ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย

ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย

ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย 

เรื่อง : พลอย มัลลิกะมาส

ภาพ : นิธิวีร์ 

          แสงแรกแห่งวันส่องประกายขึ้นที่นอกหน้าต่าง ฉันชะโงกหน้าออกไปมองสองฟากฝั่งถนนที่เรียงรายไปด้วย 'ต้นยาง' หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญที่แบ่งเขตแดนระหว่างสองเมืองสำคัญแห่งเมืองล้านนาในอดีต ทันทีที่แว่วเสียงอันแสนคุ้นเคยของคุณลุงคนขับรถดังขึ้น ทำให้แน่ใจว่าเราได้เดินทางมาถึงสถานที่ใดกันแล้ว? 

          "สิ้นสุดเขตต้นยาง ก็เข้าสู่เขตจังหวัดลำพูนแล้วครับ" 

          ลำพูน หรือหละปูน ในภาษาท้องถิ่น เมืองเล็กๆ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งความเรียบง่ายในความรู้สึก ที่แม้ไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาอย่างเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือ หากแต่ทว่าที่นี่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมชาติ ทั้งในเรื่องของบรรยากาศและวิถีชีวิต ใครบางคนที่มอบกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตและหัวใจไว้ให้กับเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเมืองนี้มีชื่อว่านครหริภุญไชย นครเล็กๆ ที่แสนยิ่งใหญ่เกรียงไกร และเก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินล้านนา อาณาจักรที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากอดีตหนหลังกว่า 1,300 ปี หลังจากที่ฤๅษีวาสุเทพเกณฑ์พวกละว้าล่องเรือลงมาจากต้นแม่น้ำปิงเพื่อสร้างเมืองใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1200 จากนั้นจึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดาแห่งเมืองละโว้ขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์หญิงองค์แรก ก่อนจะมีกษัตริย์ปกครองนครหริภุญไชยแห่งนี้สืบต่อมาอีก 600 ปี แล้วตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา และเมืองขึ้นของพม่าอีกกว่า 200 ปี จนสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าตากสินมหาราชในการขับไล่พม่าได้สำเร็จและขึ้นปกครองเชียงใหม่ จึงให้เจ้าคำฝั้น น้องชายย้ายลงมาปกครองเมืองหริภุญไชย โดยอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ก็ได้มีการยกฐานะนครหริภุญไชยขึ้นเป็นจังหวัดลำพูนไปในที่สุด                                                   

          คุณวัลลภ บุญเจริญ หนุ่มใหญ่จากภาคใต้ ที่โชคชะตาพัดพามาให้รักและลงหลักปักฐานกับสาวเมืองหละปูนนานร่วม 30 ปี จนเกิดเป็นกิจการร้านก๊วยเตี๋ยวหมูตุ๋นคุณแดง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดช้างร้อง หนึ่งในวัดดังของตัวเมือง กล่าวขึ้นอย่างน่าประทับใจ เมื่อถูกถามว่าประทับใจอะไรในเมืองลำพูนแห่งนี้ "กาลเวลาทำอะไรที่นี่ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมเช่นเดียวกับวันแรกที่ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ 

 "ในช่วงวันธรรมดาตัวเมืองจะค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยคึกคักเหมือนช่วงเทศกาล คนส่วนใหญ่ผ่านมาลำพูน เพราะต้องการมาไหว้พระ ...น้อยคนนักที่จะหยุดพักเพราะต้องการทำความรู้จักที่นี่จริงๆ" 

          การเดินทางในครั้งนี้ ฉันตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่า ไม่ได้ต้องการทำความรู้จักลำพูนแค่เพียงเมืองผ่าน หากแต่ทว่าอยากจะหยุดพัก ทักทาย และทำความรู้จักกับเมืองเล็กๆ เมืองนี้ และจากความตั้งใจนี้เอง ทำให้ฉันมีโอกาสได้พบกับสองสามีภรรยาคู่น่ารักอย่างคุณวิรัตน์-จารุวรรณ ภู่เจริญ เจ้าของบูติคโฮเต็ลขนาดกะทัดรัด ที่ช่วยเปิดทางให้ได้ทำความรู้จักนครน้อยน่ารักแห่งอาณาจักรล้านนาแห่งนี้ได้มากยิ่งขึ้น โดยคุณป้าจารุวรรณแนะนำได้อย่างน่าสนใจที่สุดว่า ลำพูนคือสวรรค์ของคนรักผ้า ที่มีสามเส้นทางสายแพรพรรณที่น่าแกะรอยที่สุด!

เส้นทางที่หนึ่ง เส้นทางสายไหม 'ศิลปะบนผืนผ้า ค่าควรเมือง'  

          ป้าจารุวรรณ กูรูเมืองลำพูนกล่าวว่า หากเดินทางมาลำพูนแล้วไม่ได้สัมผัสวิถีการทอ 'ผ้ายกดอกลำพูน' หนึ่งเดียวของสิ่งทอที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาอังกฤษว่า G.I. (Geographical Indication) นั่นเรียกว่ายังมาไม่ถึง ด้วยว่าผ้าไหมยกดอกลำพูน คือผ้าทอล้ำค่าลวดลายวิจิตรบรรจง ที่นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ได้ครอบครองทั้งหลายว่าได้มีโอกาสครอบครองผลงานศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้ช่างทอผ้าไหมยกดอกลำพูนต่างได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะชิ้นเอก

          ความงดงามของผ้าไหมยกดอกลำพูน ปรากฏในจดหมายเหตุรายวันจากบันทึกของท่านออสคาร์ ดยุคออฟสกอตแลนด์แห่งสวีเดน ครั้งเสด็จเป็นพระราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ 5 ที่กล่าวไว้ว่า "เครื่องทรงของพระราชินีเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วย ฉลองพระองค์โบรเคด (ไหมยกดอก) สีทองๆ เงินๆ ขนาดพอดีพระองค์ แขนจับเป็นจีบ ทำด้วยไหมทองที่มีจุดขาว โดยมีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวมๆ พร้อมทรงสนับเพลาหรือผ้าทรง แบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่งเป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง"

 คุณศิริลักษณ์ เขื่อนควบ เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย เล่าให้ฟังว่า ในอดีตคนลำพูนนั้นทอผ้าใช้เองมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผ้ายกดอกนั้นก็มีใช้กันอยู่แต่เดิม แต่เป็นการทอยกดอกในผ้าฝ้าย ด้วยลวดลายธรรมดาๆ ที่ไม่วิจิตร กระทั่งพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา การทอผ้าไหมยกดอกจึงเผยแพร่ไปทั่ว และคนรุ่นหลังก็ได้เรียนรู้การทอผ้ายกดอกจากคนในคุ้มไปในที่สุด ทำให้ลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกที่สำคัญของประเทศ 

          "ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ คือมีกลุ่มคนอาศัยอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งยวน โยนก ไทใหญ่ มอญ เขิน ลื้อ ลัวะ ยางแดง และไทลื้อ หญิงสาวชาวลำพูนกับเรื่องของการทอผ้าจึงผูกพันมานาน จนอาจเรียกได้ว่าการทอผ้าคือหนึ่งในวิถีชีวิตของคนที่นี่ โดยเฉพาะการทอผ้าของชาวยอง ซึ่งเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองในประเทศพม่า 

"สำหรับสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย จัดตั้งขึ้นจากความตั้งใจจะสร้างแหล่งภูมิปัญญาเรื่อง 'ผ้าลำพูน' ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ด้วยเกรงจะสูญหายไปกับกาลเวลา จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ซึ่งถือเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวลำพูน"  

         ตำนานผ้าทอยกดอกลำพูน เกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นสูง วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการทอผ้าจะเน้นเส้นไหม (Silk) มากกว่าฝ้าย (Cotton) ซึ่งฝ้ายมักใช้เป็นเสื้อผ้าของชนชั้นล่าง ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้มีการประยุกต์ผ้าฝ้ายและผ้าไหมมาใช้ร่วมกัน จนกระทั่งเมื่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7) พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จกลับมาประทับที่เชียงใหม่ ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระราชชายาได้นำองค์ความรู้จากราชสำนักส่วนกลางขณะที่ทรงประทับในวังหลวง มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลายผ้า และได้ฝึกหัดให้คนในคุ้มเชียงใหม่หัดทอผ้ายก โดยเพิ่มลวดลายต่างๆ ลงบนผืนผ้าไหม เพื่อให้มีความพิเศษและโดดเด่นมากขึ้น ด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็นดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายโดยใช้ตะกอเพื่อให้ทอลวดลายที่สลับซับซ้อน ได้อย่างประณีตและงดงามมากขึ้น และเนื่องจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทอผ้ายกให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย และเจ้าหญิงลำเจียก (พระธิดาเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์) โดยทั้งสองพระองค์ได้นำความรู้ด้านการทอผ้ายกมาฝึกให้แก่คนในคุ้มหลวงลำพูน ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การทอผ้ายกจากคนในคุ้มหลวง จนเกิดความชำนาญและมีการเผยแพร่วิธีการทอผ้าไปทั่วชุมชนต่างๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งผ้าไหมยกดอกที่เจ้าหญิงส่วนบุญได้ทรงฟื้นฟู คือผ้าไหมยกดอกที่มีความวิจิตรงดงาม ทรงใช้เทคนิคการทอผ้าจากภาคกลางมาประยุกต์ ซึ่งการทอผ้าในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากในตำบลเวียงยอง และชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนได้รับความนิยมจากเจ้านายยองในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ถือเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และได้มีการขยายแหล่งทอผ้าไปในอำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง ทำให้จังหวัดลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกที่สำคัญของประเทศไทย โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ฯลฯ และมีการประยุกต์ให้มีลวดลายที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ และพิกุลกลม ฯลฯ

เส้นทางที่สอง 'เก็บฮอมตอมไพร่' เพลินใจไปกับสีสันผ้าฝ้ายดอนหลวง

เพราะชื่อเสียงของงานประเพณี 'แต่งสีอวดลายผ้าฝ้ายดอนหลวง' ทำให้ฉันเดินทางมาเยือนบ้านดอนหลวง ชุมชนเก่าแก่ของชาวยองที่มีชื่อในเรื่องของผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองเข้ามาตั้งบ้านเรือน โดยพยายามรวบรวมผู้คนให้กลับมาอยู่ในตัวเมือง ทั้งคนเชื้อสายไตยอง ไตลื้อ และไตเขิน ให้มาตั้งรกรากในเชียงใหม่และลำพูน ที่เรียกกันว่า 'เก็บฮอมตอมไพร่' 

ในบรรดาชนเผ่าต่างๆ ชาวยองคือผู้ที่สามารถอนุรักษ์ความเป็นตัวตนท้องถิ่นของพวกเขาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ภาษา ตลอดจนเอกลักษณ์ในเรื่องของงานหัตถกรรมท้องถิ่น ทั้งเรื่องของผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าบาติก ไม้แกะสลัก ไปจนถึงเรื่องของเสื้อผ้าสำเร็จรูป จนทุกวันนี้บ้านดอนหลวงได้ชื่อว่าเป็นแผล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยชาวบ้านในชุมชนกว่า 250 หลังคาเรือน ล้วนประกอบอาชีพเกษตรกรรมควบคู่ไปกันการทอผ้าฝ้าย 

ป้าบุญเมือง คำปัน เจ้าของผ้าฝ้ายร้านดัง 'บุญเมืองผ้าฝ้าย' หนึ่งในคนท้องถิ่นที่ยึดอาชีพทอผ้ามาอย่างยาวนานเล่าว่า แต่เดิมชาวบ้านดอนหลวงประกอบอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ต่อมาราวปี พ.ศ. 2500-2535 สตรีชาวบ้านได้เข้ารับจ้างทอผ้าในตัวอำเภอป่าซาง จนกลายเป็นตำนานคนสวยป่าซาง สาวงามลำพูน ต่อมาโรงงานทอผ้าในตัวอำเภอเริ่มปิดตัวลง ช่างทอในหมู่บ้านจึงเริ่มทอผ้าออกขายเอง และมีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นโดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอป่าซาง จนได้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมดีเด่นในปี พ.ศ. 2542 มีการก่อสร้างศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอป่าซางขึ้นในหมู่บ้าน และได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามโครงการ 'หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์' ในปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้าน OTOP ระดับภาค  

เส้นทางที่สาม แกะรอยวัฒนธรรมผ้าทอชนเผ่า 

เจ้าถิ่นเมืองลำพูนแนะนำว่า หากอยากทำความรู้จักเส้นทางผ้าของจังหวัดลำพูนให้ครบ ต้องเดินทางไปเยี่ยมที่หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ ชุมชนเล็กๆ ของชาวปกาเกอะญอที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของการถือศีล กินอาหารมังสวิรัติที่เคร่งครัดที่สุด 'ปกาเกอะญอ' ในภาษากะเหรี่ยงที่มีความหมายว่า 'คน' วัฒนธรรมประจำเผ่าที่เห็นได้อย่างโดดเด่นก็คือเรื่องของการทอผ้า ที่ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเด็ก หรือชุดของหญิงสาว มักจะแต่งกายด้วยเสื้อสีดำหรือน้ำเงินทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอและปักประดับลวดลายงดงาม พร้อมผ้านุ่งสีแดงทอยกดอก ยกลาย ตกแต่งด้วยลูกเดือย และสำหรับผู้ชายกะเหรี่ยงนั้นก็มักจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตกแต่งด้วยแถบสีที่ไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อผู้หญิง กับกางเกงสะดอที่ใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ พร้อมสวมกำไลเงินและตุ้มหู 

โชคดีมักเป็นของฉัน โดยเฉพาะในวันที่ได้ระหกระเหินเดินทางไกลมาจนถึงศูนย์วิจัยงานหัตถกรรม บ้านห้วยต้ม ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนกว่า 80 กิโลเมตร เพราะเมื่อเช้าที่นี่เพิ่งได้รับเสื้อผ้าฝ้ายทอมือ ปักเดือย ย้อมสีธรรมชาติ 2 ชุด ที่ประดับตกแต่งลวดลายด้วยเมล็ดเดือยแสนสวยมาจากแม่เฒ่าคนเก่าแก่ของหมู่บ้าน พนักงานที่ศูนย์วิจัยเล่าให้ฟังว่า เสื้อผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมสีธรรมชาติแบบนี้ ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ หรือมีมาบ่อย เพราะแม่เฒ่าในหมู่บ้านก็จะย้อมผ้าครามแบบนี้เก็บไว้ พอต้องการเงินจริงๆ ถึงค่อยนำออกมาขาย 

"นานๆ จะมีมาที ถ้าไม่ขัดสนจริงๆ ไม่มีใครเอาผ้าย้อมครามมาขาย ทุกคนก็อยากเก็บไว้ เพราะหาผ้าสีธรรมชาติแบบนี้ยากแล้ว"

ลวดลายบนผ้าทอมือชนเผ่า ส่วนใหญ่ล้วนเป็นลวดลายที่ลอกเลียนมาจากธรรมชาติ ทั้งลายปีกผีเสื้อ ลายแมลงปอ ลายแมงมุม ลายต้นไม้ ลายดอกไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่ผูกพันกับธรรมชาติรอบตัว และสะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการเก็บสิ่งละอันพันละน้อยจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว มาสร้างสรรค์ถักทอเป็นลวดลายที่ประณีตงดงาม ความผูกพันของผ้าทอมือแต่ละผืนล้วนเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตในแต่ละช่วงและอารมณ์ของผู้ทอผ้าเป็นหลัก ดังคำกล่าวที่ว่า ความสวยงามของผืนผ้านั้น ขึ้นกับอารมณ์ของคนทอเป็นสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ภาพวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ จะเป็นภาพชายหนุ่มเล่นดนตรีให้หญิงสาวเย็บกี่ทอผ้าฟัง 

"ในอดีต ผู้ที่เป็นแม่จะต้องทอเสื้อของลูกให้เสร็จภายใน 1 วัน โดยมีนัยสำคัญก็คือ ผ้าผืนแรก คือการสวมจิตและวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงให้อยู่ในตัวเด็ก นับจากวันนี้จนถึงวันตาย เพื่อให้เด็กก้าวเดินอย่างมั่นคงไปตลอดชีวิต ในทางเดินที่ถูกที่ควร" 

แม้ว่าในปัจจุบัน ความทันสมัย ไฮเทคโนโลยี จะก้าวเข้ามาทำความรู้จักทักทายกับชาวปกาเกอะญอมากขึ้น จนทำให้บางครัวเรือนทอผ้าได้เพียงเดือนละ 3 ผืน หากแต่ทว่าคำกล่าวข้างต้นก็ยังคงถูกปลูกฝังอยู่ในหัวใจของชาวปกาเกอะญอ เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่มีวันที่กาลเวลาจะพรากจิตวิญญาณของชาวชนเผ่าปกาเกอะญอไปจากผ้าทอผืนงามได้ ด้วยว่าวิถีแห่งผ้าทอนี้ คือลมหายใจแรกและลมหายใจสุดท้ายที่อยู่คู่กับพวกเขาตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ลืมตาดูโลกจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต.   



ข้อมูลเดินทาง   

1. รถยนต์

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ถึงนครสวรรค์ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านกำแพงเพชร ตาก ลำปาง แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 11 จนถึงจังหวัดลำพูน ระยะทางประมาณ 670 กิโลเมตร

2. รถประจำทาง

มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ลำพูน ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง

สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490 www.transport.co.th ทันจิตต์ทัวร์ โทร. 0 2936 3210 นิววิริยะยานยนต์ทัวร์ โทร. 0 2936 2207 สมบัติทัวร์ โทร. 0 936 2495-8 สหชาญทัวร์ โทร. 0 2936 2762 สยามเฟิสท์ทัวร์ โทร. 0 2954 3601-7 ฯลฯ

ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com 

3. รถไฟ

มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปจังหวัดลำพูนทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 www.railway.co.th

การเดินทางภายในเมือง

นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสามล้อถีบ ยานพาหนะยอดนิยมของชาวลำพูนมีให้เรียกใช้บริการได้ทั่วไป แต่จะมีให้บริการมากบริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย และหน้าตลาดสดหนองดอก อัตราค่าบริการเริ่มตั้งแต่ 20 บาท ไปจนถึงเหมาเที่ยวทั้งวันประมาณ 200 บาท

รถสองแถวไปยังอำเภอต่างๆ ท่ารถจะกระจายอยู่ทั่วตัวจังหวัดลำพูน เช่น สายลำพูน-ป่าซาง-บ้านโฮ่ง-ลี้ อยู่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี สายลำพูน-บ้านธิ อยู่บริเวณหลังตลาดสดหนองดอก เป็นต้น ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเหมารถสองแถวไปท่องเที่ยวได้

ระยะทางจากอำเภอเมืองลำพูนไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอป่าซาง 14 กิโลเมตร
อำเภอแม่ทา 22 กิโลเมตร
อำเภอบ้านโฮ่ง 42 กิโลเมตร
อำเภอทุ่งหัวช้าง 100 กิโลเมตร
อำเภอลี้ 106 กิโลเมตร
อำเภอบ้านธิ 20 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง 45 กิโลเมตร

โบราณสถานและสถานที่สำคัญ 

- วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร

เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00-18.00 น.

โทร. 0 5351 1040, 0 5353 0693 

แต่งกายสุภาพ ห้ามนุ่งกางเกงและใส่กระโปรงสั้น (มีผ้านุ่งให้เช่า) 

          นี่คือหนึ่งในโบราณสถานสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีระกา สร้างโดยพระเจ้าอาทิตยราช ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 งามสง่าด้วยเจดีย์แบบล้านนาไทย โดยภายในบรรจุพระเกศบรมสารีริกธาตุในโกศทองคำ ประดับลวดลายวิจิตรจากสุดยอดฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย โดยมีสิงห์ตัวใหญ่หนึ่งคู่สง่าเหนือแท่นสูงกว่า 1 เมตร รอต้อนรับเหล่าบรรดาผู้เดินทางมากราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองลำพูน 

- กาดขัวมุง 

เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น. 

          แหล่งช้อปปิ้งสำคัญหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย สำหรับคนรักผ้าฝ้าย ผ้าไหมยกดอกลำพูน และของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก ตลอดจนเครื่องเงิน และเครื่องประดับต่างๆ ตั้งอยู่บนสะพานข้ามแม่น้ำกวง ที่เชื่อมต่อไปยังร้านก๊วยเตี๋ยวลำไยเจ้าดัง หนึ่งในของอร่อยเมืองลำพูน 

- วัดจามเทวี 

ที่ตั้ง หมู่ 5 ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 

          วัดเก่าแก่สำคัญตั้งแต่สมัยล้านนาไทย ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวีสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1298 หลังจากทรงสละราชสมบัติให้พระโอรสทั้งสอง และออกบวชบำเพ็ญพรตอยู่ที่วัดแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์ ว่ากันว่าเจ้ามหันตยศและเจ้าอนันตยศพระราชโอรสทั้งสอง สร้าง 'พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ' ที่มีลักษณะแบบเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เพื่อบรรจุอัฐิพระนางจามเทวี โดยเดิมทียอดเจดีย์หุ้มด้วยทองคำ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรเรียงรายอยู่เป็นชั้นๆ ทั้งสี่ด้าน ด้านละ 15 องค์ ต่อมายอดพระเจดีย์หักสูญหาย ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่าพระเจดีย์กู่กุด  

- อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี 

ที่ตั้ง ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก 

          อนุสรณ์สถานของวีรสตรี ปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชยแห่งล้านนา พระนางจามเทวีได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรสตรีและนักปราชญ์ผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม ความสามารถและความกล้าหาญ สามารถนำทัพออกสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่บุรุษมาโดยตลอด 

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร 

- พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย (ชเวดากองจำลองเมืองไทย) 

ที่ตั้ง หมู่ 8 ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 

          ไม่ไกลจากวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม คือถนนที่ทอดยาวเข้าสู่พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย ที่มีชื่อว่า พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย พระมหาธาตุสีเหลืองทองอร่ามที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาออกแบบและก่อสร้างขึ้น ด้วยการจำลองพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า พร้อมตั้งจิตอธิษฐานอาราธนาอัญเชิญพระเกศาของพระพุทธเจ้าโคตมะ และอัฐบริขารของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ที่ล่วงมาแล้วบรรจุไว้ภายใน 

- วัดช้างรอง 

ที่ตั้ง บ้านท่านาง ถนนรอบเมืองใน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 

          ตามตำนานเล่าว่า ช้างทรงของพระนางจามเทวีมีชื่อว่า 'ปู้ก่ำงาเขียว' ซึ่งควาญช้างนำมาอาบน้ำที่บริเวณวัดแห่งนี้ จนแผดเสียงร้องดังได้ยินไปทั่ว อันเป็นที่มาของชื่อวัดช้างรอง หรือวัดช้างร้องแห่งนี้ ภายในประกอบด้วยพระอุโบสถหลังใหญ่ หอไตร พระธาตุเจดีย์ ที่งดงามตามต้นฉบับศิลปะล้านนา ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของนครหริภุญไชย 

- กู่ช้าง กู่ม้า 

ที่ตั้ง เขตเทศบาลเมืองลำพูน บริเวณชุมชนไก่แก้ว 

          สุสานช้างศึก-ม้าศึก คู่บารมีพระนางจามเทวี และพระโอรสแฝด พระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ ปูชนียสถานสำคัญที่ชาวลำพูนให้ความเคารพสักการะและเชื่อถือในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนานเล่าว่า ช้างปู้ก่ำงาเขียวเป็นช้างตัวผู้ มีฐานะเป็นช้างทรงของกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม เมื่อช้างเชือกนี้หันหน้าไปหาศัตรู ศัตรูก็จะอ่อนกำลังลงไปในทันที ดังนั้นเมื่อช้างปู้ก่ำงาเขียวล้มลง (ตาย) จึงได้มีการสร้างสถูปแห่งนี้เพื่อบรรจุซากไว้เป็นที่สักการะ โดยให้ซากช้างหันหน้าขึ้นไปบนอากาศ 

          เนื่องจากเมื่อช้างปู้ก่ำงาเขียวล้มลง ถ้าหันหัวช้างและงาช้างไปทางทิศใดก็จะบังเกิดแต่ความแห้งแล้งและหายนะ นั่นเพราะฤทธิ์เดชของช้าง จึงได้ฝังซากโดยหันหัวช้างและงาช้างชี้ขึ้นทางด้านบนนั่นเอง โดยงาทั้งคู่ของช้างเชือกนี้ถูกนำไปบรรจุไว้ในสถูปที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระนางจามเทวี ที่วัดจามเทวี ซึ่งก็คือเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ และไม่ไกลไปจากกันคือสถูปอีกองค์ทรงกระบอกปลายมนคล้ายระฆัง ที่บรรจุซากม้าศึก 

 ที่พัก

- บ้านหละปูน 

www.baanlapoon.com

ที่อยู่ ซอยเจริญราษฎร์ 7 (ใกล้กับร้านอาหารดาวคะนอง) ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 

โทร. 0 5353 5433, 08 1885 6968

ราคา เริ่มต้นที่ 800-1,000 บาท 

          บูติคโฮเต็ลขนาดกะทัดรัด ที่มีห้องพักเพียงแค่ 9 ห้อง ในบรรยากาศอบอุ่น ดำเนินกิจการโดยสองสามีภรรยาสุดน่ารัก ที่ตั้งใจจะให้ผู้เดินทางผ่านไปมารู้สึกอบอุ่นราวกับกำลังหลับใหลอยู่ในบ้านของตัวเอง 

          'บ้านหละปูน' ออกแบบในสไตล์ล้านนาบูติคร่วมสมัย ที่ใช้ปูนเปลือยและไม้เป็นวัสดุหลักในการออกแบบ โดยมีจักรยานให้ใช้ฟรี ด้วยทำเลแสนสะดวก ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ห่างจากสถานีรถไฟเพียง 2 กิโลเมตร (สถานีรถไฟลำพูนตั้งอยู่นอกตัวเมือง) และห่างจากวัดพระธาตุหริภุญชัย ศูนย์กลางของเมืองหละปูนเพียง 1 กิโลเมตร พร้อมบริการที่อบอุ่น ด้วยซาลาเปารสเด็ด ของดีประจำเมือง ตามด้วยเครื่องดื่มอุ่นๆ ทำให้การได้มาพักที่นี่เหมือนได้มาพักใน Bed & Breakfast ที่น่าประทับใจที่สุด

ที่กิน

- ก๊วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย

ที่ตั้ง 79 หมู่ 3 ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

เปิดตั้งแต่ 9.00-15.00 น. 

          ใครบางคนกล่าวไว้ก่อนว่า "ไปให้ถึงลำพูน ต้องไม่พลาดก๊วยเตี๋ยวลำไย" เพราะที่นี่คือแหล่งปลูกลำไยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีเมนูอาหารจานคลาสสิกที่ต้องยกนิ้วให้เรื่องความอร่อยแบบสร้างสรรค์ นั่นก็คือ 'ก๊วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย' ที่ใช้ลำไยอบแห้งกับสมุนไพรจีนปรุงเป็นน้ำซุปรสเด็ด พร้อมด้วยหมูตุ๋นที่ตุ๋นจนนุ่มได้ที่กว่า 2 ชั่วโมง เสิร์ฟใส่ชามมาพร้อมเนื้อลำไย จนเกิดเป็นก๊วยเตี๋ยวลำไย เส้นหมี่ เส้นเล็ก และเส้นบะหมี่ของดีประจำเมืองลำพูน  นอกจากนี้ที่ร้านยังมีเมนูอร่อยอื่นๆ ทั้งก๊วยเตี๋ยวโบราณทรงเครื่อง ซึ่งเป็นก๊วยเตี๋ยวน้ำขลุกขลิก ที่มีทั้งหมู ลำไย ถั่วฝักยาว มะม่วงสับ โรยหน้าด้วยถั่วลิสงป่น 

- ก๊วยเตี๋ยวหมูตุ๋นคุณแดง

ที่ตัั้ง ถนนรอบเมืองใน ปากซอยของถนนท่านาง (ตรงข้ามประตูท่านาง) เลยวัดพระธาตุหริภุญชัยราว 200 เมตร 

โทร. 08 1993 0176 

แม้จะยังไม่โด่งดังเท่าก๊วยเตี๋ยวร้านแรก หากแต่ทว่านี่คือหนึ่งในร้านอร่อยที่คนท้องถิ่นและคนวงในยืนยันว่า "ต้องมาชิมให้ได้ ถ้าไปลำพูน" 

          ร้านก๊วยเตี๋ยวคุณแดง (สูตรครูใหญ่แม่โจ้) ก๊วยเตี๋ยวน้ำตกแสนอร่อยของเมืองหละปูน ที่มีเมนูอร่อยให้เลือกมากมาย เป็นต้นว่า เอ็นแก้ว ลูกชิ้น หมูหมัก หมูตุ๋น ซี่โครง คากิ และเครื่องใน ทั้งเมนูก๊วยเตี๋ยว เกาเหลา และเมนูข้าวรสเจ็บ เป็นต้นว่า ข้าวหมูตุ๋น ข้าวตุ๋นรวม ข้าวซี่โครง (อร่อยมาก) และข้าวคากิ 

          เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่น้ำซุปสมุนไพรสูตรพิเศษ ที่นำสมุนไพรไทยและจีนเกือบ 20 ชนิดมาผสมเป็นสูตรเด็ดของร้าน ซึ่งบอกได้เลยว่า "อร่อยแบบไม่ต้องเติมเครื่องปรุง" อะไรมาก ภายใต้บรรยากาศสบายๆ ใต้ถุนบ้านไม้แสนคลาสสิก ที่นอกจากจะมีสารพัดตุ๋นแสนอร่อยแล้ว ที่นี่ยังให้บริการหลากหลายเมนูเครื่องดื่มรสดี 

ร้านดาวคะนอง ลำพูน 

ที่ตั้ง ตัวเมืองลำพูนตรงถนนเจริญราษฎร์ ใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลำพูน

โทร. 08 1885 8913, 0 5351 1552

"มาลำพูน ต้องแวะมาที่ร้านดาวคะนอง"

          ร้านอาหารพื้นเมืองรสเลิศ ร้านแรกของเมืองลำพูน ที่มีอายุอานามกว่า 50 ปี ถูกยกให้เป็นหนึ่งในลำพูน (และบางทีอาจจะหนึ่งในภาคเหนือเลยก็ว่าได้!) นั่นก็คือร้านดาวคะนอง ลำพูน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยคุณตาคะนอง ยาวิคำ และคุณยายบุญทอง ยาวิคำ ยังเป็นหนุ่มสาว ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำอาหารของคุณยายบุญทอง ที่เป็นหนึ่งในเรื่องของเมนูลาบคั่วระดับเชฟกะทะเหล็ก! จากที่เริ่มโชว์ฝีมือให้นักมวยทาน (คุณลุงเปิดค่ายมวย 'ศ.ดาวคะนอง') จนหลายคนติดอกติดใจมาขอซื้อใส่ห่อกลับไปทานที่บ้าน จากค่ายมวยจึงกลายมาเป็นร้านอาหารในนาม 'ดาวคะนอง' เมืองลำพูน ร้านดังประจำจังหวัดไปในที่สุด 

- ซาลาเปา ร้านซันเดย์ 

ที่ตั้ง 196 ใกล้สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน ถนนอินทยงยศ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 

โทร. 0 5351 1292 

อีกหนึ่งร้านดังประจำจังหวัด ที่อยู่เคียงคู่ความอร่อยเมืองลำพูนมากว่า 30 ปี ซึ่งผันตัวจากการขายไอศครีม 'ซันเด' มาโด่งดังกับเมนูซาลาเปารสเลิศ 

การันตีความอร่อยด้วยยอดขาย 'หลายร้อยลูก' ต่อวัน ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดขายแค่ช่วงเช้า ไม่ถึงสองชั่วโมงก็ขายหมดเกลี้ยง 

แวะเวียนไปชิมกันได้ ร้านอยู่ใกล้ธนาคารออมสิน 

- เฉาก๊วยมุกดา อร่อยที่สุดในเมืองมนุษย์ 

ที่ตั้ง ลานจอดรถ ใต้ต้นโพธิ์ในวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร

โทร. ขออนุญาตไม่ให้ 

"กินเฉาก๊วยให้อร่อย ต้องจับตูด งัดนม ยกซด" !

          เฉาก๊วยเจ้าดังของจังหวัดลำพูน ที่ดำเนินกิจการความอร่อยที่แสนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดยสองสามีภรรยา ในลุค 'ของแท้ต้องหัวโล้น บนแท่น แว่นดำ' สัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้ร้านดังไปทั่วทั้งเมือง 

          พี่สำราญ พ่อบ้านประจำร้าน เผยเคล็ดลับความอร่อยว่า หญ้าเฉาก๊วยของที่ร้านนำเข้ามาจากเวียดนาม เพราะพิสูจน์แล้วว่าคุณภาพและรสชาติดีที่สุด โดยจะนำมาต้มโดยไม่ใส่สารเคมีใดๆ เมื่อผสมผสานกับน้ำตาลสมุนไพรแท้ 108 ชนิด สูตรลับของทางร้าน พร้อมด้วย 'จิตวิญญาณ' แห่งความตั้งใจ ก็ทำให้รสชาติของเฉาก๊วยมุกดา อร่อยที่สุดในเมืองมนุษย์ !

          ฝ่ายภรรยาสาวสุดเฟี้ยวก็กล่าวไว้ว่า "วันไหนทะเลาะกับ ผ. หนูก็ไม่ทำ เพราะจะต้มเฉาก๊วยให้อร่อยที่สุดต้องไม่ใส่อารมณ์เสียๆ ลงไป" 

          ร้านนี้มีสาขาเดียว ไม่มีการขยายสาขาโดดเด็ดขาด ที่สำคัญก็คือ หยุดพร่ำเพรื่อมากๆ แต่เปิดทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 

 เส้นทางผ้า

-  สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย 

ที่ตั้ง หมู่ที่ 2 ตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

โทร. 0 5356 0144 

          สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัยตั้งขึ้นเพื่อต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการทอผ้าของชาวลำพูน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และมีเอกลักษณ์โดดเด่นให้ดำรงอยู่ และยังเป็นการเสริมสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มทอผ้า ตลอดจนศูนย์รวมบรมครูที่มีวิชาความรู้เรื่องการทอผ้าเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าลวดลายโบราณและพัฒนาการทอผ้าลวดลายใหม่ๆ จากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ที่นี่ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์เด็ดที่ฉันยกให้เป็น 'Hidden Gem' ของเมืองลำพูน นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์เสื้อผ้าเจ้านายฝ่ายเหนือ และพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า ลำพูน ที่ได้รวบรวมเสื้อผ้าสวยๆ ของเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยเฉพาะของเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ธิดาในเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน) กับเจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่ ผู้มีศักดิ์เป็นพระนัดดาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนสุดท้าย  

          เจ้าพงศ์แก้วถือเป็นผู้บุกเบิกกิจการผ้าในภาคเหนือ ด้วยได้รับการถ่ายทอดวิชาทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง และมีความสามารถในการเรียนรู้เทคนิคการทอผ้ายกโบราณของคุ้มหลวงลำพูน ซึ่งท่านได้อนุรักษ์การทอผ้าไหม ผ้ายกกี่พื้นบ้านไว้จนปัจจุบัน ทำให้ผ้ายกจากคุ้มเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน เป็นที่ยกย่องและแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ท่านยังได้ถวายการดูแลผ้าไหมในฉลองพระองค์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในการคัดลอกลายพระภูษาโบราณแล้วนำมาทอใหม่ จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ทอผ้าไหมยกดอกลำพูนสำหรับใช้เป็นฉลองพระองค์ เพื่อนำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศอีกด้วย 

- บ้านดอนหลวง 

ศูนย์หัตถกรรมบ้านดอนหลวง หมู่ 7 บ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน 

โทร. 0 5357 2191 

เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. 

          บ้านไม้หลังใหญ่ ใต้ถุนทรงสูง ที่ใช้ลานใต้ถุนบ้านเป็นพื้นที่ทอผ้าแบบโบราณของชาวไทยองที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ที่ได้รับการพัฒนาในเรื่องของดีไซน์และลูกเล่นเก๋ไก๋จนกลายเป็นหมู่บ้าน OTOP ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของงานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือ และผลิตภัณฑ์แปรรูปนานาชนิด 

- ร้านบุญเมืองผ้าฝ้าย 

ที่ตั้ง 64/3 บ้านดอนหลวง หมู่ 7 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน 51120

โทร. 08 1288 7692, 0 5352 0517 

          'อำเภอป่าซาง' หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรื่องผ้าฝ้ายทอมือ เป็นแหล่งกำเนิดผ้าฝ้ายทอมืออันเลื่องชื่อของลำพูนมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่า ในยุคเก็บผักใส่ซ้า (ตะกร้า) เก็บข้าใส่เมือง ได้มีผู้คนอพยพมาจากเมืองยอง ประเทศพม่า มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอป่าซาง และมีการทอผ้าฝ้ายใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน ต่อมาได้มีการขยายครอบครัวกลายเป็นชุมชนใหญ่ และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเก่าแก่ไว้ โดยเฉพาะความโดดเด่นทางศิลปหัตถกรรมการทอผ้าฝ้ายที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมานานนับ 200 ปี โดยหนึ่งในร้านที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ผ้าฝ้ายทอมือของร้านบุญเมืองผ้าฝ้าย ที่เน้นลวดลายโบราณ ทั้งลาย 4 และลาย 6 ซึ่งช่วยให้เนื้อผ้าเนียนนุ่ม นอกจากนี้ในปัจจุบันชาวบ้านดอนหลวงยังพัฒนารูปแบบผ้าฝ้ายทอมือให้เป็นมากกว่าแค่เสื้อผ้าอาภรณ์ ให้มีความทันสมัย กลายเป็นสินค้าหัตถกรรมจากผ้าฝ้าย อาทิเช่น เสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ มีการผลิตออกจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกไปยังแหล่งต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ

[Advertorial]

อัลบั้มภาพ 68 ภาพ

อัลบั้มภาพ 68 ภาพ ของ ตามรอยเส้นทางสายผ้า ของดีเมืองหริภุญชัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook