"อย่าบอกว่าเราคือครอบครัว!" : ความตกต่ำของฟุตบอลตุรกีที่แฟนบอลต้องร่วมรับผิดชอบ

"อย่าบอกว่าเราคือครอบครัว!" : ความตกต่ำของฟุตบอลตุรกีที่แฟนบอลต้องร่วมรับผิดชอบ

"อย่าบอกว่าเราคือครอบครัว!" : ความตกต่ำของฟุตบอลตุรกีที่แฟนบอลต้องร่วมรับผิดชอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนบอลของเฟเนร์บาห์เช่ ถูกยิงโดยทีมคู่อริในปี 2015, ทาริก ออนกุน ผู้ตัดสินเกมอิสตันบูลดาร์บี้ โดนไฟแช็คขว้างใส่หัวจนเลือดออกแต่เกมกลับไม่ยกเลิกและดำเนินต่อไปราวกับมันเป็นเรื่องปกติ, แฟนบอลของดิยาร์บากิร์สปอร์ ลงมาวิ่งไล่ล่าผู้ตัดสิน เคมัล เยมาซ ในเกมพบบูซาร์สปอร์ นี่คือตัวอย่างความรุนแรงในฟุตบอลตุรกี ดินแดนที่แฟนบอลคลั่งฟุตบอลแบบเข้าเส้นเลือด

 

อย่างไรก็ตามโลกนี้มีสัจธรรมอยู่หนึ่งข้อ สิ่งใดที่มากเกินไป สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน และความรักก็เช่นกัน เมื่อความรักที่มีมากเกินไปสิ่งรอบข้างก็จะมืดบอดจนไม่รู้ถูกผิด รู้ตัวอีกทีความรักของแฟนบอลในตุรกีกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และความสะใจของพวกเขากลับกลายเป็นความตกต่ำที่เกิดขึ้นกับทั้งระบบ และถึงแม้จะรู้วิธีหยุด แต่ก็ดูเหมือนว่ามันไม่มีทางหยุดได้

จงยอมรับเรา

สำหรับแฟนฟุตบอลตุรกีแล้ว ทุกๆเกมที่พวกเขาลงสนามคือสงคราม ตามสถิติความรุนแรงที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเกมระดับสโมสรแทบจะทั้งสิ้น และสโมสรที่ก่อความคลั่งไคล้ที่สุดในประเทศนี้คือสโมสรจาก อิสตันบูล เมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในยุโรปที่มีพลเมืองกว่า 14 ล้านคน

 1

ตุรกี คือประเทศที่มีพรมแดนคาบเกี่ยวระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ ครั้งหนึ่งเคยเรืองอำนาจในฐานะ อาณาจักรไบแซนไทน์ ของชาวกรีก ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมอำนาจ และต้องเผชิญกับสงครามครูเสด ก่อนที่ชาวเติร์กจะพิชิตได้ในช่วงศตวรรษที่ 14 และสร้างจักรวรรดิออตโตมัน ที่ครอบครองคาบสมุทรบอลข่าน อย่างไรก็ตามถึงแม้จะยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจ แต่ชาวยุโรปส่วนใหญ่กลับไม่ยอมรับในความแตกต่างจากทั้งเชื้อชาติและศาสนา นั่นจึงทำให้ตุรกีพยายามแสดงสร้างความเก่งกาจและมีชื่อเสียงในทุกเรื่อง เพื่อตอบสนองต่อการยอมรับ และไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล

"คนประเทศอื่นๆต้องถามตัวเองว่า พวกตุรกีมันบ้าอะไรกัน … ง่ายนิดเดียว สำหรับพวกเราฟุตบอลนั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไปสนามฟุตบอลด้วยความรู้สึกแบบเดียวกับที่พวกเขาไปเข้าโบสถ์นั่นแหละ" ไอฮาน กุนเนอร์ ผู้นำแฟนบอลหัวรุนแรงแกนนำกลุ่ม Carsi ของสโมสร เบซิคตัส กล่าวเปิดหัวอย่างเร้าใจ

 2

การต้องการให้กลายเป็นที่ยอมรับจากคนต่างชาติในฟุตบอลนั้นเริ่มมาตั้งยุค 1980 ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตุรกีไม่ได้มีความเก่งกาจเรื่องเกมลูกหนังเท่าไรนัก พวกเขามักจะแพ้คู่แข่งแบบสู้ไม่ได้ (ทีมชาติตุรกี เคยแพ้ อังกฤษ 0-8 ในยุคนั้น) ดังนั้นการพัฒนาลีกในประเทศคือสิ่งที่จำเป็น ยุค '80 คือยุคที่นักฟุตบอลจากต่างประเทศเข้ามาค้าแข้งในตุรกีกันมากหน้าหลายตามากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดประเพณีการต้อนรับแบบตุรกีที่ต้องการสร้างความประทับใจให้ผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาค้าแข้ง เพื่อให้พวกเขาเป็นกระบอกเสียงว่า "ที่ตุรกีนั้นแจ๋วแค่ไหน"

แฟนบอลของแต่ละทีมจะปฎิบัติกับนักเตะทุกคนในทีมเหมือนเป็นครอบครัว ในวันที่นักฟุตบอลต่างชาติเดินทางมายังสนามบิน แฟนบอลจะแห่กันไปต้อนรับตั้งแต่ยังไม่ชูเสื้อเลยด้วยซ้ำและจำนวนที่ไปต้อนรับนั้นไม่ต่ำกว่าหลัก 3000 คน เช่นเดียวกับในวันที่นักเตะเหล่านี้ย้ายทีมแฟนๆก็จะไปอำลาด้วยเช่นกัน

"เรากำลังจะบอกกับนักเตะเหล่านั้นว่า คุณไม่ใช่แค่ผู้เล่นต่างชาติ แต่คุณคือส่วนหนึ่งในครอบครัวของเรา" อตากาน โบดาน  แฟนคลับของ กาลาตาซาราย ยืนยันถึงประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

 3

"มันก็เหมือนกับเด็กหนุ่มที่ปลดประจำการจากกองทัพนั่นแหละ เมื่อถึงวันนั้นพ่อแม่ญาติพี่น้องของพวกเขาจะต้องเดินทางมาต้อนรับขับสู้ มันเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดี และยังทำให้นักเตะเหล่านั้นระลึกเสมอว่าเขามีความรู้สึกของแฟนๆที่ต้องรับผิดชอบ" หนึ่งในแฟนบอลอุลตร้าของ เบซิคตัส กล่าวเสริม

ไม่ใช่แค่การแสดงออกในสนามบินเท่านั้น การแสดงออกในสนามของแฟนบอลจากตุรกีก็ไม่ต่างกัน แต่ละสโมสรในอิสตันบูลมีนโยบายอยากให้แฟนแข่งกันเชียร์ และแสดงให้เห็นถึงสไตล์ของแต่ละทีมว่าใครจะแน่กว่ากัน และเหตุผลของการเอาชนะกันระหว่าง 2 ทีม ก็เพื่อทำให้แขกใหม่ผู้มาเยือนเห็นว่าฟุตบอลตุรกีนั้นแจ๋วขนาดไหน และสิ่งนี้เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมกองเชียร์จากตุรกีมักจะจุดพลุแฟลร์จนท่วมสนามจนสร้างความเกรงขามราวกับว่าสังเวียนแห่งนี้คือนรกของทีมเยือน

"เรื่องนี้มันเหมือนกับสินค้าที่ตียี่ห้อ Made In Turkey นักกีฬาทุกคนควรจะได้มีโอกาสมาใช้ประสบการณ์สักครั้งในชีวิตที่นี่" อตาฮาน อัลตินอร์ดู นักข่าวของ ตุรกิช สปอร์ตส์ กล่าวปิดท้าย

การอยากได้รับการยอมรับที่มากเกินไป

ความรุนแรงของฟุตบอลตุรกีมีสารตั้งต้นจากความรักและความคลั่งไคล้ที่มากเกินขอบเขต การที่พวกเขาใส่ความเชื่อว่านักฟุตบอลในทีมเป็นเหมือนครอบครัวทำให้พวกเขายอมไม่ได้เลยที่จะเห็นคนในครอบครัวต้องถูกเสียบสกัดรุนแรง,โดนเหยียดหยามในการแข่งขัน และไปจนถึงการพ่ายแพ้ เมื่อขอบเขตมันเกินกว่าคำว่ากีฬามันจึงทำให้พวกเขาตัดสินใจทำในสิ่งแย่ๆ แต่ภายในของพวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสมควรทำ

 4

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆคือในเกม ที่เฟเนร์บาห์เช่ กับ แทร็บซอนสปอร์ เจอกันในวันคริสต์มาสปี 2016 เกมนั้นดูท่าจะไม่มีอะไรให้ต้องติดตามแล้วเพราะ เฟเนร์บาห์เช่ นำอยู่ 4-0 จากประตูของ อัลเปอร์ ปอทัก,วัลคาน เซ็น,หลุยส์ นานี่ และ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ แถมเกมเดินทางมาถึงนาทีที่ 89 แล้วแท้ๆ แต่แฟนบอลของทีมเยือนกลับกรูกันลงสนามและโจมตีใส่ โวลคาน บายาร์สลาน ผู้ช่วยผู้ตัดสินในวันนั้น

ต้นเหตุมันมาจากปี 2011 ที่ บายาร์สลาน มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล็อกผลให้ เฟเนร์บาห์เช่ ชิงตั๋วไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกตัดหน้า แทร็บซอนสปอร์ ซึ่งถือว่าเป็นสโมสรแห่งความภูมิใจของฝั่งทะเลแบล็คซี จึงทำให้ความแค้นสะสมเมื่อรวมกันผลสกอร์ที่แพ้ขาดลอย แฟนของ แทร็บซอนสปอร์ จึงได้โอกาสจัดหนักในสนาม โดยไม่กลัวกฎหมายใดๆ และหลายครั้งที่เหตุการณ์ทำตามใจฉันส่งผลให้เกมการแข่งขันในลีกต้องตุรกีต้องยกเลิกไป

 5

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเมืองและวิถีชีวิตของแต่ละสโมสรที่มีความเชื่อไม่ตรงกัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะห้ามความแตกแยกนี้ อาทิ เฟเนร์บาห์เช่ คือตัวแทนจากชนชั้นแรงงานในอิสตันบูล ขณะที่ กาลาตาซาราย มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มลูกคุณหนูผู้ดีฝั่งยุโรป  จนเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเจอกันทีไรใส่กันเมื่อนั้น นี่คือตัวอย่างของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาตั้งแต่ยุคอดีต แน่นอนว่าเมื่อแฟนบอลแสดงออกกับนักฟุตบอลว่าเราคือครอบครัวเดียวกัน มันก็ทำให้นักฟุตบอลต้องตอบสนองให้แฟนบอลรู้ว่าพวกเขาเองก็มีความทุ่มเทมากพอที่จะได้รับเสียงเชียร์จากแฟนๆ

อย่างไรก็ตามข้อเสียจากเรื่องนี้คือเมื่อนักฟุตบอล "อินเกินไป" พวกเขาอาจจะเผลอแสดงปฎิกิริยาที่บุคคลสาธารณะไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดหยามคู่แข่ง การใช้คำพูดเชิงยั่วยุ และถ้าพวกเขาห้ามตัวเองไม่อยู่ก็เหมือนเป็นการจุดชนวนความบาดหมางเข้าไปอีกแบบยกกำลังสอง

เดนิซ นากิ นักเตะชาวเยอรมันของทีม อาเหม็ดสปอร์ ก็เคยโพสต์ข้อความเหยียดหยามยั่วยุใส่ แฟนๆ อันคารากูคู หลังจากที่ในเกมที่ทั้งสองทีมเจอกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ฝั่งแฟนบอลของ อันคารากูคู ซึ่งเป็นทีมเยือนในวันนั้นได้ตะโกนด่าคำขวัญประจำทีม อาเหม็ดสปอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ อับดุลลาห์ โอคาลาน ผู้นำของพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ที่ถูกจำคุกอยู่ในเวลานั้น  จนทำให้แฟนบอลของเจ้าบ้านฮึดฮัดเก็บไม่ไหวและข้ามไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ของทีมเยือนถึง 5 คนในบ็อกซ์ VIP เลยทีเดียว

หลังจากเหตุการณ์สงบลงและฝั่ง อาเหม็ดสปอร์ เป็นฝ่ายชนะ แต่ นากิ กลับไม่จบง่ายๆ เขาโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ในทิศทางที่ว่าฝั่งทีมของเขานั้นขาวสะอาด และว่าถึงแฟนบอล อันคารากูคู ที่พยายามเล่นเกมที่สกปรกทั้งการเล่นเรื่องการเมือง และการใช้ความรุนแรงแบบขี้แพ้ชวนตี เรื่องนี้ทำให้ตัว นากิ เองโดนแบนจากกรรมการวินัยฟุตบอลอาชีพถึง 12 นัดเลยทีเดียว

 6

เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้สนามฟุตบอลในตุรกีไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับการเข้ามาดูฟุตบอลเป็นครอบครัวอีกแล้ว เพราะพวกเขาไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในแต่ละเกม

"สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือในค่ำคืนนี้มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆร้องไห้ ขณะที่พ่อของเธอกำลังอุ้มหนีจากเหตุการณ์รุนแรงบนสแตนด์  ความจริงแล้วที่แห่งนี้ควรเป็นที่ที่พ่อพาลูกและภรรยามาดูการแข่งขันโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงตายใดๆเลยด้วยซ้ำ" วิเตอร์ เปไรร่า อดีตกุนซือของ เฟเนร์บาห์เช่ กล่าวหลังจากที่ครั้งหนึ่งเข้าเคยถูกแฟนบอลฝั่งตรงข้ามตามเล่นงานจนถึงห้องแต่งตัวนักเตะมาแล้ว

หยุดไม่ได้

ความรุนแรงนั้นมากขึ้นในทุกๆวัน เหตุผลคือมันไม่ใช่แค่เรื่องของกีฬาเพียงอย่างเดียว จากความเชื่อที่ต่างกันกลายเป็นความเกลียดชังอย่างเต็มรูปแบบ และความรุนแรงก็ไม่ได้เกิดในสนามอย่างเดียว แต่มันยังเกิดขึ้นบนท้องถนนอีกด้วย

 7

ครั้งหนึ่งในปี 2013 บูรัก ยิลดิริม นักเรียนวัย 19 ปี ถูกแทงตายในช่วงอิสตันบูลดาร์บี้ ด้วยสาเหตุเพียงแค่เขาสวมเสื้อของ เฟเนร์บาห์เช่ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ทำร้ายแบบหมายเอาชีวิตนักฟุตบอลอีกหลากหลายครั้ง เช่นเหตุการณ์ที่รถบัสนักเตะของ เฟเนร์บาห์เช่ กำลังกลับจากเกมเยือน ไรเซสปอร์ แต่แล้วรถบัสก็ถูกยิงจนคนขับนั้นเลือดท่วม แต่โชคยังดีที่ อูฟุก คีราน คนขับในวันนั้นยังมีสติ เพราะไม่เช่นนั้นรถที่ขับด้วยความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจจะพุ่งตกหน้าผา และผู้เล่นทั้ง 42 รวมถึงอดีตนักเตะดังอย่าง เดิร์ก เคาท์ และ เอ็มเร่ เบโรโซกลู อาจจะต้องเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2015 แล้วก็ได้ ... จะเห็นได้ว่าสถานการณ์มันเลวร้ายจนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ง่ายๆ

สุดท้ายแล้วเมื่อเรื่องมันหลุดกรอบของกีฬาไป ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่จะต้องเข้ามาช่วยจัดการกับเรื่องนี้ นี่ไม่ใช่แค่การตีกันจากเรื่องของการแข่งขัน แต่มันควรถูกบรรจุว่าเหตุการณ์เหล่านี้คืออาชญากรรม  ดังนั้นการให้สโมสรแต่ละสโมสรจัดการกันเอง เต็มที่ก็ได้แค่แบนเข้าสนามตลอดชีวิต เหมือนอย่างที่แฟนบอลคนหนึ่งที่ถือมีดลงไปไล่แทงผู้ตัดสินในสนาม … ซึ่งมันแทบไม่ถือว่าเป็นบทลงโทษที่รุนแรงเลย เพราะอย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นคืออันตรายพร้อมมาเยือนทุกวินาทีสำหรับวงการฟุตบอลตุรกี แม้แต่การเดินบนถนนแบบไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครก็ตาม

 8

ขณะที่ตัวของสมาคมฟุตบอลลีกในประเทศนั้นก็ควรจะต้องเริ่มจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะเรื่องการลงโทษทางวินัยกับสโมสรต่างๆ "หากพวกคุณอยากได้การเชียร์ที่เร้าใจ พวกคุณควรจะควบคุมแฟนๆของตัวเองให้อยู่" และเมื่อการจัดการขั้นเด็ดขาดไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครกลัว และเมื่อไม่มีใครกลัว เรื่องพวกนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

"ถ้ากรรมการ ออซกู ยานกาย่า ได้ลงตัดสินเกมของทีมเราอีกครั้ง ผมรับรองได้เลยว่ามันจะไม่ได้ออกจากสนามง่ายๆแน่นอน"  อดีตประธานของ เฟเนร์บาห์เช่ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้แบบนี้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้มันต้องแก้กันทั้งหมดตั้งแต่รากหญ้าจนถึงขั้นกลุ่มคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้รอเซ็นเอกสารด้วย

หากแฟนบอลยังเห็นว่าการเป็นครอบครัวคือสิ่งที่ยอมใครไม่ได้ ใครขวางต้องเอาให้ตายลูกเดียวแบบนี้ แน่นอนว่ากระแสฟุตบอลในประเทศของตุรกีจะต้องลดน้อยถอยลงไป จากที่พวกเขาเคยมี ดิดิเยร์ ดร็อกบา,เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์,เดิร์ก เคาท์,โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ตอนนี้เหล่าสตาร์ก็จะลดชื่อชั้นลงไปเหลือแต่พวกขาลงเท่านั้น

 9

และหากจะยกตัวอย่างให้เห็นแบบชัดๆไปเลยเคยคือความเข้มข้นของแต่ละสโมสรที่เคยแกร่งในฟุตบอลยุโรปลดน้อยลงไปอันเป็นเหตุผลจากการขาดนักเตะต่างชาติระดับคุณภาพ จึงทำให้ตอนนี้ลีกตุรกีตกมาอยู่ในอันดับที่ 10 จากการจัดอันดับลีกในยุโรป ค่าสัมประสิทธิ์ของพวกเขาในตอนนี้โดนทั้ง เบลเยี่ยม,ยูเครน,โปรตุเกส และรัสเซีย แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว แถมกำลังจะถูกสาธารณรัฐเช็กแซงหน้าในอีกเร็ววันนี้อีกด้วย  

เรื่องทั้งหมดกลั่นออกมาเป็นคำตอบได้ว่า "ไม่มีใครสามารถเอาชนะความเกลียดชังได้ด้วยการเกลียดชังใส่" ทว่าหากอยากลองก็ย่อมได้ แต่ระวังจะล่มสลายไปเสียเอง

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "อย่าบอกว่าเราคือครอบครัว!" : ความตกต่ำของฟุตบอลตุรกีที่แฟนบอลต้องร่วมรับผิดชอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook