"ยูนิโอน เบอร์ลิน" : ทีมรากหญ้าขวัญใจแรงงานเยอรมัน

"ยูนิโอน เบอร์ลิน" : ทีมรากหญ้าขวัญใจแรงงานเยอรมัน

"ยูนิโอน เบอร์ลิน" : ทีมรากหญ้าขวัญใจแรงงานเยอรมัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยถึงสโมสรฟุตบอลเมืองหลวงของประเทศเยอรมัน ชื่อแรกที่แฟนฟุตบอลนึกถึงย่อมเป็น แฮร์ธา เบอร์ลิน (Hertha Berlin)

แต่อีกฟากหนึ่งของเมือง ยังมีสโมสรฟุตบอลทีมหนึ่ง ที่่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมือง และชื่อไม่คุ้นหูของคนไทย ทีมนั้นคือ ยูนิโอน เบอร์ลิน (Union Berlin)

แม้จะเป็นทีมที่ร้างความสำเร็จและเกียรติยศ ถึงขนาดไม่เคยเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นบน บุนเดสลีก้า ลีกสูงสุดของประเทศ แต่สำหรับผู้คนกลุ่มหนึ่งสโมสรแห่งนี้ มีความหมายกับพวกเขามากกว่าทีมฟุตบอล

 

เพราะนี่คือสโมสรที่เป็นจิตวิญญาณและเครื่องยืดเหนี่ยวจิตใจ ของชนชั้นแรงงานทุกคนในประเทศเยอรมัน ไม่ใช่แค่ในเบอร์ลิน

ด้วยอุดมการณ์ของสโมสร ที่ต่อสู้เพื่อแรงงาน เคยร่วมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ยอมเปลี่ยนสีเสื้อเหย้าตามสีเสื้อทำงานของกองเชียร์ ตลอดจนการสร้างสนามด้วยน้ำมือของแฟนบอลของตัวเอง

และนั่นคือเหตุผลเบื้องต้นที่เราอยากพาผู้อ่านมาทำความรู้จักสโมสรชนชั้นแรงงานแห่งนี้

ทีมฟุตบอลขวัญใจแรงงานปกน้ำเงิน

สโมสรยูนิโอน เบอร์ลิน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1906 หากแต่ย้อนไปเมื่อ 103 ปีก่อนหน้านี้ แรกเริ่มสโมสรแห่งนี้ ถูกก่อตั้งในชื่อ เอฟเซ โอลิมเปีย 06 โอแบร์เฌินเนอวาย (FC Olympia 06 Oberschöneweide) ในฐานะทีมฟุตบอลท้องถิ่นของย่านโอแบร์เฌินเนอวาย

 1

แม้ในตอนแรก สโมสรแห่งนี้ จะยังไม่มีคำว่าแรงงานอยู่ในชื่อทีม แบบปัจจุบัน แต่จิตวิญญาณของชนชั้นแรงงานก็อยู่กับสโมสรมาตั้งแต่เริ่มต้น

เนื่องจากย่านโอแบร์เฌินเนอวาย เป็น ย่านผลิตอุตสาหกรรมด้านเหล็กกล้า ประจำกรุงเบอร์ลิน ดังนั้นสโมสรประจำท้องถิ่น จึงผูกพันกับเหล่าแรงงานไปโดยปริยาย

ด้วยความผูกพันนี่เอง ทำให้ในปี 1910 สโมสรตัดสินใจเปลี่ยนชื่อทีมเป็น เอสเซ ยูนิโอน 06 โอแบร์เฌินเนอวาย (SC Union 06 Oberschöneweide) เพื่อให้กลายเป็นสโมสรขวัญใจชาวแรงงานโดยสมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ชื่อเท่านั้นที่เปลี่ยนให้เข้ากับแฟนบอลท้องถิ่น แต่รวมถึงอัตลักษณ์อื่นด้วยเช่นกัน

สีเสื้อเหย้าของสโมสรถูกเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ตามสีชุดทำงานของเหล่าแรงงาน และในทางหนึ่งเพื่อแสดงออกว่าสโมสรนี้ยืนหยัดเพื่อแรงงานชนชั้นล่างหรือที่เรียกกันว่าแรงงานปกน้ำเงิน (Blue collar worker) ตามความหมายในโลกตะวันตก

ขณะที่ฉายาของสโมสรถูกเรียกว่า “เจ้าหนุ่มโรงงานเหล็ก” (Metal Worker Boys) และมีคำตะโกนเชียร์ทีมว่า "Eisern Union!" ซึ่งแปลว่าได้ว่า Iron Union หรือแรงงานเหล็ก

การนำจุดยืนทางชนชั้นมาเป็นอัตลักษณ์ของทีม ทำให้สโมสรแห่งนี้กลายเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าแรงงานชนชั้นล่างประจำกรุงเบอร์ลิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสโมสรแห่งนี้ไม่เป็นที่รักใคร่นักจากชาวกรุง ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะในระดับชนชั้นกลาง

 2

เอสเซ ยูนิโอน 06 มีสโมสรคู่ปรับยาวเป็นหางว่าวไม่ว่าจะเป็น วิคตอเรีย 89 เบอร์ลิน (Viktoria 89 Berlin), เบเอสเซ 92 เบอร์ลิน (BSC 92 Berlin), เทนนิส โบรุสเซีย เบอร์ลิน (Tennis Borussia Berlin) และ เบลา ไวบ์ 90 เบอร์ลิน (Blau-Weiß 90 Berlin) ซึ่งทุกสโมสรล้วนเป็นสโมสรที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในกรุงเบอร์ลิน

ไม่ใช่แค่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่สโมสร ต้องร่วมยืนหยัดต่อสู้ไปพร้อมกับชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่ในช่วงยุค 40’s พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่น่ากลัวที่สุด และทำให้ทีมเข้าสู่คตกต่ำไปนานหลายปี นั่นคือ นาซี เยอรมัน !

ในตอนนั้น ย่านโอแบร์เฌินเนอวาย เป็นฐานที่มั่นของเหล่าแรงงาน ผู้ฝักใฝ่แนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยม (Socialism) อันเป็นแนวคิดซ้ายจัด ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดชาตินิยมแบบนาซี (Nationalism Nazis) ที่เป็นแนวคิดแบบขวาสุดโต่ง

ย่านโอแบร์เฌินเนอวาย จึงกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่คนเยอรมัน จะมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านฮิตเลอร์ และขับไล่เผด็จการรายนี้ออกไปจากประเทศ รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน อย่างไม่เป็นทางการอีกด้วย หลังถูกนาซีสั่งยุบไปก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับเผด็จการย่อมนำไปสู่การสูญเสีย แรงงานนับพันถูกนาซีอุ้มไปฆ่า และจับไปขังลืมในค่ายกักกัน ตลอดช่วงปี 1941-42

การสูญเสียแรงงานซึ่งเป็นหัวใจของสโมสรจากการต่อสู้ทางการเมือง ส่งผลโดยตรงกับผลงานของสโมสร เพราะในปี 1942 เอสเซ ยูนิโอน 06 ได้ตกชั้นจากลีกสูงสุดของฟุตบอลลีกเมืองเบียร์

กำเนิดใหม่ในฐานะทีมบอลต้านเผด็จการ

พิษจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลร้ายแรงกับสโมสรแห่งนี้ ทั้งการถูกยุบสโมสรในปี 1945 และก่อตั้งขึ้นมาใหม่ในปีเดียวกันภายใต้ชื่อใหม่ เอสจี โอแบร์เฌินเนอวาย (SG Oberschöneweide)

 3

กระทั่งในปี 1949 สโมสรนี้ต้องแตกออกเป็นสองทีม จากการแบ่งประเทศเป็นเยอรมันตะวันตกและตะวันออก โดยมีการตั้งทีมขึ้นมาใหม่ที่ฝั่งตะวันตกในชื่อ เอสเซ ยูนิโอน 06 เบอร์ลิน (SC Union 06 Berlin) ขณะที่ทีมดั้งเดิมอย่างเอสจี โอแบร์เฌินเนอวาย ยังคงเล่นต่อไปในประเทศเยอรมันตะวันออก

ทีมเอสจี โอแบร์เฌินเนอวาย ต้องถูกจับเปลี่ยนชื่อสโมสรอีกถึง 5 ครั้งในช่วงปี 1950-1963 ด้วยความไม่เต็มใจนัก

จนในปี 1966 พวกเขาจะได้ชื่อสโมสรใหม่ ที่ใช้ยาวมาถึงทุกวันนี้ ในชื่อยูนิโอน เบอร์ลิน พร้อมกับการใช้สีแดง เป็นสีตัวแทนของชนชั้นแรงงาน เพื่อแสดงออกถึงความภูมิใจของสโมสร

เพียงแค่สองปีหลังจากได้ชื่อใหม่ สโมสรแห่งนี้ก็คว้าแชมป์ใหญ่ใบแรกให้กับทีมทันที ในฟุตบอลถ้วยของประเทศเยอรมันตะวันออก

 4

อาจเป็นเรื่องปกติของชนชั้นล่าง ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์อยู่กับพวกเขาได้ไม่นาน เพราะมักจะถูกผู้มีอำนาจคอยรังแกอยู่เสมอ และสำหรับทีมขวัญใจแรงงานรากหญ้าอย่างยูนิโอน เบอร์ลินก็หนีเรื่องแบบนี้ไม่พ้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้มีการก่อกำเนิดสโมสร เบเอฟเซ ดินาโม (BFC Dynamo) ขึ้นในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นทีมฟุตบอล ที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐบาลเยอรมันตะวันออก และได้รับการสนับสนุน จาก เอริช มีลเคอร์ (Erich Mielke) หัวหน้าหน่วยตำรวจลับสตาซี (Stasi) ผู้ได้รับสมญานามว่า “ชายที่คนเยอรมันตะวันออกเกลียดมากที่สุด”

การที่ เบเอฟเซ ดินาโม เป็นสโมสรที่ได้รับการหนุนหลัง จากหน่วยตำรวจลับที่มีหน้าที่ปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง อีกทั้งตัวของมีลเคอร์ยังเป็นพวกชื่นชอบแนวคิดแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ซึ่งเป็นแนวคิดตรงกันข้ามกับ ฝั่งแรงงาน ที่เป็น แฟนบอลของยูนิโอน เบอร์ลิน ทำให้ทีมบอลขวัญใจผู้ใช้แรงงานประกาศตน เป็นคู่ปรับไม่เผาผีกับทางดินาโมในทันที

ความแค้นระหว่าง ดินาโมกับยูนิโอน จึงกลายเป็นดาร์บี้แมตช์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในกรุงเบอร์ลิน เพราะการต่อสู้กันระหว่างทีมฟุตบอลที่มีอำนาจได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ ปะทะกับทีมของประชาชน ที่มีชนชั้นแรงงานของเมือง เป็นกองหนุน

 5

เป็นปกติของโลกใบนี้ที่ผู้มีอำนาจอยู่ในมือเป็นฝ่ายชนะเสมอ ในขณะที่ฝั่งดินาโมคว้าแชมป์ลีกมากถึง 10 สมัยติดต่อกันในปี 1979 ถึง 1988 ยูนิโอนกลับทำได้แค่เป็นทีมกลางตารางในฟุตบอลลีกสูงสุดของเยอรมันตะวันออก บางปีก็เลวร้ายถึงขั้นตกชั้น

ถึงแม้ทีมจะตกต่ำถึงเพียงใด แต่แฟนบอลของยูนิโอน เบอร์ลิน ล้วนภูมิใจในทีมรักของพวกเขาอยู่เสมอ กับการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คอยต่อต้านอำนาจเผด็จการในประเทศเยอรมันผ่านตะวันออก ผ่านตัวตนในฐานะแฟนฟุตบอล

“เรายอมเป็นไอ้ขี้แพ้ ดีกว่าไปสนับสนุนไอ้พวกอ้วนหน้าโง่จากสตาซี” คำร้องประจำแฟนบอลของสโมสรยูนิโอนในช่วงยุค 70’s และ 80’s กับการแสดงออกถึงความภูมิใจในสโมสรแพ้จะไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆเลยก็ตาม

 6

ผลการแข่งขัน จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการที่พวกเขาได้มีพื้นที่แสดงออกถึงความภูมิใจในการเป็นแรงงาน ซึ่งได้ปลดปล่อยความในใจที่ถูกกดขี่จากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมโดยรัฐบาลเยอรมันตะวันออก

“ไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลของยูนิโอนทุกคนจะเกลียดรัฐบาล แต่ทุกคนที่เกลียดรัฐบาลต่างหากคือแฟนบอลของยูนิโอน” แมกกาซีนชื่อ ออยเลนสปีเกิล (Eulenspiegel) ให้คำนิยามของสโมสรยูนิโอน เบอร์ลินในช่วงยุค 80’s

ความภูมิใจของแรงงาน

หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากตลอดระยะเวลาที่เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศเยอรมันตะวันตก การรวมประเทศเยอรมันอีกครั้งในปี 1990 ยูนิโอน เบอร์ลิน ยังต้องพบวิบากกรรมรอบใหม่

 7

เพราะเมื่อรวมลีกฟุตบอลระหว่างเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก ทีมจากฝั่งตะวันออกต้องพบว่าคุณภาพฟุตบอลของพวกเขาห่างชั้นจากทีมฝั่งตะวันตกอยู่มากโข โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณ และสภาพความพร้อมของสโมสร

ยูนิโอน เบอร์ลินไม่สามารถหนีปัญหาเรื่องเงินทองได้พ้น ในปี 2004 พวกเขาถูกฟ้องล้มละลาย หากไม่สามารถจ่ายหนี้จำนวน 1.5 ล้านยูโรได้ทันเวลาที่กำหนด

โชคดีที่พวกเขาได้พระเอกขี่ม้าขาวเป็น เดิร์ค ซิงเลอร์ (Dirk Zingler) นักธุรกิจผู้เป็นแฟนบอลของยูนิโอนมาตลอดทั้งชีวิต เข้ามาปลดหนี้ให้สโมสรได้ทันท่วงที และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานสโมสรนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 8

หลังจากนั้นในปี 2008 พายุลูกที่สองได้โหมเข้าใส่ เมื่อสนามเหย้าของสโมสรอย่าง สตาดิโอน อัน แดร์ อัลเทน เฟิร์สเตอร์ไอ  (Stadion An der Alten Försterei) มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากเกินไป และหากไม่ได้รับการซ่อมแซมให้ได้มาตรฐาน พวกเขาจะหมดสิทธิ์ลงสนามในรังเหย้าของตัวเอง

แม้ขาดทุนทรัพย์ ที่จะไปจ้างบริษัทก่อสร้างระดับแถวหน้า ให้มาซ่อมแซมสนามแห่งนี้ แต่แฟนบอลกว่า 2,500 คน ยอมเสียสละเวลาของตัวเอง เผื่อผันตัวเองมาเป็นคนงานก่อสร้าง ลงทุนซ่อมสนามด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเอง

“วันแรกที่เราคิดจะซ่อมสนาม คนประมาณ 200 คนมาที่สโมสร บางคนมีความรู้เรื่องการก่อสร้าง บางคนก็ไม่มี แต่นั่นไม่สำคัญหรอก เรามาด้วยใจที่อยากจะทำ เราคือครอบครัวเดียวกัน นี่คือทีมของเรา นี่คือสนามของเรา ดังนั้นพวกเราจะสร้างมันขึ้นมาเอง”

จาคอบ โรสเลอร์ (Jacob Rosler) ประธานแฟนคลับของทีมยูนิโอน เบอร์ลิน กล่าวถึงความภูมิใจในการปรับปรุงสนามที่เขารัก และทุกอย่างเป็นไปอย่างงดงามการซ่อมแซมเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2013 พร้อมกับการขยายความจุของสนามให้เป็น 22,012 คน

 9

ปัจจุบันหน้ารังเหย้าของทีมจะมีอนุสาวรีย์ สลักชื่อแฟนบอลทุกคน ที่สละเวลาส่วนตัวมาร่วมสร้างสนามของทีมขึ้นมาใหม่

ทุกวันนี้สโมสรยูนิโอน เบอร์ลิน ยังคงเป็นเพียงแค่สโมสรเล็กๆในกรุงเบอร์ลิน พวกเขายังคงไม่เคยเล่นลีกบุนเดสลีก้า และมุ่งมั่นพัฒนาสโมสรเพื่อหวังว่าสักวันจะได้ขึ้นไปเล่นกับทีมชั้นนำในลีกสูงสุดอีกสักครั้ง ไม่ต่างอะไรกับเหล่าแรงงานผู้เป็นแฟนบอล ที่ต้องผ่านชีวิตการทำงานหนักเพื่อล่าฝันของตัวเองต่อไปในทุกวัน

ต่อให้ยูนิโอนจะต้องจมอยู่ในลีก้า 2 ต่อไปอีกเป็นสิบปี แฟนบอลของทีมล้วนไม่เคยคิดเปลี่ยนใจจากทีมรักเพราะนี่คือทีมฟุตบอลของแรงงาน นี่คือความภูมิใจของพวกเขา

 10

“การได้เล่นให้กับยูนิโอนคือเกียรติของผม ที่นี่คือทีมที่พิเศษ ผมได้โอกาสลงเล่นในสนามที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ที่นีคือภาพสะท้อนของความเป็นแรงงาน แฟนบอลไม่เคยคิดจะทิ้งทีมไม่ว่าทีมจะอยู่ในวันที่สุขหรือเศร้า” เซบาสเตียน พอลเตอร์ (Sebastian Polter) กองหน้าของยูนิโอน เบอร์ลินกล่าว

หรือวันหนึ่งหากมีมหาเศรษฐีจากมาเทคโอเวอร์สโมสร เพื่อพาทีมไปสู่วันรุ่งโรจน์ แฟนบอลทุกคนแห่งนี้ ก็ล้วนไม่ต้องการเม็ดเงินเป็นทางลัดในการซื้อความสำเร็จ

เพราะทุกถ้วยแชมป์ที่สโมสรได้รับ ต้องมาจากน้ำพักน้้ำแรงจากการสนับสนุนของแฟนบอลเท่านั้น

“พวกเรายังคงเชื่อมั่นในแนวทางแบบแรงงาน (Union Way) นี่คือสโมสรที่พวกเราทุกคนเป็นเจ้าของ สนามเหย้าของทีมเป็นของฟุตบอลทุกคน มีผู้ชมมาดูเต็มสนามในทุกๆเกม เราไม่คิดจะละทิ้งแนวทางนี้หรอก” จาคอบ โรสเลอร์ ประธานแฟนคลับของทีมยูนิโอน เบอร์ลิน กล่าว

 11

เพราะสำหรับแฟนบอลยูนิโอน เบอร์ลิน สโมสรแห่งนี้จะต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยพลังของชนชั้นแรงงานเท่านั้น

และทีมยูนิโอน เบอร์ลิน จะยืนหยัดเพื่อในทุกอุดมการณ์ เพื่อแฟนฟุตบอลทุกคนของสโมสรแห่งนี้ เนื่องจากสิ่งที่สโมสรแห่งนี้ได้ต่อสู้มาตลอดคือการต่อต้านความรุนแรง และการปกครองแบบเผด็จการทั้งหมดทั้งมวล

“ผมภูมิใจที่จะบอกว่ายูนิโอน เบอร์ลิน ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หากใครไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมพูด พวกเขาก็ไม่มีที่ยืนในสนามฟุตบอลของพวกเรา” เดิร์ค ซิงเลอร์ ประธานสโมสรยูนิโอนกล่าว

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "ยูนิโอน เบอร์ลิน" : ทีมรากหญ้าขวัญใจแรงงานเยอรมัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook