ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ตามหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา

ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ตามหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา

ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ตามหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียน  ครูสุรางค์ เช้าเจริญ โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา

ที่มา  คอลัมน์สุวรรณภูมิในอาเซียน

พนมสารคาม บ้านดงยาง

พนมสารคาม (จ. ฉะเชิงเทรา) เป็นชื่อใหม่ตั้งขึ้นสมัย ร.4 เดิมน่าจะเขียนว่าพนมสาลคาม มาจากชื่อเดิมว่าบ้านดงยาง

คำว่า สาละ เป็นชื่อต้นไม้ชนิด Shorea robusta Roxb. ในวงศ์ Dipterocarpaceae.; วงศ์ยางนา ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับชื่อบ้านนามเมืองที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

นั่นคือพนมสารคามในอดีต มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือน้ำมันยาง

น้ำมันยางเป็นผลผลิตจากต้นยางนาขนาดใหญ่ โดยชาวบ้านจะเจาะหรือถากบริเวณสูงจากโคนต้นยางนาขึ้นมา 70-80 เซนติเมตร ให้มีแผลกว้างพอสมควร แล้วใช้ไฟเผาบริเวณแผลของต้นยางที่เจาะหรือถากเอาไว้ น้ำมันจากต้นยางจะไหลออกมาเป็นน้ำมันใสๆ ขังอยู่ในหลุม หรือแผลของต้นยางนา

หากต้นยางนาจากพนมสารคามไม่ขึ้นหนาแน่นแล้วไซร้ น้ำมันยางจะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญได้อย่างไร

สอดคล้องกับแผนที่ของฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี นักสำรวจ นักล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศส ผู้สำรวจดินแดนบริเวณฝั่งแม่น้ำโขง เคยเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2435 ปาวีเขียนไว้บนแผนที่ว่า “Pnom Sarakam” ตรงเขาดงยาง

(ซ้าย) ต้นยางคู่ บ้านหนองแหน อ.พนมสารคาม (ขวา) ดงยางที่วัดต้นตาล ต.หนองยาว

ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพนมสารคามควรจะร่วมกันอนุรักษ์ต้นยางนาที่มีอยู่ และเพิ่มการปลูกต้นยางนา ไม่ว่าจะปลูกที่บนเขาดงยาง พื้นที่รอบๆ เขา หรือวัดเขาสุวรรณคีรี หรือที่อื่นๆ ที่พอจะเพิ่มปริมาณเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองพนมสารคาม ให้เห็นถึงความรุ่งเรืองด้านสินค้าสำคัญในอดีตคือ น้ำมันยาง

เป็นตำนานบอกกล่าวให้ลูกหลานร่วมกันสืบค้นเล่าขานถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เห็นความสำคัญของชื่อบ้านนามเมือง “พนมสารคาม” ควบคู่กับการจัดกิจกรรมรักษาประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามในวันเพ็ญเดือน 3

เขาดงยาง

เขาดงยางในอดีต เป็นเนินเขาที่มีต้นยางนาขึ้นหนาแน่นเป็นดง ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านเล่ากันว่าเดิมบริเวณเขาดงยางเป็นป่าทึบ พื้นที่ป่ามีต้นไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะต้นยางนาจะขึ้นอยู่หนาแน่น มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่เล็กนานาชนิด เช่น ช้าง เสือ เก้ง กระทิง กวาง หมูป่า ลิง ชะนี กระต่าย ไก่ป่า เป็นต้น

มองจากยอดเขาดงยาง เห็นภูมิทัศน์เบื้องล่าง เป็นที่ราบลุ่มๆดอนๆ ของพื้นที่ต่อเนื่องฉะเชิงเรา-ชลบุรี

ครูสุภาภรณ์ นนทเกษม (ครูอาวุโสโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”) คนพื้นที่ เล่าว่า

สมัยเด็กๆ เดินขึ้นเขาดงยางทุกปี (ยังไม่มีบันไดเกือบ 700 ขั้นเช่นปัจจุบัน) ต้นไม้จะขึ้นหนาแน่นเป็นป่า ขณะเดินขึ้นเขาจะพบลูกไม้มีปีก ๒ ข้าง(ลูกยางนา) เด็กๆจะพากันเก็บลูกไม้มีปีกนี้โยนขึ้นแล้วให้ค่อยๆ ร่วงลงมา หรือเก็บรวบรวมขึ้นไปบนยอดเขาแล้วไปยืนริมๆ เขาขว้างออกไป สมัยเด็กๆ ไม่รู้ว่าลูกยางนา เดินไปตลอดทางก็จะเจอแต่ลูกไม้ชนิดนี้ เป็นของเล่นที่สนุกสนานของเด็กๆ

คำบอกเล่านี้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเขาดงยางมียางนาขึ้นหนาแน่น

เขาดงยาง มองจากถนน

ปัจจุบันผู้เขียนพบต้นไม้ทั่วๆ ไป 2 ข้างทางขณะขึ้นบันไดไปยอดเขาดงยาง มีต้นยางนาต้นเล็กๆ อยู่บ้าง แต่ไม่พบต้นยางนาขนาดใหญ่เลยสักต้นแม้แต่พื้นล่างอย่างวัดเขาสุวรรณคีรีก็พบต้นไม้ที่ทางวัดปลูกไว้มากมาย (น่าจะเป็นต้นตะเคียน)

เป็นที่น่าเสียดายว่าบริเวณเขาดงยาง น่าจะเต็มไปด้วยต้นยางนาอย่างในอดีต แต่ไม่มี

ผู้เขียนพบต้นยางนาขนาดใหญ่ยังยืนต้นตระหง่านอยู่ในพื้นที่หลายๆ ตำบลของ อ. พนมสารคาม เช่น

วัดต้นตาล วัดหนองปาตอง ต. หนองยาว, ป่าชุมชนหมู่บ้านโคกหัวข้าว ต. ท่าถ่าน, และตำบลอื่นๆ เช่น ต. บ้านซ่อง ต.หนองแหน ก็จะมีต้นยางนาขนาดใหญ่อยู่มากพอที่จะเป็นประจักษ์พยานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มาของ อ. พนมสารคาม ได้เป็นอย่างดี

ภูมิทัศน์ย่านอุตสาหกรรมเกตเวย์มองจากยอดเขาดงยาง


ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม

วันมาฆบูชาที่เขาดงยาง หมู่ที่ 7 บ้านปากห้วย ต. หนองแหน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา ที่ตั้งของวัดเขาสุวรรณคีรี

มีประเพณีขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ของชาวบ้าน อ. พนมสารคาม และหมู่บ้านหัวสำโรง อ. แปลงยาว ซึ่งมีพื้นที่เขตติดต่อกับเขาดงยางที่ทำสืบต่อกันมานับ 100 ปี เป็นการผสมผสานระหว่างงานบุญข้าวหลามของชาวลาวพวนและปิดทองรอยพระพุทธบาทบนเขาดงยาง

ชาวบ้านขึ้นเขาดงยาง วันมาฆบูชา

อดีต…การเดินทางไปขึ้นเขาดงยางเพื่อขึ้นไปไหว้พระพุทธบาทบนยอดเขานั้น การคมนาคมไม่สะดวก ระหว่างทางก็นำข้าวหลามเป็นเสบียงพร้อมทั้งนำไปถวายพระด้วย

ปัจจุบันผู้มาขึ้นเขาดงยางมาจากหลากหลายพื้นที่ ส่วนมากจะเป็นวัยหนุ่มวัยสาว นิยมขึ้นเช้าหรือเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา

บนยอดเขาดงยาง มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่และรอยพระพุทธบาทจำลองให้ชาวบ้านขึ้นไปกราบไหว้

เมื่อมองจากยอดเขาลงมา กลางวันจะพบทัศนียภาพกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเกตเวย์ อ. แปลงยาว (เขตติดต่อเขาดงยาง) และผืนไร่ผืนนา หากยามค่ำคืนจะเห็นแสงไฟจากเขตอุตสาหกรรมเกตเวย์ระยิบระยับ

การเผาข้าวหลามของชาวบ้าน ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เขตติดต่อเขาดงยาง

...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook