ย้ายตัวเดียวสะเทือนวงการ : สงครามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมที่กำลังดุเดือดเพราะ "Ninja"

ย้ายตัวเดียวสะเทือนวงการ : สงครามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมที่กำลังดุเดือดเพราะ "Ninja"

ย้ายตัวเดียวสะเทือนวงการ : สงครามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมที่กำลังดุเดือดเพราะ "Ninja"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับวงการอีสปอร์ตแล้ว สตรีมเมอร์ (Streamer) หรืออาจจะเรียกในภาพรวมว่า คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ (Content Creator - ผู้สร้างคอนเทนต์) ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มบุคคลสำคัญที่ทำให้วงการนี้เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนมูลค่ารวมของวงการแตะหลัก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วในตอนนี้

จริงอยู่ที่พวกเขาไม่ได้ลงสนามแข่งขันอย่างเต็มตัว แต่การที่เกมใดเกมหนึ่งจะได้รับความนิยมจนสามารถนำไปต่อยอดให้มีการแข่งขันได้นั้น การเลือกหยิบเกมมาเล่นของสตรีมเมอร์ ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของคอเกมหรือแม้แต่นักกีฬาที่จะเล่นเกมนั้นอยู่ไม่น้อย

 

ซึ่งเรื่องดังกล่าว ก็รวมถึงช่องทางในการติดตามรับชมด้วยเช่นกัน เพราะทันทีที่ 'Ninja' สตรีมเมอร์ระดับแนวหน้าของโลกเลือกที่จะทิ้ง Twitch แพลตฟอร์มวิดีโออันดับ 1 ของสายเกม สู่แพลตฟอร์มที่อาจไม่ได้ยินบ่อยนักก่อนหน้านี้อย่าง Mixer... ทั้งวงการสตรีมเมอร์ รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็สั่นสะเทือนขึ้นมาในทันใด

ผู้ทรงอิทธิพลของวงการ

สำหรับคนทั่วไป ชื่อของ 'Ninja' ไทเลอร์ เบลวินส์ (Tyler Blevins) อาจทำให้คุณๆ ต้องทำหน้าคิ้วขมวด แต่สำหรับวงการเกมและอีสปอร์ต ชื่อนี้คือหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของวงการเลยทีเดียว

อันที่จริง Ninja นั้นเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตของเกม Halo ตั้งแต่ปี 2009 หรือจบชั้นไฮสคูล ผ่านการสังกัดทีมดังๆ มาแล้วมากมายอย่าง Cloud9, Team Liquid และ Renegades แต่หนึ่งในกิจวัตรที่นักกีฬาอีสปอร์ตส่วนใหญ่ทำ อย่างการสตรีมเกม เล่นโชว์สดๆ ให้ผู้ชมได้ดูแบบออนไลน์ ก็ได้นำเขาสู่เส้นทางสายใหม่ที่รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าการเป็นนักกีฬาเสียอีก

แม้เจ้าตัวจะสตรีมเกมแนว FPS (First Person Shooter - เกมแนวยิงบุคคลที่ 1) มาหลายเกม ไม่ว่าจะเป็น H1Z1, PUBG (PlayerUnknown's Battlegrounds) หรือแม้แต่ Halo แต่เมื่อเขาเริ่มหยิบเกม Fortnite มาสตรีมเมื่อปี 2017 ความนิยมในตัวเขารวมถึงเกมซึ่งเปิดตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็พุ่งทะยานทันที

 1

ส่วนคำถามที่ว่าพุ่งทะยานขนาดไหน? พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มสตรีม Fortnite ในเดือนกันยายน 2017 เขามีผู้ติดตาม (Follower) ใน Twitch อยู่ราว 500,000 คน แต่ 6 เดือนหลังจากนั้น ยอดผู้ติดตามก็พุ่งทะลุหลัก 2 ล้านคน ... ส่วน Fortnite นั้นก็กลายเป็นเกมแนว Battle Royale (เอาตัวรอดจนกว่าจะเหลือคนหรือกลุ่มสุดท้าย) ยอดนิยม จนสามารถจัดการแข่งขัน Fortnite World Cup ในปี 2019 ซึ่งเงินรางวัลทั้งในรอบคัดเลือกและรอบสุดท้ายรวมกันสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,000 ล้านบาท)

การหยิบเกมไหนมาจับเกมนั้นก็เป็นที่นิยมนี้เอง ทำให้บริษัทผู้ผลิตเกมต่างๆ ต้องยอมทุ่มเงินมหาศาลให้ Ninja ช่วยเล่นโปรโมท โดยในเดือนมีนาคม 2019 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า EA ผู้จัดจำหน่ายเกม Apex Legends หนึ่งในเกมแนว Battle Royale ทุ่มเงินถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 30 ล้านบาท) เพื่อให้เขาสตรีมเกมนี้ในช่วงที่เปิดตัวใหม่ๆ และทำให้ Apex Legends กลายเป็นหนึ่งในเกมยอดนิยมทันที

 2

ไม่เพียงเท่านั้น การสตรีมเกมที่ทำให้คนดูรู้สึกสนุก อยากเล่นตาม ก็ได้นำมาซึ่งรายได้อันมหาศาล เจ้าตัวเคยเปิดเผยกับ CNN เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ว่า ในบางเดือนเขาสามารถทำเงินได้มากกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และทำรายได้รวมในปี 2018 ราวๆ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรายได้นั้นก็มาจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ได้จาก Twitch จากการสมัครสมาชิก (Subscribe) เพื่อชมคอนเทนต์พิเศษ, การบริจาค (Donation) รวมถึงเงินที่ได้จากสปอนเซอร์แบบส่วนตัว

และด้วยความที่ชื่อของ Ninja นั้นหอมหวน สามารถดึงดูดสปอนเซอร์ระดับโลกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการเกมโดยตรงมาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Red Bull, adidas, Uber Eats และ Hershey's รวมถึงการเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพล ด้วยการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตคนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร ESPN และติดทำเนียบ 100 ผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสาร TIME ทำให้เขาก้าวข้ามวงการเกม สู่ความบันเทิงกระแสหลัก ได้เล่นโฆษณาฉลองครบรอบ 100 ปี NFL รวมถึงออกอัลบั้มเพลงของตัวเอง ร่วมงานกับดีเจชื่อดังอย่าง Alesso และ Marshmello ซึ่งทำให้ SportsPro สื่อกีฬาชื่อดังจัดเขาให้เป็นนักกีฬาที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเป็นอันดับ 14 ของโลกของปี 2018 และเป็นเพียงคนเดียวที่มาจากสายอีสปอร์ตอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงที่อาจมากกว่าตาเห็น

ด้วยชื่อเสียงและรายได้มหาศาลที่ Ninja ได้รับ Twitch แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมอันดับ 1 ซึ่งมื Amazon เป็นเจ้าของก็ได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะการสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook หรือ Twitch รายได้ทั้งหมดจะถูกหักออกส่วนหนึ่งเข้าสู่ผู้ให้บริการอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ากฎเกณฑ์ของแต่ละเจ้านั้นจะวางไว้ในรูปแบบใด ไม่เพียงเท่านั้น การที่มีคนมาติดตามชมการสตรีมเกมมากๆ มันก็ถือเป็นเครดิตสำหรับผู้ให้บริการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็เริ่มสังเกตว่า ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2019 บัลลังก์ 'ราชา Twitch' ของ Ninja ดูจะเริ่มสั่นคลอน เมื่อยอดสมัครสมาชิกในแชนแนลของเขาซึ่งเคยมีมากถึงกว่า 200,000 คน เริ่มที่จะลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับ กระทั่งเหลือไม่ถึง 30,000 คนในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าน้อยกว่า 'Shroud' ไมเคิล เกรเซียค (Michael Grzesiek) อีกหนึ่งสตรีมเมอร์คนดังร่วมแพลตฟอร์มเดียวกันเป็นเท่าตัว

 3

สำนักข่าว BBC ติดตามการสตรีมของเหล่าคนดังแห่งวงการเกมใน 1 สัปดาห์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2019 และพบว่า ช่วงเวลาที่ทั้งสองคนสตรีมเกมนั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด Shroud สตรีมเกมไปถึง 86 ชั่วโมง 3 นาที ขณะที่ Ninja ใช้เวลาสตรีมเพียง 32 ชั่วโมง 6 นาที ซึ่งสำหรับคอเกมแล้ว การที่สตรีมเมอร์คนโปรดหายหน้าจากหน้าจอไปนาน ก็มีส่วนทำให้พวกเขาเลิกที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มตัว ยอมเสียเงินให้ สู่การเป็นผู้ติดตามที่ไม่ต้องเสียเงินโดยปริยาย

มองมุมหนึ่ง การที่ Ninja สตรีมเกมน้อยลง ก็มีเหตุอันเชื่อได้ว่า ชื่อของเขาเริ่มที่จะอยู่ในกระแสหลักจนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการสตรีมเกมแบบหามรุ่งหามค่ำอย่างเดียวอีกต่อไป ทว่าท่ามกลางเรื่องราวที่ดูจะดำเนินไปในทิศทางนั้น สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็ก่อตัวสู่พายุลูกใหญ่อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

1 สิงหาคม 2019 Ninja ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เขามีอย่าง Facebook, Instagram, Twitter หรือแม้แต่ YouTube ในการลงคลิปประกาศสำคัญ ... แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ หนึ่งในช่องทางที่ลงคลิปนั้น ไม่ได้มี Twitch รวมอยู่ด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวมันเกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์นี้เต็มๆ

และใจความสำคัญในวิดีโอดังกล่าวคือ "Ninja จะย้ายที่สตรีมเกมจาก Twitch สู่ Mixer อย่างเป็นทางการ"

 4

เพียงเท่านี้ วงการเกมก็เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ เพราะการย้ายแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงไม่ต่างจากการย้ายสังกัดของนักกีฬาดัง อย่างตอนที่ เลบรอน เจมส์ ย้ายจาก คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส สู่ ไมอามี่ ฮีต เมื่อปี 2010 หรือ เนย์มาร์ ย้ายจาก บาร์เซโลน่า สู่ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ด้วยค่าตัวสถิติโลก 222 ล้านยูโร (ราว 7,700 ล้านบาท) เมื่อปี 2017 เลยแม้แต่น้อย

เอ่ยชื่อถึง Mixer หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ซึ่งก็อาจจะไม่แปลกนัก เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมดังกล่าวเพิ่งจะเปิดตัวเมื่อปี 2016 ในชื่อ Beam ก่อนถูก Microsoft ซื้อกิจการไปไม่นานหลังเปิดตัวและเปลี่ยนชื่อดังที่เห็นในปัจจุบันในปี 2017

Ninja เปิดใจในแถลงการณ์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญว่า "เมื่อผมมองถึงก้าวต่อไป การบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่กว่าร่วมกับ Mixer จะทำให้ผมมีโอกาสและความสำเร็จที่ลงตัว ต้นกำเนิดของผมนั้นมาจากเกม Halo การร่วมงานกับ Microsoft และ Mixer จึงเป็นเหมือนเส้นทางธรรมชาติด้วยเช่นกัน"

 5

พอล ทาสซี่ (Paul Tassi) จาก Forbes มองว่า หากพูดถึงเรื่องดังกล่าวก็ดูไม่แปลกเท่าไหร่ เนื่องจากในปี 2020 Microsoft ซึ่งมีสตูดิโอสร้างเกมแบบครบวงจรเช่นกันกำลังจะเดินหน้าสู่สงครามเกมคอนโซลยุคใหม่ด้วย Project Scatlett หรือ XBOX รุ่นใหม่ ที่จะเปิดตัวพร้อมๆ กับ Halo Infinite เกมภาคใหม่ของแฟรนไชส์ การได้ Ninja อดีตโปรเพลเยอร์ของเกมนี้ไปโปรโมทจะช่วยสร้างแรงสั่นสะเทือนได้มากไม่แพ้ตอนที่ Fortnite ดังระเบิดจากการสตรีมเกมของเขา

ทว่านั่นคือเป้าหมายในอนาคต เพราะ Microsoft วางเป้าหมายอีกเรื่องหนึ่งสำหรับ Mixer ไว้ ซึ่งพวกเขาเล็งเห็นว่า การจะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องใช้บริการของ Ninja สตรีมเมอร์ตัวท็อปของโลกเท่านั้น

สู่สงครามแพลตฟอร์มวิดีโอ

เรื่องดังกล่าวสะท้อนผ่านรายละเอียดที่สื่อหลายๆ เจ้าเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า มูลค่าของสัญญาที่ Ninja ได้รับเพื่อเปลี่ยนสถานที่สตรีมเกมจาก Twitch สู่ Mixer นั้นสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.5 พันล้านบาท) ซึ่งไม่มีการเปิดเผยว่า เจ้าตัวได้รับเท่าไหร่ และเป็นค่าฉีกสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟที่เดิมเขาสามารถสตรีมเกมกับ Twitch เพียงเจ้าเดียว สู่ Mixer เพียงเจ้าเดียวเท่าไหร่

ซึ่ง กู้-กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ หรือ 'Coolerist' จากเว็บไซต์ Thaigamewiki และแชนแนล Joystick inTH ให้ทรรศนะกับทาง Main Stand ว่า เป้าหมายที่แท้จริงของ Microsoft คือการดัน Mixer ให้ติดตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นเบอร์ 1 ของโลก

"อย่างที่ทราบกันว่า Twitch ตอนนี้คือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมเบอร์ 1 ของโลก ซึ่งก็มีผู้เล่นร่วมแข่งขันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook หรือ Nimo TV ซึ่งมี Tencent บริษัทเกมเบอร์ 1 ของประเทศจีนอยู่เบื้องหลัง ที่ต้องการโค่น Twitch ลงจากบัลลังก์ และ Microsoft มองว่า การจะทำให้ Mixer ติดตลาดโดยเร็วที่สุด คือการดึงสตรีมเมอร์อันดับ 1 ของโลกอย่าง Ninja เข้ามา"

 6

หากมองในระยะสั้น Ninja ก็สามารถทำให้ Mixer เป็นชื่อที่ติดตลาดสตรีมมิ่งเกมได้แบบฉับไวอย่างแท้จริง เพราะเพียง 1 สัปดาห์ที่เขาเข้าสู่แพลตฟอร์มนี้ ก็สามารถเรียกคนให้เข้ามาติดตามได้กว่า 800,000 คน อีกทั้งยังสร้างยอดวิวในแชนแนลของเขามากถึงกว่า 5 ล้านวิว และมีผู้ที่ยอมเสียเงินเพื่อเป็นสมาชิกในแชนแนลของเขามากกว่า 1 ล้านคนแล้ว

ถึงกระนั้น 'Dr Disrespect' หรือ กาย เบเฮม (Guy Beahm) อีกหนึ่งสตรีมเมอร์คนดังใน Twitch และถือเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่ชิงความโดดเด่นในโลกออนไลน์กับ Ninja ก็มองว่า หากต้องการให้ Mixer เป็นชื่อที่คอเกมต้องนึกถึงอย่างแท้จริงนั้น แค่คนเดียวอาจไม่พอ

"อันนี้เป็นแค่ความรู้สึกของผมนะ แต่ผมคิดว่า หาก Microsoft ไม่ดึงตัวสตรีมเมอร์คนอื่นมาร่วมด้วย สักพักยอดวิวโดยรวมก็จะลดลง รวมถึงของ Ninja ด้วย ซึ่งคนที่พวกเขาต้องการ ก็ต้องเป็นเบอร์ใหญ่ๆ ด้วยเช่นกัน บางทีถ้านับเฉพาะในท็อป 10 ของ Twitch อาจต้องซื้อตัวให้มาสตรีมกับ Mixer ถึง 5 คนเลย" นี่คือสิ่งที่ Dr Disrespect หรือ Doc พูดระหว่างการสตรีมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

และหาก Ninja ได้รับข้อเสนอมหาศาลเพื่อเปลี่ยนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง การจะดึงสตรีมเมอร์คนอื่นให้เขามาร่วมด้วยนั้น ตัว Doc มองว่าจะต้องใช้เงินที่มหาศาลไม่แพ้กัน

 7

"ผมไม่รู้หรอกนะว่า Ninja มันได้เท่าไหร่ แต่ถ้าจะให้ผมไปสตรีมที่ Mixer ด้วยแล้ว ก็ต้องได้ระดับเดียวกันหรือมากกว่าล่ะวะ กูไม่สนอยู่แล้วว่าจะต้องสตรีมผ่านที่ไหน ใครให้เงินมากกว่ากูก็พร้อมไปทั้งนั้นแหละ" เจ้าตัวทิ้งท้ายก่อนที่จะหัวเราะชอบใจ

การกระชาก Ninja สตรีมเมอร์ตัวท็อปแห่งวงการเกมจาก Twitch สู่ Mixer ยังถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมของวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกรวมถึงไทย เพราะหากจำกันได้ เมื่อช่วงปลายปี 2017 ถึงต้นปี 2018 คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังของไทยหลายราย ต่างพาเหรดกันทิ้ง YouTube ซึ่งเคยเป็นช่องทางสร้างชื่อ ไปสร้างแชนแนลใน Twitch พร้อมกับเซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟที่อนุญาตให้ลงคลิปได้แค่ที่เดียว 

แต่หลังจากนั้นไม่ถึงปี รูปการณ์ต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อ Facebook ลงมาสู้ในตลาดสตรีมมิ่งเกมอย่างเต็มตัวด้วย Facebook Gaming เช่นเดียวกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เริ่มกลับมาลงคลิปหรือสตรีมผ่านช่องทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ YouTube มากขึ้น

 8

หลายฝ่ายมองว่า การค่อยๆ เสื่อมความนิยมของ Twitch อาจเกิดขึ้นจากปัญหาภายในที่ Twitch มีต่อเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์เอง แต่ทาง Coolerist เลือกที่จะไม่เห็นด้วยหรือปฏิเสธ แต่มองว่าการถือกำเนิดของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สุดแล้ว คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ชม รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้วยเช่นกัน
 
"มันมีสุภาษิตฝรั่งที่บอกว่า 'อย่าเอาไข่ทุกใบใส่ตะกร้าใบเดียว' ซึ่งเรื่องของแพลตฟอร์มวิดีโอเนี่ยก็ต้องบอกว่า แต่ละตัวก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน Twitch อาจจะเด่นเรื่องการสตรีมเกม แต่ถ้าเป็นวิดีโอออนดีมานด์ เลือกดูอะไรก็ได้อย่างที่ใจอยาก ยังไงก็สู้ YouTube ที่ใหญ่กว่ากันเยอะไม่ได้"

"เรื่องสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟนั้น มันเป็นเรื่องที่คนดังระดับเบอร์ใหญ่จริงๆ เท่านั้นถึงจะได้รับ แต่สำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วไป วิธีการที่จะสร้างชื่อได้เร็วที่สุด คือการกระจายช่องทางให้มากที่สุด จะเป็นสายวิดีโออย่าง Twitch, YouTube, Mixer หรือรูปแบบอื่นอย่าง Facebook, Twitter, Instagram ก็เพราะโซเชี่ยลมีเดียแต่ละตัวมีจุดแข็ง จุดขายที่ต่างกัน ยิ่งเมื่อเราต้องการที่จะให้ชื่อเรา ตัวเรา ติดหูติดตาให้มากที่สุดแล้ว มันก็ต้องลุยหมดทุกช่องทาง" 

"สิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ คือ เราจะทำคอนเทนต์แบบไหน อย่างไรให้น่าสนใจ ให้น่าติดตาม เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมนั่นล่ะครับ"

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ย้ายตัวเดียวสะเทือนวงการ : สงครามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมที่กำลังดุเดือดเพราะ "Ninja"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook