โลโคโมทีฟ, ซีเอสเคเอ, ดินาโม : ชื่อซ้ำๆ ของสโมสรจากชาติอดีตสหภาพโซเวียตมีที่มาจากไหน?

เมื่อพูดถึงการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรป ไม่ว่าจะเป็นลีกภายในประเทศ หรือศึกชิงแชมป์ระดับทวีปอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กับ ยูโรปา ลีก… ทีมจากยุโรปตะวันออกคงเป็นหนึ่งในกลุ่มทีมที่ทีมจากโซนยุโรปกลางและตะวันตกไม่อยากจะเจอเสียเท่าไหร่
เพราะนอกจากระยะทางแสนไกลในการเดินทางจนนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าแล้ว ความสุดขั้ว คืออีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้การเจอกับทีมจากยุโรปตะวันออกเป็นงานยากเสมอ ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศอันแสนเย็นยะเยือก หรือแม้แต่ บรรยากาศกองเชียร์อันแสนดุดันสั่นประสาทอาคันตุกะทุกรายที่ไปเยือน
แต่สำหรับแฟนบอลแล้ว นอกเหนือจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกสิ่งที่ทำให้สโมสรฟุตบอลจากยุโรปตะวันออกเป็นที่จดจำ นั่นก็คือ ชื่อทีม ที่มักจะมีความ "ซ้ำ" จากการใช้คำเหมือนๆ กันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อทีม
คำถามก็คือ ชื่อทีมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โลโคโมทีฟ, ซีเอสเคเอ, ดินาโม และอื่นๆ อีกมากมายนั้น มีที่มาอย่างไรกันล่ะ?
ประวัติศาสตร์กว่าศตวรรษ
หลังกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เพียงไม่นานจากนั้นก็ได้แผ่ขยายไปทั่วทวีปยุโรปและทั้งโลกในเวลาต่อมา
ยุโรปตะวันออก ดินแดนที่อยู่ไกลสุดของทวีป คืออีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งกีฬาลูกหนังไปถึงอย่างรวดเร็ว แม้ผู้ที่นำเข้ามาจะมีหลากหลาย อย่างในตุรกีเป็นชาวอังกฤษที่นำเข้ามา, บัลแกเรียคือมรดกที่เกิดขึ้นจากชาวสวิส, สาธารณรัฐเช็กหรือ โบฮีเมีย ในอดีตกาลถูกนำเข้ามาโดยชาวเยอรมัน, ขณะที่รัสเซียในยุคสมัยแห่งอาณาจักร ไม่ปรากฎหลักฐานผู้นำเข้ามาอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดแจ้งคือ ทุกชาติที่กล่าวมาได้รับการถ่ายทอดศาสตร์แห่งฟุตบอลในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งสิ้น
และหลังจากนั้นไม่นาน ฟุตบอล ก็ได้เป็นกีฬายอดนิยมของยุโรปตะวันออกไปโดยปริยาย…
กำเนิดสโมสร
จากความนิยมของกีฬาลูกหนังซึ่งฮิตติดตลาด เล่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ในยุคเริ่มแรก ชื่อสโมสรฟุตบอลในแถบยุโรปตะวันออกก็ยังมีที่มาอันหลากหลาย ทั้งทำเลที่ตั้ง อย่างในกรณีของ เบซิคตัส และ เฟเนร์บาห์เช่ สองทีมดังแห่งนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ที่ก่อตั้งในปี 1903 และ 1907 ตามลำดับ ซึ่งชื่อสโมสรมีที่มาจากย่านที่ตั้งของทั้งสองสโมสรในเมือง หรือชื่อโรงเรียน เช่นกรณีของ กาลาตาซาราย อีกทีมดังแห่งอิสตันบูลที่ก่อตั้งในปี 1905 ซึ่งชื่อของสโมสรคือชื่อของโรงเรียนมัธยมกาลาตาซาราย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1481 ก่อนหน้าที่สโมสรจะเกิดถึงเกือบ 500 ปี
แม้แต่ชื่อของเชื้อชาติ ก็ยังได้รับความนิยมในการเอามาตั้งชื่อสโมสร อย่างเช่นในกรณีของ "สลาเวีย" ชื่อที่สื่อถึงชาวสลาฟ ซึ่ง สลาเวีย ปราก ทีมดังแห่งสาธารณรัฐเช็ก คือสโมสรแห่งแรกเท่าที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ที่ใช้ชื่อดังกล่าว จากการก่อตั้งสโมสรขึ้นตั้งแต่ปี 1892
และหากจะกล่าวว่า สลาเวีย ปราก คือจุดเริ่มต้นของการที่มีสโมสรชื่อซ้ำๆกันในยุโรปตะวันออกก็คงไม่ผิดอะไร เพราะหลังจากนั้นก็มีการตั้งชื่อสโมสรที่มีชื่อว่า สลาเวีย อันสื่อถึงชาวสลาฟปรากฎขึ้นในอีกหลายประเทศ อย่าง สลาเวีย โซเฟีย ของบัลแกเรียในปี 1913 หรือหลังจากนั้นอีกนานโขกับ สโลวาน บราติสลาว่า ของสโลวาเกีย ที่แม้จะก่อตั้งสโมสรตั้งแต่ปี 1919 แต่ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันเมื่อปี 1953 เป็นต้นมา
แต่นั่นเป็นเพียงระลอกแรกของเรื่องที่มีการตั้งชื่อสโมสรซ้ำๆในยุโรปตะวันออกเท่านั้น เพราะเรื่องราวที่นำมาสู่การใช้ชื่อสโมสรซ้ำๆกันในดินแดนยุโรปตะวันออกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มันเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ต่างหาก...
จากสโมสรสู่สโมสร
อันที่จริง กีฬา คือสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่สมัยของอาณาจักรรัสเซียแล้ว แต่การปฏิวัติรัสเซีย นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์โดยพระเจ้าซาร์ สู่การเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ ยังเป็นการเปลี่ยนมิติทางกีฬาครั้งสำคัญในดินแดนแห่งนี้โดยปริยาย
สหภาพโซเวียตทราบดีว่า นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว กีฬา ยังเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมรักชาติ ศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ สโมสรกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรรัสเซียจึงได้รับการสนับสนุน และรวมศูนย์จากที่เคยกระจัดกระจายเป็นกลุ่มก้อนต่างๆให้เป็นปึกแผ่น โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
โดยหน่วยงานแรกๆที่ก่อตั้งสโมสรกีฬาอย่างเป็นกิจจะลักษณะก็คือ กองทัพบก กับ หน่วยงานตำรวจลับ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกันในปี 1923 ซึ่งทางกองทัพบกเลือกใช้ชื่อ CSKA (Central'nyi Sportivnyi Klub Armii) หรือ สโมสรกีฬากลางกองทัพบก ส่วนตำรวจลับเลือกใช้ชื่อ Dynamo ซึ่งมีความหมายว่า "พลังจากการเคลื่อนไหว" (Power in Motion)
หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยงานต่างๆ ของโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสมาคมกีฬาขึ้นมาบ้าง อย่างเช่น การรถไฟ ที่ใช้ชื่อ โลโคโมทีฟ (Lokomotiv), สหภาพแรงงานต่างๆ ที่หยิบยืมชื่อของ สปาร์ตาคัส (Spartacus) อดีตทาสผู้เปลี่ยนตัวเองเป็นนักรบต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิโรมัน มาตั้งเป็นชื่อสโมสรกีฬา สปาร์ตัก (Spartak) รวมถึง Zenit ที่ถือกำเนิดจากสหภาพแรงงานผลิตอาวุธ ซึ่งนำความหมายของจุดที่ศีรษะตรงกับท้องฟ้า (Zenith) มาใช้
นับจากนั้น สโมสรกีฬาที่กล่าวมา ก็ได้ขยายไปเปิดสาขาตามเมืองต่างๆอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด หากมีที่มาจากที่เดียวกัน ก็จะใช้ชื่อสโมสรเหมือนกัน สิ่งที่ดูจะแยกความแตกต่างได้ชัดเจนที่สุดว่าทีมนั้นมาจากประเทศไหน ก็คงหนีไม่พ้น ชื่อเมือง นั่นเอง… และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ชื่อดังกล่าวก็ยังคงติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน
วิสัยทัศน์ของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตที่นำมาซึ่งการก่อกำเนิดสโมสรกีฬาโดยหน่วยงานต่างๆ จึงกล่ายเป็นที่มาของชื่อสโมสรอย่าง โลโคโมทีฟ, ซีเอสเคเอ, ดินาโม ฯลฯ ซึ่งกระจายไปทั่วทั้งยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แถมบางสโมสรอย่างตระกูล ดินาโม พวกเขายังใช้โลโก้ที่คล้ายคลึงกัน โดยมีที่มาจากโลโก้ของสมาคมกีฬาด้วยซ้ำ
แต่ด้วยความซ้ำๆ เหมือนๆ นี่แหละ ที่ทำให้แฟนบอลอย่างเราๆ จดจำสโมสรเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำกระทั่งทุกวันนี้
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ