ฐานรากบอลอาชีพไทย : เหตุใดลีกรากหญ้าถึงควรได้รับความสนใจจากแฟนบอล?

ฐานรากบอลอาชีพไทย : เหตุใดลีกรากหญ้าถึงควรได้รับความสนใจจากแฟนบอล?

ฐานรากบอลอาชีพไทย : เหตุใดลีกรากหญ้าถึงควรได้รับความสนใจจากแฟนบอล?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนบอลหลายคนอาจจะตื่นเต้นกับฟุตบอล โตโยต้า ไทยลีก ที่กำลังจะเปิดฉากในช่วงสุดสัปดาห์นี้ หรือกำลังสนุกกับศึก M-150 แชมเปียนชิพ ที่ฟาดแข้งกันไปแล้ว

แต่ยังมีลีกฟุตบอลบ้านเรา อีก 2 ระดับ ที่ยังคงรอคอยการติดตามจากแฟนบอลชาวไทย นั่นคือ ออมสิน ลีก โปร (ไทยลีก 3) และ ออมสิน ลีก (ไทยลีก 4) หรือที่หลายคนอาจจะรู้จักกับชื่อเดิมใน ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2

แม้จะไม่ใช่ลีกระดับบนที่อยู่ในความสนใจของสื่อ และแฟนบอล แต่ลีกภูมิภาค ก็ยังมีข้อดี และเหตุผลสำคัญที่สโมสรในลีกนี้ ยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากแฟนบอลชาวไทย

Main Stand จะพาแฟนบอลไปหาเหตุผลว่าเหตุใดแฟนบอลชาวไทยถึงควรติดตามฟุตบอล T3 และ T4 ในฤดูกาลนี้ รวมถึงสโมสรต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างฐานแฟนคลับที่หนาแน่น แม้ทีมต้องเล่นในลีกภูมิภาค

ลีกที่แฟนบอลไทยทุกคนสัมผัสได้

“ฟุตบอลก็เหมือนมหรสพความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ลีกภูมิภาค เปรียบเสมือนการกระจายให้คนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงกีฬาฟุตบอล อย่างภาคใต้ที่ไม่มีทีมใน T1 และ T2 แต่มีแฟนบอลที่คลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังมาก เช่น จังหวัดนราธิวาส พวกเขาสามารถมีทีมบอลให้เชียร์ได้ในลีกภูมิภาค”

วรพล นิลศิลา อดีตผู้สื่อข่าวลีกภูมิภาคของสยามกีฬา เจ้าของนามปากกา "บอย พลับพลาไชย" กล่าวถึงความแตกต่างของฟุตบอลลีกภูมิภาคกับฟุตบอลลีกบน

 1

ความแตกต่างนี่เอง กลายเป็นจุดเด่นของ ฟุตบอลลีกรากหญ้า ในแง่ที่ว่านี่คือลีกอาชีพที่เข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ได้มากกว่า สองลีกบนอย่าง โตโยต้า ไทยลีก และ M-150 แชมเปียนชิพ ที่มีสโมสรรวมกันเพียง 34 ทีม ขณะที่ ออมสิน ลีกโปร และ ออมสิน ลีก มีทีมรวมกันมากถึง 87 สโมสร กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของไทย

เปรียบเทียบง่ายๆ ในฤดูกาล 2019 ไม่มีสโมสรจากพื้นที่ภาคใต้ ลงทำการแข่งขันในศึก ไทยลีก 1 และ ไทยลีก 2 แต่มีถึง 13 สโมสรจากภาคใต้ที่วนเวียนอยู่ในลีกรากหญ้า ไทยลีก 3-4  ด้วยเหตุนี้ ลีกภูมิภาค จึงอยู่ใกล้ตัว แฟนบอลไทยส่วนมากของประเทศ เพราะอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล หากสนใจอยากติดตามชมเกมฟุตบอล ออมสิน ลีก โปร และ ออมสิน ลีก

“ลีกภูมิภาคอย่าง T3 และ T4 มีทีมกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นี่คือเป็น ฟุตบอลสำหรับแฟนบอลทุกพื้นที่ โดยแท้จริง” ธงชัย สุขโกกี เฮดโค้ชผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงลีกล่าง แสดงความเห็น

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เป็นเสน่ห์และจุดขายของ ลีกภูมิภาค ที่ทำให้ยุคหนึ่ง ฟุตบอลดิวิชั่น 2 เดิม บูมขึ้นได้ เพราะทีมเหล่านี้ สามารถสร้างกระแสท้องถิ่นนิยมได้ง่าย โดยเฉพาะทีมประจำจังหวัด ประจำอำเภอ แถมยังเป็นประสบการณ์ใหม่ของแฟนบอล เพราะแต่เดิมการเชียร์ฟุตบอลอาชีพ เป็นเรื่องของสโมสรไม่กี่สโมสร จังหวัดไม่กี่จังหวัด

แต่ภายหลังจากปี 2009 ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และเกิดลีกภูมิภาคยุคใหม่ขึ้นมา ก็ทำให้กระแสท้องถิ่นนิยมถูกจุดขึ้นมา

“เสน่ห์ของลีกภูมิภาคคือการได้เชียร์ทีมบ้านเกิด เพราะใน T3 และ T4 มีทีมจังหวัดจำนวนมาก ทำให้แฟนบอลสามารถให้การสนับสนุนทีมท้องถิ่นของตัวเองได้” วรพล นิลศิลา กล่าวถึงเสน่ห์ของฟุตบอลลีก T3 และ T4 ในเวลานั้น

 2

“จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญของลีกภูมิภาคเลยนะ เพราะมันสร้างสำนึกรักบ้านเกิดให้แฟนบอลได้ ดูอย่าง หม่ำ จ๊กม๊ก เป็นตัวอย่าง เขาไม่จำเป็นที่จะต้องมาประธานสโมสรให้ยโสธร เอฟซี ก็ได้ แต่เขาก็เลือกทำ เพราะความรักในบ้านเกิด”

“อย่างน้อยแฟนบอลควรให้การสนับสนุนทีมในท้องถิ่นแม้อยู่ในลีกภูมิภาค อาจจะเชียร์ควบคู่ไปกับทีมใหญ่ในลีกสูงสุดก็ได้ เพราะสโมสรฟุตบอลในลีกภูมิภาค คือลีกที่แฟนบอลทุกคนสัมผัสได้”

แม้ต่อมากระแสของลีกล่าง จะเริ่มซาลงไป เช่นเดียวกับ ลีกระดับบน ตามสภาพเศรษฐกิจ บางสโมสรล้มหายตายจากไป แต่บางสโมสรยังยืนหยัดอยู่เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนในพื้นที่ต่างๆ และกำลังรอคอยการหวนกลับมาสนุนจากแฟนบอลในพื้นที่อีกครั้ง

ตอบโจทย์ยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ที่ลีกทุกระดับกำลังเผชิญ โค้ชธง หัวหน้าผู้ฝึกสอนของ สโมสรนครปฐม ยูไนเต็ด ทีมในออมสิน ลีก โปร กลับมองว่า ลีกรากหญ้ามีโอกาสที่ดี ในการจะเรียกแฟนบอลกลับมาเข้าสนามได้อีกครั้ง เพราะได้เปรียบในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่ละนัดที่ถูกกว่า การเข้าไปเชียร์บอลในลีกบน

 3

“ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูฟุตบอลลีกภูมิภาคที่สนามถือว่าไม่แพงจนเกินไป หลายสโมสรบัตรแพงสุดแค่ 100 บาท บางสโมสรไม่ถึงด้วยซ้ำ เสื้อแข่งก็ราคาประมาณ 500-600 บาท ไม่แพงไปกว่านี้”

“การเดินทางไปเชียร์บอลที่สนาม หรือร่วมกิจกรรมของสโมสร ถือเป็นเรื่องง่ายและไม่เปลืองค่าใช้จ่าย ซึ่งจุดนี้สามารถสร้างความผูกพันของแฟนบอลกับสโมสรฟุตบอลได้ โดยเฉพาะสโมสรฟุตบอลท้องถิ่น เพราะแฟนบอลสามารถไปเชียร์ที่สนามได้ง่าย”  

“แต่ในทางกลับกันถ้าแฟนบอลรากหญ้า อยากเชียร์ทีมดังในเขตเมือง อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ติดตามทีมเหล่านี้ได้เพียงผ่านทางหน้าจอทีวี พอไม่ได้ไปดูไปเชียร์ที่สนาม ความผูกพันกับทีมจะน้อยกว่า แฟนบอลที่สามารถไปเชียร์รักของตัวเองที่สนามได้”

ในมุมมองคนที่ทำทีม ธงชัย สุขโกกี เปิดเผยเพิ่มเติมกับเราว่า แฟนบอลลีกรากหญ้า ถือเป็น บุคคลที่มีความสำคัญมากต่อความอยู่รอดของสโมสร เพราะสโมสรเหล่านี้ ไม่มีทางที่จะได้เงินสนับสนุนจำนวนมากจากสปอนเซอร์ เหมือนกับทีมใน โตโยต้า ไทยลีก และ M-150 แชมเปียนชิพ

ดังนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์ ที่แฟนบอลจ่ายให้กับทีมบอลท้องถิ่น จึงหมายถึง การช่วยกันรักษาให้สโมสรฟุตบอลประจำท้องถิ่นนั้นๆ สามารถคงอยู่ต่อไปได้

“ปัจจุบันสปอนเซอร์เข้ามาน้อยสำหรับทีมในลีกภูมิภาค เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เงินของแฟนบอลมีความหมายมากสำหรับการอยู่รอดของสโมสร หากแฟนบอลซื้อตั๋วเข้าหนุนทีมบ้านเกิด ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้แฟนบอล ยังไม่ได้เข้ามาให้การสนับสนุนทีมภูมิภาคเยอะมากมาย ซึ่งก็ทำให้บางสโมสรขาดทุน จนไม่สามารถอยู่ได้”

เงินไม่มา...แฟนบอลไม่มี

“สมัยก่อนตอนลีกภูมิภาคสร้างใหม่ๆ สโมสรส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำทีม ถือเป็นปัญหาใหญ่ของทีมในลีกนี้เลย”  วรพล แสดงความเห็น จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับฟุตบอลลีกล่างของบ้านเรามายาวนาน

 4

“แต่บางสโมสรถ้าได้รับความนิยม ก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด สโมสรที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน จะมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด มีความเป็นมืออาชีพแบบสโมสรฟุตบอลชั้นนำ แม้อยู่ในลีกภูมิภาค”

“ยกตัวอย่าง ขอนแก่น ยูไนเต็ด เป็นทีมที่มีความเป็นมืออาชีพสูงมาก ระบบการจัดการน่าพอใจ มีคุณภาพ แฟนบอลในจังหวัดให้การสนับสนุนสโมสรเป็นอย่างดี เรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนทำทีมและคนท้องถิ่นด้วย ว่าจะสนับสนุนสโมสรท้องถิ่นแบบรากหญ้ามากแค่ไหน”

หากมองตามความเป็นจริง จะพบว่าในปัจจุบันหลายสโมสรในลีกรากหญ้า ยังประสบปัญหาจำนวนของแฟนบอลที่เข้ามาสนับสนุนทีม ลดน้อยลงไป เมื่อแฟนบอลหายไป ก็เท่ากับว่า รายได้ที่สโมสรจะได้เข้ามาก็จะลดลงไป ซึ่งอาจส่งผลให้ บางสโมสรในลีกรากหญ้า ไม่มีเงินทุนมากพอในการทำทีม เพราะเดิมทีก็หาสปอนเซอร์ยาก ได้เงินน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“เงินทุน” จึงเป็นปัจจัยที่บั่นทอนคนทำทีมลีกล่างไม่น้อย บางจังหวัด อาจโชคดีได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากภาครัฐ และธุรกิจ ในจังหวัด แต่บางสโมสรไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในจังหวัด ต้องพึ่งพาตัวเอง มีทรัพยากรผู้เล่น งบประมาณทำทีมที่ค่อนข้างจำกัด ศักยภาพทีมโดยรวม จึงแตกต่างและเหลื่อมล้ำกับทีมที่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน

เมื่อผลงานทีมไม่ดี เกมการแข่งขันอาจไม่สนุก และบางสโมสร เมื่อไม่สามารถพัฒนาทีม ได้ตามที่กองเชียร์คาดหวัง ก็อาจทำให้แฟนบอลบางส่วนที่เคยหนุนหลังทีม หันหลังไม่เข้าสนาม โดยอาจลืมนึกไปว่า เงินทุกบาทที่เสียไปกับซื้อสินค้าที่ระลึก หรือตั๋วเข้าชม สามารถช่วยให้ทีมท้องถิ่น ดีขึ้นได้กว่าที่เป็นอยู่ 

 5

“บางสโมสรที่ผู้ใหญ่เอาจริงเอาจัง มีเป้าหมายในการทำทีม ทีมก็จะพัฒนารวดเร็ว ยกระดับทีมไปสู่ระดับบน ตัวผู้เล่นมีการดึงนักเตะจาก T1 กับ T2 เพื่อพัฒนาทีม”

“แต่สโมสรลีกล่างส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาด้านการเงิน สโมสรไหนมีผู้ใหญ่ในจังหวัดสนับสนุนก็โชคดีไป แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีการสนับสนุนมากนัก ในช่วงที่การเมืองขาดการเลือกตั้งเป็นเวลานาน เพราะสโมสรหลายทีมบริหารโดยนักการเมืองท้องถิ่น”

“บางสโมสรถ้าเริ่มทำทีมแล้วไม่ได้รับการตอบรับจากแฟนบอลท้องถิ่น ผู้บริหารก็อาจทำทีมแบบไม่จริงจัง เพราะเม็ดเงินที่ลงไป ได้กลับมาไม่คุ้มเสีย”

“ทำให้หลายสโมสรต้องทำทีมด้วยงบประมาณจำกัด พองบประมาณไม่มี การพัฒนาทีมก็ไม่เกิด เพราะถ้าขาดเงิน สโมสรก็ไม่มีงบไปซื้อนักเตะ จ้างโค้ชดีๆเข้าทีม ไม่มีเงินพัฒนาความพร้อมของสนามอุปกรณ์ต่างๆและอีกหลายเรื่อง”

“พอไม่มีงบประมาณสนับสนุน ผลงานทีมก็ไม่ดี เมื่อผลงานไม่ดี ทำให้แฟนบอลจำนวนไม่น้อย ไม่เข้ามาซื้อตั๋วดูเกมที่สนาม เพราะแฟนบอลส่วนใหญ่มองว่าเก็บเงินไว้ดีกว่า ตามสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้ และเมื่อแฟนบอลไม่ซื้อตั๋ว สปอนเซอร์ก็ไม่มา พอสปอนเซอร์ไม่เข้ามาสนับสนุนสโมสร ทีมจึงขาดเงิน เป็นวัฏจักรไป” ธงชัย สุขโกกี เจ้าของฉายา มิสเตอร์แชมเปียนส์ลีก กล่าวถึงความจริงที่เกิดขึ้นในลีกรากหญ้า จากประสบการณ์ของตนเอง

ฐานรากของปีระมิด “ฟุตบอลไทย

เมื่อปัญหาสำคัญของฟุตบอลไทยลีก 3 และ 4 คือเรื่องเม็ดเงินที่จะนำมาใช้พัฒนาสโมสร การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย และอาจต้องใช้เวลาระยะยาว

 6

แต่สิ่งหนึ่งที่สโมสรฟุตบอลลีกรากหญ้า สามารถทำได้ทันที ไม่ว่าทีมของคุณจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือ การหันมาสนใจเรื่องการสร้างฐานแฟนบอลกับคนในพื้นที่ ให้พวกเขากลับมาสนับสนุนให้ได้มากสุด ไม่ใช่รอคอยเพียงโชคชะตาว่าจะมีนายทุนใจดีที่ไหน มาหว่านเงินให้

“สิ่งสำคัญที่สโมสรต้องทำ คือ การดึงแฟนบอลท้องถิ่นให้มาซื้อตั๋วดูเกม บางทีสโมสรไม่ยอมหาจุดที่จะดึงดูดแฟนบอลเข้าสนาม แฟนบอลชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปดูบอลเพื่ออะไร เสียเงิน เสียเวลา เอาเวลาไปทำงานหาเงินดีกว่า”

“สโมสรต้องทำกิจกรรมให้แฟนบอลมีส่วนร่วม เพื่อให้คนท้องถิ่นอยากเข้ามาดูฟุตบอลที่สนามสโมสรต้องทำให้เห็นแฟนบอลเห็นจริงๆว่าสโมสรต้องการแฟนบอล แฟนบอลมีความสำคัญกับสโมสร”

“สโมสรต้องให้อะไรแฟนบอลกลับ เพื่อให้เขารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป นั่นคือความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวระหว่างแฟนบอลกับสโมสร เรื่องการทำการตลาด ทำประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงแฟนบอลท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ สมัยนี้บางพื้นที่คนท้องถิ่นยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีทีมฟุตบอลเตะอยู่แถวบ้าน”

“การสร้างกระแส สร้างความผูกพันในท้องถิ่นสำคัญที่สุด เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำถ้าอยากสร้างแฟนบอลเข้าสนาม”  วรพล นิลศิลา หรือ บอย พลับพลาไชย เผยถึงแนวทางที่สโมสรรากหญ้า ควรให้ความสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณของทีม

 7

จากการติดตามลีกรากหญ้ามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งเห็นได้ชัดเจนก็คือ บางสโมสรยังขาดการประชาสัมพันธ์ หรือความเอาใจใส่ในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับคนในจังหวัด หรือความรู้สึกร่วมที่ทำให้ ประชาชนในพื้นที่ อยากเข้ามาสนับสนุน

ขณะที่ สโมสรที่มีกระแสดีในลีกรากหญ้า นอกเหนือจากเรื่องผลงานอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ทีมท้องถิ่นได้รับความนิยมจนคนอยากเข้ามาดู สโมสรเหล่านี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ บางทีมมีการไลฟ์ถ่ายทอดสด ผ่านเฟซบุคให้แฟนคลับที่ไม่สามารถเดินทางไปชมได้ ยังสามารถติดตามรับชมเกมการแข่งขันได้

รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ แจกของรางวัล หรือการสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน อย่างเช่นบางสโมสร เน้นใช้ผู้เล่นเป็นคนภายในจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียง อย่างน้อยที่สุด กองเชียร์ก็มีความรู้สึกว่า เด็กๆที่ลงแข่งขันคือลูกหลานที่มีเลือดเนื้อจังหวัดเดียวกัน ก็ย่อมเกิดความรู้สึกที่ดี และอยากสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตในเส้นทางนักบอล

หลายๆสโมสรในภาคใต้ ยังมีกระแสตอบรับที่ดีจากแฟนบอล ก็ด้วยเหตุผลประการนี้ ทีมอย่าง คาเด็นซา สตูล ยูไนเต็ด, ปัตตานี เอฟซี, นรา ยูไนเต็ด ฯลฯ อาจไม่เคยได้ขึ้นไปโลดแล่นในลีกระดับบน แต่่ก็สามารถทำให้คนในจังหวัด หนุนหลังทีมได้ ก็ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เรากล่าวมาที่พวกเขาทำได้ครบถ้วน

วรพล นิลศิลา ที่ปัจจุบันผันตัวเองจาก นักข่าวลีกภูมิภาค ทำงานเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สโมสร เอ็มโอเอฟ ศุลการ ยูไนเต็ด น้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นจาก ออมสิน ลีก โปร ขึ้นมาสู่ M-150 แชมเปียนชิพ ชี้ให้เห็นแนวทางที่สโมสรรัฐวิสาหกิจเช่นเขา ทำเพื่อดึงดูดแฟนบอลในพื้นที่ ก็เป็นหนึ่งในโมเดลที่สโมสรลีกรากหญ้าสามารถนำไปปรับใช้ได้

 8

“สโมสรเราเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ทีมให้คนรู้จัก พยายามโปรโมตทีม อัพเดตข่าวสารผ่านทางเพจเฟซบุคของสโมสร มีทีมงานไปลงพื้นที่ในท้องถิ่น เพื่อเชิญชวนแฟนบอลให้มาดูเกมการแข่งขันที่สนาม”

“รวมถึงการทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้เด็กนักเรียนดูฟรี ค่าตั๋วไม่จำเป็นต้องแพงมาก แค่ 100 บาท แต่เน้นให้คนสามารถเข้ามาดูได้เยอะๆ มาดูกันได้ทั้งครอบครัว ลดแลกแจกแถมไปบ้างตามโอกาส”

“อย่างในวันทำการแข่งขัน ก็จะมีการเปิดสอนฟุตบอลให้เยาวชนแบบไม่เสียเงิน พอเด็กมาเรียนฟุตบอล ก็ต้องพาพ่อแม่หรือญาติพี่น้องมาดูด้วย หลังฝึกฟุตบอลเสร็จ เขาก็รอดูบอลแข่งต่อได้เลย เป็นวิธีการหนึ่งที่ดึงดูดแฟนบอลให้เข้าสนาม”

หากเปรียบฟุตบอลอาชีพไทยเป็น ฐานปีระมิด แน่นอนว่า บนยอดสูงสุด อย่างศึกโตโยต้า ไทยลีก คือจุดที่ทุกสายตามองเห็น จับจ้อง เพราะมีมูลค่ามหาศาลหมุนเวียนอยู่บนนั้น

แต่ต้องอย่าลืมว่า ฐานรากสุดของวงการฟุตบอลอ่าชีพไทย อย่าง “ลีกภูมิภาค” ซึ่งเคยสร้างและบ่มเพาะ แข้งฝีเท้ามากมายประดับวงการ รวมถึงเป็นพื้นที่ทีเปิดโอกาสให้ นักฟุตบอลดาวรุ่งมากมาย ได้มาลับวิชา เสริมสร้างกระดูก ก็ยังคงรอให้ทุกฝ่ายทั้งสโมสร แฟนบอล ภาคธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาใส่ใจ

ในปี 2019 หากทุกฝ่ายร่วมได้ช่วยกัน ให้การสนับสนุนและช่วยกันก่ออิฐ เสริมราก ทำให้ฐานปีระมิดที่ชื่อลีกภูมิภาคนี้ มั่นคง และไม่ทลายลงไปตามกาลเวลา ก็น่าจะเป็นผลดีภาพรวมของวงการฟุตบอลไทย และให้สโมสรรากหญ้าอยู่คู่แฟนบอลไทยไปตราบนานเท่านาน จากเงินเพียงไม่กี่บาทที่เราทุกคน รวมต่อเติมหล่อเลี้ยงสโมสรใกล้บ้าน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ฐานรากบอลอาชีพไทย : เหตุใดลีกรากหญ้าถึงควรได้รับความสนใจจากแฟนบอล?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook