ซับซ้อนและงงงวย : สัญญานักกีฬาอเมริกันเกมส์ที่โหดจริง.. ยิ่งกว่านักฟุตบอล

ซับซ้อนและงงงวย : สัญญานักกีฬาอเมริกันเกมส์ที่โหดจริง.. ยิ่งกว่านักฟุตบอล

ซับซ้อนและงงงวย : สัญญานักกีฬาอเมริกันเกมส์ที่โหดจริง.. ยิ่งกว่านักฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พูดถึงเรื่องเงินทองเมื่อไหร่ หลายคนคงอดอิจฉาเหล่านักกีฬาอาชีพไม่ได้ เมื่อรายได้ของพวกเขานั้นมหาศาลขนาดที่ว่าเพียงปีเดียวที่ได้เงินจากการเล่น อาจมากกว่าที่คนธรรมดาคนหนึ่งหามาได้ตลอดชีวิตเลยด้วยซ้ำ

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะนึกถึงนักฟุตบอล เพราะนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ต่างได้ค่าเหนื่อยถึงสัปดาห์ละหลายแสนปอนด์ แต่เราอยากจะบอกว่า สัญญาที่นักกีฬาอเมริกันเกมส์ ไม่ว่าจะเป็นนักอเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล หรือแม้แต่เบสบอลได้นั้น ก็มากมายมหาศาลไม่แพ้กัน

 

แต่ภายใต้ตัวเลขเงินระดับ 8-9 หลัก มันก็มาพร้อมกับรายละเอียดในตัวของสัญญาที่เยอะแยะชวนงงเสียเนี่ยกระไร… Main Stand ขออาสาคลายข้อสงสัยในรายละเอียดของสัญญาที่ว่าโหดและเยอะแยะมากมายแสนจะซับซ้อนให้คุณๆเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ตัวเลขที่แตกต่าง

 1

หนังสือพิมพ์ เลกิ๊ป ของฝรั่งเศส เพิ่งเปิดเผยตัวเลขค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา โดยนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยสูงสุดในโลก ณ เวลานี้คือ ลิโอเนล เมสซี่ ดาวดังหมายเลข 10 แห่งบาร์เซโลน่า ซึ่งได้อยู่ที่เดือนละ 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี รองลงมาคือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ได้จาก ยูเวนตุส เดือนละ 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 63.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี 

แต่หากมาดูในส่วนของนักกีฬาอเมริกันเกมส์แล้ว ก็จะเห็นว่ารายรับของเหล่านักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์นั้นมากมายมหาศาลไม่ต่างกัน… แอร่อน ร็อดเจอร์ส ควอเตอร์แบ็คดีกรีแชมป์ซูเปอร์โบวล์ของ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ทีมดังแห่งศึกอเมริกันฟุตบอล NFL รับค่าเหนื่อย 4 ปี 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เลบรอน เจมส์ ยอดฝีมือแห่งบาสเกตบอล NBA เซ็นสัญญา 4 ปี 153.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ย้ายจาก คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส สู่ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส และล่าสุด ไบรซ์ ฮาร์เปอร์ ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการเบสบอล ตัดสินใจรับข้อเสนอ 13 ปี 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อย้ายจาก วอชิงตัน เนชั่นแนลส์ สู่ ฟิลาเดลเฟีย ฟิลลี่ส์ ในปี 2019 นี้เอง

 2

หากดูจากจำนวนเงินอย่างเดียว ดูเหมือนตัวเลขรายได้ของนักกีฬาอเมริกันเกมส์นั้นจะตื่นตาตื่นใจมากกว่านักฟุตบอลอย่างเห็นได้ชัด เพราะแทบจะการันตีได้เลยว่า นักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์จะต้องได้เงิน 8-9 หลักตามสัญญาแต่ละฉบับ… แต่ภายใต้ตัวเลขดังกล่าว กลับมีรายละเอียดทางสัญญาที่มากมาย, ซับซ้อน และโหดกว่ามากเลยทีเดียว

รายละเอียดมากมาย

หากไล่เรียงดูที่สัญญาของนักฟุตบอล ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยมีอะไรที่ซับซ้อน เพราะมีการระบุค่าเหนื่อยอย่างชัดเจนเลยว่า นักเตะคนนั้นจะได้รับอยู่ที่สัปดาห์ (หรือเดือน หรือปี) ละเท่าไหร่ ส่วนโบนัสต่างๆ แม้จะมีการระบุไว้ในสัญญา แต่มักไม่ค่อยถูกเปิดเผยให้ทราบกันเท่าไหร่นัก ยกเว้นหากมีมือดีแฮคฐานข้อมูลเอามาปล่อยให้สาธารณะรับทราบ เหมือนอย่างกรณีของ ฟุตบอล ลีคส์ (Football Leaks) ที่มักจะนำข้อมูลลักษณะนี้มาปล่อยอยู่เสมอเป็นระยะๆ

แต่ในส่วนของอเมริกันเกมส์ ตัวเลขเงินที่เห็นมหาศาล 8-9 หลักนั้น คือมูลค่าสูงสุดที่นักกีฬาผู้นั้นพึงได้จากสัญญาฉบับดังกล่าว หรือพูดได้อีกแบบก็คือ นักกีฬาอาจจะได้เงินไม่ครบตามสัญญาก็เป็นได้

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า สัญญาของนักกีฬาอเมริกันเกมส์คือการเอาเปรียบจากฝั่งต้นสังกัดชัดๆ แต่อันที่จริง มันคือรายละเอียดที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับแล้วต่างหาก เพราะหากรับเงื่อนไขไม่ได้ ก็ไม่ต้องจำเป็นต้องเซ็นสัญญากัน ถูกต้องใช่ไหม?

 3

ก่อนอื่นเลยก็คือ สัญญาในฟากฝั่งอเมริกันเกมส์นั้นเป็นการรวมกันของ 2 สิ่ง สิ่งแรกคือ ค่าเหนื่อย (Salary) ซึ่งเป็นเงินค่าจ้างพื้นฐานที่ผู้เล่นต้องได้ กับอีกสิ่งคือ โบนัส (Bonuses) ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งโบนัสการเซ็นสัญญา (Signing Bonus) ที่จะได้ทันที, โบนัสการติดทีม (Roster Bonus) ซึ่งจะได้ก็ต่อเมื่อมีชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่เมื่อถึงวันที่กำหนด หรือแม้แต่ โบนัสตามผลงาน (Performance Bonus) ซึ่งจะได้หากทำผลงานได้ตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกัน ก็มีเงื่อนไขของสัญญาอีกประการ นั่นก็คือ ออปชั่น (Options) หรือเงื่อนไขสัญญาซึ่งมี 2 แบบ คือ Team Option หรือทีมมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าเมื่อถึงเวลาที่กำหนด จะให้ผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่กับทีมต่อไปหรือไม่ ซึ่งก็จะมีผลถึงค่าเหนื่อยและโบนัสที่ต้องจ่ายด้วย กับ Player Option ที่ผู้เล่นจะมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะอยู่กับทีมต่อ หรือจะย้ายไปรับทรัพย์ กับโอกาสที่มากกว่ากับทีมอื่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำนวนเงินนั้น ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญมากๆ อีกประการหนึ่งก็คือคำว่า การันตี (Guaranteed) ซึ่งหากมีคำนี้ปรากฎขึ้นในสัญญา ก็จะหมายความว่า ผู้เล่นคนนั้นจะได้เงินขั้นต่ำตามที่ระบุไว้อย่างแน่นอน โดยสัญญาของบางคนอาจจะการันตี 100% ขณะที่บางคนอาจจะการันตีเพียงบางส่วนเท่านั้น

 4

และแม้จะรับใช้ทีมจนครบสัญญา แต่รายละเอียดความ “เยอะ” นั้นก็ไม่ได้สิ้นสุดแต่อย่างใด เพราะผู้เล่นที่หมดสัญญา กลายเป็นฟรีเอเยนต์นั้น ยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ Restricted Free Agent หรือ RFA ซึ่งต้นสังกัดเดิมมีสิทธิ์ที่จะยื่นข้อเสนอมูลค่าเทียบเท่ากับทีมอื่นๆ ซึ่งยื่นข้อเสนอที่ผู้เล่นพอใจ เพื่อเก็บตัวผู้เล่นไว้กับทีมได้ กับ Unrestricted Free Agent หรือ UFA ที่ผู้เล่นสามารถเลือกรับข้อเสนอของทีมใดก็ได้ที่ดีที่สุดให้กับตนเอง โดยที่ต้นสังกัดเดิมไม่มีสิทธิ์รั้งตัวไว้แต่อย่างใด

เหตุจากเพดานค่าเหนื่อย

แน่นอน การที่สัญญาต่างๆมีรายละเอียดเยอะแยะมากมายอันสุดจะสับสนและแสนโหดบ้างในบางมิตินั้น มันมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั่นก็คือ เพดานค่าเหนื่อย หรือ Salary Cap นั่นเอง

เพราะเพดานค่าเหนื่อย คือสิ่งที่กำหนดทุกทีมในลีกว่า จะสามารถใช้เงินค่าเหนื่อยกับผู้เล่นทุกคนในทีมรวมกันได้สูงที่สุดเท่าไหร่ในแต่ละฤดูกาล ซึ่งทางอเมริกันฟุตบอล NFL นั้นจะใช้ระบบ Hard Cap คือห้ามใช้เงินเกินเพดานโดยเด็ดขาด ส่วนฟากฝั่งบาสเกตบอล NBA และเบสบอล MLB นั้นจะใช้ระบบ Soft Cap ที่อนุญาตให้ใช้เงินเกินเพดานได้ แต่จะต้องเสียค่าปรับ หรือ Luxury Tax ยิ่งเกินมาก ก็ยิ่งต้องเสียมากเป็นทวีคูณ

 5

โดยสาเหตุที่ต้องมีเพดานค่าเหนื่อยนั้นก็คือ เพื่อไม่ให้ทีมใดทีมหนึ่งเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบจนเกินไป เพราะหากไม่มีเพดานค่าเหนื่อย ทีมที่รวยๆก็จะสามารถใช้เงินทุ่มจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆให้กับนักกีฬาได้หลายคน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่การแข่งขันนั้นจะเกิดการผูกขาด มีทีมเก่งๆไม่กี่ทีม 

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วจะสามารถกดค่าเหนื่อยต่ำๆกับผู้เล่นหลายๆคน เพื่อที่จะสามารถจ้างผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์หลายๆคนได้หรือไม่?… คำตอบที่ดูจะถูกต้องที่สุดก็คือ ไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด เพราะในขณะที่มีเพดานค่าเหนื่อยสูงสุด ก็มีเพดานค่าเหนื่อยต่ำสุด ทั้งในส่วนของค่าเหนื่อยขั้นต่ำที่ทีมต้องจ่ายผู้เล่นทุกคนรวมกัน และค่าเหนื่อยขั้นต่ำสำหรับผู้เล่นแต่ละคนด้วยเช่นกัน

เล่นแร่แปรธาตุ

ด้วยการที่มีเพดานค่าเหนื่อยค้ำคอ ทว่าสโมสรก็ต้องการจ้างผู้เล่นชั้นยอดมาอยู่กับทีมให้ได้มากที่สุด แต่ละทีมจึงต้องเล่นแร่แปรธาตุรายละเอียดในสัญญาของผู้เล่นแต่ละคนกันขนานใหญ่ เพื่อสามารถนำส่วนต่างของเพดานค่าเหนื่อยที่เหลืออยู่ในการดึงดูดผู้เล่นจากทีมอื่นมาให้ได้

เราขอยกตัวอย่างจากสัญญา 4 ปี มูลค่า 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของ แอร่อน ร็อดเจอร์ส แห่งกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ใน NFL ที่เพิ่งเซ็นไปเมื่อปี 2018 ให้เข้าใจพอสังเขป โดยแม้มูลค่าสัญญาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 33.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่เงินที่ร็อดเจอร์สได้ตามจริง และเงินที่กินพื้นที่เพดานค่าเหนื่อย หรือ แคป ต่อปีจะไม่ใช่ตามนี้

 6

เริ่มแรกเรามาดูกันที่จำนวนเงินที่ร็อดเจอร์สจะได้ในแต่ละปีก่อน โดยในปี 2018 ซึ่งเป็นปีแรกของสัญญาฉบับใหม่ เขาจะได้เงินมากถึง 66.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว โดยแม้ค่าเหนื่อยจะได้เพียง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่โบนัสนั้นเรียกได้ว่าบานตะไท เพราะเงินโบนัสจากการเซ็นสัญญามูลค่า 57.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกจ่ายทันที รวมถึงโบนัสการติดทีมในฤดูกาล 2018 มูลค่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโบนัสซ้อม 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะได้ ค่าเหนื่อย+โบนัสการติดทีม+โบนัสซ้อม ไปเรื่อยๆจนจบฤดูกาล 2021 ก็จะได้ครบ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯพอดี แต่หากเกิดเหตุการณ์พลิกผันของชีวิตใดๆก็ตาม อย่างน้อยเขาก็จะได้เงินการันตีที่ตกลงไว้ 79.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯอย่างแน่นอน

ส่วนเงินที่กินพื้นที่แคปนั้น ก็จะไม่เท่ากับที่ทางผู้เล่นได้ เพราะโบนัสเซ็นสัญญา 57.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกซอยแยกเป็น 5 ปี ถึงปี 2022 และเอาไปรวมกับค่าเหนื่อยและโบนัสในส่วนอื่นๆในแต่ละปี อย่างในฤดูกาล 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ค่าจ้างของรอดเจอร์สกินแคปเพียง 20.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ส่วนในฤดูกาล 2019 ที่กำลังจะมาถึง จะกินแคปอยู่ที่ 26.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และต้องไม่ลืมว่า ส่วนหนึ่งของเงินโบนัสเซ็นสัญญา จะไปกินพื้นที่แคปในฤดูกาล 2022 การผ่องถ่ายสัญญาแบบนี้ จึงช่วยให้ทีมเซฟพื้นที่แคปได้มากกว่าการจ่ายเงินแบบหารจำนวนปีตามสัญญา ทำให้มีเงินไปจ้างผู้เล่นฝีมือดีเข้ามาเสริมทีมได้อีกด้วย

 7

ด้านบาสเกตบอล NBA แม้รายละเอียดของสัญญาจะไม่ซับซ้อนเท่า แต่ก็มีการผ่องถ่ายมูลค่าสัญญาแต่ละปีที่ไม่เท่ากันใกล้เคียงกับฟาก NFL เพราะสัญญามูลค่า 153.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ เลบรอน เจมส์ จะได้จากแอลเอ เลเกอร์ส ก็จะไม่ถูกหารจ่ายเท่ากัน 4 ปี แต่จะเกลี่ยมูลค่าสัญญา โดยปีแรกจะรับเงินน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แล้วค่อยไปรับเงินเยอะๆในปีหลังๆ ถึงกระนั้น ในปีสุดท้ายของสัญญา เลบรอนจะเป็นผู้ถือออปชั่นว่าจะรับเงินตามสัญญาที่มีอยู่ หรือเลือกย้ายออกเพื่อไปรับเงินมากกว่ากับทีมอื่น หรือจะเจรจาปรับปรุงสัญญากับทีมเดิมก็ได้เช่นกัน

ทั้งหมดที่กล่าวมาคงพอจะทำให้ทุกคนเห็นพอสังเขปว่า การกำหนดเพดานค่าเหนื่อย นอกจากจะทำให้การแข่งขันของวงการอเมริกันเกมส์สูสีขึ้นแล้ว ยังได้กลายเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการออกแบบรายละเอียดของสัญญาที่มีรายละเอียดมากมาย ซับซ้อน และแสนจะงงงวย เพื่อให้ทั้งฝ่ายผู้เล่นและทีมได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากกฎที่ต้องปฏิบัติตามนั่นเอง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ซับซ้อนและงงงวย : สัญญานักกีฬาอเมริกันเกมส์ที่โหดจริง.. ยิ่งกว่านักฟุตบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook