม ดังนั้น บ้านเรือนแบบกัสโช-ซุคุริจึงตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เป็นอย่างมาก

     จุดเด่นของบ้านแบบกัสโช-ซุคุริอยู่ที่วัสดุก่อสร้างที่มาจากธรรมชาติ 100% ไม่ว่าจะเป็นหลังคาลาดเอียงขนาดใหญ่ พร้อมยอดแหลมคล้ายการพนมมือ มุงด้วยต้นหญ้าหายาก ที่นำมาถักทอให้มีความหนาหลายชั้น เพื่อป้องกันและรับน้ำหนักหิมะเอาไว้ ไม่ให้ร่วงหล่นสู่ตัวบ้าน ส่วนหลังคาที่ลาดชันจะช่วยให้หิมะไหลลงสู่พื้นดินได้อย่างสะดวก ไม่ทับถมอยู่บนหลังคาจนทำให้หลังคาเสียหาย โครงสร้างภายในบ้านเป็นไม้ทั้งหมด แต่ใช้เชือกยึดโครงสร้างต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันแทนการใช้ตะปูยึด พร้อมเสริมความทนทานด้วยการจุดไฟในเตาจากชั้นล่าง เพื่อให้ควันรมไม้ในบ้าน เป็นการกำจัดความชื้นและแมลงที่มากินเนื้อไม้นั่นเอง

     ตัวบ้านในหมู่บ้านชิราคาวา-โก จะวางในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้ได้รับแสงแดดในช่วงฤดูหนาว และได้รับลมในช่วงฤดูร้อน โดยบ้านแต่ละหลังจะมี 3 – 5 ชั้น โดยห้องใต้หลังคาของบ้านจะมีไว้เพื่อเก็บรักษาอุปกรณ์การเกษตร และใช้สำหรับเลี้ยงไหม อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันนี้ชาวบ้านจะไม่นิยมเลี้ยงไหมแล้ว แต่ก็ยังคงอนุรักษ์บ้านเรือนแบบเดิมไว้ โดยบางบ้านปรับเป็นพิพิธภัณฑ์และโฮมสเตย์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาทดลองใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่น ในขณะที่อีกหลายหลังเปิดเป็นร้านค้าและร้านขายของที่ระลึก


     ไหนๆ ก็เจาะลึกถึงภายในบ้านแบบกัสโช-ซุคุริแล้ว เรามาลงรายละเอียดกันอีกนิดดีกว่าว่าแต่ละโครงสร้างภายในบ้านนั้นมีที่มาจากไหนบ้าง ซึ่งสถานที่ที่จะเล่าเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือ Toyota Shirakawa-go Institute” ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตที่อิงกับธรรมชาติ โดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันจะจัดกิจกรรมนำชมป่าไม้ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยกิจกรรมช่วงกลางวัน จะเป็นการพานักท่องเที่ยวไปพบกับ “ต้นทาง” ของบ้านโบราณในชิราคาวา-โก และก็เป็นโชคดีของ Sanook! Travel ที่ได้มาแจมในทริปของทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยไทย ที่พากลุ่มเยาวชนและชุมชนที่ชนะการประกวดโครงการ “โตโยต้าลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โตโยต้า เมืองสีเขียว จนได้มารู้จักกับความเป็นมาของบ้านโบราณสไตล์นี้

     Toyota Shirakawa-go Institute ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าของชิราคาวา-โก ซึ่งมีอยู่เดิม โดยเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า ป่าในบริเวณนี้ถือว่าสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากประชากรต้นไม้ที่มีมากที่สุดอย่างต้นบีชญี่ปุ่น ซึ่งมีใบร่วงทับถมกันเป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เป็น “ฟองน้ำ” คอยซับน้ำไว้ ทำให้ป่ามีความชื้นและเป็นแหล่งต้นน้ำชั้นดีที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ ขณะเดียวกัน ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็มีแนวทางการอนุรักษ์ป่าตั้งแต่โบราณ โดยแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์จากป่า และพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีการกำหนดกันมาตั้งแต่โบราณว่า จะไม่ตัดต้นไม้ในป่าที่มีความสูงเกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือพูดง่ายๆ คือใช้ประโยชน์จากป่าเท่าที่ตัวเองจะเดินทางขึ้นไปถึงเท่านั้น

 

เจ้าหน้าที่สาธิตวิธีการใช้ต้นมันซาโกะในการสร้างบ้านแบบกัสโช-ซุคุริ

     ระหว่างทางที่สำรวจป่า เจ้าหน้าที่ของ Toyota Shirakawa-go Institute ได้พาเราไปไขปริศนาความแข็งแกร่งของบ้านแบบกัสโช-ซุคุริ นั่นคือวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่าง “ต้นมันซาโกะ” ต้นไม้ขนาดไม่ใหญ่ แต่มีคุณสมบัติสุดแสนทนทาน โดยลำต้นสดจะมีลักษณะเหนียว และเมื่อแห้งลงก็จะแข็ง จึงเหมาะสำหรับทำเชือกมัดคานในบ้านสไตล์กัสโช-ซุคุริ ซึ่งมีอายุการใช้งานนานถึง 30 ปี เท่ากับหลังคา และเชื่อกันว่าผู้ที่สามารถบิดต้นมันซาโกะให้นิ่มได้ จะถือว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

 

กลุ่มเยาวชนที่ชนะการประกวดโครงการโตโยต้าลดเมืองร้อนด้วยมือเรา ทำกิจกรรมสำรวจป่าไม้ใน Toyota Shirakawa-go Institute

     และหากการเดินป่าช่วงกลางวันยังไม่หนำใจ Toyota Shirakawa-go Institute ก็มีกิจกรรมเดินป่าตอนกลางคืนด้วย แต่เป้าหมายของการเดินป่าตอนกลางคืนนั้นจะต่างจากตอนกลางวัน คือเป็นการสัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตในที่มืด เช่นเดียวกับสัตว์ป่า และกระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสัญชาตญาณของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม เพราะฉะนั้น จึงไม่อนุญาตให้ใช้แสงไฟใดๆ ในการเดินป่า และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ เรียกว่าได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ก่อนการเดินป่าทั้งกลางวันและกลางคืน เจ้าหน้าที่ยังเตือนนักท่องเที่ยวให้เกรงใจและระวังเจ้าของบ้านอย่างหมีและงูอีกด้วย

     นอกจากการเดินสำรวจป่าแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนสถาบันแห่งนี้ก็คือ “เวิร์กช็อปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ” ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเตรียมอุปกรณ์ไว้ และสาธิตวิธีการให้ดู ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะได้ลงมือสร้าง “รถยนต์จำลอง” ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานน้ำ เป็นอีกหนึ่งความสนุกสนานในแนวอนุรักษ์ธรรมชาติที่คุณจะได้พบที่นี่

 

กลุ่มเยาวชนและชุมชนที่ชนะการประกวด โครงการโตโยต้าลดเมืองร้อนด้วยมือเรา รวมกลุ่มทำเวิร์กช็อปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ

     ไม่น่าเชื่อว่าสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างชิราคาวา-โก จะสามารถจับมือกับบริษัทรถยนต์อย่างโตโยต้า มอเตอร์ สร้างพื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวญี่ปุ่น ในการเรียนรู้ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านของตัวเอง เช่นเดียวกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่มี “โครงการโตโยต้า เมืองสีเขียว” ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย ผ่านการดำเนินงานที่เน้นการเป็นมิตรกับธรรมชาติ และกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

     และแม้ว่าชิราคาวา-โกจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับอีกหลายสถานที่ในญี่ปุ่น แต่ในความเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง ก็อาจจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนมุมมองในการท่องเที่ยวเป็นการ “ทำความรู้จัก” สถานที่เหล่านั้น ให้มากกว่าการเยี่ยมชม ถ่ายรูปเซลฟี่ แล้วก็เดินทางกลับ ซึ่ง Sanook! Travel เชื่อว่าคุณจะได้พบอะไรดีๆ มากกว่าที่เคยอย่างแน่นอน



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook