แม็คฟาร์แลนด์ : ดินแดนเกษตรที่กลายเป็นสังเวียนสร้างยอดนักวิ่งโดยครูหนุ่ม

แม็คฟาร์แลนด์ : ดินแดนเกษตรที่กลายเป็นสังเวียนสร้างยอดนักวิ่งโดยครูหนุ่ม

แม็คฟาร์แลนด์ : ดินแดนเกษตรที่กลายเป็นสังเวียนสร้างยอดนักวิ่งโดยครูหนุ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2015 ภาพยนตร์เรื่อง McFarland, USA ที่เกี่ยวกับเรื่องราวของกลุ่มนักวิ่งของโรงเรียนไฮสคูลแม็คฟาร์แลนด์ ดินแดนที่เต็มไปด้วยบ้านนาและไร่สวน พวกเขาใช้การวิ่งและเอาชนะในการแข่งขันครอสคันทรี่ประจำรัฐ แคลิฟอร์เนีย

 

อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาบนแผ่นฟิลม์นั้นไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด 100% เพราะมีการปรับแต่งเรื่องให้ไหลลื่นไปตามเวลา 2 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ ดังนั้นวันนี้ Main Stand จะเล่าถึงสิ่งทีเกิดขึ้นที่แท้จริงกับ โรงเรียนแม็คฟาร์แลนด์ และวันประวัติศาสตร์ของพวกเขาในปี 1987 ครั้งนี้

รกร้างและห่างไกล

แคลิฟอร์เนีย คือรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาและมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ณ ที่แห่งนี้พวกเขามีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก นั่นจึงทำให้มีแรงงานจากละตินหลั่งไหลเข้ามามากมายด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่พวกเขาคือรัฐผู้สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร คนงานเหล่านี้เข้ามาแบบทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งเป้าหมายของพวกเขาทั้งหมดนั้นอยู่ที่ แม็คฟาร์แลนด์ เมืองขนาดเล็กในหุบเขาโจอาควิน

ดินแดนแห่งนี้เลื่องชื่อในการปลูกวอลนัท จนกระทั่งกลายเป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กมีผู้อาศัยประมาณ 50 ครัวเรือน และขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อมีโรงงานแปรรูปเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เหล่าผู้อพยพเริ่มทะยอยกันเข้ามาในแม็คฟาร์แลนด์มากขึ้น

พวกเขาเข้ามาขายแรงงานโดยเป็นแรงงานข้ามชาติ หน้าที่ของกลุ่มแรงงานนี้คือการเก็บผลผลิตอย่าง ส้ม, องุ่น และ กระเทียม เพื่อคัดส่งโรงงานแปรรูปต่ออีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นคนที่อาศัยอยู่ที่นี่จึงไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเลย แม็คฟาร์แลนด์ คือเมืองที่จนที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมันย่อมส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกครอบครัวอย่างแน่นอน

 1

แม้โรงเรียนมัธยมแม็คฟาร์แลนด์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทว่าเด็กๆที่นี่ไม่ได้ใส่ใจกับการเรียนนักหากเทียบกับโรงเรียนอีกหลายๆแห่งทั่วประเทศ เหตุผลก็เพราะว่าเด็กๆส่วนใหญ่ต้องแบ่งเวลาหลายส่วนทั้งการทำงานเก็บผลผลิตที่ทำตั้งแต่ตี 4-5 จนถึงเข้าเรียนเลย และนั่นทำให้พวกเด็กๆหลายคนมีอาการเหนื่อยล้าและแทบไม่เหลือเวลาให้คิดเรื่องอื่นเลยโดยเฉพาะเรื่องของกีฬา ที่ไม่อาจสร้างรายได้ และไม่มีแรงจูงใจให้ทำ เพราะไม่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย 

กระเป๋าเงินที่ร่อยหรอย่อมส่งผลถึงแนวคิดและการใช้ชีวิตของคนในชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เด็กๆหลายคนไม่อาจรอการเติบโตแบบตามสเต็ป เรียน-ทำงาน-พัฒนา และ ร่ำรวยได้ พวกเขาลำบากกับการทำงานและคิดว่าเพียงพอแล้วที่ชีวิตนี้จะต้องเจอกับอะไรที่ต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น จึงทำหลายคนเลือกทางลัดด้วยการเข้าแก๊งและค้ายาเสพติดรวมถึงทำเรื่องอื่นๆที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นคุกที่ แม็คฟาร์แลนด์ ถือว่าแออัดยิ่งกว่าโรงเรียนอีกด้วยซ้ำไป  

จิม ไวท์ ครูคนขาว

จิม ไวท์ คือคุณครูที่เข้ามาทำงานในโรงเรียนเมื่อปี 1964 เขาเห็นถึงสภาพความเสื่อมโทรมของสังคม รวมถึงคุณภาพการสอนและการเรียนที่ตกต่ำมันคือสิ่งที่น่าเจ็บใจ เมื่อนักเรียนไม่อยากเรียน คุณครูก็ไม่รู้จะอยากสอนไปเพื่ออะไร นี่คือปัญหาที่เรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างปล่อยเบลอ จนกระทั่ง จิม ไวท์ ทนยืนดูเฉยๆไม่ได้ และเลือกที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ เขาจึงก่อตั้งชมรมวิ่งระยะไกล "ครอสคันทรี่" ขึ้น เพื่อให้นักเรียนเจอกับโลกใบใหม่ที่จะมาพร้อมๆกับการเริ่มออกวิ่ง

"อันที่จริง ผมเคยสอนวิ่งให้เด็กๆ ในระดับประถมและมัธยมต้นมาก่อน ย้อนกลับไปช่วงปี 1974 ผมมีทีมวิ่งเล็กๆทีมหนึ่ง ผมมักจะพาเด็กๆออกไปพบกับสิ่งที่แตกต่าง เราได้ไปแข่งขันหลายรายการ รวมถึงการแข่งชิงแชมป์ประเทศที่โอเรกอน นั่นคือสิ่งที่ผมทำในตอนนั้น" จิม ไวท์ เล่าถึงอดีตก่อนจะตัดสินใจตั้งทีมวิ่งครอสคันทรี่ในระดับมัธยมปลายเมื่อปี 1980 

 2

อย่างไรก็ตามไม่มีสิ่งใดง่ายเลยที่แม็คฟาร์แลนด์ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีนักเรียนคนไหนอยากจะเสียเวลาการทำงานหาเงินหรืองานเรียนเพื่อแบ่งให้กับการวิ่งอีก นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังไม่มีงบประมาณมากพอสำหรับชมรมของเขา ดังนั้นจึงมีข้อเสนอมาว่า มิสเตอร์ ไวท์ ต้องหาเด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ครบ 10 คนก่อน โครงการจึงจะดำเนินไปตามที่เขาต้องการได้ เขาต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการถ่ายทอดแนวความคิดว่าหากนักเรียนมาเข้าชมรมวิ่งกับเขาจะได้อะไรกลับไปบ้างโดยเฉพาะเรื่องของทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

การเจรจากับหลายฝ่ายของ มิสเตอร์ ไวท์ เกิดขึ้นจากการทุ่มเทอย่างจริงจัง เขาเห็นนักเรียนที่มีแววจากชั่วโมงพละและเชื่อว่าน่าจะไปต่อได้ เขาจึงไม่อยากให้เด็กเหล่านั้นเสียโอกาสเพียงเพราะความ "ขี้เกียจ" เท่านั้น

"ผมแค่พยายามที่จะสอนให้พวกเขารู้จักสิ่งที่เรียกว่าการทำงานหนักที่แท้จริง และการทำงานหนักจะพาพวกเขาไปได้ไกลกว่าที่พวกเขาคิด จากกรอบที่พวกเขาเคยอยู่" ไวท์ กล่าวกับ เดอะ พีเพิล

"นักเรียนหลายคนมีความคิดฝังสมองว่าการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ยากเกินไปและเป็นไปไม่ได้ เมื่อผมได้ยินแบบนั้นผมจะบอกกับพวกเขาเสมอว่า มันก็เหมือนกับการวิ่งครอสครันทรี่นี่แหละ มันจะยากแค่ตอนที่คุณเริ่มเท่านั้น แต่ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทำงานหนักและรับกับมันให้ได้ มันเหมือนกับทุกสิ่งที่คุณต้องทำในชีวิต"

ไม่ได้ทำเล่นๆ

มิสเตอร์ไวท์ ยอมแลกกับเวลาในชีวิตของเขาไปกับการตามไปคุยกับผู้ปกครองของเด็กๆเพื่อให้ยอมปล่อยลูกๆมาร่วมทีมครอสคันทรี่ บางครั้งเจอครอบครัวที่เจรจายาก เขาก็ต้องยอมไปช่วยเด็กๆทำงานเก็บพืชผลเพื่อให้เด็กๆมีเวลาสำหรับเริ่มออกวิ่งอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับครอบครัว ดิอ๊าซ ที่มีลูกชาย 3 คนมีแววในการวิ่งทว่าพวกเขาต้องออกไปทำงานที่สวนช่วยครอบครัว โค้ชไวท์ จึงต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 และช่วยทำงานจนช่วงบ่ายรวมเป็นระยะเวลาถึง 12 ชั่วโมงจนพวกเด็กๆได้เวลาเหลือที่จะเข้าไปอยู่ในชมรมของเขา

"มิสเตอร์ไวท์ทำการบ้านมาอย่างดี เขาใช้เวลาไม่กี่วันจำชื่อของผมและนักวิ่งคนอื่นๆในทีมได้ เขาไม่ได้เป็นแค่คนสอนที่ดี เขายังเป็นนักเรียนที่ดีด้วยเช่นกัน" เดวิด ดิอ๊าซ กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้ ไวท์ กลายเป็นคุณครูที่แตกต่างจากคนอื่นๆในโรงเรียน

สิ่งที่ มิสเตอร์ไวท์ ทำมากกว่าแค่การเป็นโค้ช เขามองลงไปให้ลึกเกินกว่าแค่สอนในเรื่องเรียนและทำให้นักเรียนเป็นนักวิ่งที่เก่งกาจ เขาใส่แนวคิดแบบคนที่ผ่านโลกมาก่อนโดยเฉพาะเรืองของการเชื่อมั่นว่าคนเรามีสิทธิ์เลือกอนาคตของตัวเอง เด็กๆไม่จำเป็นต้องทำไร่หรือใช้ชีวิตในซังเตตลอดชีวิตหากพวกเขามีทัศนคติที่ดี

 3

"ผมพูดภาษาสเปนไม่ได้ (ครอบครัวแถบนั้นพูดภาษาสเปน) แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เด็กๆบางคนพูดได้ 2 ภาษาจึงมีคนแปลให้เสมอ" เขาแสดงให้เห็นว่าถ้าตังใจจริงแล้วแม้แต่ภาษาก็ไม่อาจจะเป็นกำแพงได้  

ไวท์ ต้องทำหลายสิ่งหลายอย่าง เขาแทบไม่มีวันหยุดเลยในรอบ 365 วัน เขามักจะหางานระดมทุนเพื่อให้นักวิ่งของเขาได้มีรองเท้าใส่ และมีเงินไปแข่งขันตามที่ต่างๆ นั่นคือเหตุผลที่ว่าในปีแรกเขารวบรวมลูกทีมได้ถึง 19 คนเลยทีเดียว

"เด็กๆพวกนี้เหมือนลูกของเรา เราดูแลพวกเขาแบบนั้นจริงๆ" เชอร์ริล ผู้เป็นภรรยาของ มิสเตอร์ไวท์ กล่าวถึงเหตุผลที่ครอบครัวของเขาจึงสนับสนุนและเอาใจช่วย จิมมี่ เสมอ ซึ่งเรื่องนี้เอง จิม ไวท์ ก็ยอมรับว่าด้วยภาระที่แบกอยู่ทำให้เขาไม่สามารถวางสิ่งใดลงได้โดยง่าย

"เรื่องเงินเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ผมค้นพบว่าตัวเองกลายเป็นนักระดมทุนอยู่ตลอดเวลา ผมพยายามหาเงินมาช่วยซื้อรองเท้า และหาเงินมาให้พวกเขาได้มีเงินกินอาหารมิ้อกลางวัน ครั้งหนึ่งเราเคยหยุดหน้าร้าน ทาโก้ เบลล์ หรือแม็คโดนัลด์ ผมถามพวกเขาว่า เฮ้ หิวกันหรือเปล่า? แน่นอนบางคนตอบกลับมาว่า ผมไม่หิว ทั้งๆที่จริงแล้วพวกเขาแค่ไม่มีเงินจะซื้อของกินเท่านั้น ภาพที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นประจำคือผมจะบอกพวกเขาว่า ไม่เป็นไร นายเอานี่ไปซื้อข้าวกลางวันกินให้อิ่มซะ" ไวท์ กล่าว

 4

จอห์นนี่ ซามานิเอโก้ โค้ชของทีมแม็คฟาร์แลนด์ยุคปัจจุบันสรุปรวบรัดถึงคำจำกัดความของ จิม ไวท์ อดีตครูที่ชักนำเขาเข้าสู้การวิ่งเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จอห์นนี่ เป็นเด็กบ้านยากจนเหมือนกับเด็กทั่วไปในเมืองนี้ แต่การมาของไวท์มุมมองให้เขาได้มองเห็นโลกที่กว้างขึ้น

"เขาเป็นเหมือนพ่อของเราเลยนะ เชื่อไหมครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ไปเที่ยวที่ ลานโบว์ลิ่ง, ร้านพิซซ่า หรือเข้าโรงหนังก็ได้อาจารย์ไวท์นี่แหละที่เป็นคนพาผมไป" จอห์นนี่ สรุปถึงสิ่งที่เขาได้พบเจอและเปลี่ยนหลังจากอาจารย์ไวท์เข้ามายังแม็คฟาร์แลนด์

อยากเก่งต้องเรียนรู้

สำหรับเด็กๆที่ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงนั้นแน่นอนว่าร่างกายของพวกเขาแข็งแกร่งมากกว่าเด็กๆทั่วไปอยู่แล้ว ทว่าสิ่งที่การเป็นโค้ชนั้นไม่ได้แค่ขึ้นอยู่กับการให้เงินไปกินข้าวกลางวันหรือช่วยงานเก็บผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น โค้ชไวท์ ได้พยายามหาทางให้เด็กๆของเขาเป็นนักวิ่งที่ดีกว่าเดิมเสมอ

แม้ตัวของเขานั้นจะเป็นโค้ชทีมเบสบอลมาก่อน และเคยสอนวิ่งครอสคันทรี่ให้กับเด็กรุ่นเล็กๆ มาแล้วในอดีต แต่เรื่องการฝึกสอนเพื่อไปแข่งนั้นถือว่า ไวท์ มีความรู้น้อยมาก และในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตเขาต้องขวนขวายเป็นอย่างมากที่จะออกไปหางองค์ความรู้ใหม่ๆเพื่อกลับมาส่งต่อให้เด็กๆที่รออยู่และเริ่มจาก 0 สำหรับบทเรียนเรื่องการวิ่งนี้

 5

"ผมดูวีดีโอการฝึกมากจนนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ผมยังไปคลินิกฝึกสอนหลายๆแห่ง" ไวท์ เผยที่มาของความรู้ที่นำมาสอนคนอื่นๆ

"ไม่สำคัญว่าคนสอนจะเป็นใคร ผมไปเรียนรู้และซึมซับทุกอย่างที่พอจะทำได้ เพราะตัวผมเองไม่ใช่นักวิ่ง การฝึกฝนนั้นไม่ใช่แค่การออกไปวิ่งเท่านั้น โปแกรมสำหรับครอสคันทรี่คือการวิ่งระยะ 2 ไมล์ในวัน จันทร์, พุธ, ศุกร์ ขณะที่วันอังคารกับวันพฤหัสบดีนั้นจะเป็นการยกเวท"

แน่นอนว่าของแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำเสร็จได้ภายในวันสองวัน ไวท์ นั้นต้องลองผิดลองถูก ในช่วงแรกๆเด็กๆของเขาก็ไม่ได้มีพัฒนาการที่ดีเท่าไรนัก เขาต้องรู้ว่าเด็กๆสามารถรับมือกับการฝึกได้ขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม็คฟาร์แลนด์ที่เป็นเมืองที่มีอากาศร้อน เขาจึงต้องฝึกคำนวนระยะทางและเวลาให้เหมาะสม จนกระทั่งในที่สุดทุกอย่างก็ดีขึ้นเรื่อยๆ 

 6

"เรื่องสำคัญที่สุดคือต้องสร้างทัศนคติให้พวกเขาภูมิใจ เด็กๆที่นี่เป็นเด็กดี พวกเขาทำงานหนักในไร่ตอนเช้า แต่ตอนบ่ายก็ต้องมาซ้อมวิ่งผ่านไร่ที่พวกเขาทำงานกัน ดังนั้นพวกเขาต้องปรับความคิดและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมให้ได้ และถ้าหากพวกเขามีความเชื่อมั่นมากพอ การฝึกมันจึงจะได้ผล"

แม็คฟาร์แลนด์ แดนนักวิ่ง

ช่วงเวลาลองผิดลองถูกของ มิสเตอร์ไวท์ กับทีมนักวิ่งแม็คฟาร์แลนด์กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็กินเวลามากว่า 7 ปี ตลอดปี 1980-87 ผู้คนในเมืองต่างเห็นภาพเด็กๆกลุ่มหนึ่งวิ่งไปรอบเมืองโดยมีโค้ชไวท์ขี่จักรยานไล่หลังตามเป็นภาพชินตา การเปลี่ยนแปลงภายในเมืองดูดีขึ้นมากเมื่อได้เห็นเด็กๆในเมืองมีความมุ่งมั่นที่จะคว้าอนาคตที่ดีรออยู่ ดังนั้นทีมวิ่งของแม็คฟาร์แลนด์ จึงเป็นเหมือนตัวแทนของคนทั้งเหมือนทีเปรียบเสมือนผู้ไร้โอกาสในชีวิต 

"แม็คฟาร์แลนด์ คือเมืองแห่งความหวัง พวกเราทุกคนหวังจะเจอชีวิตที่ดีเสมอ" เดวิด ดิอ๊าซ เด็กหนุ่มผู้เติบโตมาจากครอบครัวผู้อพยพชาวเม็กซิกันกล่าว ก่อนที่ ดาเมียซิโอ น้องชายของเขาและหนึ่งในนักวิ่งของไวท์จะเสริมว่า

"พ่อแม่ของเราเป็นคนงานที่ต้องตื่นตี 4 มาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีวันเสาร์ในสัปดาห์ไหนที่เราไม่ได้ทำงาน และการแข่งครอสคันทรี่ของ แคลิฟอร์เนีย มิสเตอร์ไวท์ ต้องไปขอร้องพ่อแม่ของเรา...ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรด คุณให้พวกเขามาแข่งเถอะ เขาจะบอกกับพ่อ-แม่ เราแบบนี้"

 7

สาเหตุที่มิสเตอร์ไวท์ต้องขอร้องจนแทบกราบกรานเป็นเพราะในปี 1987 เป็นปีที่ทีมของเขามีความพร้อมมากที่สุดที่จะลงแข่งขัน CIF ครอสคันทรี่ หรือการวิ่งระยะไกลประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่ง 3 พี่น้อง ดิอ๊าซ คือนักวิ่งที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานและ ไวท์ รู้ว่าเด็กๆเหล่านี้ดีพอจะคว้าชัยชนะได้

นี่คือการแข่งขันแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ มันคือครั้งแรกที่ แม็คฟาร์แลนด์ สามารถเรียกตัวเองว่า เมืองแห่งความหวัง ได้อย่างเต็มปาก เพราะในวันที่แข่งขันสนามสุดท้าย ผู้คนในเมืองต่างรวมใจกันปิดร้านรวงเพื่อมาเชียร์ทีม แม็คฟาร์แลนด์ ตัวแทนของพวกเขา แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ส่งพลังให้เด็กๆทุกคนวิ่งกันลืมตายและสามารถคว้าแชมป์ของรัฐได้สำเร็จเป็นครั้งแรก 

 8

"เด็กๆจากแม็คฟาร์แลนด์ต้องทนกับความลำบากมายาวนานมันทำให้เขาเป็นนักวิ่งที่ดี มันเหมือนกับนักวิ่งชาว เคนย่า และ เอธิโอเปีย ในทุกวันนี้ที่มีปูมหลังจากการเกษตร พวกเขาไม่กลัวที่จะเจ็บปวดเพราะพวกเขาต้องอดทนมาตลอดชีวิตตามแบฉบับเด็กอเมริกันตามชานเมือง" เคร็ก เวอร์จิน นักวิ่งครอสคันทรี่วัย 59 ปี ที่ได้ฉายาว่า "ปีศาจ" กล่าวถึงเหล่ารุ่นน้องของเขา

การคว้าแชมป์ครั้งแม็คฟาร์แลนด์ ได้อะไรยิ่งกว่าถ้วยแชมป์หรือเงินรางวัล มันคือการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความหวังของคนทั้งเมือง นักวิ่งเหล่านี้เติบโตขึ้นหลังจากได้รู้จักการวิ่งครอสคันทรี่และโค้ชไวท์ พวกเขาได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย และจบการศึกษาจนสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ หลายคนเป็นตำรวจ,หลายคนกลายเป็นทหาร รวมถึงตัว เดวิด ดิอ๊าซ ที่ขึ้นมาเป็นผู้คุมเรือนจำแม็คฟาร์แลนด์ในเวลานี้ 

 9

ชีวิตที่ดีของคนกลุ่มนี้บอกได้ว่าคนเราสามารถเปลี่ยนไปได้หากมีทัศนคติที่ดี และเชื่อมั่นว่าหากทำเต็มที่แล้วสิ่งที่ดีกว่าจะต้องมาเยือนพวกเขาแน่นอน 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ แม็คฟาร์แลนด์ : ดินแดนเกษตรที่กลายเป็นสังเวียนสร้างยอดนักวิ่งโดยครูหนุ่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook