มะลิ วัฒนะยา : ครูมวยไทยสาวชาวแคนาดา ผู้อุทิศตัวให้เด็กๆ ในชุมชนอำเภอเมืองยาง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/188/944674/mtwom.jpgมะลิ วัฒนะยา : ครูมวยไทยสาวชาวแคนาดา ผู้อุทิศตัวให้เด็กๆ ในชุมชนอำเภอเมืองยาง

    มะลิ วัฒนะยา : ครูมวยไทยสาวชาวแคนาดา ผู้อุทิศตัวให้เด็กๆ ในชุมชนอำเภอเมืองยาง

    2019-07-09T09:56:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    คงไม่มีใครสงสัยถึงกระแสความนิยมมวยไทยในต่างประเทศ ชาวต่างชาติมากมายหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นฝึกกีฬาชนิดนี้ หลายคนผันตัวเป็นนักชกอาชีพ จนประสบความสำเร็จ คว้าเงินทองและเกียรติยศมานับไม่ถ้วน

    แต่จะมีสักกี่คน เดินทางทิ้งชีวิตในประเทศอันศิวิไลซ์ มาใช้ชีวิตอยู่ในชนบทอันห่างไกล เพื่อเปิดค่ายมวย ที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างออกไปจากตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มากกว่า 140 กิโลเมตร 

    ค่ายมวยแห่งนี้ ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดแบบที่เราคุ้นชิน ต้องเดินทางที่ต้องผ่านถนนลูกรังหลายเส้น และ ตั้งอยู่บนที่ดินของชาวบ้านรายหนึ่งบนเนินสูงขึ้นไป ไม่ใช่พื้นที่อันสะดวกสบาย ที่ใครจะเข้าถึงได้โดยง่าย

    แม้จะล้อมรอบด้วยความยากลำบาก แต่ค่ายมวย ว.วัฒนะ ยังคงยืนหยัด เพื่อฝึกสอนวิชามวยไทยให้แก่เด็กในชุมชน แบบไม่มีค่าใช้จ่าย จากน้ำพักน้ำแรงของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เลี้ยงดูเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านั้น ราวกับเป็นลูกแท้ๆของเธอ

    Main Stand ขอพาคุณไปรู้จักกับ มะลิ วัฒนะยา หญิงสาวชาวแคนาดา ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับมวยไทยมานานกว่า 10 ปี โดยไม่หวังสิ่งใดนอกจากการสร้างรอยยิ้ม ให้แก่เด็กชนบทที่เธอรักสุดหัวใจ

    ลัดฟ้าหามวยไทย

    มะลิ วัฒนะยา เติบโตมาในหมู่บ้านเล็กๆ ย่านชนบทของรัฐบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ด้วยความดื้อซน ทำให้เธอหลงรักกีฬามวยมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งอายุได้ 14 ปี เด็กหญิงชาวแคนาเดียน จึงมีโอกาสได้รู้จัก “มวยไทย” ศิลปะป้องกันตัวอันมีจุดกำเนิดห่างออกไปอีกซีกโลก

    “เริ่มแรกมะลิอยากเรียนมวยสากล พอดีมีเพื่อนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน กำลังเรียนมวยไทยกับครูต่างชาติที่เปิดค่ายมวยอยู่ที่แคนาดา ก่อนหน้านั้นมะลิไม่รู้จักมวยไทยเลย ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่มาซ้อมครั้งแรก มะลิชอบเลย ติดใจมาก คิดอย่างเดียวว่า อยากชกมวย ต้องเป็นนักมวยอาชีพ”

    เมื่อต้องมนต์เสน่ห์ของ "ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8" เข้าอย่างจัง มะลิตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า ต้องเดินทางมาฝึกวิชามวยไทยที่ประเทศไทยให้ได้ เธอตระเวนชกมวยทั่วทวีปอเมริกาเหนือ และ ทำงานพาร์ทไทม์ต่างๆ ทั้ง ทำความสะอาดในร้านอาหาร และ งานก่อสร้าง เพื่อเก็บเงินให้เพียงพอต่อการมาเสี่ยงโชคชะตาที่แผ่นดินไทย 

    “พ่อแม่ไม่ได้ให้อะไรมะลิเลย พอจบม.6 มะลิตัดสินใจทำงานเก็บเงินอีก 1 ปี กลางวันทำงาน ตกเย็นซ้อมมวย เพราะมะลิตั้งใจค่ะ ว่าต้องมาประเทศไทยให้ได้” มะลิกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

    เมื่อเผชิญความยากลำบากด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก การเดินทางมาใช้ชีวิตต่างแดนเพียงลำพัง จึงไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรนัก สำหรับมะลิในวัย 19 ปี เธอพร้อมแลกความสุขสบายทุกอย่างในชีวิต หากมันช่วยให้เธอได้ใช้ชีวิตกับสิ่งที่เธอรักต่อไป

    “มีคนพามะลิไปฝากไว้กับค่ายมวยในซอยสุขุมวิท 93 ตอนนี้เขาปิดไปแล้ว แต่ตอนมะลิไป ค่ายมวยเพิ่งเปิด สภาพไม่ค่อยสวย ไม่ได้มาตรฐานเท่าไร แต่เราอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ทั้งครูฝึกและนักมวยสนิทกันมาก”

    “ช่วงนั้นมะลิหารายได้จากการชกมวย ขึ้นชกเยอะมาก ส่วนใหญ่เดินสายต่อยทั้งในกรุงเทพฯ และ ภาคใต้ เพราะว่า ภาคใต้ค่าตัวดี หัวหน้าเลยส่งไป ส่วนกรุงเทพฯ ก็ใกล้ ค่าใช้จ่ายไม่สูง”

    “มะลิเคยได้ค่าตัวสูงสุดอยู่ภาคใต้ หนึ่งหมื่นบาท ภาคอีสานได้สองพันถึงสามพันบาท ส่วนกรุงเทพฯ บางทีได้ไม่ถึงสองพัน แต่มะลิไม่ได้เน้นเรื่องนี้ค่ะ ขอแค่ได้ต่อยมวยไว้ก่อน”

    สิ่งที่มะลิได้จากการเดินทางมากรุงเทพฯ ไม่ใช่เพียงการได้เดินตามความฝันของตัวเองเท่านั้น เธอยังได้เจอกับ ธนิต วัฒนะยา นักมวยหนุ่มชาวไทยร่วมค่าย ผู้ซึ่งกลายเป็นคู่ชีวิต คอยร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันต่อไปจากนี้

    “สามีมะลิต่อยมวยไม่เก่ง เขาเลยต้องทำงานก่อสร้างไปด้วย เพราะหัวหน้าค่ายเขาเป็นผู้รับเหมาในตัว กลางวันเลยทำงานก่อสร้าง ตอนเย็นค่อยมาซ้อมมวยต่อ แต่มะลิไม่ได้ทำงานนะ อากาศร้อน ทำไม่ไหว (หัวเราะ)”

    หลังใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯได้ปีกว่า โชคชะตาได้นำพาให้มะลิต้องเดินทางอีกครั้ง เมื่อคุณแม่ของสามีล้มป่วย ทั้งคู่จึงทิ้งชีวิตนักสู้ใจกลางเมือง สู่ความเป็นอยู่แบบชาวนา ยังชนบทอันห่างไกล ที่ตำบลกระเบื้องนอก อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา

    “มะลิย้ายมาอยู่โคราช ช่วยที่บ้านทำนา พร้อมกับเดินสายชกมวยในภาคอีสาน ครอบครัวเราไม่มีเงิน ต้องทำงานทุกอย่าง บางวันแม่สามีจะพามะลิไปขายข้าวโพด ขายแตงโม ที่เราปลูกเอง แบกตะกร้าเดินขายไปตามหมู่บ้าน ได้วันละร้อยบาท สองร้อยบาท”

    “ชาวต่างชาติหลายคนอยู่ภาคอีสานไม่ได้ มันห่างไกลความเจริญ แต่มะลิใช้ชีวิตอยู่กับบ้านสามี กระรอก ปลาไหล มะลิกินได้ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าจะหาอะไรกินได้ ตอนนั้นอยู่แบบนี้แหละค่ะ”

    ถึงการมีชีวิตอยู่แบบพอกินจะไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ลึกๆ มะลิรู้ดีว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวต้องดีกว่านี้ เธอจึงเอ่ยปากชักชวนให้สามีเดินทางไปอยู่ประเทศแคนาดา แม้ต้องทิ้งความฝันการเป็นนักมวยไทยอาชีพไว้เบื้องหลังก็ตาม

    “วันหนึ่ง มะลิรู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีอะไร ถึงจะได้ต่อยมวยเดินสาย แต่ที่นี่ไม่มีค่ายมวยให้ฝึกซ้อม ต้องซ้อมกับตัวเองหน้าบ้าน คิดไปคิดมารู้สึกว่าอยู่ไม่ไหว กลับไปแคนาดา แบบนั้นน่าจะโอเคกว่า”

    กำเนิดค่าย “ว.วัฒนะ” 

    หลังเดินทางกลับสู่ประเทศแคนาดา มะลิตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจนจบ ส่วนสามีทำงานรับจ้างเป็นคนตัดกิ่งไม้ตามบ้านเรือน โดยมะลิเองช่วยหารายได้อีกทาง ด้วยการออกไปขายของตามที่ต่างๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

    แม้ทำงานจนตัวเป็นเกลียว แต่ความเป็นอยู่ในบ้านเกิดอันมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากเทียบกับชีวิตในประเทศไทย ประกอบกับเหตุผลส่วนตัวของสามี มะลิจึงตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศแคนาดาอีกครั้ง และกลับสู่ชีวิตชนบทที่เมืองโคราช หลังเคยจากมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

    “สามีชวนเรากลับมาอยู่เมืองไทย เพราะว่าเขาเป็นห่วงพ่อ คุณแม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนั้นมะลิยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำงานอะไรที่แคนาดา เลยตกลงกลับมาอยู่ไทยด้วยกัน ตอนแรกมะลิทำงานเป็นครู สอนภาษาอังกฤษอยู่โรงเรียนพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ใจไม่รัก มะลิไม่ชอบเลย มันน่าเบื่อ รู้สึกว่าไม่อยากทำงานตรงนี้”

    “ระหว่างนั้น มะลิซ้อมมวยอยู่หน้าบ้าน คราวนี้เด็กในหมู่บ้านเขาเห็นเราซ้อมมวย พากันยกโขยงมาเป็นสิบเลย ถามเราว่า ซ้อมมวยด้วยได้ไหม เราตอบไปแบบไม่คิดอะไรว่า ซ้อมเลย”

    เหตุการณ์บังเอิญเล็กๆ สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมะลิอัดวิดีโอเด็กๆ ที่ซ้อมมวยด้วยกันหน้าบ้าน ลงโซเชียลมีเดียของเธอ จึงมีเพื่อนๆ จากต่างแดนยื่นข้อเสนอ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

    “ชาวต่างชาติที่เห็น เขาถูกใจมาก เพราะมะลิซ้อมมวยแบบบ้านๆ ทุกคนคลุกฝุ่นคลุกดิน จากนั้นมีคนติดต่อกลับมาว่าอยากช่วย เราก็งงนะ จะช่วยอะไร ซ้อมแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว เขาบอกว่า ไม่ แค่นี้ไม่พอ คุณต้องสร้างค่ายมวยให้เด็ก” มะลิเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เมื่อย้อนถึงจุดกำเนิดของค่ายมวย

    เมื่อได้รับคำแนะนำ มะลิปรึกษากับสามีถึงเรื่องเปิดค่ายมวยเพื่อช่วยเหลือเด็กในชุมชน เธอรวบรวมเงินผ่านเว็บไซต์ระดมทุน จนได้จำนวนกว่าสองแสนบาท ก่อกำเนิดเป็นค่ายมวย “ว.วัฒนะ” ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินหน้าบ้านของครอบครัว ที่อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา  

    ปัจจุบัน ค่ายมวย ว.วัฒนะ มีนักมวยรุ่นเยาว์สังกัดอยู่ 11 คน ทั้งหมดเป็นเด็กในเขตอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ และ อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา มะลิเปิดโอกาสให้เด็กทุกเพศทุกวัยเข้ามาฝึกซ้อม โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด และยังจัดหาอาหาร ขับรถรับส่งกลับจากโรงเรียน ดูแลเด็กเหล่านี้ ราวกับเป็นลูกแท้ๆ ของเธอ 

    “เราช่วยเหลือเด็กในทุกด้าน ตอนนี้มะลิเช่าบ้านข้างๆให้เขาอยู่กับเรา ช่วงเปิดเทอม มะลิขี่รถไปส่งเขาที่โรงเรียนตลอด ตอนเย็นจะรับจากโรงเรียนมาซ้อมมวยที่ค่าย เป็นแบบนี้ทุกวัน” 

    “เรื่องอาหาร มะลิก็หาให้เด็กไม่ขาด นักมวยของเรากินดีมาก ไม่ให้อดอยากเลย เพราะมะลิตั้งใจซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ให้เขากิน ทั้ง โยเกิร์ต, โอวัลติน, วิตามิน, ผลไม้ แต่มะลิไม่ให้ดื่มน้ำอัดลม ไม่ให้ดื่มชาเขียว เครื่องดื่มกาเฟอีน ให้ดื่มน้ำเปล่า และ เกลือแร่”

    โภชนาการที่ดี ย่อมนำพามาสู่สุขภาพที่ดีเช่นกัน จุดหมายเบื้องต้นของค่ายมวย ว.วัฒนะ คือการสร้างอนาคตที่ดีแก่เยาวชนในท้องถิ่น นักชกทุกคนขึ้นสังเวียนพร้อมกับรอยยิ้ม จากการดูแลเอาใจใส่ของ “แม่มะลิ” ผู้สร้างค่ายมวยแห่งนี้ ให้มีบรรยากาศเหมือนกับอีกครอบครัวหนึ่งของเด็กๆ 

    “เด็กที่มาซ้อมมวยกับเรา มะลิไม่ได้ซีเรียสว่า ต้องต่อยเก่งอะไรมากมาย อยู่กันแบบสบายๆ มีบางคนมาซ้อมเพื่อลดน้ำหนัก เพื่อออกกำลังกาย เขาไม่ชอบมวย ไม่อยากขึ้นชกจริง ไม่เป็นไร ค่ายเราเปิดให้โอกาสทุกคน ขอแค่เด็กห่างไกลยาเสพติด ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แค่นี้มะลิดีใจมากแล้ว”

    บทเรียนที่มากกว่าวิชามวย

    แม้ได้รับการดูแลอย่างดี แต่ใช่ว่านักมวยจะใช้ชีวิตได้ตามอำเภอใจ ทุกคนจำต้องเรียนรู้ถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองทั้งในและนอกสังเวียน ระหว่างการฝึกซ้อม มีกฎสั่งห้ามเล่นโทรศัพท์โดยเด็ดขาด เพื่อตั้งสมาธิให้มุ่งมั่นไปกับการออกกำลังกาย อันเป็นเป้าหมายที่พาให้ทุกคนก้าวสู่ค่ายมวยแห่งนี้

    บทเรียนที่ ค่ายมวย ว.วัฒนะ สั่งสอนแก่เยาวชนทุกคน จึงไม่มีเพียงท่วงท่าลีลามวยไทย แต่เป็นระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้ สามารถเลี้ยงตัวเอง และ ดูแลครอบครัวได้ในอนาคต ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันยากลำบากในแถบอีสาน

    “คนแถวนี้หากินยากมาก ทำนาก็ไม่ได้อะไร ได้แค่ข้าวกิน อย่างปีที่แล้วไม่มีน้ำ นามันแล้ง ข้าวก็ไม่ขึ้น หารายได้มันหายาก” มะลิกล่าวเสียงเบา เมื่อต้องพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

    “เรื่องค่าตัว มะลิไม่หักสักบาท เราให้เขาเต็มๆ แต่ต้องสอนเด็กให้รู้จักเก็บเงิน รู้จักใช้เงิน แบ่งให้พ่อแม่ มะลิต้องมีระเบียบแบบนี้ สอนเด็กเรื่องนี้ เป็นประสบการณ์ชีวิตให้เขาด้วย ค่ายเราจะเน้นตรงนี้มาก ไม่ใช่ชกมวยอย่างเดียว เราสอนอะไรให้เขาหลายอย่าง บอกเขาให้เก็บเงิน ช่วยทางบ้าน เพราะครอบครัวเด็กส่วนมากก็ลำบาก”

    ความยากลำบากในทุกวันของชีวิต อาจเป็นแรงใจให้เด็กสักคนลุกขึ้นมาต่อสู้ โดยเฉพาะ “หลานย่าโม ลูกแม่มะลิ” นักชกวัย 15 ปี ผู้เติบโตมาจากครอบครัวที่แตกแยก มะลิเล่าพร้อมน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจ หลังได้เห็นลูกศิษย์รายนี้ ประสบความสำเร็จบนเส้นทางกำปั้นแบบที่ตั้งใจไว้

    “หลานย่าโม ชีวิตลำบากมาก เขาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีแค่ป้าอายุหกสิบกว่าที่เลี้ยงหลานห้าคน ก่อนมาอยู่กับมะลิ มีแต่คนบอกว่า เด็กคนนี้มันดื้อ ทุกคนในหมู่บ้านก็ดูถูก ด่าว่า มึงจะไปซ้อมมวยทำไม มึงมันไม่เก่ง ซ้อมมวยไปก็ไม่มีอะไรหรอก” 

    “ตอนนี้มะลิเห็นเขาประสบความสำเร็จ หาเงินเองได้จากการชกมวย ซื้อเครื่องซักผ้าให้ป้า ซื้อรองเท้าไนกี้ ซื้อโทรศัพท์ ซื้อทองหนึ่งบาทให้ตัวเอง เงินที่เหลือเขาก็เก็บไว้ให้ครอบครัว มันทำให้มะลิรู้สึกว่าทุกอย่างที่ตั้งใจสอนเขา เด็กคนนี้ทำได้ มะลิภูมิใจมาก เพราะว่าในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ทุกอย่างมันยาก ตอนนี้เขาไม่มีเพื่อนเลยสักคน เพราะมาซ้อมมวยอยู่กับมะลิทุกวัน”

    “มะลิทำค่ายมวยขึ้นมา ต้องเจอเรื่องลำบากหลายอย่าง เด็กออกไปก็เยอะ คือเราทำดี ทำจริงจัง แต่เด็กบางคนก็ไม่เอา เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่สอนเขา คือเด็กอย่างไรก็ยังเป็นเด็ก เขายังคิดไม่ได้ พอได้เห็นหลานย่าโมประสบความสำเร็จ มะลิภูมิใจมาก เขาจะได้เป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นหลังในชุมชนด้วย”

    จากเด็กชายกำพร้าพ่อแม่ ทุกวันนี้ หลานย่าโม ลูกแม่มะลิ ประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์ภาคอีสาน รุ่นน้ำหนัก 32 กิโลกรัม และกำลังได้โอกาสไปคัดตัวกับสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนขึ้นชกในนามทีมชาติ สร้างชื่อเสียงตอบแทนบ้านเกิดต่อไป

    สะพานสานความฝัน

    ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมาของค่ายมวย ว.วัฒนะ ไม่เพียงมอบบทเรียน และ สร้างชีวิตใหม่ให้เด็กในชุมชนเท่านั้น มะลิรู้ดีว่า มวยไทย สามารถสร้างชีวิตใหม่ให้กับมนุษย์ทุกคน โดยไม่เกี่ยวว่าจะมีบ้านเกิดมาจากที่ใด หรือ สัญชาติอะไรในบัตรประชาชน 

    “เราบอกเด็กทุกวันว่า มวยไทย สุดยอดที่สุดแล้ว ทุกวันนี้ มะลิทำงานออนไลน์ เขียนข่าวมวยไทยลงเว็บไซต์ ส่วนสามีสอนชกมวยอยู่ต่างประเทศ เรามีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยสิ่งที่เรารัก” 

    “ครูฝึกที่สอนเด็กอยู่ในค่าย มะลิช่วยให้พวกเขาได้ไปสอนมวยอยู่ต่างประเทศ ทั้ง ออสเตรเลีย หรือ แคนาดา บางคนพูดอังกฤษไม่ได้ ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน มะลิก็ช่วยเขา บอกว่าไปสอนได้ ใช้ภาษากายก็พอ เพราะไปทำงานเมืองนอก ได้เงินดี เดือนสามหมื่นบาท หายากมากงานแบบนี้ แล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก คนที่จ้างเขาออกให้หมด สบายมาก”

    “มะลิส่งคนของเราไปตรงนี้ มันช่วยเหลือกันทั้งหมด ชาวต่างชาติบางคนรู้จักมวยไทย ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มีคนหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนค่าย เมื่อก่อนเขาติดเหล้า พอรู้จักมวยไทย เขาก็เลิกดื่มเหล้า แล้วใจรักมวยไทย เขาเอาเงินมาช่วยเหลือเรา สนับสนุนเรา”

    เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ค่ายมวย ว.วัฒนะ ใช้หมุนเวียนในการบริหารสถานสร้างความฝันแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป ล้วนมาจากธารน้ำใจของผู้สนับสนุนใจบุญทั่วโลก มะลิเล่าให้ฟังว่า เธอได้รับเงินบริจาค 1,000 ดอลลาร์ จากสองพี่น้องวัยประถมชาวแคนาดา ที่นำกำไลทำมือไปขายเพื่อนที่โรงเรียน ก่อนนำรายได้ทั้งหมดมอบให้แก่ค่ายมวยแห่งนี้ ได้มีชีวิตและลมหายใจต่อไป

    “มะลิขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจ และ ผู้สนับสนุนค่ายทุกคนมะลิขอบคุณมาก เพราะว่า เราหาเงินไม่พอ ถ้าไม่มีผู้สนับสนุน มะลิคิดว่าค่ายมวยคงอยู่ไม่ได้ เงินที่ได้จากพวกเขาสำคัญมาก มะลิดีใจที่ได้เห็นเด็กมีชีวิตที่ดีขึ้น รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สามารถทำตรงนี้ต่อไปได้” มะลิกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุน ด้วยแววตาที่จริงใจ

    หลายครั้งที่การเดินตามความฝันนั้นยากลำบาก บนเส้นทางอันยาวไกลจากแคนาดาสู่ประเทศไทย บทเรียนจากสังเวียนมวยไทย สอนมะลิไม่ให้รู้จักคำว่ายอมแพ้ แม้เจออุปสรรคหนักหนาเพียงใดต่อจากนี้ เธอมอบชีวิตที่เหลือให้แก่ค่ายมวยอันเป็นที่รัก และจะเดินเคียงข้างครอบครัวอันอบอุ่น พร้อมกับเด็กเหล่านี้ไปตลอดกาล

    “เห็นเด็กสู้ มะลิบอกตัวเองว่าต้องสู้เหมือนกัน ทุกครั้งที่พาเขาไปต่อยมวยตลอด มะลิบอกเด็กทำให้เต็มที่ บอกให้ตั้งใจ มะลิเองก็ตั้งใจสอนเขาเหมือนกัน เราเดินไปเรื่อยๆพร้อมกันกับเด็ก”

    “มะลิกับสามี เราเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มะลิอยู่กับมวยทุกวัน ไม่เคยไปไหน ต่อให้สามีไปต่างประเทศ มะลิต้องอยู่ที่นี่ เป็นแบบอย่าง ใช้ชีวิตให้เขาดู”

    “มะลิคิดเสมอว่าตัวเราโชคดี ที่ได้ใช้ชีวิตกับเด็กเหล่านี้ทุกวัน มะลิมองว่าตัวเองเป็นแค่สะพานแก่เด็กในชุมชน เราสอนมวยไทยให้พวกเขาก้าวข้ามความยากลำบากในชีวิต มะลิภูมิใจมากในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ไม่เคยคิดว่า มาทำค่ายมวยอยู่ห่างไกลแบบนี้ มันลำบากอะไรเลย”

    “มะลิรู้สึกโชคดีจริงๆ ค่ะ ที่มะลิทำตามความฝันตัวเองได้อย่างที่หวัง” มะลิกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม จบการสัมภาษณ์พร้อมกับน้ำตาแห่งความสุข