"AG ก็อง" : สโมสรที่เปิดให้แฟนโหวตได้ตั้งแต่เลือกผู้เล่นยันแทคติก

"AG ก็อง" : สโมสรที่เปิดให้แฟนโหวตได้ตั้งแต่เลือกผู้เล่นยันแทคติก

"AG ก็อง" : สโมสรที่เปิดให้แฟนโหวตได้ตั้งแต่เลือกผู้เล่นยันแทคติก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลงานของทีมห่วย จัดตัวผู้เล่นไม่โดนใจ แทคติกสู้คู่แข่งไม่ได้ แฟนบอลของสโมสรอื่นอาจจะทำได้แค่วิจารณ์ แต่สำหรับทีมนี้มาลงมือทำเองได้เลย

เมื่อทีมรักของคุณทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ ในฐานะกองเชียร์เราอาจทำได้เพียงก่นด่าฟอร์มการเล่นของนักเตะ หรือวิจารณ์แทกติกและการจัดตัวของโค้ช

 

แต่มันจะดีแค่ไหนหากเราทำได้มากกว่านั้น เมื่อมีสโมสรหนึ่งจากฝรั่งเศส ที่ไม่ได้ให้แฟนบอลแค่ “เชียร์หรือสนับสนุน” แต่ยังมีส่วนร่วมในการเลือกนักเตะ แผนการเล่น แทคติกในเกมไปจนถึงการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเข้า-ออก ด้วยการเลือกตั้ง 

และนี่คือ อาวองต์ การ์ด ก็องเนส หรือรู้จักกันในชื่อสั้นๆว่า AG ก็อง กับแนวคิดสุดล้ำของพวกเขา

สโมสรแนวคิดประชาธิปไตย

ในวัย 33 ปี จูเลียน เลอ แปง เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเป็นบอสของทีม อาวองต์ การ์ด ก็องเนส สโมสรในระดับดิวิชั่น 6 ของฝรั่งเศส ที่กำลังแรงฮิตติดลมบน ด้วยตำแหน่งจ่าฝูง Regional 1

 1

มองอย่างผิวเผิน พวกเขาอาจจะดูเหมือนสโมสรทั่วไป มีโค้ช มีผู้จัดการทีม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือทุกการตัดสินใจของทีมแทบทุกอย่าง ล้วนผ่านการลงคะแนนจากแฟนบอลกว่า 2,000 คน ตั้งแต่ 11 ตัวจริง ตัวสำรอง แผนการเล่น ไปจนถึงวิธีการเล่นลูกตั้งเตะ โดยมี เลอ แปง เป็นผู้ดำเนินการ

“ก่อนหน้านี้ ผมเคยใช้ผู้ช่วยสองคน แต่ตอนนี้ผมร่วมมือกับคนเป็นพันๆเพื่อทำมัน และมันก็ต่างกันมาก พวกเขาตัดสินใจได้มากมายแบบที่โค้ชธรรมดาหนึ่งคนทำได้” เลอ แปงกล่าวกับ BBC

แฟนบอลหรือที่เรียกกันว่า “อูมานส์” (Umans) จะใช้แอพพลิเคชั่นที่ชื่อ United Manager ที่จับมือกับสโมสรมาตั้งแต่ปี 2017 เป็นเครื่องมือในการลงคะแนน โดยใช้เหรียญที่ได้จากการใช้แอพฯ หรือสมัครสมาชิกแบบพรีเมียมที่จะกลายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของสโมสร ซึ่งภายในแอพยัง บรรจุข้อมูลทั้ง ชื่อ น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ และตำแหน่งของผู้เล่นแต่ละคน เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ

อูมานส์ ยังสามารถรับชมผลงานของทีม ผ่านการถ่ายทอดสดด้วยระบบสตรีมมิ่ง หรืออาจจะเดินทางไปชมเกมที่สนามก็ได้ โดยพวกเขาสามารถเข้าถึงสถิติผ่าน Opta หรือข้อมูล GPS เพื่อใช้อ้างอิงในการเลือกแผนการเล่นระหว่างเกม รวมไปถึงการตกลงหรือปฏิเสธการเปลี่ยนตัวที่ เลอ แปง เสนอมา  

“(การถ่ายทอดสด) ถูกถ่ายทำในระดับของฟุตบอลอาชีพ การมีสถิติด้วยถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาในระดับนี้” เลอ แปงกล่าวต่อ

 2

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอำนาจในการตัดสินใจหลักจะอยู่ที่อูมานส์ เป็นหลัก แต่ เลอ แปง ก็ยืนยันว่าเขาคือผู้จัดการทีม และการตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วน ยังคงจำเป็นต้องเป็นเขาอยู่

“ผมยังคงเป็นผู้จัดการทีม ผมเป็นคนกลางระหว่างอูมานส์และทีม แต่มันก็มีการตัดสินใจที่จำเป็นต้องเร็วเพราะว่าไม่มีเวลาปรึกษาอูมานส์ ผมสามารถทำตรงนั้นได้”

“มันไม่มีกฎอะไรตายตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราเพียงแค่ใช้สามัญสำนึกในตอนนั้น จุดประสงค์คือทำให้ทีมมีผลงานดีขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

“ถ้ามีบั๊กในแอพฯ ผมจะเป็นคนคุมเอง มันยังไม่เคยเกิดอะไรแบบนี้นะ กลุ่มแฟนบอลของเราเยี่ยมมาก พวกเขาหนุนหลังเรา ไม่ต่อต้านเรา นี่คือการร่วมมือ และเป็นแนวคิดที่ดี”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะ เลอ แปง จะมีคนเป็นจำนวนมากช่วยเขาตัดสินใจ แต่เจ้าตัวก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับความกดดันอยู่ดี

แบกรับความกดดัน

“มากคนมากความ” มีความหมายว่ายิ่งคนจำนวนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เรื่องวุ่นวายมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่สำหรับ AG ก็อง เพราะแม้พวกเขาจะมีคนช่วยกันตัดสินใจนับพันคน แต่ในทางกลับกันมันทำให้ผลงานของทีมดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 3

แนวคิดของพวกเขา ช่วยให้ทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นใน Regional 1 ในฤดูกาลที่แล้ว และกำลังนำเป็นจ่าฝูงของตาราง ด้วยการทิ้งห่างอันดับ 2 ไปไกล ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ เลอ แปง ที่อยู่กับทีมมาเป็นปีที่ 7 ภาคภูมิใจและมีความสุข

“สำหรับผมการเป็นผู้จัดการทีมไม่ใช่แค่การตัดสินใจ มันคือการทำงานทุกวันกับนักเตะของผม”

“ไม่มีใครเอางานนี้ออกไปจากผม ดังนั้นการคิดว่าการคุมทีมคือการแค่เลือกนักเตะนั้นไม่ถูกต้อง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมจึงพูดว่างานของผมไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เพราะว่าผมยังเป็นคนหนึ่งที่ทำงานกับผู้เล่นทุกๆวัน”

“ทีมมีความสามารถในการแข่งขัน และนั่นคือเป้าหมาย เป้าหมายขึ้นต้นสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในช่วงนี้”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเลอ แปง จะมีคนนับพันมาช่วยตัดสินใจ แต่ท้ายที่สุดก็ยังเป็นเขาที่ต้องแบกรับความกดดันทั้งหมด และมันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหากทีมทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ

 4

“ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย แรงกดดันทั้งหมดอยู่บนบ่าของผม มันคือผมที่ทำงานอยู่ข้างสนามกับผู้เล่น และผมคือคนที่ฝึกซ้อมพวกเขาในทุกๆสัปดาห์”

“ความเครียดและความกดดันยังคงมีอยู่เสมอ และนั่นคือส่วนหนึ่งของสเน่ห์ของงานนี้ อูมานส์ ไม่สามารถเอาเครียดในเกมจากผมไปได้ เพราะว่ามันคือความรู้สึกส่วนตัวในวันนั้น และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง”

ลดการปะทะทางอารมณ์ระหว่างผู้เล่นและโค้ช

อันที่จริงคำว่า อาวองต์ การ์ด ในชื่อทีม ในภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า “ล้ำยุค” และทีมก็ดำเนินแนวทางอย่างที่ชื่อทีมตั้งเอาไว้ เมื่อแนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ

 5

แนวคิดของพวกเขาช่วยให้ทีมระดับสมัครเล่นทีมนี้ได้รับความสนใจจากคนภายนอก และยังสามารถดึงดูดนักเตะฝีเท้าดีมาเล่นให้ทีมได้มากขึ้นอีกด้วย

นิโคลัส ซูซานเน่ กองกลางของทีมคือหนึ่งในนั้น เขาบอกว่าการช่วยกันคุมทีมของเหล่าแฟนบอล คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาย้ายมาร่วมทีมเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018

เขาบอกว่าเขาต้องเล่นอย่างเต็มที่ในการฝึกซ้อม เนื่องจาก อูมานส์ สามารถชมวิดีโอการฝึกซ้อมของพวกเขาผ่านแอพฯ ก่อนที่จะเลือกว่าใครจะได้เป็น 11 ตัวจริงของสัปดาห์ ซึ่งมันมีประโยชน์สำหรับทีมที่ช่วยกระตุ้นให้นักเตะทำผลงานให้ดีตลอดเวลา

“เป้าหมายของโครงการนี้คือกระตุ้นให้มีอูมานส์เข้ามามีส่วนร่วมกับทีมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ สิ่งนี้ทำให้พวกเราต้องทำผลงานให้ดีที่สุดในการฝึกซ้อมแต่ละครั้งเพื่อให้ อูมานส์ พอใจที่จะเลือกลงไปในทีม” นักเตะวัย 29 ปีกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดนี้ของสโมสร ยังช่วยหลีกเลี่ยงการปะทะทางอารมณ์ระหว่างโค้ชกับผู้เล่น หลังถูกเปลี่ยนตัวออก เนื่องจากการตัดสินใจทั้งหมดล้วนมาจากมติของคนส่วนใหญ่ที่พวกเขาต้องยอมรับ

“จริงๆมันก็เหมือนกับโค้ชปกติ พวกเขาไม่ค่อยพอใจหรอก แต่มันต่างจากปกติเพราะผู้เล่นรู้ว่าโค้ชคนนี้เป็นคนเปลี่ยนตัวเขาออก แต่ในกรณีนี้มีคนจำนวนมากที่ตัดสินใจเรื่องนี้” เลอ แปงกล่าว  

“ผู้เล่นจะยอมรับได้ง่ายกว่า และเหมือนกันตอนที่ส่งอีกคนลงไป มันดูดีกว่าด้วยเพราะว่ากลุ่มแฟนบอลคิดว่าเขาควรได้เล่น”

 6

ซูซานเน ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้ว่าอันที่จริงเขาจะไม่ค่อยชอบเวลาที่ถูกเปลี่ยนตัวออกก็ตาม เขาบอกว่าเขาไม่ได้คิดถึงเรื่องอูมานส์มากนักจนกระทั่งเขาโดนเปลี่ยนตัว

“หากกลุ่มแฟนบอลตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนคนลงมาแทนผม ผมก็ออก มันคือส่วนหนึ่งของเกม เรายอมรับเงื่อนไขนี้ด้วยการเซ็นสัญญากับโครงการ แม้ว่าจะไม่มีใครชอบการถูกเปลี่ยนตัวออกก็ตาม”

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้ไม่เห็นด้วยมากนักกับการตัดสินใจของอูมานส์ นอกจากว่าพวกเขาจะตัดสินใจเปลี่ยนผมออก”

นอกจากการดึงดูดผู้เล่นแล้ว แนวคิดล้ำยุคของ AG ก็อง ยังสามารถดึงดูดความสนใจจากแฟนบอลภายนอกได้อีกด้วย

มีแฟนบอลจากทั่วมุมโลก

ในยุคที่การสื่อสารรวดเร็วและว่องไว การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ทำให้ AG ก็อง เป็นต่อกว่าสโมสรอื่นในดิวิชั่นเท่ากันในแง่ของแฟนบอล พวกเขามีแฟนบอลมากมายจากนอกพื้นที่ที่รู้จักทีมผ่านแอพพลิเคชั่น แถมบางคนยังอยู่ในต่างประเทศด้วยซ้ำ 

 7

“มีผู้คนจากเบลเยียม จากรอบๆปารีส และจากตอนใต้ของฝรั่งเศส จากทั่วทุกมุม เราหวังว่าจะมีแฟนในอังกฤษเร็วๆนี้” เลอ แปง กล่าว

“เป็นครั้งแรกที่สโมสรจากดิวิชั่นหกสามารถดึงดูดแฟนบอลนอกหมู่บ้านเล็กๆ การที่สโมสร นักเตะหรือแม้กระทั่งโค้ชเป็นที่รู้จักจากสื่อ นั่นก็เป็นเพราะ United Manager ที่ยอดเยี่ยม”

สิ่งนี้ยืนยันได้จาก *ZenAGC* หนึ่งในอูมานของทีมที่เป็นแฟน ปารีส แซงต์ แชร์กแมง บ้านของเขาอยู่ห่างจาก AG ก็อง ถึง 180 กิโลเมตร แต่เขาก็ตกหลุมรักสโมสรนี้ไปแล้ว

“ผมได้คุมทีมฟุตบอลจริงๆ และไม่สามารถเริ่มเกมใหม่ได้เหมือนวิดีโอเกม” *ZenAGC* กล่าว

“ตอนแรกผมไม่รู้จักสโมสรนี้เลย แต่ตอนนี้มันเป็นสโมสรในดวงใจของผม และรู้สึกมีแพสชั่นกว่า PSG เสียอีก”

เขาใช้เวลาเป็นชั่วโมงทุกวันในแอพฯ และชมการถ่ายทอดสดของทีมทุกนัด ความรักในสโมสรของเขาทำให้เจ้าตัวยังเคยเดินทางไปชมการแข่งขันของ AG ก็อง ถึงขอบสนามในเกม เฟรนช์ คัพมาแล้ว

“มันไม่เหมือนการตะโกนอยู่บนโซฟา ผมสามารถด่าตัวเองได้เพราะผมมีส่วนร่วมกับทุกการโหวต และผมก็ไม่ได้ตัวคนเดียวเพราะเราคือกลุ่มแฟนบอล”

“เป้าหมายในฤดูกาลนี้คือขึ้นไปเล่นใน เนชั่นแนล 3 (ดิวิชั่น 5) ถ้าเป้าหมายสำเร็จ ผมจะบอกตัวเองว่า ผมมีส่วนร่วมกับความสำเร็จเล็กน้อยนี้”

แม้ว่าทีมกำลังจะไปได้สวยด้วยคอนเซ็ปต์สุดล้ำ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ถูกต่อต้านจากคู่แข่ง

“ขวากหนาม” น่าจะเป็นสิ่งที่ AG ก็อง กำลังเผชิญบนเส้นทางอันโหดหินของพวกเขา แนวคิดของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับจากคู่แข่ง แม้ว่ามันจะได้รับการสนันสนุนจากผู้คน แต่ เลอ แปง บอกว่ามีประธานสโมสรบางทีมพยายามทำให้งานของพวกเขายากขึ้น

 8

พวกเขาถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขัน ถูกเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์และเงินชดเชย แต่นอร์มังดี ฟุตบอลลีก ก็อนุญาตให้พวกเขาลงแข่งต่อไปได้

อย่างไรก็ดี เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องเจอศึกหนัก เมื่อสมาพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) ได้ออกกฎใหม่เพื่อสกัดแนวคิดของพวกเขาโดยตรง

กฎที่ออกมาใหม่คือ ห้ามสโมสรก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรที่เป็นบุคคลที่ 3 เข้ามามีอิทธิพลกับผลงานของทีม ห้ามบุคคลที่ 3 ถามหาความรับผิดชอบของทีมที่จัดตั้งโดยเฮดโค้ช และห้ามถ่ายทอดสดหากไม่ได้รับอนุญาตจากลีก

แน่นอนว่าสโมสร ไม่เห็นด้วยกับกฎใหม่ของ FFF และ United Manager พันธมิตรของพวกเขาก็จัดการจ้างทนายเพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้ พวกเขาโต้แย้งว่า สมาคมทำไม่ถูกเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนกฎกลางฤดูกาล พร้อมทั้งยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ยุติความร่วมมือกับสโมสรอย่างแน่นอน

“บทความจำนวนมากต่อต้านโครงการนี้ เนื่องจากมันอาจจะไม่เคยมีสโมสรแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ฟุตบอลฝรั่งเศส” แถลงการณ์ของ United Manager

 9

ปัจจุบัน AG ก็อง ยังคงได้รับอนุญาตให้ลงแข่งในลีก แถมยังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการทิ้งห่างอันดับ 2 ถึง 7 คะแนน และมีโอกาสสูงมากที่จะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในระดับดิวิชั่น 5 ต่อไป

แม้ว่าเส้นทางของพวกเขาอาจจะยังอีกยาวไกล ที่จะได้ขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดของประเทศ แต่แนวคิดสมัยใหม่ของพวกเขาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ การให้แฟนบอลมีส่วนร่วมกับทีมในระดับนี้เป็นสิ่งที่แทบจะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

อย่างน้อย AG ก็อง ก็ทำให้เห็นว่า “เสียง” จากสมาชิกทุกเสียงล้วนมีค่า และไม่ได้สูญเปล่า อูมานส์ทุกคนต่างก็มีสิทธิ์มีเสียงในการลงคะแนนเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขา ไม่ว่าสิ่งที่พวกเขาเลือกจะสิ่งที่สโมสรเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็คือเสียงส่วนใหญ่ที่ทุกคนต้องยอมรับ

ราวกับว่า “ประชาธิปไตย” กำลังเบ่งบานอยู่ในสโมสรของพวกเขา

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "AG ก็อง" : สโมสรที่เปิดให้แฟนโหวตได้ตั้งแต่เลือกผู้เล่นยันแทคติก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook