สงครามกลางเมืองร่วม 100 ปี ที่ทำให้ "มคิตาร์ยาน" พลาดนัดชิงบอลถ้วยยุโรป

สงครามกลางเมืองร่วม 100 ปี ที่ทำให้ "มคิตาร์ยาน" พลาดนัดชิงบอลถ้วยยุโรป

สงครามกลางเมืองร่วม 100 ปี ที่ทำให้ "มคิตาร์ยาน" พลาดนัดชิงบอลถ้วยยุโรป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ่อยครั้ง ที่เราจะได้เห็นคำพูดว่า “การเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล” ซึ่งเป็นคำที่ทุกฝ่ายในวงการลูกหนังอยากให้เกิดขึ้น เพียงแต่ในบางครั้ง ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพที่ตรงข้าม กับมายาคติของมนุษย์

เฮนริค มคิตาร์ยาน (Henrikh Mkhitaryan) นักฟุตบอลชาวอาร์เมเนีย กำลังจะพลาดเกมการแข่งขัน นักชิงชนะเลิศ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ทั้งที่เขาไม่ได้บาดเจ็บ หรือติดโทษแบน แต่เป็นเพราะปัญหาด้านการเมือง ระหว่างประเทศ

เกมการแข่งขัน นัดชิงชนะเลิศ ของฟุตบอลยุโรปถ้วยเล็ก จะถูกจัดขึ้นในอาเซอร์ไบจาน ประเทศที่มีปัญหากับชาติบ้านเกิดของมาร์คิตายาน ยาวนานร่วม 100 ปึ

 

Main Stand จะพาไปย้อนดูความหลัง จุดเริ่มต้นของปัญหา ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน ที่กินเวลายาวนานข้ามศตวรรษ จนลามมาถึงโลกของกีฬาในปัจจุบัน

ดินแดน / ศาสนา / สงคราม และความตาย

แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอาณาเขตติดกัน แต่อาร์เมเนีย และอาร์เซอร์ไบจาน ไม่มีช่วงเวลา ที่มีความสัมพันธ์ทางการฑูต ด้วยกันเลยสักครั้ง นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ก่อร่างสร้างประเทศ ของทั้งสองเชื้อชาติ

 1

ปี 1918 คือช่วงเวลาที่หลายเชื้อชาติ ประกาศเอกราชของประเทศ โดยการแยกตัวจากจักรวรรดิรัสเซีย ด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในประเทศรัสเซีย ซึ่ง 2 ชนชาติ ที่ได้ตั้งประเทศของตนเองขึ้นมา คือ อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน

ถึงจะแยกออกมาจากรัสเซีย เหมือนกัน แต่ด้วยทั้งสองประเทศ นับถือศาสนาไม่เหมือนกัน (อาร์เมเนีย-ศาสนาคริสต์, อาเซอร์ไบจาน-ศาสนาอิสลาม) ทำให้ทั้งสองเชื้อชาติ ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเท่าใดนัก มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้

เมื่อการประกาศเอกราชเกิดขึ้น ทั้งสองชาติจึงมีปัญหากัน ในการตกลงแบ่งเขตดินแดน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ ของเมืองบาคู (Baku) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก ของอาเซอร์ไบจัน อันเป็นแหล่งของน้ำมันดิบ ที่ล้ำค่าแห่งหนึ่งของโลก

ความขัดแย้งเริ่มต้นที่ ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเมืองบาคู ซึ่งตอนนั้นเป็นพื้นที่อิสระ ไม่ขึ้นกับประเทศใด โดยอาร์เมเนีย มีสหภาพโซเวียตคอยหนุนหลังอยู่ ขณะที่อาเซอร์ไบจาน มีจักรวรรดิออตโตมัน (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) คอยหนุนหลังเช่นกัน

แทนที่จะใช้การเจรจา ทางการฑูตแก้ปัญหา ทั้งสองฝ่ายกลับเลือกนำกองทัพ มาเผชิญหน้ากัน ในเดือนมีนาคม 1918 กองทัพของอาร์เมเนีย บุกยึดเมืองบาคูทันที ด้วยการส่งกองทัพลง ทะเลแคสเปี้ยน (Caspian Sea) บุกอ้อมตีเมืองบาคู ส่งผลให้ชาวอาเซอร์ไบจาน มากกว่า 10,000 คน เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ และอาร์เมเนีย ได้บาคูมาเป็นของตัวเอง

ก่อนที่อาเซอร์ไบจัน จะโต้ตอบ ด้วยการจับมือกับ จักรวรรดิออตโตมัน ตั้งกองทัพอิสลามแห่งคอร์เคซัส (Islamic Army of the Caucasus) ขึ้นมา ในเดือนพฤษภาคม 1918 และบุกโจมตีใส่อาร์เมเนีย ที่เขตแดนของเมืองบาคู รวมถึงทิศตะวันตก ของอาร์เมเนีย ซึ่งติดกับจักรวรรดิออตโตมัน

ขณะที่ อาร์เมเนีย หันไปพึ่งใบบุญประเทศอังกฤษ ให้ส่งกำลังมาสนับสนุน เพื่อป้องกันอาณาเขต ของบาคู อย่างไรก็ตาม ด้วยความแข็งแกร่งของกองทัพออตโตมัน และอาเซอร์ไบจาน พวกเขาชิงบาคู กลับคืนมาได้สำเร็จ และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นเมืองหลวง ของอาเซอร์ไบจาน จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม อาเซอร์ไบจาน เลือกที่จะล้างแค้นอาร์เมเนีย ที่เคยคร่าชีวิตคนในชาตินับหมื่นคน ด้วยการไล่สังหาร ชาวอาร์เมเนีย ที่อาศัยอยู่ในบาคู เมื่อเดือนกันยายน ปี 1918 ทำให้ชาวอาร์เมเนีย มากกว่า 10,000 คน ต้องเสียชีวิต

 2

ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 1920 ความแค้นระหว่างทั้งสองประเทศ พุ่งสู่จุดเดือด เมื่อเกิดการพุ่งรบ แย่งชิงเมืองชูชา (Susha) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งระหว่าง อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน

แม้ว่าทั้งสองเมือง จะมีคนทั้งสองชนชาติอาศัยรวมกัน โดยแบ่งพื้นที่กันอยู่ แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และศาสนา สุดท้ายจึงต้องมาเปิดศึก ชิงพื้นที่ให้รู้ดำรู้แดง

ผลสุดท้ายอาร์เมเนีย เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ชาวอาร์เมเนีย กว่า 30,000 คน ในเมืองชูชาถูกสังหาร พื้นที่ของเมือง ซึ่งเป็นเขตอาศัยของชาวอาร์เมเนีย โดนทำลายจนสิ้นซาก

จากจุดเริ่มต้น ความขัดแย้ง ซึ่งนับไปสู่ผู้เสียชีวิตรวมกันหลายหมื่นคน ทำให้ทั้งสองชาติ ไม่เคยมีความคิด จับมือปรองดองกัน แม้แต่ครั้งเดียว และความขัดแย้ง ยังคงดำเนินต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

สู่สงครามกลางเมือง

ต้องขอบคุณ ชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหภาพโซเวียต (ประเทศรัสเซีย ในปัจจุบัน) ที่ทำการบุกยึดประเทศ อาเซอร์ไบจาน ในปี 1920 และอาร์เมเนีย ในปี 1922 เข้าเป็นรัฐส่วนหนึ่งของโซเวียต ทำให้ความขัดแย้ง ของทั้งสองประเทศ ต้องเบาบางลง ตามคำสั่งของโซเวียต

 3

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพโซเวียตอ่อนแอ และใกล้ล่มสลาย ในช่วงปลายยุค 80’s ความขัดแย้งของทั้งสองชาติ กลับมาปะทุอีกครั้ง เพราะอาร์เมเนีย ยึดคติ หลายสิบปี ล้างแค้นยังไม่สาย พวกเขาเตรียมกองกำลัง จะชิงพื้นที่ ฝั่งตะวันตก ของอาเซอร์ไบจาน ที่เคยเสียไปกลับมาให้ได้

สงครามนากอร์โน-คาราบัค คือสงครามที่ยาวนานกว่า 6 ปี ในช่วงเวลา 1988-1994 สาเหตุมาจากการ กำเนิดของสาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัค การก่อตั้งประเทศใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยชาวอาร์เมเนีย ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค อันเป็นเขตแดน ของประเทศอาเซอร์ไบจาน

เพราะถึงจะอยู่ในเขตแดน ของอาเซอร์ไบจาน แต่ผู้คนในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค แทบจะเป็นชาวอาร์เมเนีย เกือบทั้งสิ้น พวกเขาทำประชามติ ขอแยกประเทศ ไปร่วมกับอาร์เมเนีย แต่ไม่ได้รับอนุญาต จากรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน จนนำไปสู่การแยกประเทศ แบบไม่เป็นทางการในที่สุด

การประกาศตั้งประเทศใหม่ ในเขตแดนของอาเซอร์ไบจาน ไม่ต่างอะไรกับการทำกบฏของประเทศ ที่ต้องการ การปราบปราม แต่ทางอาร์เมเนีย ก็พร้อมที่จะสนับสนุน ประเทศพลัดถิ่นของตัวเอง จนนำไปสู่ สงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน  

แม้บทสรุปของสงคราม ในปี 1994 อาเซอร์ไบจาน จะยังรักษาพื้นที่ประเทศเอาไว้ได้ ในทางทฤษฎี แต่แท้จริงแล้ว ดินแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ ถูกปกครองโดย สาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัค เท่ากับว่าพื้นที่นั้น เป็นของอาร์เมเนีย โดยทางพฤติกรรม ไม่ใช่อาเซอร์ไบจาน

บทสรุปของสงคราม สุดท้าย คนมากกว่า 30,000 คนจากทั้งสองประเทศ ต้องเสียชีวิต ผู้คนจำนวนมาก ต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อลี้ภัยสงคราม

 4

ขณะเดียวกัน การจบลงของสงคราม ด้วยการแทรกแซงของรัสเซีย ทำให้ปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองชาติ ยังไม่ได้รับการแก้ไข การต่อสู้ การปะทะ ของสงคราม ภายในเขตแดน ของทั้งสองประเทศ ยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลา

โดยครั้งล่าสุด เกิดการปะทะ ยาวนานหนึ่งสัปดาห์ ในเดือนพฤษภาคม 2018 ระหว่างกองกำลัง ของทั้งสองชาติ ในเขตแดนของประเทศอาร์เมเนีย

จากสนามรบ สู่สนามแข่งขัน

ความขัดแย้ง ระหว่างคนสองเชื้อชาติ กินเวลายาวนานร่วม 100 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ความบาดหมาง ความชิงชัง จะลุกลามจากเวทีการเมือง เข้าไปสู่วงการอื่น ซึ่งวงการฟุตบอล ไม่ถือเป็นข้อยกเว้น แต่อย่างใด

 5

ทีมที่โดนผลกระทบ จากความขัดแย้งระหว่างสองชาติ คือ สโมสรคาราบัค (Qarabağ FK) ที่ต้องสูญเสียสนามเหย้าของตัวเอง ในปี 1993 เพราะถูกกองทัพอาร์เมเนีย ทิ้งระเบิดใส่จนพังพินาศ ในช่วงสงครามนากอร์โน-คาราบัค

ขณะเดียวกัน อัลลาห์เวอร์ดี บายิรอฟ (Allahverdi Bagirov) หัวหน้าผู้ฝึกสอน ของสโมสรคาราบัค ในช่วงเวลานั้น ได้เสียชีวิตจากการถูกกับดักระเบิด ของฝั่งอาร์เมเนีย ด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากสโมสรคาราบัค บุรุษที่ชื่อ เฮนริค มคิตาร์ยาน ยอดนักบอลชาวอาร์เมเนีย คือคนที่ต้องพบกับปัญหา จากความขัดแย้ง ด้วยปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ มากที่สุดคนหนึ่ง ของวงการลูกหนัง

ในปี 2015 มคิตาร์ยานต้องพลาดเกมในศึกยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบแรก กับสโมสรคาบาลา (Gabala) สมัยที่เขาค้าแข้งอยู่กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (Borussia Dortmund) เนื่องจากคาบาลา เป็นทีมฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในอาเซอร์ไบจาน

 6

ปกติแล้ว ชาวอาร์เมเนีย ไม่มีสิทธิ์เดินทาง เข้าประเทศอาเซอร์ไบจาน แต่ในกรณีของนักกีฬา ที่มีความจำเป็นอย่างมคิตาร์ยาน เขาจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของอาเซอร์ไบจาน ให้เข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดอร์ทมุนด์ ตัดสินใจถอดชื่อนักเตะรายนี้ออกจากทีม โดยให้เหตุผล เพื่อความปลอดภัยต่อนักเตะ พร้อมทั้งย้ำว่า ต่อให้เป็นเกมรอบรองชนะเลิศ และต้องไปเยือนประเทศอาเซอร์ไบจาน ทีมก็จะไม่พา มคิตาร์ยานไปเล่น เพื่อความปลอดภัย ต่อชีวิตนักเตะ

เวลาล่วงผ่านไป 3 ปี มคิตาร์ยาน ต้องกลับมาเจอปัญหานี้อีกครั้ง เมื่อต้นสังกัดปัจจุบันของเขา อย่าง อาร์เซนอล (Arsenal) มีโปรแกรมต้องไปเยือนสโมสร คาราบัค ในการแข่งรอบแรก ศึกยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ที่อาเซอร์ไบจาน

 7

ผลสุดท้าย ยังคงเหมือนเดิม อาร์เซนอล เลือกตัดชื่อมคิตาร์ยาน ออกจากทีม เพื่อไม่ให้นักเตะรายนี้ต้องไปเสี่ยงอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน แม้ฝั่งประเทศอาเซอร์ไบจาน จะรับประกัน ในความปลอดภัยของผู้เล่นรายนี้ก็ตาม

“ผมอยากให้เขามาเล่นฟุตบอลที่นี่กับเรา และนี่คือปัญหา เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขา ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา ทุกอย่างคงดีกว่านี้” อูไน เอเมรี (Unai Emery) ผู้จัดการทีมของอาร์เซนอล กล่าวถึงปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ ในชีวิตของมาร์คิตายาน

ความปวดร้าว จากปัญหาการเมือง

หากเป็นการแข่งขันในรอบแรก มคิตาร์ยาน คงไม่มีปัญหา ที่ต้องชวดการแข่งขันสักนัด แต่เมื่อการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ของถ้วยยูโรป้า ลีก ในฤดูกาลนี้ จัดขึ้นในประเทศอาเซอร์ไบจาน ณ เมืองบาคู และอาร์เซนอล ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ปัญหาจึงเกิดขึ้น

 8

ไม่มีผู้เล่นคนไหน อยากพลาดเกมนัดชิงฯ ของฟุตบอลยุโรป เพราะนี่คือช่วงเวลา ที่นักฟุตบอลแทบทุกคนรอคอย แต่การตัดสินใจบนความเสี่ยง ระหว่างโมเมนต์อันงดงาม กับความเป็น และความตาย คือการตัดสินใจที่อยากที่สุดของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง

อันที่จริง มีการคาดการณ์ ตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้วว่า เหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้ไม่น้อย ที่จะเกิดขึ้นจริง แต่ยูฟ่า เลือกจะเพิกเฉย คำเตือนของหลายฝ่าย ด้วยความเชื่อที่ว่า กีฬากับการเมืองไม่เกี่ยวข้องกัน

ผลกรรม จึงไปตกอยู่กับมคิตาร์ยาน แม้ว่าทั้งรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน และยูฟ่า จะออกแถลงการณ์รับประกันความปลอดภัย ของนักเตะชาวอาร์เมเนียรายนี้ แต่เป็นอีกครั้ง ที่อาร์เซนอล ตัดสินใจตัดชื่อมคิตาร์ยาน ออกจากทีม เพื่อความปลอดภัยของนักเตะ เพราะเมืองบาคู อยู่ใกล้พื้นที่ ซึ่งกำลังมีปัญหากันของสองชาติ

“นี่คือเกมการแข่งขัน ที่ไม่ได้เข้ามาหาชีวิตนักฟุตบอล อย่างพวกเราบ่อยๆ ตัวผมเอง และทุกคนในทีมยอมรับว่า ผมเจ็บปวดอย่างมาก ที่ไม่ได้เล่นในเกมนี้” มคิตาร์ยาน โพสต์ข้อความ ผ่านโซเชียลส่วนตัวของเขา

 9

มาจนถึงจุดนี้ การไปเยือนอาเซอร์ไบจาน อาจดูเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ในอดีต เคยมีนักกีฬาชาวอาร์เมเนียน ที่เดินทางไปแข่งขัน ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน และไม่ได้รับอันตรายกลับมา

อาร์เซน จูลฟาลาคยาน (Arsen Julfalakyan) นักมวยปล้ำสมัครเล่น ดีกรีเหรียญทองโอลิมปิค เคยเดินทางไปแข่งขันมวยปล้ำที่เมืองบาคู มาแล้วสองครั้ง ในปี 2007 และ 2015 ซึ่งเขายังคงมีชีวิต อยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้เสียชีวิต ที่อาเซอร์ไบจาน แต่อย่างใด

ในมุมมองของฝั่งอาเซอร์ไบจาน พวกเขาจึงมองว่า กำลังตกอยู่ภายใต้เกมการเมือง ที่มีอาร์เมเนีย เป็นผู้ควบคุม พยายามทำให้ภาพลักษณ์ ของอาเซอร์ไบจาน ดูแย่ในสายตาโลก

“ผมไม่รู้ต้องทำอย่างไร ให้คนเชื่อว่า มคิตาร์ยานจะปลอดภัย กับการมาเล่นที่อาเซอร์ไบจาน ผมควรจะส่งเครื่องบินรบไปรับเขา มาจากลอนดอนเลยหรือเปล่า คนถึงจะเชื่อว่า เขาจะปลอดภัย” อาซาด ราฮิมอฟ (Azad Rahimov) รัฐมนตรีกระทรวงเด็กและกีฬา ของอาเซอร์ไบจาน ให้สัมภาษณ์กับ CNN

กระนั้น จูลฟาลาคยาน ผู้เคยมีประสบการณ์ ไปเยือนอาเซอร์ไบจาน ในฐานะคนอาร์เมเนีย เชื่อว่าการตัดสินใจ ไม่ให้มคิตาร์ยาน ไปเสี่ยงอันตราย กับเกมนัดชิงยูโรป้า ลีก นั้นถูกต้องแล้ว

 10

“ผมอยู่ที่นั่น ผมเหมือนเป็นนักโทษ ผมบอกเลยว่า การรับประกันว่าคุณจะมีชีวิตกลับมา จากอาเซอร์ไบจาน คือเรื่องที่น่าขบขัน เหมือนว่าพวกเขาไม่เข้าใจ และกำลังปิดตา ไม่เห็นถึงความสำคัญของเรื่องชาตินิยม ในสิ่งที่เกิดขึ้น”

สุดท้ายแล้ว คงไม่มีใครบอกได้ว่า หากมคิตาร์ยาน ไปลงเล่นเกมนัดชิงชนะเลิศ ที่อาเซอร์ไบจาน เขาจะได้รับอันตรายหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างยูฟ่า ควรหาวิธีป้องกัน ที่ชัดเจนและเด็ดขาดกว่านี้ เหมือนในกรณีที่ห้ามสโมสรจากรัสเซีย และยูเครนพบกัน ในเกมการแข่งขันฟุตบอลยุโรป

เพื่อให้กีฬา อย่างฟุตบอล ปราศจากปัญหาทางการเมือง แบบที่ยูฟ่าหรือฟีฟ่า อยากให้เป็นจริงๆ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ สงครามกลางเมืองร่วม 100 ปี ที่ทำให้ "มคิตาร์ยาน" พลาดนัดชิงบอลถ้วยยุโรป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook