มวยไทยเตะเก่ง : แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีแชมป์โลกคิกบอกซิ่งชาวไทย?
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/191/959007/a.jpgมวยไทยเตะเก่ง : แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีแชมป์โลกคิกบอกซิ่งชาวไทย?

    มวยไทยเตะเก่ง : แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีแชมป์โลกคิกบอกซิ่งชาวไทย?

    2019-08-03T08:32:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ไม่มีใครสงสัยในพลังการเตะของนักมวยสายเลือดไทย แต่ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ เหตุใดกีฬาต่อสู้ที่ใช้หมัดและเท้าอย่าง "คิกบอกซิ่ง" กลับไม่ค่อยมีแชมป์โลกคนไทย?

    หากจะหากีฬาสักชนิดหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยมากที่สุด ผู้อ่านหลายคนคงนึกถึง "คิกบอกซิ่ง" (Kickboxing) ศิลปะการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น

    เพราะถ้ามองแบบผิวเผิน จะเห็นได้ว่า คิกบอกซิ่ง สามารถใช้เท้าและหมัดได้เหมือนกับมวยไทย แตกต่างกันแค่ห้ามใช้เข่าและศอก หากเป็นเช่นนั้น ชาติที่มีนักสู้เชี่ยวชาญเรื่องการเตะและการต่อยเบอร์ต้นๆของโลก อย่างประเทศไทย ก็ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากคิดจะเอาดีทางกีฬาชนิดนี้?

    แต่ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม "ไทย" ไม่ใช่มหาอำนาจของกีฬาคิกบอกซิ่ง และแชมป์โลกส่วนมากของกีฬาชนิดนี้ก็ไม่ใช่นักมวยไทย 

    เพราะเหตุใดกัน ชาติที่นักมวยมีความสามารถด้านการเตะที่หนักหน่วง และการชกด้วยมือที่ไม่เป็นรองใคร ถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จในคิกบอกซิ่ง?

    เริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง

    คิกบอกซิ่ง (Kickboxing) เป็นกีฬาที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายยุค 1950’s ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ผสมผสานระหว่าง คาราเต้ (Karate) กับ มวยไทย (Muay Thai) โดยแรกเริ่มมีการเสนอให้ตั้งชื่อว่า คาราเต้ บอกซิ่ง (Karate-Boxing) แต่ต่อมา โอซุมะ โนงูชิ ได้คิดคำนิยามกีฬานี้ว่า "คิกบอกซิ่ง" 

     1

    จากนั้นไม่นาน คิกบอกซิ่งถูกนำมาเผยแพร่ยังประเทศไทยโดยโนงูชิ จนเกิดการชกคิกบอกซิ่งครั้งแรกในโลก ระหว่างนักมวยไทยกับนักมวยญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1967 ที่เวทีมวยลุมพินี

    การชกในครั้งนั้นได้รับความสนใจจากแฟนมวยจำนวนมาก แต่ฝั่งไทยประเมินศิลปะการต่อสู้ใหม่จากญี่ปุ่นไว้ค่อนข้างต่ำ จึงเลือกส่งนักชก 3 คนที่เป็นเกรดรองลงชก

    ผลการชก เห่าไฟ ลูกคลองตัน นักชกที่ใกล้ปลดระวาง เป็นฝ่ายแพ้ อาคิโอะ ฟูจิฮาระ ส่วน ตั้ง แซ่เล้ง ที่ผันตัวมาเป็นเทรนเนอร์ ก็แพ้ให้กับ ทาดาชิ นากามูระ มีเพียง ราวี เดชาชัย นักมวยดังที่ร้างสังเวียนไปร่วมปี เจอกับ เคนจิ คุโรซากิ แต่ไฟต์นี้ราวีกู้หน้าไล่ตะบันจนนักชกญี่ปุ่นพ่ายน็อก

    หลังไฟต์นั้นมีเรื่องเล่าว่า คนในวงการมวยไทยค่อนข้างไม่พอใจที่โนงูชิพยายามใช้เล่ห์กลสารพัด เพื่อทำให้ชื่อเสียงของคิกบอกซิ่งเป็นที่รู้จักในฐานะกีฬาการต่อสู้ที่ดีสุดในโลก ทั้งข่าวลือเรื่องการยุยงให้เห่าไฟยอมแพ้ แลกกับการนำตัวไปชกที่ญี่ปุ่น รวมถึงการมาศึกษาศาสตร์มวยไทยเพื่อนำไปพัฒนาคิกบอกซิ่งญี่ปุ่นให้เป็นรูปเป็นร่าง 

    แม้อีก 8 ปีต่อมา ฝ่ายไทยแก้มือคืนได้ในการเอาชนะนักคิกบอกซิ่งจากญี่ปุ่น แต่มีเรื่องเล่าว่าโนงูชิถูกจอมพลถนอม กิตติขจร เนรเทศออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของประเทศ 

     2

    นั่นจึงเป็นต้นตอที่ทำให้ "คิกบอกซิ่ง" ไม่ได้รับความนิยมในไทย แถมยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แม้ญี่ปุ่นจะพัฒนากีฬานี้ต่อ จนทำให้คิกบอกซิ่งเริ่มแพร่หลายไปยังหลายๆประเทศทั่วโลก ในช่วง 1960s เป็นต้นมา แต่ถึงกระนั้น คิกบอกซิ่งก็ยังไม่สามารถเจาะตลาดในไทยได้จนถึงปัจจุบัน

    "คิกบอกซิ่งเริ่มต้นเข้ามาเมืองไทยด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก คนในวงการมวยยุคนั้นมองว่านี่คือกีฬาของญี่ปุ่นที่เข้ามาทำลายล้างมวยไทย แถมยังเอาศิลปะของเราไปดัดแปลงเป็นของตัวเอง ทำให้คนไทยไม่ค่อยอินกับคิกบอกซิ่ง และมีความรู้สึกเชิงลบกับกีฬานี้"

    "แต่ความเป็นจริง คิกบอกซิ่งมีการแตกแขนงออกไปหลายสาย ทั้ง คิกบอกซิ่ง แบบญี่ปุ่น, บราซิล, ดัตช์, อเมริกา ไม่ได้มีแค่แบบญี่ปุ่น โดยแต่ละสายก็มีรูปแบบ กฏ กติกา ที่ไม่เหมือนกันนัก แต่โดยหลักการจะไม่มีการใช้ศอกและเข่า เพราะจะให้เลือดออก และไฟต์จบเร็ว" จิติณัฐ อัษฎามงคล นายกสมาคมสมาพันธ์ศิลปะการต่อสู้ผสมผสานประเทศไทย (TMMAF) และ ประธาน ONE Championship (ประเทศไทย) ขยายความเพิ่มเติม

    สไตล์ที่แตกต่าง

    "หลายคนเข้าใจว่า คิกบอกซิ่งคือมวยไทยที่ไม่มีเข่าและศอก แต่ความจริงทั้งสองกีฬามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีการข้ามสายไปต่อยกันเสมอ แต่พวกเขาไม่เหมือนกัน"

    "คิกบอกซิ่งใช้อาวุธได้ 4 จุด (2 หมัด 2 เท้า) ส่วนมวยไทยใช้ได้ 8 (2 หมัด 2 เท้า 2 เข่า 2 ศอก) และสามารถกอดกันเพื่อสร้างจังหวะวงในได้ แตกต่างกับคิกบอกซิ่งที่ส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้กอดกัน บางโปรโมชั่นถึงขั้นแยกนักมวยทันทีเมื่อมีการกอด"

     3

    ข้อความส่วนหนึ่งจากบทความ "คิกบอกซิ่ง VS มวยไทย : ความเหมือนที่แตกต่างกัน" ที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์และค้นหาข้อมูล จาก "เบนจามิน ซินบีมวยไทย" - ผู้เคยผ่านการชกมวยไทย, MMA, บราซิเลียน ยิวยิตสู รวมถึงการต่อสู้แบบตะวันตก 

    เขาอธิบายว่า คิกบอกซิ่งมีรากส่วนหนึ่งมาจากมวยไทย แต่ทั้งสองกีฬาก็มีสไตล์การต่อสู้ที่แตกต่างกันมากพอสมควร เบนจามินยกตัวอย่าง คิกบอกซิ่งแบบอเมริกา (American Kickboxing) เป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้องมวยไทย แต่ได้รับอิทธิพลมาจากคาราเต้ ฟูล คอนแทกต์ (Karate Full Contact) ซึ่งได้รับความนิยมในอเมริกาช่วงยุค 60s-80s ผสมผสานกับคิกบอกซิ่ง ญี่ปุ่น ก่อนพัฒนามาเป็นคิกบอกซิ่ง แบบฉบับอเมริกา ที่ห้ามเตะต่ำกว่าเข็มขัดและห้ามกอด (จะถูกแยกทันที)

    ขณะที่ คิกบอกซิ่งในญี่ปุ่น อย่างรายการ K-1 สามารถเตะได้ทั้งส่วนบนและล่างของร่างกาย รวมถึงเคยอนุญาตให้ตีเข่าได้ กอดได้ (แต่จำกัดจำนวนครั้ง) เช่นกันกับคิกบอกซิ่ง แบบดัตช์ (Dutch Kickboxing) ที่อนุญาตให้เตะตัดล่างได้ เพราะได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น ส่วนคิกบอกซิ่ง จีน (Chinese Kickboxing, San Chou, Sanda) มีการผสมผสานระหว่างมวยไทย, มวยปล้ำ, กังฟู, ยูโด จึงสามารถทุ่มและกอดได้  

    ความแตกต่างในเรื่องของสไตล์และรูปแบบการชกคิกบอกซิ่งที่หลากหลายตามแต่ละประเทศ ย่อมส่งผลให้นักมวยไทยที่ต้องออกไปต่อยคิกบอกซิ่งในต่างแดน (เนื่องจากประเทศไทยไม่มีจัดการคิกบอกซิ่งอาชีพ) มักดูเสียเปรียบคู่แข่ง ตั้งแต่ยุคบุกเบิก K-1 

    เพราะคิกบอกซิ่งเป็นกีฬาที่มีกฏ กติกา วิธีการให้คะแนนที่ไม่เหมือนกับมวยไทย (ในประเทศไทย) ทำให้นักชกบ้านเราพบกับเจอความยากลำบาก และไม่สามารถแสดงฝีมือออกมาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากถูกลดทอนอาวุธ แถมบางครั้งยังถูกตัดคะแนนจากการทำฟาวล์ในจังหวะที่ตนเองคุ้นชิน 

    "ด้วยความที่เขานับถือนักมวยไทยมาก เพราะเป็นสายพันธุ์นักสู้ที่แข็งแกร่งสุดในโลก ผู้สร้าง K-1 จึงพยายามเอานักมวยไทยไปชกคิกบอกซิ่ง ด้วยการวางคาแรกเตอร์ให้เราเป็นเหมือนสัตว์ประหลาดที่นักมวยญี่ปุ่นต้องเอาชนะให้ได้" จิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน ONE Championship กล่าวเริ่ม 

     4

    "นักมวยไทยกับนักคิกบอกซิ่งต่างชาติถูกฝึกฝนมาต่างกัน เพราะกฏ กติกา และวิธีการเอาชนะ อย่างนักมวยไทย จะมีร่างกายแข็งแกร่ง ทนทาน อึด เพราะต้องเอาร่างกายรับอาวุธหนักคู่ต่อสู้ แต่เครื่องร้อนช้า เพราะคุ้นชินกับรูปแบบการชกมวยไทย 5 ยก ที่ 1-2 ยกแรกจะเป็นการลองเชิง เพราะต้องทำให้เกิดราคาต่อรองการพนัน"

    "สังเกตได้ว่า มวยไทยจะไม่ค่อยมีการน็อกในยกแรก จากนั้นจึงค่อยๆไต่ระดับการชกมาถึงยก 4 ที่เป็นตัวชี้ขาด ไม่ก็ต้องตีเข่า ฟันศอก ให้คู่ต่อสู้มีอาการ เสียทรงมวย หรือน็อกเอาท์"

    "จุดนี้แตกต่างกับคิกบอกซิ่ง ที่ไม่ตัดสินจากทรงมวย แต่ให้คะแนนจากใครเป็นฝ่ายต่อยเตะได้เข้าเป้ามากกว่า นักชกคิกบอกซิ่งจึงใส่กันตั้งแต่ยกแรก เพราะมี 3 ยก แถมยังมีการออกหมัดชุด และมีการปล่อยหมัดที่มากกว่าในมวยไทย ทำให้นักมวยคนไทยที่ไม่คุ้นชินจึงมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวช่วงยก 1 และกลางยก 2 รวมถึงเรื่องการกอด การไล่แขน การโน้มคอตีเข่าที่นักมวยไทยชิน แต่ผิดกติกาคิกบอกซิ่ง"

    เบนจามิน ซินบีมวยไทย เขียนถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยเขามองว่า คิกบอกซิ่งมีการเคลื่อนไหวศรีษะและฟุตเวิร์ก การสร้างจังหวะการชกมากกว่ามวยไทย ที่ไปเน้นเรื่องการกอดเพื่อสร้างจังหวะตีเข่า ฟันศอก แม้แต่การเตะของคิกบอกซิ่ง ก็ไม่เหมือนกับมวยไทย 

    เพราะคิกบอกซิ่งเน้นการเหวี่ยงสะโพกเตะให้เข้าเป้า ส่วนมวยไทยจะเน้นการทื่รุนแรงด้วยหน้าแข้ง เพื่อทำให้คู่แข่งเสียอาการ รวมถึงลูกถีบ ที่ไม่ค่อยเกิดบนเวทีคิกบอกซิ่ง 

    ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างกันนี่เอง ทำให้นักมวยไทยยามข้ามสายไปต่อยคิกบอกซิ่ง ต่างเจอกับปัญหาในการปรับตัวมากพอสมควร แม้จะมีต้นทุนร่างกายที่ดีและทักษะการเตะที่รุนแรงก็ตาม อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องสรีระ ในการแข่งขันคิกบอกซิ่งอาชีพที่ยุโรป ไม่ค่อยนิยมจัดรุ่นเล็ก นักมวยไทยที่ต้องข้ามสายจึงต้องมีน้ำหนักที่มากในระดับหนึ่งเพื่อให้เข้าเกณฑ์

    นักมวยไทยที่ผันตัวไปต่อยคิกบอกซิ่งจึงนิยมต่อยในเอเชียมากกว่า อย่างในประเทศจีน, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในโปรโมชั่นของ ONE Championship ที่เริ่มมีจัดการทัวร์นาเมนต์คิกบอกซิ่ง

    กีฬาพี่น้องบนเส้นขนาน

    หากสำรวจดูแชมป์โลกจากศึกคิกบอกซิ่งระดับโลก 3 โปรโมชั่น (Glory, K-1, Kunlun Fight) ในปัจจุบัน ก็จะพบว่า มีแชมป์โลกสัญชาติไทยเพียงแค่ศึกละ 1 คนเท่านั้น 

     5

    ประกอบด้วย เพชรพนมรุ้ง เกียรติหมู่ 9 แชมป์โลกคิกบอกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวต ศึก Glory, ซุปเปอร์บอน บัญชาเมฆ แชมป์โลกรุ่นไลท์เวต Kunlun Fight และ แก้ว แฟร์เท็กซ์ แชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ไลท์เวต K-1

    แม้การไปต่อยคิกบอกซิ่งในระดับโลกจะสร้างชื่อเสียงและรายได้สุดงาม 7 หลักต่อไฟต์ให้แก่นักมวยไทย แต่ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้นักมวยไทยไปประสบความสำเร็จในคิกบอกซิ่งยังมีน้อยเกินไป ต่อให้มีตัวอย่างของนักมวยไทยที่ได้ดิบได้ดีจากการต่อยคิกบอกซิ่ง อย่างเช่น บัวขาว บัญชาเมฆ ที่โด่งดังจากศึก K-1 ที่ปราบนักมวยญี่ปุ่นเป็นว่าเล่น และต่อยอดความดังในรายการ Kunlun Fight ก็ตาม 

    "อุปสรรคสำคัญคือโครงสร้างคิกบอกซิ่งในไทยยังไม่มี ครูมวยที่มีความรู้เกี่ยวกับคิกบอกซิ่งยังมีน้อย และค่ายจำนวนมากก็ไม่ยังค่อยส่งเสริมให้นักมวยตัวเองไปต่อยคิกบอกซิ่ง เพราะอาจมีความเชื่อว่า คิกบอกซิ่งเป็นกีฬาที่ลดทอนคุณค่ามวยไทย"

    "ทั้งที่ในความจริง มวยไทยสามารถเรียนรู้หลายๆอย่างจากคิกบอกซิ่งได้ เช่น ระบบวิทยาศาสตร์ การฝึกซ้อมพัฒนานักมวยอย่างเป็นระบบ รวมถึงสร้างมูลค่าให้นักมวยได้มหาศาล อย่าง บัวขาว, พี่แสนชัย ที่มีชื่อเสียงในต่างแดนเพราะการต่อยคิกบอกซิ่ง"

    "ก็น่าเสียดายเหมือนกัน เพราะในขณะที่นักคิกบอกซิ่งต่างชาติเดินทางมาฝึกและซึบซับและนำเอาเทคนิคบางอย่างของมวยไทยไปพัฒนาจนเป็นนักคิกบอกซิ่งที่เก่งกาจ บ้านเรายังไม่ค่อยเปิดรับที่จะเรียนรู้บางอย่างจากคิกบอกซิ่ง รวมถึงยังติดกับการพนันมากเกินไป" จิติณัฐ อัษฎามงคล กล่าว

     6

    มวยไทย (ในประเทศ) และคิกบอกซิ่ง จึงกลายเป็นกีฬาพี่น้องที่ดูเข้ากันได้และน่าจะไปด้วยกันได้ดี แต่กลับยืนบนเส้นขนานที่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ก้าวข้ามเส้นนั้นได้ เพียงเพราะอคติ และการไม่เปิดใจเรียนรู้กัน ซึ่งมันอาจจะดีกว่าหากเราเปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อยกระดับมวยไทยให้ไปอีกขั้น 

    "ผมรู้สึกว่าศิลปะการต่อสู้ทั้งมวยไทยและคิกบอกซิ่ง ต่างมีประโยชน์ส่งเสริมต่อกัน" เบนจามิน ซินบีมวยไทย กล่าว

    "หากครูฝึกมวยไทย เรียนรู้ทักษะการชก การเตะตัดแบบดัตช์ที่ทรงพลัง แม้แต่การจังหวะการหมุนตัวเตะ (แบบคิกบอกซิ่ง) ก็อาจช่วยให้นักมวยไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคู่ชกคงคาดไม่ถึงว่านักมวยไทยจะเลือกใช้ลูกหมุนตัวเตะ"

    อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ มวยไทยเตะเก่ง : แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีแชมป์โลกคิกบอกซิ่งชาวไทย?