ศูนย์รวมของคนไกลบ้าน : ชมรมซอฟท์บอลของคนญี่ปุ่นในไทย.. ที่มีอายุกว่า 40 ปี

ศูนย์รวมของคนไกลบ้าน : ชมรมซอฟท์บอลของคนญี่ปุ่นในไทย.. ที่มีอายุกว่า 40 ปี

ศูนย์รวมของคนไกลบ้าน : ชมรมซอฟท์บอลของคนญี่ปุ่นในไทย.. ที่มีอายุกว่า 40 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อการอยู่ต่างบ้านต่างเมืองไม่สามารถพรากความรักในกีฬาซอฟท์บอลไปจากพวกเขาได้

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในช่วงสายของวันอาทิตย์ กลุ่มคนไม่ต่ำกว่า 30 คน จับกลุ่มเล่นกีฬา “ซอฟท์บอล” อย่างสนุกสนาน ในสนามฟุตบอลโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ที่ถูกเนรมิตรเป็นสนามชั่วคราว ในขณะที่ข้างสนามพากันส่งเสียงเชียร์อย่างไม่ขาดสาย

แม้มันอาจจะไม่ใช่กีฬาที่คุ้นเคยกับชาวไทยมากนัก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น มันเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไม่น้อย ด้วยรูปแบบการเล่นที่คล้ายคลึงกับ “เบสบอล” กีฬาอันดับหนึ่งของชาวอาทิตย์อุทัย

 

พวกเขาคือชมรม Softball League of Japanese Association Club ชมรมคนญี่ปุ่นในประเทศไทย ผู้หลงใหลในกีฬาซอฟท์บอล ติดตามเรื่องราวของพวกเขาไปพร้อมกับ Main Stand

ชมรมที่ก่อตั้งมากว่า 40 ปี 

“จริงๆแล้วชมรมซอฟท์บอลนี้เป็นของชมรมของสมาคมญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน (ก่อตั้งในปี 1913) ส่วนการแข่งขันซอฟท์บอลของชมรมก็จัดขึ้นมา 40 กว่าปีแล้ว ปีนี้ (2019) จำได้ว่าเป็นการแข่งขันครั้งที่ 43”

 1

ฮิเดโนริ อุเอสึจิ ผู้จัดการทั่วไปและนักกีฬาของทีมชื่อไทยๆว่า “ส้มตำ” เล่าถึงที่มาของต้นกำเนิดของชมรมซอฟท์บอลคนญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ของสมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย (Japanese Association) 

ด้วยความที่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในหมุดหมายของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาว จากสถิติเมื่อปี 2560 ระบุว่ามีชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่เกินกว่า 3 เดือนสูงถึง 73,000 คน และเป็นกรุงเทพถึง 53,000 คน ทำให้สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย  มีบทบาทสำคัญในการดูแลชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย 

“สมาคมญี่ปุ่นจัดการแข่งขันหลายอย่าง ทั้งเทนนิส แบดมินตัน และกีฬาอื่นๆอีกมากมาย เช่นเดียวกัน เราก็มีการแข่งขันเชิงวัฒนธรรม ทำให้มีชมรมต่างๆมากมายในสมาคม และชมรมซอฟท์บอลก็เป็นหนึ่งในนั้น” อุเอสึจิอธิบาย

 2

ชมรมซอฟท์บอล ถือเป็นชมรมที่มีสมาชิกมากที่สุดในสมาคมญี่ปุ่น ด้วยจำนวนราว 300-400 คน พวกเขามีสมาชิกในหลากหลายอาชีพ ทั้งพนักงานบริษัท อาจารย์สอนภาษา เจ้าของธุรกิจส่วนตัว หรือแม้กระทั่งคนที่มาใช้ชีวิตในต่างแดนหลังเกษียณอายุ 

“เรามีทีมซอฟท์บอลที่ลงแข่งทั้งหมด 22 ทีม แต่ละทีมมีสมาชิกเฉลี่ยทีมละ 15 คน รวมๆแล้วเราน่าจะมีสมาชิกอยู่ราว 300-400 คน ผมคิดว่าใน 22 ทีม ทีมของบริษัทเอง มีอยู่ราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นทีมที่ไม่เกี่ยวกับบริษัท เป็นคนที่ชื่นชอบซอฟท์บอล มาเล่นกัน เขาเรียกว่าคลับทีม”  

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่คือคนญี่ปุ่น แต่ชมรมก็ยังมีโควตานักกีฬาต่างชาติ ที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีสัญชาติญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมกิจกรรมของพวกเขาได้ ทั้งคนไต้หวัน คนอเมริกัน หรือแม้กระทั่งคนไทย แต่จำกัดทีมละไม่เกิน 2 คน และห้ามเล่นในตำแหน่งพิชเชอร์ 

 3

“เรามีโควต้าคนต่างชาติให้ทีมละ 2 คน คนไทยก็ได้ ฝรั่งก็ได้ แต่ว่าคนต่างชาติ ห้ามเล่นตำแหน่งพิชเชอร์ เพราะว่าคนไทยที่เป็นพิชเชอร์เก่งๆมีหลายคน ถ้าเกิดเรียกมาเล่นก็จะได้เปรียบเกินไป ก็เลยยกเว้นตำแหน่งพิชเชอร์เอาไว้”  

พวกเขายังมีระบบลีกอย่างจริงจัง แบ่งเป็นดิวิชั่นบนและดิวิชั่นล่าง มีรอบฤดูกาลปกติ รอบเพลย์ออฟ เลื่อนชั้นตกชั้น รวมไปถึงชุดแข่งและอุปกรณ์การเล่นแบบครบเซ็ต ไม่ต่างจากการแข่งขันจริงๆของมืออาชีพ 

แต่ในเมื่อมีความพร้อมกันขนาดนี้ขนาดนี้ เหตุใดจึงเป็นซอฟท์บอล ไม่ใช่เบสบอลซึ่งกีฬายอดนิยมของชาวญี่ปุ่น

เข้าถึงทุกเพศทุกวัย 

แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟุตบอลจะขึ้นมาได้รับความนิยมมากขึ้น แต่เบสบอล ก็ยังเป็นกีฬาอันดับ 1 ของชาวญี่ปุ่น ทั้งในแง่ความสนใจ และเกมการแข่งขัน 

 4

จากข้อมูลของ Statista เว็บไซต์เก็บข้อมูลทางสถิติเผยว่า เบสบอลยังเป็นกีฬายอดฮิตของชาวญี่ปุ่นในปี 2018 ด้วยจำนวน 34.9 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยฟุตบอล (28.5%) ฟิกเกอร์ สเก็ต (16.5%) และ เทนนิส (14.5%)

เช่นเดียวกับกับลีกเบสบอลอาชีพญี่ปุ่น (NPB) ก็เป็นการแข่งขันที่ชาวแดนซามูไรติดตามมากที่สุดในปี 2017 ที่ 45.2% ส่วนอันดับ 2 คือซูโม่ที่ตามมาห่างๆ ที่ 27.3% และอันดับ 3 คือเจลีก 25% 

 5

แต่มันก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าคนญี่ปุ่นในต่างประเทศ จะนิยมในกีฬาชนิดนี้มากที่สุด เมื่อเหตุผลที่ทำให้คนญี่ปุ่นในไทยเลือกเล่นซอฟท์บอล แทนที่เบสบอลคือจำนวนคนที่เล่นกีฬาชนิดนี้มีมากกว่าอย่างชัดเจน 

เหตุผลสำคัญคือซอฟท์บอล เป็นกีฬาที่เล่นง่ายกว่าเบสบอล แม้จะมีกฎกติกาที่คล้ายคลึงกัน แต่มีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างกัน ทั้งลูกบอลมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อให้ตีได้ง่าย และไม้ตีที่มีขนาดสั้นกว่า รวมไปถึงการขว้างลูกด้วยมือล่าง ไม่เหมือนกับเบสบอลที่ต้องขว้างลูกให้เหนือไหล่ 

 6

“จริงๆแล้วคนที่เล่นเบสบอลได้ก็มีเยอะเหมือนกัน แต่คนที่เล่นซอฟท์บอลได้มีมากกว่า เพราะว่าซอฟท์บอลง่ายกว่าเบสบอล รับยากกว่า บอลก็แข็ง อันตราย ซอฟท์บอลอันตรายเหมือนกันนะ แต่อันตรายน้อยกว่า” อุเอสึจิเสริม

ซอฟท์บอล ยังเป็นกีฬาที่ผู้หญิงสามารถเล่นร่วมกับผู้ชายโดย ไม่เสียเปรียบเรื่องสรีระมากนัก และเท่าที่เราสังเกต ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในวันนี้ ทุกทีมล้วนมีผู้หญิงเป็นสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคน ทำให้มันกลายเป็นความบันเทิงที่สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศทุกวัย 

 7

“ซอฟท์บอล เป็นกีฬาที่ผู้หญิงและผู้ชายเล่นร่วมกันได้ อย่างทีมเมื่อกี้ (Apatch)  พิชเชอร์ก็เป็นผู้หญิง เธอเป็นครูพละที่โรงเรียนไทยญี่ปุ่น เห็นว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยพละศึกษา” 

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเล่นเบสบอลในประเทศไทยไม่ได้ก็คือเรื่องพื้นที่

การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ

“ในไทยหาที่เล่นเบสบอลยาก ถ้าซอฟท์บอลเล่นที่ไหนก็ได้ เพราะใช้สนามไม่ใหญ่ แต่เบสบอลใช้สนามใหญ่กว่า แค่สนามบอลไม่พอ ขนาดของพื้นที่ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง” อุเอสึจิอธิบาย

 8

แม้ว่าเบสบอลและซอฟท์บอล จะเป็นกีฬาที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ซอฟท์บอลเล่นได้ง่ายกว่าในประเทศไทย คือการไม่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่มากในการแข่งขัน 

ด้วยความที่แต่เดิม ซอฟท์บอลเป็นกีฬาที่มีต้นกำเนิดมากจากการเล่นในร่ม หรือในโรงยิมที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้ระยะทางระหว่างเบสทั้ง 3  และจุดโฮมของกีฬาชนิดนี้ใกล้กว่าเบสบอลมาก กล่าวคือซอฟท์บอลจะมีระยะห่างระหว่างเบสเพียง 60 ฟุต (18.29 เมตร) และระยะไกลที่สุดจากโฮมเพลทถึงรั้วกั้นมีระยะอย่างน้อย 220 ฟุต (67.06 เมตร) 

 9

ในขณะที่เบสบอล จะต้องใช้ระยะห่างระหว่างเบสถึง 90 ฟุต (27.4 เมตร) รวมไปถึงระยะทางจากโฮมเพลทถึงรั้วสนามต้องไม่ต่ำกว่า 250 ฟุต (76.2 เมตร) โดยมีระยะที่เหมาะสม 320-400 ฟุต (97.5-120 เมตร)  ทำให้สนามฟุตบอลที่ปกติ มีความกว้างเพียง 68 เมตร เล็กเกินไปสำหรับกีฬาชนิดนี้ 

“ก่อนหน้านี้การแข่งขันซอฟท์บอลของสมาคมญี่ปุ่น แข่งกันที่โรงเรียนไทยญี่ปุ่นตรงถนนพระราม 9 มาตลอด 40 ปีจนถึงปีแล้ว แต่เนื่องจากโรงเรียนสร้างอาคารใหม่ ทำให้สนามเล็กลง เล็กเกินไปที่จะเล่นซอฟท์บอล เราจึงย้ายกันมาแข่งที่นี่ ที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว” อุเอสึจิ ย้อนความหลัง 

 10

การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในประเทศไทย โดยเฉพาะลานกีฬา เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างอย่างนาน ไม่ต้องพูดถึงสนามเบสบอล หรือซอฟท์บอล แค่สนามฟุตบอลที่เป็นกีฬายอดนิยมของคนไทย ยังหาพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ยากไม่แพ้กัน 

จากสถิติเมื่อปี 2557 ระบุว่าในกรุงเทพมีลานกีฬาที่มีพื้นที่มากกว่า 1 ไร่เพียง 133 แห่ง และพื้นที่ 200-400 ตารางวา 200 แห่ง ในขณะที่ ลานกีฬาขนาดเล็กอีก 893 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,266 แห่ง ทำให้เฉลี่ยออกมาแล้ว ลานกีฬา 1 สนาม จะต้องรองรับประชากรถึง 6,800 คน

 11

“พื้นที่สาธารณะของไทยน้อยมากเมื่อ เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น สนามซอฟท์บอลก็มีน้อย ผมว่าการจัดสรรพื้นที่สาธารณะระหว่างไทยกับญี่ปุ่นต่างกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นซอฟท์บอล หรือฟุตบอล ญี่ปุ่นก็จะมีสนามที่คนทั่วไปสามารถเล่นได้ในจำนวนที่มากกว่า” อุเอสึจิให้ความเห็น  

“อย่างที่ญี่ปุ่นก็จะมีพื้นที่ริมน้ำที่รัฐบาลท้องถิ่นจัดให้ ตามแม่น้ำมีพื้นที่กว้าง ทางการก็จะทำเป็นสนามซอฟท์บอล เบสบอล หรือฟุตบอล ให้คนทั่วไปเล่นได้ จัดสรรให้กับคนในพื้นที่ ใครก็ใช้ได้ เป็นเหมือนสวัสดิการสำหรับประชาชน” 

 12

อุเอสึจิซัง มองว่าการจัดสรรพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมแก่ประชาชน ยังเป็นช่องทางในการสร้างนักกีฬาในอนาคต รวมไปถึงการยกระดับสุขภาพของคนในประเทศอีกด้วย 

“ไม่ว่าฟุตบอล ซอฟท์บอลหรือกีฬาอย่างอื่น ทางรัฐบาลน่าจะจัดสถานที่ให้มากขึ้น เพราะว่าถ้ามีสถานที่สำหรับการแข่งขันกีฬาทุกชนิดมากยิ่งขึ้น ประชากรก็จะเล่นกีฬามากขึ้น ถ้าเล่นกันมากขึ้น ในอนาคตทีมชาติในแต่ละกีฬามีคนที่เก่งมากๆขึ้น” 

“มันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักกีฬา และยกระดับสุขภาพของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้น เป็นเหมือนสวัสดิการสำหรับประชาชน”

ความเป็นญี่ปุ่นที่ไม่เคยหายไป 

แม้ว่าการแข่งขันของชมรมซอฟท์บอลจะมีจุดประสงค์หลัก เพื่อการพบปะสังสรรค์ระหว่างคนญี่ปุ่นด้วยกัน แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนจากพวกเขาคือความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังตามแบบฉบับคนญี่ปุ่น 

 13

ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม แต่พวกเขาก็เล่นอย่างไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็นการขว้างลูกสุดแรง การวิ่งอย่างเต็มฝีเท้าเพื่อเข้าเบส หรือแม้กระทั่งกระโดดพุ่งรับลูกชนิดต้องสไลด์ตัวไปตามพื้นหญ้า

“ก็จริงจังครับ ทุกทีมที่ลงแข่งก็เล่นอย่างเต็มที่ เราต่างอยากชนะเลิศด้วยกันทั้งนั้น” อุเอสึจิอธิบาย  

 14

กิตติทัศน์ ศิริทรัพย์ หนึ่งในผู้เล่นชาวไทยของทีม KR ที่เป็นสมาชิกของชมรมซอฟท์บอลสมาคมญี่ปุ่นก็สัมผัสได้ถึงคาแร็คเตอร์ที่จริงจังของชาวญี่ปุ่น จากประสบการณ์ที่เล่นอยู่ในชมรมนี้มากว่า 20 ปี

“ญี่ปุ่นก็เน้นเรื่องความสนุกของการออกกำลังกาย แต่ด้วยคาแรคเตอร์ของเขา ก็มีความจริงจังในระดับหนึ่ง อาจจะดูเฮฮา ดูหัวเราะ แต่เราก็มีความจริงจัง เล่นสนุกมากเกินไปก็ไม่ถูก” กิตติทัศน์กล่าวกับ Main Stand

 15

ไม่เพียงแต่การแข่งขันในสนามเท่านั้น ความเป็นญี่ปุ่นยังถูกสะท้อนออกมาในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตะโกนให้กำลังใจตลอดเวลา จากผู้เล่นที่ไม่ได้ลงสนาม หรือการที่ไม่มีผู้เล่นตัวสำรองคนไหนออกมาหลบร้อนอยู่ข้างสนาม หรือนั่งเล่นมือถือขณะที่ทีมมีแข่ง 

“คนญี่ปุ่นจะตะโกนให้กำลังใจตลอด กัมบาเระ กัมบาเระ (พยายามเข้า) จะไม่มีการมาต่อว่ากันทำไมลูกนี้รับไม่ได้ ทำไมทำพลาดอย่างโน้นอย่างนี้”  กิตติทัศน์กล่าวต่อ 

“มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่ติดตัวพวกเขา เหมือนกับคนไทยที่ทักทายว่า ไปไหนมา หรือคนจีนที่พูดว่า กินข้าวหรือยัง คนญี่ปุ่นก็คือการพูดคำว่าพยายามเข้า” 

“หรืออย่างเรื่องกระติกน้ำแข็ง คนที่อายุน้อยที่สุดก็จะรับหน้าที่ดูแลไปเลย เป็นวัฒนธรรมของเขา” 

 16

นอกจากนี้พวกเขายังให้ความเคารพสถานที่ โดยจะมีการเก็บขยะมารวมกันแล้วเอาไปทิ้งข้างนอก เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อเจ้าของสถานที่ กิตติทัศน์ยังเล่าว่าในสมัยที่ใช้สนามที่โรงเรียนไทยญี่ปุ่นที่เป็นสนามทราย ทุกครั้งที่จบการแข่งขันในแต่ละเกม ทั้งสองทีมจะช่วยกันเตรียมสนามให้กับคู่ต่อไป 

“ที่นี่อาจจะไม่เห็นภาพชัดเจนเท่าไร แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่สนามโรงเรียนไทยญี่ปุ่น ทุกครั้งที่แข่งเสร็จ ทีมจะช่วยกันเตรียมสนามให้กับทีมต่อไป มันเป็นเหมือนกับการเคารพสนาม”

“หรืออย่างที่นี่ (โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว) เขารู้ว่าเป็นสถานศึกษา เวลาจะสูบบุหรี่ เขาก็จะออกไปสูบกันนอกโรงเรียน เพราะรู้ว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้ เขาให้ความเคารพกับสถานที่” 

 17

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นการแข่งขันของมือสมัครเล่น หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นเพียงงานอดิเรกในวันหยุด แต่ความเป็นญี่ปุ่นยังอยู่ในตัวพวกเขาอยู่เสมอ มันคือลักษณะเฉพาะตัวของคนญี่ปุ่น ที่สะท้อนออกมาผ่านการเล่นกีฬา ว่าพวกเขายังคงยึดมั่นและปฏิบัติในสิ่งที่ได้ปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กจนโต ราวกับว่ามันคือจิตวิญญาณของซามูไรที่ไม่เคยจางหายไป

“คนญี่ปุ่นเชื่อในกฎกติกา พวกเขาจึงเคร่งครัดในกติกามาก การตัดสินมันอาจจะมีผิดถูก แต่พวกเขาก็เคารพคำตัดสิน เมื่อมันถูกตัดสินไปแล้ว” 

“ถ้าจะพูดให้ชัดเจนคือการเล่นซอฟท์บอลของพวกเขาคือความสนุกในกรอบกติกาที่ชัดเจน และทุกคนก็เคารพในหน้าที่ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นได้” 

 18

ในขณะเดียวกัน ชมรมซอฟท์บอลของพวกเขายังทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนคลายเหงา ให้กับคนญี่ปุ่นที่ต้องจากบ้านเกิด อีกทั้งยังเติมเต็มให้ชีวิตที่ไม่คุ้นเคยในต่างแดน รวมทั้งเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงที่ช่วยคลายความคิดถึงบ้าน  

และอย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาได้รู้ว่ายังมีคนที่ “รัก” ในสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนก็ตาม 

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ ศูนย์รวมของคนไกลบ้าน : ชมรมซอฟท์บอลของคนญี่ปุ่นในไทย.. ที่มีอายุกว่า 40 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook