สุขละไมบึงกาฬ สุขสำราญที่หนองคาย

สุขละไมบึงกาฬ สุขสำราญที่หนองคาย

สุขละไมบึงกาฬ สุขสำราญที่หนองคาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นธรรมดาของคนชอบเที่ยว ที่เมื่อมีอะไรใหม่ๆ ก็ต้องเห่อสักหน่อย อยากเอามาอวดสักนิด อย่างจังหวัดน้องใหม่ ‘บึงกาฬ' จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ก็เป็นสถานที่ที่ยังไม่ได้ไปเยือนสักครั้ง จนเมื่อพี่ที่น่ารักจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารกสิกรไทย และนิตยสารท่องเที่ยวโวยาจ จัดทริปพาลูกค้าผู้อ่านและสมาชิกนิตยสารโวยาจ ไปม่วนซื่นให้สุดใจ หอบหัวใจไปอีสาน ในทริป 'สุขละไมในบึงกาฬ สุขสำราญที่หนองคาย' กันแบบเต็มอิ่ม ซึ่งผมเลยโชคดีเหมือนถูกหวย ได้เดินทางไปเยือน บึงกาฬ พร้อมได้เที่ยวจังหวัดหนองคายควบคู่ไปด้วย ช่างเป็นความสุขเหมือนฝันไปจริงๆ

ด้วยบึงกาฬเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สุดของประเทศ ระยะทางจึงค่อนข้างไกลถึงไกลมาก หากขับรถไปเองต้องใช้เวลาเดินทางนานเป็นสิบชั่วโมง แต่ครั้งนี้เราเดินทางไปบึงกาฬกาฬแบบสะดวกรวดเร็ว โดยนั่งเครื่องบินจากสนามบินดอนเมือง ไปลงจังหวัดอุดรธานี ประหยัดเวลาได้มากโข ก่อนนั่งรถบัสคันโตออกเดินทางไปจังหวัดบึงกาฬ ในช่วงสายๆ 

ระหว่างนั่งอยู่บนรถหลับแล้วหลับอีกหัวชนกันกับเพื่อนร่วมทริปอยู่หลายที เราก็ได้ฟังยินเสียงพี่ไกด์ประจำรถเล่าถึงความเป็นมาของ ‘บึงกาฬ' ประดับเป็นความรู้สำหรับการเดินทางทริปนี้ว่า จากเดิม บึงกาฬ เป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย แต่ด้วยจำนวนประชากร และลักษณะพิเศษของพื้นที่เป็นแนวยาวทอดตามแม่น้ำโขง จึงมีผลต่อการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน เพราะพื้นที่สามารถเชื่อมผ่านไปยังประเทศต่างๆ ในเขตอินโดจีน จึงมีอนาคตที่ดีที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดได้ ที่สำคัญยังเป็นผลดีต่อการให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดหนองคาย เดิมทีเวลาประชาชนเข้ามาติดต่อราชการ หรือทำธุระในตัวจังหวัด ต้องถึงขั้นนอนค้างอ้างแรมกันเลยทีเดียว

เมื่อหันไปมองวิวข้างทาง เราเห็นสวนยางพาราเต็มพรืดไปหมด ตอนแรกก็ต๊กกะใจคิดว่ากำลังเดินทางไปภาคใต้หรือเปล่าหว่า หรือเอ๊ะเรามาผิดจังหวัดก็ไม่ใช่ เอามือขยี้ตาดู เอานิ้วมือบิดตัวเอง ก็ไม่ได้ฝันไป พี่ไกด์ที่มาด้วยเลยบรรยายต่อว่า สภาพภูมิประเทศของ ‘บึงกาฬ' เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุ่มชื้น อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสานอย่างประหลาด ภูมิประเทศอยู่ในตำแหน่งดี ใกล้อ่าวตังเกี๋ยของประเทศเวียดนามมากที่สุด จึงมีพายุฝนจากอ่าวตังเกี๋ยพัดเข้ามาถึงเกือบตลอดทั้งปี รวมทั้งได้รับอิทธิพลความชุ่มชื้นจากป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศลาวตลอดแนวลำน้ำโขง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่จังหวัดบึงกาฬไม่เคยแล้งเลย สังเกตได้จาก ห้วย หนอง คลอง บึง กุด(ลำนำโค้ง) ที่มีอยู่มาก โดยปัจจุบันได้มีการนำต้นยางพาราไปปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างมากและเป็นผลผลิตส่งออกอันดับต้นๆ ของจังหวัดนี้เลยทีเดียว

ไม่นานนักเราก็มาถึงสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์เด็ดของบึงกาฬ นั่นคือ "วัดภูทอก" หรือ "วัดเจติยาคีรีวิหาร" ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความเงียบสงบ สวยงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม แฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางธรรม โดยมี "พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ" เป็นผู้ก่อตั้ง อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 50 กิโลฯ วัดภูทอก อยู่ในพื้นที่บ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล ภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือ ภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวชม สถานที่สะอาดสะอ้าน 

จุดเด่นของภูทอกก็คือ สะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบๆ ภูทอก แบบ 360 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม จากชั้น 1 - ชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้ให้เดินแบบตรงทอดยาวจนถึงจุดสูงสุดของยอดภูทอก และตั้งแต่ชั้นที่ 3 เป็นต้นไปนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมแบบสะพานเวียนรอบเขา ซึ่งจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปเรื่อยๆ ในแต่ละย่างก้าว ในชั้นที่ 5 ถือว่าเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด จะมีศาลาขนาดใหญ่ พระพุทธรูป กุฏิพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนด้วย พื้นที่สะอาดกว้างขวาง ดูแล้วร่มเย็นมาก เหมาะสำหรับการนั่งสวดมนต์ปฏิบัติธรรมสำหรับนักแสวงบุญ หรือผู้ที่ใฝ่หาความสงบ ตลอดตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายจุด เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ มีที่ให้นั่งพักสำหรับความอ่อนล้าระหว่างทางเดินเป็นระยะ ถ้าเดินมาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีลักษณะแปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายๆ กับพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า คือ เป็นหินแยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่ แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่อย่างได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา ในเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 จะเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด


ตลอดทางเดินจะเป็นหน้าผายื่นออกมาทำให้ในบางครั้งเวลาเดินเราต้องเบี่ยงตัวออกมาเล็กน้อย โดยแต่ละจุดก็จะมีชื่อของหน้าผาที่แตกต่างกัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ในช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกลอยอยู่รอบๆ ยอดเขา ทำให้เหมือนอยู่บนสวรรค์ สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตคือ มีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ มีน้ำขังอยู่เกือบตลอดปี ในส่วนชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งไม้และรากไม้เดินลำบาก แถมยังมีป้ายบอกให้ "ระวังงู" ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากบนยอดภูแห่งนี้ด้วย ควรใช้อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่ก็จะมาบรรจบกันด้านบนชั้น 7 หรือดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม่ทึบธรรมดา มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่

กลับมาถึงที่พักในตัวเมืองบึงกาฬ เราได้พิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งมีขึ้นเพื่อใช้ต้อนรับและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่แขกที่มาเยือนของชาวอีสาน โดยในการนี้นายพรศักดิ์ เจียรนัย ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬได้ให้เกียรติมาให้การต้อนรับคณะผู้เดินทางและร่วมรับประทานอาหารเย็น พร้อมทั้งแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและให้ข้อมูลที่น่าสนใจของจังหวัดบึงกาฬอีกด้วย ทีมผู้อ่านและสมาชิกนิตยสารโวยาจ สนุกสนานกับดนตรีคาราโอเกะหลังอาหาร และร่วมเกมส์การละเล่นลุ้นรับของรางวัลมากมายจากทีมงาน

ด้วยอากาศเย็นสบายของเมืองริมแม่น้ำโขง ชวนให้เรานอนหลับฝันดีมาก เช้าวันนี้ทีมงานพาคณะของพวกเราหนองกุดทิง เพื่อร่วมกิจกรรม "ปล่อยปลา สุขใจที่แหล่งนํ้า ที่หนองกุดทิง" ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาสู่แม่นํ้าโขงเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์สู่แหล่งนํ้า บึงกุดทิง พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก (พื้นที่แรมซาร์) แห่งที่ 11 ของประเทศไทย มีพื้นที่ราว 22,000 ไร่ มีสัตว์น้ำอาศัยอยูมากกว่า 250 สายพันธุ์ มีปลาที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกถึง 20 สายพันธ์ มีนกพันธุ์ต่างๆกว่า40 ชนิด เหมาะสำหรับการมาพักผ่อน ชื่นชมธรรมชาติในวันสบายๆ

อิ่มใจกับการทำบุญปล่อยปลาแล้ว ระหว่างเดินทางไปเชยชมจังหวัดหนองคาย เราแวะสักการะ หลวงพ่อใหญ่ วัดโพธาราม บ้านท่าใคร้ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวบึงกาฬ หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย โบกฉาบด้วยปูน ประดิษฐานอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2537 ชาวบ้านเชื่อกันว่าสักการะแล้วจะมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการงานและโชคลาภ

กินข้าวกลางวันกันแล้วยังเที่ยวไม่หนำใจ เราแวะชมแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักดีของนักท่องเที่ยว "แก่งอาฮง" หรือจุดชม "สะดือแม่น้ำโขง" ณ วัดอาฮงศิลาวาส ตำบลหอคำ เขตอำเภอเมืองบึงกาฬ ห่างจากตัวจังหวัด 21 กิโลเมตร ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุดไม่สามารถวัดความลึกได้ กระแสน้ำไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลากและมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่จังสังเกตได้จากเมื่อมีวัสดุหรือซากไม้ขนาดใหญ่ลอยมาเมื่อถึงบริเวณนี้ สิ่งของต่างๆ จะหมุนวนอยู่ประมาณ 30 นาที จึงจะไหลต่อไป ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น "สะดือแม่น้ำโขง" มีความกว้างประมาณ 300 เมตร ในฤดูน้ำลด และมีความกว้างราว 400 เมตร ในฤดูน้ำหลาก สามารถมองเห็นแก่งได้ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจะมีกลุ่มหินที่ปรากฏบริเวณแก่งอาฮง จะมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้น นาค หินปลาเข้ ถ้ำปลาสวาย นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวชมหินสวยของบึงกาฬแล้ว ยังเป็นจุดชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ "บั้งไฟพญานาค" ในช่วงออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เป็นจำนวนมาก ในวันที่เราไปเยือน แม้น้ำในแม่น้ำโขงจะสูงมาจนมองไม่เห็นแก่งอาฮง แต่วิวทิวทัศน์และลมเย็นริมฝั่งโขง ก็สร้างความสนุกให้กับการเดินทริปนี้ไม่น้อยทีเดียว

เมื่อมาถึงหนองคาย เมืองริมแม่น้ำโขง เราก็ไม่พลาดไปตะลอนเที่ยว ล่องเรือชมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ท่ามกลางวิวสองฝั่งโขง พักกายพักใจไปกับสายลมแสงเแดด โยนความเหนื่อยล้าทั้งหมดาไว้เบื้องหลัง อ้าแขนเปิดรับอากาศบริสุทธิ์และความงามเรียบของชีวิตผู้คนที่ดูกี่ครั้งก็มีเสน่ห์ชวนตรึงตราตรึงใจจริงๆ 

วัดสุดท้ายที่หนองคาย เราแวะการกราบสักการะพระคู่บ้านคู่เมือง หลวงพ่อพระใส ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของทั้งชาวไทยในเขตอีสานและประชาชนชาวลาวเป็นอย่างมาก เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสุกอันเป็นเนื้อทองคำ 92 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีพระพุทธลักษณะอันงดงาม โดยอัญเชิญมาจากประเทศลาว ตามตำนานเล่าว่า พระราชธิดา 3 พระองค์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ลาว เป็นผู้ทรงสร้างขึ้น โดยขนานพระนามให้เป็นพระพุทธรูปพระจำพระองค์ของแต่ละองค์ตามพระนามตนเอง คือ พระเสริม พระสุก และพระใส ตามลำดับ ได้มีการอัญเชิญมาจากประเทศลาวเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 ชนะสงครามกบฏเจ้าอนุวงศ์ แต่การเดินทางมีปัญหาทำให้แพที่อัญเชิญพระสุก เกิดแตกและจมหายลงไปในสายน้ำ จึงอัญเชิญมาได้เพียงพระเสริมและพระใสเท่านั้น ปัจจุบันพระเสริม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ไม่ไกลจากวัดโพธิ์ชัยมากนัก เราเดินทางไปเที่ยว ศาลาแก้วกู่ สถานที่ที่มีประติมากรรมที่ใหญ่โตอลังการงดงามแปลกตา ซึ่งเป็นประติมากรรมหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่รวบรวมไว้ ณ บริเวณสถานที่แห่งนี้ ด้วยหลักการที่ว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ที่นี่จึงไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นสถานที่ของศาสนาใดๆ ศาลาแก้วกู่ ตั้งอยู่ ชุมชนสามัคคี อ.เมือง จ.หนองคาย ในพื้นที่ 42 ไร่ มีรูปปั้น มีทั้งเล็กใหญ่ สร้างขึ้นโดยนักพรตท่านหนึ่งชื่อว่า "ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์" หรือ "ปู่เหลือ" ผู้ผ่านการศึกษาด้านธรรมะมาจากสำนักอาศรมแก้วกู่ในเขตแดนลาว ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2513 เป็นปูชนียสถานเทวาลัยที่พุทธศาสนิกชนทั้งในภาคพื้นยุโรปและเอเชียเลื่อมใสมาก ปู่เหลือได้เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม 2539 สานุศิษย์ได้นำผอบ (ผะ-อบ) แก้วใส่ร่างของท่านไว้ ตามความประสงค์ก่อนสิ้นชีวิต โดยได้สั่งสานุศิษย์ว่า อย่าฉีดยา อย่าเผา อย่าฝัง ให้ใส่ผอบแก้วไว้ ด้วยอัศจรรย์ ร่างของปู่เหลือไม่เน่าเปื่อย และเส้นผมของปู่เหลือ จะเป็นสีดำและเป็นสีขาวสลับสับเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันร่างปู่เหลืออยู่ภายในอาคารชั้นที่ 3 ของศาลาแก้วกู่ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 - 18.30 น. ค่าเข้าชม ท่านละ 10 บาท


ปิดทริปอำลาเมืองริมโขงด้วยการไปชอปปิ้งของกินของฝากกันที่ ตลาดท่าเสด็จ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมือง เป็นตลาดนานาชาติของภูมิภาคอินโดจีน เป็นที่รวมของสินค้านำเข้าของเพื่อนบ้านจากลาว จีน เวียดนาม ที่มีมากมายหลายหลาก ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง อาหารแปรรูป และข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า นาฬิกา เครื่องครัว ฯลฯ พร้อมเดินทางกับถึงที่หมายด้วยความประทับใจไม่ลืมเลือน

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัพเดตสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น เกาะล้าน เชียงใหม่ สวนผึ้ง หัวหิน เกาะเสม็ด

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ ของ สุขละไมบึงกาฬ สุขสำราญที่หนองคาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook