จากมุมมองนักสังคมวิทยา : เหตุใดการเหยียดผิวถึงไม่หมดไปจากวงการลูกหนังได้ง่ายๆ?

จากมุมมองนักสังคมวิทยา : เหตุใดการเหยียดผิวถึงไม่หมดไปจากวงการลูกหนังได้ง่ายๆ?

จากมุมมองนักสังคมวิทยา : เหตุใดการเหยียดผิวถึงไม่หมดไปจากวงการลูกหนังได้ง่ายๆ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเหยียดผิว ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่วงการฟุตบอลทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเป็น มะเร็งร้าย เพราะนี่ถือเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน

แต่ถึงจะมีการรณรงค์สักแค่ไหน ก็น่าแปลกอยู่ไม่น้อยที่การเหยียดผิวดูจะไม่มีทีท่าจะหมดไป เมื่อเรายังคงได้ยินข่าวคราวในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน

และนั่นนำมาซึ่งคำถามที่ว่า เหตุใดการกระทำลักษณะดังกล่าวถึงยังมีอยู่กระทั่งทุกวันนี้? Main Stand จึงขอนำเสนอมุมมองจากนักสังคมวิทยา ที่อาจจะช่วยให้คุณๆ เข้าใจปัญหานี้ได้มากขึ้น

 

เหตุการณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง

แม้จะมีหลักฐานไม่มากนัก แต่เชื่อกันว่าการเหยียดผิวในวงการฟุตบอลเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยแรกๆ ที่มีฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวดูจะเริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นตั้งแต่ยุค 1970 เป็นต้นมา

 1

และนับจากนั้น ปัญหาการเหยียดผิวก็ได้กลายเป็นมะเร็งร้ายของวงการลูกหนังมาโดยตลอด ซึ่งแม้จะมีการปราบปรามอย่างจริงจังและการรณรงค์อันเข้มข้นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ, สโมสร, นักเตะ, องค์กรการกุศล หรือแม้แต่แฟนบอลปรามกันเอง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

Kick It Out องค์กรการกุศลที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 1993 เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเหยียดผิว และการเหยียดมิติอื่นๆ ในวงการลูกหนัง เปิดเผยสถิติเมื่อปลายปี 2018 ซึ่งปรากฎว่า การเหยียดผิวในฟุตบอลอังกฤษตลอดฤดูกาล 2017/18 มีมากถึง 273 ครั้ง ซึ่งมากกว่าในฤดูกาลก่อนหน้าถึง 22% ไม่เพียงเท่านั้น การเหยียดในลักษณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ความพิการ ฯลฯ ยังเพิ่มขึ้น ทำให้สถิติการเหยียดในทุกมิติมีถึง 520 ครั้ง

อีกสิ่งสำคัญที่ Kick It Out ได้เปิดเผยก็คือ ตลอด 6 ฤดูกาลหลังสุด การเหยียด เลือกปฏิบัติในวงการฟุตบอลอังกฤษ มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

 2

ไม่เพียงเท่านั้น การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และอื่นๆ ยังปรากฎให้ได้เห็นอยู่เสมอในทุกภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็นในเยอรมนี ที่ เมซุต โอซิล เพลย์เมคเกอร์ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ปล่อยระเบิดตูมใหญ่พร้อมการประกาศอำลาทีมอินทรีเหล็กว่า เขาถูกแฟนบอลร่วมชาติเหยียดหยาม ดูหมิ่นอย่างหนักในเรื่องเชื้อชาติและศาสนา จากการไปถ่ายรูปร่วมเฟรมกับ เรจิบ ทายยิป เออร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี ประเทศที่เป็นต้นตระกูลของเขาก่อนที่ฟุตบอลโลก 2018 จะเริ่มขึ้นได้ไม่นาน

หรือแม้แต่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งแฟนบอลหลายคนก็ไม่ยอมรับในทีมชาติของพวกเขา โดยให้เหตุผลว่า มีนักเตะเชื้อสายแอฟริกันอยู่ในทีมมากเกินไป ทั้งๆ ที่การผสมกันระหว่างนักเตะฝรั่งเศสแท้และที่มีเชื้อสายแอฟริกัน คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมตราไก่คว้าแชมป์โลกได้ถึง 2 สมัย

 3

ไม่เพียงแต่แฟนบอล เพราะคนในวงการลูกหนังเองก็มีส่วนที่เพิ่มเชื้อไฟในการเหยียดด้วยเช่นกัน เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากฝีมือของ อิกอร์ สติมัช อดีตนักเตะและเฮดโค้ชทีมชาติโครเอเชีย ที่โพสต์เฟซบุ๊กจำเพาะเจาะจงโจมตีนักเตะเชื้อสายแอฟริกันของทีมชาติฝรั่งเศส คู่ต่อสู้ของทีมตราหมากรุกในฟุตบอลโลก 2018 รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งแม้จะโดนสังคมประณามจนต้องลบโพสต์ แต่ก็ไม่โดนบทลงโทษใดๆ เพิ่มเติม และยังทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ทางโทรทัศน์ได้ตามปกติอีกด้วย

ใครกันช่วยโหมไฟ?

จากข้อมูลที่ปรากฎ เห็นได้ชัดว่าแม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว, เชื้อชาติ, เพศ ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวกลับไม่มีทีท่าที่จะหมดไปเลยแม้แต่น้อย

 4

และเมื่อมีข่าวฉาวเรื่องการเหยียดผิวคราใด ก็จะมีผู้คนถามหาความรับผิดชอบ ซึ่งมุมมองของ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ดาวเตะทีมชาติอังกฤษของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถือเป็นอะไรที่น่าสนใจและเกินคาดคิดมาก…

เพราะเจ้าตัวมองว่า "สื่อมวลชน" มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเหยียดผิวยังไม่สูญพันธ์ไปจากโลกลูกหนัง

เรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่กล่าวขึ้นมาเพียงลอยๆ เมื่อเขายกตัวอย่างของนักเตะรุ่นน้องในทีมเรือใบสีฟ้า 2 คน อย่าง ฟิล โฟเด้น และ โทซิน อดาราบิโอโย่ ที่แม้ทั้งคู่จะเพิ่งซื้อบ้านหลังใหม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ลงในหน้าสื่อกลับต่างกันคนละโยชน์

เพราะขณะที่สื่อลงข่าวการซื้อบ้านของโฟเด้นอย่างปกติ ทั้งการลงชื่อของเจ้าตัว พร้อมกับบอกด้วยว่าเป็นการซื้อ "เพื่ออนาคต และเป็นของขวัญให้กับคุณแม่" แต่กรณีของอดาราบิโอโย่ ซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกัน สื่อกลับเลือกที่จะใช้พาดหัวแนว Clickbait ว่า "ดาวรุ่ง แมนฯ ซิตี้ วัย 20 รับค่าเหนื่อย 25,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ละลายเงินซื้อบ้านมูลค่ากว่า 2 ล้านปอนด์ ทั้งๆ ที่ไม่เคยลงเล่นเกมพรีเมียร์ลีกแม้แต่นัดเดียว" ที่สำคัญกว่าคือ ไม่มีการลงชื่อของเขาในพาดหัวข่าวเลยแม้แต่น้อย

 5

"คุณมีนักเตะดาวรุ่ง 2 คนที่เพิ่งเริ่มต้นการเป็นนักเตะอาชีพกับทีมเดียวกัน ทำสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน นั่นคือการซื้อบ้านให้คุณแม่ที่ช่วยผลักดันพวกเขามาถึงจุดนี้ แต่ดูที่สื่อพาดหัวข่าวของนักเตะผิวดำ เทียบกับนักเตะผิวขาวสิ" สเตอร์ลิ่งเอ่ยปากด้วยความรู้สึกที่น่าจะขึ้นๆ อยู่ไม่น้อย

"ผมมองว่านี่คือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พวกเขาบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่การใช้คำของสื่อ มันทำให้คนผิวดำถูกมองด้วยสายตาที่แย่ ซึ่งเป็นการเติมเชื้อไฟการเหยียดผิวและพฤติกรรมก้าวร้าวในสังคมลูกหนัง"

อย่างไรก็ตาม จอห์น บาร์นส์ อดีตยอดนักเตะทีมชาติอังกฤษและ ลิเวอร์พูล ซึ่งมีเชื้อสายแคริบเบี้ยนเช่นเดียวกับสเตอร์ลิ่งกลับมองว่า ถึงจะไม่มีสื่อที่ลงข่าวแนวล่อคลิกทำให้ผู้คนสนใจจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด การเหยียดผิวก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมและวงการฟุตบอลอยู่ดี

"ผมไม่แปลกใจสงสัยอะไรกับการที่คนผิวขาวจะตะโกนเหยียดผิว และก็ไม่โทษพวกเขาด้วย เพราะเราทุกคนต่างก็ถูกแบ่งแยกทั้งนั้นแหละ ปัญหามันไม่ใช่ว่ามีคนตะโกนเหยียดผิว แต่เป็นเพราะว่าพวกเขาต้องการที่จะทำมันต่างหาก แม้พวกที่เหยียดผิวในสนามฟุตบอลทั้งหมดเงียบเสียงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ทั้งสนามก็ยังเต็มไปด้วยพวกเหยียดผิวอยู่ดี เพราะการเหยียดผิวมันอยู่ทุกที่ในสังคม มันอยู่ข้างในตัวเราทุกคนทั้งนั้น" เจ้าตัวร่ายผ่านบทความที่เขียนให้ The Guardian สื่อดังของอังกฤษ

"แม้ไม่มีคำพูด แต่ในทุกวัน ผู้คนต่างก็เจ็บปวดกับการถูกแบ่งแยกทางสีผิว เชื้อชาติ และอะไรต่างๆ อยู่เสมอ... ผมพูดถึงเหตุการณ์น่าอับอาย (banana skins) ที่ไม่มีใครมองเห็น การปฏิเสธในเรื่องของโอกาสและความเท่าเทียมกันอย่างเงียบๆน่ะ และด้วยความที่มันมองไม่เห็น ก็เลยไม่มีใครตระหนักรู้และให้ความสนใจตามไปด้วย"

นักสังคมวิทยาว่าอย่างไร?

จากทรรศนะของ “ปีกนิลกาฬ” ตำนานหงส์แดง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามหน้าสื่อ ดูเหมือนการเหยียดผิวจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกกำจัดไปจากวงการฟุตบอลได้เลย แม้โลกจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่มีองค์ความรู้ต่างๆ มากขึ้นก็ตาม

 6

ศาสตรจารย์ เอลลิส แคชมอร์ นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล แห่งมหาวิทยาลัยแอสตัน ได้ทำการศึกษาแฟนบอลอังกฤษจำนวน 2,500 คนเมื่อปี 2014 เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของการเหยียดผิว ผลปรากฎว่า แฟนบอลครึ่งหนึ่งต่างเคยประสบกับเหตุการณ์เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ ในรูปแบบต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น โดยแฟนบอลคนหนึ่งระบุว่า "แม้มันจะไม่มีคำพูดมากมายเหมือนสมัยก่อน แต่ใครก็ตามที่เข้าสนามฟุตบอลเป็นประจำต่างก็รู้สึกได้ว่า การเหยียดผิวนั้นยังคงอยู่ และอยู่ดีด้วย"

ด้วยเหตุดังกล่าว ศ.แคชมอร์ จึงสรุปเรื่องราวได้ว่า "แม้การเหยียดผิวในทุกวันนี้จะดูไม่ใกล้เคียงกับจุดพีคของมันในยุค 1980s แต่ดูเหมือนว่าสำหรับกีฬาฟุตบอล จะมีการอนุรักษ์ประเพณีแห่งการเหยียดผิวไว้"

แต่มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?

 7

อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทรรศนะถึงประเด็นดังกล่าวว่า "ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจก่อนว่า แม้กีฬาฟุตบอลมันจะถือกำเนิดจากชนชั้นแรงงานในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ก็จริง แต่ชนชั้นแรงงานในสมัยนั้นก็คือ คนผิวขาว ทีนี้แม้โลกมันจะพัฒนาสู่ยุคใหม่ มีการเดินทาง โยกย้ายถิ่นฐานการทำงานต่างๆ จนมีคนหลายเชื้อชาติ หลากสีผิว เข้ามาอยู่ในสังคมหรือแม้แต่ในวงการฟุตบอลในฐานะต่างๆ ความรู้สึกที่ว่า 'เอ็งไม่ใช่พวกข้า' มันก็ยังมีอยู่เป็นธรรมดา"

"จริงอยู่ที่ในหมู่ของนักกีฬาเอง ความรู้สึกดังกล่าวมันจะลดน้อยถอยลง เพราะการตัดสินนั้นจะไปขึ้นอยู่กับฝีเท้าและผลงานในสนามเป็นหลัก แต่สำหรับแฟนบอลจำนวนไม่น้อยในยุโรปไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรื่องราวของการเหยียดผิวยังคงมีอยู่นั่นเอง"

 8

ขณะที่ ตฤณ ไอยะรา อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มองว่า สาเหตุที่ทำให้การเหยียดผิวยังคงอยู่กับวงการลูกหนังมาจนถึงวันนี้นั้น เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยใหญ่ๆ "ประการแรก วัฒนธรรมบางอย่างที่มันไม่ดีเนี่ย มันได้หยั่งรากลึกในจิตใจของแฟนบอลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะความคิดของเราของเขา หรือแม้แต่แนวคิดแบบฟาสซิสต์ ซึ่งแฟนบอลอุลตร้าในบางประเทศอย่าง อิตาลี ยึดถึอมาเป็นแนวปฎิบัติ"

"ประการที่สอง ต้องยอมรับว่า กระแสขวาใหม่ในหมู่คนยุโรปที่มองว่า คนอพยพคือตัวปัญหาเนี่ย มันก็มีส่วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่น้อย ลองดูเรื่องของ เมซุต โอซิล ปี 2018 เขาโดนแฟนบอลเยอรมันโจมตีทั้งเรื่องเชื้อชาติที่เขาเป็นคนตุรกี รวมถึงการไปถ่ายภาพคู่กับประธานาธิบดี เรจิป ทายยิป เออร์โดอาน ซึ่งมีภาพลักษณ์ไม่ดีนักเรื่องสิทธิมนุษยชน คำหนึ่งที่เขาพูดว่า 'ผมเป็นคนเยอรมันตอนได้แชมป์ แต่เป็นผู้อพยพตอนพ่ายแพ้' จะว่าไปมันก็สะท้อนอยู่นะว่า ตราบใดที่คุณยังเป็นผู้ชนะ ปัญหาเหยียดผิวก็ไม่มีหรอก แต่พอแพ้ขึ้นมาเมื่อไหร่ มันจะกลายเป็นอาวุธที่หยิบมาโจมตีเลย"

"ประการสุดท้ายที่ส่งผลต่อเรื่องนี้ไม่แพ้กันก็คือ การสร้างภาพความเข้าใจ เพราะไม่ว่าจะในสังคมปกติ หรือสังคมฟุตบอล Perception หรือภาพที่คนเข้าใจผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ยังต่างกันเลย อย่างนักเตะจากทวีปแอฟริกา ก็จะมองถึงภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งเป็นหลัก ต่างจากนักเตะอเมริกาใต้ที่มักถูกมองว่าเป็นนักเตะพรสวรรค์ ซึ่งในส่วนของนักเตะอเมริกาใต้เนี่ย แม้แต่ในรายงานของยูฟ่าเองยังระบุไว้เลย อันที่จริง เรื่องนี้ไม่ใช่การเหยียดนะ แต่การสร้างภาพจนกลายเป็นภาพเหมารวมหรือ Stereotype มันก็ทำให้คนจดจำจนทำให้เกิดพฤติกรรมในลักษณะเหยียดขึ้นเมื่อคนที่เห็นตรงหน้าไม่ได้เป็นไปอย่างที่วาดภาพไว้" อ.ตฤณ จาก ม.วลัยลักษณ์ ทิ้งท้าย

 9

ด้วยมุมมองของคณาจารย์ที่กล่าวมา การเหยียดผิวจึงได้กลายเป็นมะเร็งร้ายที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ง่ายๆ ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์ เบน แคร์ริงตัน อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนีย ก็ได้มองโลกอย่างมีความหวังว่า อย่างน้อยที่สุด กีฬาเองก็มีสิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่อาจช่วยให้ปัญหาการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และอื่นๆ ลดน้อยลงได้ เพียงแต่บางที อาจต้องเพิ่มความจริงจังกับมันให้มากขึ้น…

"ผมคิดว่ามันมีสิ่งสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับวงการกีฬาที่เราต้องยึดถือมันเอาไว้ นั่นคือ ความเป็นไปได้ของการที่จะก้าวข้ามความเชื่อทางเชื้อชาติหรือสีผิว เพราะตัวของกีฬาเอง มีความสามารถที่จะสร้างช่วงเวลาของการเอาชนะความเชื่อเดิมๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จริงอยู่ เราไม่อาจปฏิเสธเรื่องการเหยียดผิวว่ามันไม่มีอยู่จริงได้ แต่สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ มันมีความเป็นไปได้ ผมคิดว่าเราควรใช้สิ่งนี้มาทำให้การต่อต้านการเหยียดผิวมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จะดีกว่า"

"นี่แหละ คือคำมั่นสัญญาที่วงการฟุตบอลควรจะต้องยึดถือเอาไว้" ศ.แคร์ริงตัน กล่าวสรุป

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ จากมุมมองนักสังคมวิทยา : เหตุใดการเหยียดผิวถึงไม่หมดไปจากวงการลูกหนังได้ง่ายๆ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook