หลากหลายเหตุผล ทำไม "สแลมดังค์" เป็นการ์ตูนกีฬาขายดีที่สุดในญี่ปุ่น?

หลากหลายเหตุผล ทำไม "สแลมดังค์" เป็นการ์ตูนกีฬาขายดีที่สุดในญี่ปุ่น?

หลากหลายเหตุผล ทำไม "สแลมดังค์" เป็นการ์ตูนกีฬาขายดีที่สุดในญี่ปุ่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในแง่กีฬาอาจจะเป็นรองทั้งฟุตบอลและเบสบอล แต่ในแง่การ์ตูนกลับเป็นการ์ตูนกีฬาที่ขายดีที่สุดในแดนอาทิตย์อุทัย

แม้จะรูดม่านปิดฉากลงไปอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1996 แต่สแลมดังค์ การ์ตูนบาสเก็ตบอล จากปลายปากกาของ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ก็ยังครองตำแหน่งการ์ตูนกีฬาขายดีที่สุดตลอดกาลมาจนถึงทุกวันนี้

 

จากสถิติของ Manga Zenkan ระบุว่าสแลมดังค์ทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 120 ล้านเล่มมากกว่าการ์ตูนขึ้นหิ้งอย่าง โดราเอมอน, ทัชจิ หรือการ์ตูนที่ยังไม่จบทั้ง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ และกัปตันสึบาสะ ทั้งที่ไม่มีภาคต่อและมีแค่ 31 เล่มจบเท่านั้น  

อะไรที่ทำให้การ์ตูนบาสเก็ตบอลเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ทั้งที่ในความเป็นจริงความนิยมของกีฬาชนิดนี้ที่ญี่ปุ่นเป็นรองทั้งเบสบอล และฟุตบอล อย่างเทียบไม่ติด

ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ อายุเพียงแค่ 23 ปี ตอนที่ “สแลมดังค์” มังงะเรื่องที่ 2 ในชีวิตตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1990 เขาก็เหมือนเด็กญี่ปุ่นทั่วไปที่สนใจการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก หลังได้รู้จักกับ “โดคาเบง” การ์ตูนเบสบอลในยุค 80

 1

“(โดคาเบง) มีตัวละครที่มีเสน่ห์ วิธีการเล่นเบสบอลและร่างกายของพวกเขาที่ถูกวาดขึ้น ดูเท่ไปหมด” อิโนะอุเอะกล่าวกับ CNN

อิโนะอุเอะ เคยเล่นบาสฯมาก่อนสมัยมัธยมปลาย และชื่นชอบในกีฬาชนิดนี้มาก ในวันที่ได้รับโอกาสเป็นทั้งผู้เขียนและผู้แต่งเรื่องครั้งแรก เขาจึงตัดสินใจที่จะวาดการ์ตูนบาสเก็ตบอล ซึ่งที่ญี่ปุ่นยังเป็นที่รู้จักกันแค่ในวงแคบในสมัยนั้น

แม้ว่าในขณะนั้นกระแส “การ์ตูนกีฬา” กำลังมาแรง หลังจาก กัปตันสึบาสะ เปิดตัวได้อย่างน่าประทับใจ เคียงข้างกับการ์ตูนแนวต่อสู้พลังพิเศษอย่าง ดราก้อนบอล หรือโจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ แต่อิโนะอุเอะ กลับเลือกสิ่งที่ต่างออกไป เมื่อการ์ตูนของเขาเน้นความสมจริงและออกแบบตัวละครให้มีความเป็นมนุษย์ที่สุด

“ผมวาดมันในแบบที่ผมชอบ ทำในสิ่งที่อยากทำ” อิโนะอุเอะอธิบาย

สแลมดังด์ เปิดเรื่องด้วยเรื่องราวของ ซากุรางิ ฮานามิจิ เด็กหนุ่มผู้ถูกปฏิเสธความรักมาแล้ว 50 ครั้ง ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อที่โชโฮคุ และตัดสินใจเข้าชมรมบาสฯ หลังจากตกหลุมรัก ฮารุโกะ อาคางิ น้องสาวกัปตันชมรมฯ ทั้งที่ไม่เคยเล่นกีฬาชนิดนี้มาก่อน

 2

ฟังดูอาจจะเหมือนการ์ตูนความรักวัยรุ่นทั่วไป แต่หลังจากนั้น อิโนะอุเอะ ก็เริ่มพาเราเข้าไปรู้จักกับโลกของบาสเก็ตบอล เขาค่อยๆนำเสนอกฎและพื้นฐานการเล่นตั้งแต่เริ่มต้นผ่านมุมมองของซากุรางิ และ ดร.ที (กรอบเชิงอรรถที่แทรกอยู่เป็นระยะในช่วงต้น) ตั้งแต่การเลี้ยงบอล การจ่ายบอล การเลย์อัพ การกระโดดยิงด้วยท่ายิงที่ถูกต้อง การรีบาวด์ ไปจนถึงกฎอื่นๆในสนาม

ในเรื่องสแลมดังค์ เน้นย้ำเสมอในเรื่องพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ จากการที่ซากุรางิ เป็นมือใหม่ทำให้เขาต้องฝึกเบสิคอย่างหนัก และซ้อมมากกว่าคนอื่น แถมยังต้องฝึกพิเศษในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่ต้องซ้อมยิงให้ได้ถึงสองหมื่นลูก

ดังนั้นพัฒนาการของซากุรางิ จึงอยู่ในพื้นฐานความเป็นจริง แน่นอนว่าเขาอาจจะมีพรสวรรค์เรียนรู้ได้เร็ว แต่การที่สามารถไล่ตามคนอื่นได้ ล้วนมากจากความพยายามของหนุ่มผมแดงคนนี้เป็นหลัก ไม่มีใครอยากจะมาฝึกเบสิคซ้ำๆ เหมือนกับตอนแรกที่ซากุรางิ เอาแต่โวยวายว่าเมื่อไรจะได้ลงสนามเสียที แต่ท้ายที่สุดพื้นฐานพวกนี้คือสิ่งที่ทำให้เขาก้าวไปเป็นตัวหลักของทีม

สิ่งนี้ทำให้สแลมดังค์กลายเป็นการ์ตูนที่เข้าถึงง่าย เพราะแม้แต่คนที่ไม่เคยเล่นบาสเก็ตบอล ก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับตัวเอก ในขณะเดียวกัน การเริ่มต้นตั้งแต่ 0 ของซากุรางิ ยังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ไม่เคยสัมผัสกีฬาชนิดนี้ หันสนใจบาสเก็ตบอลมากขึ้น ในความรู้สึกว่า “ขนาดซากุรางิยังทำได้”

ตัวละครที่โดดเด่น

“มังงะที่ผมวาดไม่ใช่เทพนิยายหรือแฟนตาซี ตัวละครของผมอาจจะจินตนาการได้ แต่ผมวาดมันเหมือนกับมันอยู่ในสารคดี” อิโนะอุเอะกล่าวกับ CNN  

“นั่นคือสิ่งที่ผมมองต่อมังงะของผม และแน่นอนผมคิดว่ามังงะที่ดีควรจะเป็นแบบนี้”

 3

แน่นอนว่าตามขนบของการ์ตูนเรื่องเยี่ยม ตัวเอกเพียงคนเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนเรื่องให้ดำเนินต่อไปได้อย่างสนุก หากไม่มีตัวละครรองที่มาสนับสนุนเขา

เช่นเดียวกับ สแลมดังค์ แม้ว่าจะเริ่มต้นโดยมี ซากุรางิ เป็นศูนย์กลางเป็นหลัก แต่หลังจากนั้น ตัวละครรองเหล่านี้ก็ช่วยขยายขอบเขตเรื่องราวให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เรื่องลึกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแก๊งอันธพาล เพื่อนร่วมทีมโชโฮคุ ไปจนถึงทีมคู่แข่ง   

อิโนะอุเอะ ประณีตในการออกแบบตัวละคร และเบื้องหลังที่ช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตัวเอก หรือแม้แต่ตัวละครรอง เขาก็พยายามเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้แต่ปฎิกริยาของคนดูต่อเหตุการณ์นั้นๆ

ทำให้ตัวละครของสแลมดังค์ล้วนมีเสน่ห์และทำให้ผู้อ่านจดจำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนซากุรางิ ที่ตามไปเชียร์ทุกนัด กัปตันกอริลลา ทาเคโนริ อาคางิ ผู้เป็นศูนย์รวมของโชโฮคุ, คาเอเดะ รุคาวา ยอดรุกกี้ที่ ซากุรางิ มองเป็นคู่แข่งแย่งความรัก, มิตสึอิ ฮิซาชิ อดีต MVP ม.ต้นผู้เคยเดินผิดทาง ไปจนถึงคู่แข่งอย่าง จุน อุโอสุมิ เซ็นเตอร์เรียวนันที่ต้องไปเป็นกุ๊กหลังเรียนจบ, อาคิระ เซนโด มือหนึ่งสายชิลของเรียวนัน หรือแม้แต่เออิจิ ซาวาคิตะ ตัวทำแต้มของเทคโน ซังโน ที่มีเบื้องหลังลึกกว่า ซากุรางิ ที่เป็นตัวเอกเสียอีก

 4

“หากคุณสามารถวาดตัวละครที่โดดเด่น มันจะสร้างเนื้อเรื่องด้วยตัวมันเอง ด้วยการเอาพวกเขาไปใส่ไว้ในสถานการณ์บางอย่าง หรือให้เจอกับคนอื่น เขาจะสร้างเรื่องราวอย่างเป็นธรรมชาติด้วยการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น” อิโนะอุเอะกล่าวกับ CNN

และเคล็ดลับที่ทำให้อิโนะอุเอะสื่อออกมาได้อย่างลึกซึ้งคือการพยายามจินตนาการว่าหากเราเป็นตัวละครตัวนี้เราจะรู้สึกอย่างไร และแสดงสีหน้าออกมาแบบไหน เขาอินกับตัวละครจนมีคนเคยบอกว่าเขาทำหน้าเหมือนกับตัวละครที่กำลังวาดเลยทีเดียว

“ผมพยายามที่จะแสดงความรู้สึกที่ตัวละครมี และความรู้สึกนั้นชัดเจนแค่ไหน หากมันออกมาจากตัวของผม มันเหมือนกับว่าผมเป็นส่วนหนึ่งกับตัวละคร ผมคิดว่ามันคล้ายกับการแสดง”

“ตอนที่ผมกำลังวาดหน้าตาของตัวละครนั้น ผมก็มีหน้าเหมือนกับตัวละครตัวนั้น ไม่เคยรู้สึกได้ด้วยตัวเอง แต่คนอื่นบอกผมมาแบบนี้”

การก้าวพ้นวัย

มังงะแบบก้าวพ้นวัย หรือ Coming of Age เป็นหนึ่งในแนวทางที่ได้รับความนิยมในการ์ตูนกีฬา เนื่องจากเรื่องราวส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นในช่วงมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในชีวิต

 5

สแลมดังค์ ก็เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ใช้แนวทางนี้ดำเนินเรื่อง ทุกคนล้วนมีอุปสรรคต้องก้าวข้ามผ่านให้ได้ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคจากภายนอก หรืออุปสรรคภายในจิตใจของเราเอง

ตัวละครในเรื่องไม่ว่าจะเป็นซากุรางิ จึงต้องก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านี้แทบทั้งสิ้น เขาต้องเจอกับผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกันอย่าง ฟุคุดะ ของเรียวนัน, เคียวตะ โนบุนางะ ของไคนัน และ มิคิโอะ ของเทคโนฯซังโน ที่นอกจากเป็นคู่แข่ง ยังเป็นเหมือนตัวแทนที่ทำให้เขาเก่งขึ้นในด้านนั้นๆ

หรือแม้แต่ คาเอเดะ รุคาวา ที่มีฝีมืออยู่แล้ว แต่การยึดติดกับชัยชนะมากเกินไป และพยายามเอาชนะในการดวลตัวต่อตัวกับกับ อากิระ เซ็นโด ที่มีบุคลิกสบายๆ ก็เกือบทำให้ทีมพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับ อาคางิ กัปตันผู้เยือกเย็นที่การพบกับเทคโนฯซังโน ทำให้เขาสมาธิหลุด และคิดว่า หากตัวเองไม่สามารถเอาชนะ คาวาตะ ได้ โชโฮคุ จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก่อนจะมาได้ อุโอสุมิ เตือนสติ

“ตัวละครที่ผมวาดทุกตัวมีบางอย่างมาจากตัวผม ผมให้พวกเขาเจอกับความท้าทายยากๆในเรื่องราว และยอมรับความท้าทายนั้นในฐานะที่ผมเป็นส่วนหนึ่งกับตัวละคร”  อิโนะอุเอะกล่าวกับ CNN

สิ่งสำคัญที่ทำให้ สแลมดังค์ อยู่ในใจผู้อ่านคือทุกการเติบโต ล้วนง่ายต่อการจดจำจากการก้าวผ่านของ ซากุรางิ และเหล่าสหายที่ไว้ใจได้ของเขา มันมีทั้งความท้าทาย ความพ่ายแพ้ ความผิดหวัง และการพยายามแก้ตัว เพื่อให้ก้าวผ่านอุปสรรคนั้นได้ ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ตรงของอิโนะอุเอะเอง

 6

“ตอนเด็กๆผมไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูน ผมแค่ไปโรงเรียนและเล่นบาสฯ ผมเคยอยู่ทีมบาสฯของโรงเรียน ผมสนุกกับมัน ผมไม่เคยเจอกับความลำบากเลย ทีมของเราอาจจะไม่เก่ง แต่เราก็สนุกกับพัฒนาการของเรา” อิโนะอุเอะกล่าวกับ Shueisha

“ในชีวิตมัธยมปลาย ผมเคยทุ่มเท ผมมีพัฒนาการ แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาในบางอย่าง ผมชนะ ผมแพ้ ผมมีประสบการณ์ในหลายอย่างจากการเติบโต ผลการแข่งขันของทีมเราไม่ค่อยดี แต่ผมก็ได้เรียนรู้บางสิ่งจากสามปีนั้น มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผม ดังผมจึงอยากจะขอบคุณบาสเก็ตบอล”

เชื่อมกับโลกความจริง

อิโนะอุเอะ ก็เหมือนแฟนบาสฯทั่วไป ที่หลงใหลในการแข่งขัน NBA ลีกบาสเก็ตบอลที่ดีที่สุดในโลก และอิทธิพลของมันก็ถูกส่งต่อมาถึงการ์ตูนสแลมดังค์ที่เขาวาด

 7

ทำให้ตัวละครหลายคน ถูกนำไปเทียบกับนักกีฬาจริงๆ ของ NBA จนแฟนๆ หลายคนสับสนว่ามันเป็นความบังเอิญ หรือแรงบันดาลใจจริงๆ กระทั่งทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่ ซากุรางิ ที่ถูกเทียบกับ เดนนิส รอดแมน อดีตฟอร์เวิร์ดของ ชิคาโก บูลส์ ในเรื่องการเป็นราชารีบาวด์ และความบ้าระห่ำ, กัปตันอาคางิ ที่คล้ายกับ แพทริค ยูวิง ด้วยทรงผมแบบทหาร และการเล่นแบบทุ่มเท

หรือตัวยิงวงนอก มิตสึอิ ฮิซาชิ ที่ท่าชู้ตแนวตรงเหมือนกับ เจฟ ฮอร์นาเช็ค แต่ความแม่นคือ เรจจี้ มิลเลอร์ ส่วน เรียวตะ มิยางิ พอยท์การ์ดมากลีลา ถูกเทียบกับ ไอเซย์ โธมัส ที่มีส่วนสูงเพียง 175 เซ็นติเมตร ในขณะที่ คาเอเดะ รุคาวา ถูกยกไปเปรียบเทียบกับ ไมเคิล จอร์แดน ยุคที่เป็นดาวรุ่ง ในเรื่องการเล่นที่เร้าใจ การยึดติดกับชัยชนะ และความสำเร็จส่วนตัวมากกว่าเป้าหมายส่วนรวม   

 8

ไม่เพียงแต่ตัวละครของโชโฮคุเท่านั้น คู่แข่งของพวกเขาก็ถูกนำไปเทียบกับนักกีฬา NBA ไม่ว่าจะเป็น ชินอิจิ มากิ ตำนานแห่งคานางาวะ ที่ถูกนำไปเทียบกับ แมจิก จอห์นสัน ทั้งสไตล์การเล่นและความมีเสน่ห์, จุน อุโอสุมิ คู่แข่งของอาคางิ ที่ถูกเทียบกับ อลองโซ่ มัวร์นิง และ อากิระ เซ็นโด ที่ดูคล้ายกับ สก็อตตี้ พิพเพน

อิทธิพลของ NBA ยังส่งผลต่อสแลมดังค์ในส่วนของเหตุการณ์ ฉากบางฉากถูกนำไปเทียบกับเหตุการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของ ซากุรางิ ที่ส่งบอลให้ ทาคาซาโกะ ของไคนัน เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาคางิ ในนัดชิงชนะเลิศจังหวัดคานางาวะ ที่ทำให้ โชโฮคุแพ้ไปเพียงแค่ 2 คะแนน ก็ถูกนำไปเทียบกับจังหวะจ่ายบอลพลาดของ ไอเซย์ โธมัส สมัยอยู่ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ในวินาทีสุดท้ายที่ถูก แลร์รี่ เบิร์ด ขโมยบอลไปได้ และทำให้ บอสตัน เซลติกส์ เอาชนะไปในเกม 5 ของรอบชิงแชมป์สายตะวันออกปี 1987 หรือการดวลผลัดกันทำคะแนนระหว่าง รุคาวา และ เซ็นโด ก็ถูกนำไปเทียบกับการดวลกันของ แลร์รี่ เบิร์ด และ โดมินิก วิลกิ้นส์ ในเกมตัดสินของรอบรองชนะเลิศสายตะวันออกปี 1988

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญให้สแลมดังค์ได้รับความนิยม แม้กระทั่งในปัจจุบัน

เป็นรองแค่ One Piece

อิทธิพลของ สแลมดังค์ ยังส่งผลต่อโลกจริง มันได้รับรางวัล มังงะ โชงักคุตัง อวอร์ด หรือรางวัลมังงะยอดเยี่ยมเมื่อปี 1994 ในขณะเดียวกัน อิโนะอุเอะ ยังได้รับการเชิดชูเกียรติจากสมาคมบาสเก็ตบอลญี่ปุ่น ในฐานะที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น

 9

เขาเองยังได้จับมือกับสำนักพิมพ์ชูเอฉะ ก่อตั้ง “กองทุนสแลมดังค์” ในปี 2006 ที่จะเฟ้นหานักกีฬาบาสเก็ตบอลฝีมือดี ส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้การเล่นบาสเก็ตบอลที่แท้จริงและกลับมาพัฒนาวงการบาสเก็ตบอลในประเทศ

“มันนานมาแล้วตั้งแต่สแลมดังค์มียอดขาย 100 ล้านเล่ม ผมอยากจะแสดงความขอบคุณต่อบาสเก็ตบอล” อิโนะอุเอะให้สัมภาษณ์กับ Shueisha

“หลังจากสแลมดังค์จบ ผมเคยไปอยู่อเมริกาช่วงหนึ่ง ตอนที่ผมได้เห็นเกม NBA และวัฒนธรรมบาสเก็ตบอลอเมริกัน ผมคิดกับตัวเองว่า ‘นักบาสเก็ตบอลที่ประสบความสำเร็จเขายังมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสังคมมากมาย ผมจะสามารถทำอะไรเพื่อบาสเก็ตบอลได้ไหม?’ ผมจึงได้คุยกับชูเอฉะ และสองปีหลังจากนั้น ในที่สุดผมก็ได้ก่อตั้ง ‘ทุนสแลมดังค์’ ขึ้นมา”   

 10

ความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ยังคงยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน จากผลสำรวจของ goo Research เมื่อปี 2012 ระบุว่าสแลมดังค์ เป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่ One Piece ซึ่งเป็นการ์ตูนขายดีที่สุดในญี่ปุ่นเพียงแค่เรื่องเดียว

นอกจากนี้ “ถ้าตัดใจเมื่อไหร่ เกมมันก็จบเมื่อนั้นน่ะสิ” วลีสำคัญจากโค้ชอันไซ ยังกลายเป็นวลีเด็ดอันดับ 1 ของแบบสำรวจ โดยเอาชนะทั้ง “เจ้าตายแล้ว” ของ เคนชิโร จากหมัดเทพเจ้าดาวเหนือ และ “ฉันจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัด” ของ มังกี้ ดี ลูฟี จาก One Piece อีกด้วย

 11

และในการปรับปรุงรูปเล่มใหม่เมื่อปี 2018 ปรับรูปเล่มจาก 31 เล่มจบเหลือ 20 เล่มจบ โดยได้รับเกียรติจากอิโนะอุเอะมาวาดหน้าปกใหม่ มันก็ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการการ์ตูนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์แรกที่วางขายเล่ม 1 ที่ญี่ปุ่น สแลมดังค์ทำยอดขายได้สูงถึง 92,333 เล่ม ทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 2 มังงะขายดีประจำสัปดาห์ เป็นรองเพียงแค่มังงะยุคปัจจุบันอย่าง One Piece เพียงแค่เล่มเดียว ส่วนเล่ม 2-6 ที่วางจำหน่ายในเวลาต่อมา ก็ยังคงติดอยู่ในท็อป 10 ของชาร์ททุกครั้ง

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะผ่านเวลาไปนานแค่ไหน ความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ก็ยังไม่เสื่อมคลาย คุณภาพทั้งลายเส้นและเนื้อเรื่องของ สแลมดังค์ ได้ทำให้มันกลายเป็นงานศิลปะ ที่หลายคนอยากมีไว้ครอบครอง

 12

อิโนะอุเอะ เขียนสแลมดังค์ขึ้นมา ด้วยสาส์นที่จะสื่อถึงผู้อ่านว่าเราต่างมีทั้งช่วงเวลาที่สุขสมหวังเมื่อได้รับชัยชนะ และช่วงเวลาที่โหดร้ายเมื่อต้องเจอกับความพ่ายแพ้ แม้แต่ฝั่งตัวเอกอย่างซากุรางิ หรือโชโฮคุ ก็ต้องลิ้มรสมัน เพื่อทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น  

น่าเสียดายที่การ์ตูนต้องจบลงท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าอิโนะอุเอะ ขอตัดจบเนื่องจากไม่พอใจกองบรรณาธิการที่กดดันให้เขาเขียนให้โชโฮคุเป็นฝ่ายชนะเทคโนฯ ซังโน (จากเดิมที่ตั้งใจให้แพ้) ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเห็นการพัฒนาต่อไปของเหล่าตัวละครในเรื่อง

แต่ถึงอย่างนั้น สแลมดังค์ ก็ยังสวยงามในตัวของมันเอง ด้วยการพยายามบอกว่า หลายอย่างไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา ความพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่เจอง่ายกว่าชัยชนะ แม้ว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่ก็ตาม และเราก็ต้องก้าวต่อไปให้ได้

ก็เหมือนกับชีวิตที่ต้อง To Be Continued กันต่อไปนั่นเอง  

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ หลากหลายเหตุผล ทำไม "สแลมดังค์" เป็นการ์ตูนกีฬาขายดีที่สุดในญี่ปุ่น?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook